TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistลด VAT = ลดรายจ่าย กระตุ้นศก.

ลด VAT = ลดรายจ่าย กระตุ้นศก.

มาตรการ “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่าได้ผลหรือไม่ ทุกวันมีแต่ข่าวธุรกิจประกาศปิดกิจการราวใบไม้ร่วง คนตกงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นว่ามาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลอาจจะเป็น “กระทงหลงทาง” ซึ่งมาตรการที่นำมาใช้อยู่ตอนนี้เป็นมาตรการเหมาะสำหรับใช้ในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่มาตรการรับมือในยามวิกฤติแต่อย่างใด

มาตรการที่ควรนำออกมาใช้ในสถานการณ์อย่างนี้ ไม่ใช่แค่การเยียวยาด้วยการแจกเงินเท่านั้น ยิ่งในยามที่เศรษฐกิจทรุดหนักอย่างนี้ประชาชนก็ย่อมไม่มีรายได้ ฉะนั้น เมื่อสร้างรายได้ไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องหาวิธี “ลดรายจ่าย” ให้กับประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ไม่ใช่กู้เงินมาอัดฉีดซึ่งจะให้เป็นภาระของคนรุ่นหลัง

แม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลจะมีนโยบายลดค่าน้ำค่าไฟ คืนค่ามัดจำมิเตอร์ไฟฟ้า อาจจะลดภาระได้ชั่วคราวเท่านั้น แต่จะเพิ่มภาระตามมาภายหลังตอนโดนลักไก่ขึ้นค่าไฟฟ้าคงที่ (ค่าเอฟที) ครั้นจะขอความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนให้ช่วยลดราคาสินค้า ก็คงลำบาก มีทางเดียวรัฐบาลต้องเสียสละยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ด้วยการ “ลดภาษี” ที่เป็นรายได้ของรัฐลง และภาษีที่ลดแล้วเป็นธรรมกับทุกคนที่สุดคือ “ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ “VAT” 

รัฐบาลอาจจะประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่มสัก 6 เดือนหรือ 1 ปี การลดภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับทำให้ราคาสินค้าและบริการที่ประชาชนต้องจ่ายทุกครั้งที่ซื้อก็จะถูกลงโดยอัตโนมัติทำให้มีเงินในกระเป๋าเหลือพอจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจธุรกิจก็อยู่รอด เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ตอนนี้ประเทศใหญ่ ๆ ในยุโรปหันมาใช้มาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือชะลอการเรียกเก็บหรือคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจกันอย่างกว้างขวาง

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลอิตาลีก็เริ่มการลดภาษีมูลค่าเพิ่มและเลื่อนการจ่ายออกไปจนกว่าจะถึงวันที่ 17 กันยายนนี้ บางประเทศก็ลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง เช่น โรมาเนียเสนอลดภาษีมูลคาเพิ่มให้เหลือ 0% เพื่อพยุงธุรกิจโรงแรม ออสเตรียก็ลดให้กับธุรกิจร้านอาหาร เบลเยียมลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารลงครึ่งหนึ่งจาก 12% เหลือ 6% 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ อังกฤษ ได้ประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงถึง 15% ให้กับภาคนันทนาการและการท่องเที่ยวจาก 20% เหลือ 5% มีผลตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม เป็นต้นไป เยอรมนีเพิ่งจะผ่านแผนลดภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารโดยจะลดจาก 19 เหลือ 7% และอาจลดเหลือ 5% 

ประเมินว่าเมื่อลดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วสินค้าจำนวนมากในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและที่อื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะถูกลง คนทื่ได้ประโยชน์คือ ผู้มีรายได้น้อย ส่วนคนที่ยังพอมีเงินเมื่อราคาสินค้าที่ถูกลง ก็จะกล้าจับจ่ายช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขนาดเยอรมนีที่ขึ้นชื่อเรื่องออมเงิน รัฐบาลยังตัดสินใจเลิกออมด้วยการเก็บภาษีน้อยลง

เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลจีนที่ประกาศมาตรการลดภาษีเกือบทุกประเภท  2 ล้านล้านหยวนในการรับมือกับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ คาดว่า การลดภาษีครั้งนี้จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศประมาณ 287,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 8.6 ล้านล้านบาท ถือเป็นการลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุดรวมถึง “ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม” ให้บริษัทในภาคการผลิต จาก 16% เหลือ 13% และลดภาษีมูลค่าเพิ่มบริษัทคมนาคมขนส่ง การก่อสร้างจาก 10% เหลือ 9% ส่วนการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ก็ขยับเพดานเงินได้ที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 30,000 หยวน เป็น 100,000 หยวน เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว 

ทั้งนี้ มีบทวิเคราะห์ของ Hu Yongqi ใน China Daily บอกว่า บริษัทบางแห่งได้รับประโยชน์จากการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะช่วยแบ่งเบาภาระการผลิต และที่สำคัญ คือ ช่วยให้บริษัทมีศักยภาพการแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น อานิสงส์จากการลดภาษีมูลค่าเพิ่มตอนนั้นส่งผลถึงตอนนี้ การบริโภคในจีนเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะนโยบายของรัฐที่ออกแบบมาอย่างดี พลังการจับจ่ายใช้สอยจึงไม่อ่อนแรงแถมยังกลับมาคึกคักขึ้นอีกด้วย

จึงอยากฝากถึงรัฐมนตรีคลังคนใหม่ในช่วงเวลาแบบนี้การลงทุนโดยรัฐเป็นสิ่งจำเป็นก็จริงแต่ครั้งนี้สถานการณ์ค่อนข้างต่างจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ผ่านๆมาการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจะเป็นประโยชน์มากกว่าไม่ใช่อัดเงินกระตุ้นอย่างเดียวนอกจากไม่ได้ผลยังเป็นการก่อหนี้เพิ่ม

ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ