TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeแพลตฟอร์มหนุนครีเอเตอร์ ปั๊มคอนเทนต์ ดันยอดผู้ใช้

แพลตฟอร์มหนุนครีเอเตอร์ ปั๊มคอนเทนต์ ดันยอดผู้ใช้

ต้องยอมรับว่า “แพลตฟอร์ม” และ “ครีเอเตอร์” เป็นเหมือนกับ “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” โดยหน้าที่ของแพลตฟอร์ม คือ เป็นตัวเสริมพลังให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ แนะนำแนวทางให้ครีเอเตอร์ผลิตคอนเทนต์ดี ๆ โดนใจแฟน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมผู้ใช้จำนวนมากเข้ามาที่แพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันครีเอเตอร์ก็ต้องพึ่งแพลตฟอร์มเพื่อสร้างฐานแฟนและนำไปสู่การสร้างรายได้

-“ออนไลน์ มีเดีย” เกิดง่าย ตายง่าย ตัวจริงเท่านั้นที่รอด
-TikTok สั้นแต่ไม่ง่าย สร้างสรรค์เป็นอาชีพได้

ในงาน iCreator Conference 2020 ได้เชิญ 3 แพลตฟอร์มอย่าง TikTok, LINE และ Facebook มาแนะนำวิธีการเป็นครีเอเตอร์ให้ปัง และวิธีการสร้างรายได้จากแพลตฟอร์ม ซึ่งก็มีวิธีการแตกต่างกันออกไปทั้ง วิธีการสร้างผู้ติดตาม รวมถึงวิธีการสร้างรายได้

TikTok วิดีโอสั้น ปั้นเงิน

TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 18 ล้านคน และมีครีเอเตอร์มากมายเข้ามาสร้างชื่อเสียง

ลักศมี จง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคอนเทนต์ TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า ครีเอเตอร์ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีความพยายามทำคอนเทนต์ให้แตกต่าง ใส่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อผลิตคอนเทนต์ออกมาให้แตกต่าง ปัจจุบันมีครีเอเตอร์หน้าใหม่แจ้งเกิดหลายคน ทั้งสายทำคลิปตลก คลิปเต้น อาหาร รวมถึงความรู้

“KIKO404” เป็นหนึ่งในครีเอเตอร์ตัวอย่างที่เริ่มต้นทำ TikTok โดยมีคนตามแค่ 3,000 คน หลังจากเข้ามาอบรมศึกษาวิธีการเล่น TikTok สามารถเติบโตมีผู้ติดตามถึง 2 ล้านคน ใน 2 เดือน และปัจจุบันมีผู้ติดตามถึง 6.8 ล้านคน

แพลตฟอร์มหนุนครีเอเตอร์ ปั้มคอนเทนต์ ดันยอดผู้ใช้

จะเป็นครีเอเตอร์ Tikok ต้องทำอย่างไร?

ลักศมี แนะนำว่า ครีเอเตอร์ต้องมีความ “กระตือรือร้น” ทำคอนเทนต์ใหม่ ๆ ติดตามเทรนด์ใหม่ ๆ อีกส่วนคือ การใส่ “ความคิดสร้างสรรค์” เช่น เมื่อมีลูกค้ามาจ้างจะต้องคิดว่าทำคลิปอย่างไรให้สอดคล้องกับสินค้า โดยไม่ใช่เป็นการขายตรง

ขณะที่คอนเทนต์เกี่ยวกับการให้ความรู้อย่าง #TikTokUni ที่เป็นการทำคอนเทนต์โดยนำความรู้ที่มี มาทำคลิปสอนโดยใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปใน 60 วินาที โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการศึกษาโดยตรง

“ปัจจุบัน #TikTokUni ยังมีคนทำคอนเทนต์น้อย แต่ได้ยอดวิวสูงมาก” ลักศมี กล่าว

สร้างรายได้กับ TikTok

ลักศมี กล่าวว่า ครีเอเตอร์ที่เติบโตและได้ร่วมงานกับ TikTok จะได้รับการสนับสนุนทั้ง การให้คำแนะนำ ทำเวิร์คช็อปเพิ่มทักษะ ช่วยโปรโมทผ่านสื่อ ทำแคมเปญร่วมกัน รวมถึงช่วยหาโอกาสสร้างรายได้

ซึ่งรายได้ของครีเอเตอร์จะมาจากสปอนเซอร์ เช่น การจ้างรีวิว โดย TikTok มีหน้าที่เข้ามาช่วยติดตามและแนะนำ มีแพลตฟอร์ม TikTok Creator Marketplace (TCM) เป็นตลาดให้ครีเอเตอร์ ที่ทำคอนเทนต์น่าสนใจ และมีจำนวนผู้ติดตามอย่างน้อย 1 หมื่นคน จะสามารถเชื่อมต่อกับแบรนด์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องแบ่งส่วนแบ่งให้กับ TikTok

LINE เตรียมเปิดฟีเจอร์ให้อินฟลูเอนเซอร์สร้างรายได้

LINE เป็นแพลตฟอร์มที่มีคนไทยใช้มากถึง 46 ล้านคน ทำให้อินฟลูเอนเซอร์ หรือ ผู้มีอิทธิพลในการชี้นำผู้คน (KOL) มีโอกาสสามารถสื่อสารไปถึงลูกค้าทั้งหมดได้

ณธกฤต กาญจนมัณฑนา หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์ธุรกิจคอนเทนต์และสื่อ LINE ประเทศไทย นิยาม LINE IDOL ว่าเป็น “Circle-of-Trust Solutions” เพราะปัจจุบันอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นมาก ส่งผลให้อินฟลูเอนเซอร์เติบโตขึ้นตามไปด้วย อีกส่วนหนึ่งคือคนเชื่อกับการดูการขายของมากกว่าดูโฆษณา ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์, KOL หรือแบรนด์ สามารถใช้ LINE IDOL เป็นช่องทาง โฆษณา หรือขายของผ่านการรีวิวสินค้าได้

6 ข้อ สร้างชื่อเสียงบน LINE

1.ทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจ อยู่ในกระแส
2.มีความต่อเนื่องในการทำคอนเทนต์
3.ทำคอนเทนต์ให้ผู้ชมอยากมีส่วนร่วม
4.จะต้องมีตัวตนที่ไม่เหมือนใคร
5.ใส่แฮชแท็ก ให้คนค้นหาได้
6.ทำคอนเทนต์ที่ถูกต้อง ไม่ใส่ข้อมูลปลอม

แพลตฟอร์มหนุนครีเอเตอร์ ปั้มคอนเทนต์ ดันยอดผู้ใช้

สร้างรายได้ผ่าน LINE

ณธกฤต กล่าวว่า ผู้ใช้สามารถสร้างตัวต้นผ่าน “Official Account” ที่สามารถบรอดแคสต์ข้อความได้ สามารถใส่ลิงก์ให้คนคลิกกลับมาที่ต้นทางได้ มี Rich Menus ที่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำเมนูให้คนสนใจได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำถ่ายทอดสด (Live) ได้

ขณะเดียวกัน LINE ยังเปิดช่องทางให้คนทั่วไปสามารถสร้างตัวตนให้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ โดยเมื่อโพสต์ลงใน “LINE Timeline” และได้ Engagement ในระดับนึง LINE จะดึงคอนเทนต์ไปแสดงผลในหน้า Explore ซึ่งทำให้คนทั่วไปเข้ามากดติดตามได้

มีระบบ Influencer Commerce เชื่อมกับ “MyShop” ให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถเผยแพร่คอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการรีวิวสินค้าโดยตรง

“ในอนาคต LINE จะเปิดฟีเจอร์ใหม่ให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างรายได้จากการชักชวนแฟนให้เข้าไปซื้อสินค้า และเมื่อปิดการขายได้ก็จะได้รายได้เป็นส่วนแบ่ง (Incentive) จากการขายในแต่ละครั้ง” ณธกฤต กล่าว

Facebook สร้างรายได้ได้หลากหลายวิธี

Facebook เป็นโซเชียลมีเดียที่มีคนใช้งานมากที่สุดในไทย ถึง 58 ล้านคน มีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ให้ทุก ๆ คนใกล้ชิดกันมากขึ้น สร้างชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้เชื่อมต่อกัน และเสริมพลังครีเอเตอร์ให้สามารถสร้างรายได้และเป็นมืออาชีพ

จะสำเร็จ ต้องทำอย่างไร

-ครีเอเตอร์จะต้องทำคอนเทนต์ให้ถูกกฎระเบียบของ Facebook
-มีวิธีการทำให้คนอยากกลับมาดูอีก
-ทำให้คนตั้งใจชมคลิปอย่างน้อย 1 นาที
-อัปโหลดไฟล์คุณภาพสูง
-เปิดให้โฆษณาแสดงผลโดยอัตโนมัติ

เพจ DOI หนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ได้แนะนำวิธีการทำคลิปให้ประสบความสำเร็จ คือ ต้องทำวิดีโอให้คนเข้าถึงได้ง่าย ทำซับไตเติ้ล ทั้งภาษาไทย-อังกฤษ เพื่อขยายฐานผู้ชม รวมถึงต้องใช้ Insight หรือดูสถิติการเข้าชม เพื่อเข้าใจแฟนเพจ

นอกจากนี้อนาคตอันใกล้ จะสามารถทำ Live บน Facebook และมีรายได้ผ่าน Instream ads ทั้งนี้ต้องเป็นเพจที่ได้รับการรับรองจาก Facebook

แพลตฟอร์มหนุนครีเอเตอร์ ปั้มคอนเทนต์ ดันยอดผู้ใช้

Facebook Watch ช่องทางหาเงินของครีเอเตอร์

ธารินาฎ ภัทรรังรอง ผู้จัดการด้านกลยุทธ์กับพันธมิตรทางธุรกิจ , ครีเอเตอร์ และบุคคลสาธารณะ Facebook ประเทศไทย กล่าวว่า การรับชมวิดีโอบน Facebook Watch จะไม่ได้เป็นการไถฟีดอีกต่อไป แต่เป็นการตั้งใจเข้ามาดู และคนดูสามารถมีส่วนร่วมได้ มีระบบ Watch Party สามารถโต้ตอบกันได้ทั้ง คอมเมนต์ แชร์ หรือกดแสดงอารมณ์ต่าง ๆ

โดยรายได้จากการทำวิดีโอจะมาจาก In-Stream Ads ทั้ง Pre-Roll, Mid-Roll และ Image Ads ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าครีเอเตอร์จะต้องมีผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีคนชมวิดีโอใน 60 วันที่ผ่าน จะต้องมีวิดีโอที่มีคนคนชม 1 นาทีแรกในแต่ละคลิปไม่ต่ำกว่า 30,000 วิว ในคลิปที่มีความยาว 3 นาที ขึ้นไป รวมถึงต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

วิธีสร้างรายได้ผ่าน Facebook

1.Stars หรือการรับดาวจากแฟนเพจ เป็นช่องทางที่สร้างรายได้ผ่าน Live โดยเพจที่ได้รับการรับรองจาก Facebook สามารถที่จะกดรับดาวจากแฟนเพจได้เมื่อทำการ Live ทั้งนี้เฟซบุ๊กแนะนำว่าครีเอเตอร์ควร Live อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ความยาวประมาณ 30 นาที ในแต่ละครั้ง

2.Fan Subscription เป็นการทำคอนเทนต์ที่แฟน ๆ อยากจะดู และสามารถตั้งค่าสมาชิกรายเดือนที่ต้องการให้แฟน ๆ จ่ายให้ต่อเดือนได้ ซึ่งสิทธิพิเศษที่แฟนจะได้กลับไป เช่น คอนเทนต์พิเศษที่ไม่เหมือนคนอื่น หรือได้โต้ตอบกับครีเอเตอร์อย่างใกล้ชิดกว่า และสิทธิพิเศษอื่น ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต ทั้งนี้ถ้ามีคนเข้ามากดเป็นสมาชิกจำนวนมาก ก็จะมีรายได้มากพอและสามารถทำคอนเทนต์แบบเต็มเวลาได้

3.Branded Content เมื่อครีเอเตอร์ทำงานกับแบรนด์ต่าง ๆ สามารถที่จะแท็กแบรนด์ได้ เพื่อสร้างความโปร่งใส และอาจจะได้ผู้ติดตามมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ที่ถูกแท็กจะสามารถ Boost Ad ได้โดยที่ครีเอเตอร์ไม่จำเป็นต้องทำเอง

4.Paid Online Event เป็นฟีเจอร์ใหม่ที่จะเปิดในอนาคต ครีเอเตอร์สามารถเก็บเงินผู้เข้าชม Live ได้ เช่น การเล่นดนตรีสด หรือการจัดอบรมออนไลน์

จะเห็นว่าแต่ละแพลตฟอร์มนั้นมีวิธีการทำคอนเทนต์ และวิธีการหารายได้แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าครีเอเตอร์จะ “ชอบ” หรือ “ถนัด” แนวทางไหน ส่วนแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ถนัดน้อยกว่าก็สามารถเข้าไปสร้างคอนเทนต์เพื่อขยายฐานแฟน หรือเป็นช่องทางสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทางได้

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-รพ.รามคำแหง จับมือ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ทรานส์ฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานไอที มุ่งสู่ดิจิทัล เฮลธ์
-ยกระดับความปลอดภัยข้อมูลตัวตนบนโลกดิจิทัลด้วยระบบคลาวด์
-Align Technology เปิดศูนย์ฝึกอบรมทันตกรรมในไทย พร้อมขยายธุรกิจใน SEA
-การเล่นอินเทอร์เน็ตในยุคแรก ปี 2534-2535

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ