TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเปิดแผนยุทธศาสตร์ดีป้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปี 64

เปิดแผนยุทธศาสตร์ดีป้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ปี 64

วิกฤติโควิด-19 เป็นประจักษ์พยานสำคัญที่สร้างให้คนไทยยอมรับว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ผู้รับบทบาทสนับสนุบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ประกาศแผนงานปีหน้า (2564) เพื่อรองรับการเข้าสู่ New Normal Economy

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ให้สัมภาษณ์กับ The Story Thailand ถึงแผนยุทธศาสตร์และแผนงานการดำเนินงานของดีป้า ปี 2564 เพื่อรองรับระบบเศรษฐกิจไทยที่กำลังเข้าสู่ New Normal Economy หลังจากวิกฤติโควิด-19 ว่าประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยในปีหน้า

ยุทธศาสตร์แรก คือ การพัฒนาคน ดีป้ายังเดินหน้าต่อเนื่องเรื่องการพัฒนาคน พัฒนาให้คนรู้เรื่อง digital literacy รู้แล้วประยุกต์ใช้เป็น และพัฒนาคนกลุ่มที่ขาดแคลน (fill in the gap) ดีป้าไม่ได้ทำงานคนเดียว ดีป้าทำให้เกิดคนนอกระบบการศึกษา เน้นคนที่จบการศึกษามาแล้ว ในระบบการศึกษามีความร่วมมือในการทำให้ภาคการศึกษา fit in กับภาคเอกชนได้ ร่วมทำงานกับภาคการศึกษาและภาคเอกชน คนไทยต้องรู้เรื่อง ต้องเข้าใจ และต้องใช้เป็น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ดีป้ามองไว้ 2 สถานการณ์ คือ สถานการณ์ที่มีวัคซีนโควิด-19 แล้ว กับสถานการณ์ที่ยังไม่มีวัคซีน

สำหรับสถานการณ์ที่มีวัคซีนแล้ว สถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจจะกลับมารวดเร็ว การลงทุนต้องเร็วมาก การเข้าสู่ตลาดต้องว่องไว บทบาทของดีป้าจะเข้าไปช่วยช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดได้เร็วที่สุดหลังผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว โดยเฉพาะการเข้าสู่ตลาดของบริการและโซลูชั่นดิจิทัลใหม่ ๆ ของคนไทย หรือกลุ่มสตาร์ตอัพ อุตสาหกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้จากวิกฤติโควิด-19 อุตสาหกรรมคอนเทนต์ และกลุ่มผู้ประกอบการสมาร์ทดีไวซ์​ ด้วยการเข้าไปเป็นโซ่ข้อกลางในการจับคู่ระหว่างเจ้าของเทคโนโลยีกับผู้ใช้งาน และระหว่างเจ้าของเทคโนโลยีกับผู้พัฒนาระบบ ปี 2564 วางแผนจะสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 100 ราย

ยุทธศาสตร์สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่มีวัคซีน ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องรัดเข็มขัด จำเป็นต้องหาโซลูชั่นที่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลหรือกลุ่มสตาร์ตอัพที่มีความพร้อมในการแก้โจทย์ของภาคธุรกิจภายใต้สถานการณ์นี้ ดีป้าพร้อมให้การสนับสนุน 50 ราย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ สังคม ประชาชน ชุมชน ดีป้าจะเดินหน้าให้การสนับสนุน ไม่น้อยกว่า 100 ชุมชนจะต้องได้รับอานิสงส์ในการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล ไม่ว่าสถานการณ์ในปีหน้าจะเป็นเช่นไร มีวัคซีนหรือยังไม่มีวัคซีน ความต้องการของชุมชนไม่ต่างจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม คือ ต้องสามารถดูแลตัวเองให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้ และต้องสามารถกลับมาวิ่งได้หลังวิกฤติผ่านไปแล้ว

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศดิจิทัล ดีป้าจะทำการรับรองมาตรฐานโซลูชั่น เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านระบบแพลตฟอร์ม Tech Hunting

“เราจัดลำดับความสำคัญ คือ คนต้องมาก่อน ระบบเศรษฐกิจที่จะจ้างคนต้องเป็นอันดับสอง เมื่อเศรษฐกิจเริ่มสามารถพยุงตัวเองได้ เราเติมความรู้ความเข้าใจให้ชุมชน ดังนั้น คนต้องมาก่อน คนเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ส่วนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ คือ ปัจจัยสนับสนุนให้คน ระบบเศรษฐกิจ และสังคมดำเนินได้อย่างสะดวก”

แผนการดำเนินการปี 2564

สำหรับแผนพัฒนาคนนอกห้องเรียน ดีป้าจะร่วมมือกับเอกชน EdTech ผ่านบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวก โดยวางเป้าหมายไว้ 5 แพลตฟอร์ม ที่จะร่วมทำงานกับเอกชน สำหรับการพัฒนาให้คนมีความรู้ใหม่ ๆ ดีป้าจะร่วมมือกับเอกชนในการให้ทุนการศึกษากึ่งหนึ่ง โดยให้เด็กจบใหม่สามารถทำงานได้เลย และสนับสนุนให้แรงงานเดิมในตลาดเรียนรู้ทักษะใหม่ ตั้งเป้าสนับสนุนไว้ไม่น้อยกว่า 2,000 คน

ส่วนแผนการสร้าง digital literacy ดีป้าจะสร้างดิจิทัลคอนเทนต์ให้คนไทยเรียนรู้ดิจิทัลได้ตลอดชีวิต ทุกที่ทุกเวลา ทุกช่องทาง ปีที่ผ่านมามี 10 ล้านคนเข้ามารับชม ดีป้าคาดหวังว่าประมาณ 10% มีความเข้าใจว่าดิจิทัลคืออะไร การใช้ชีวิตแบบใหม่เป็นอย่างไร ดีป้าจะมี 20 เนื้อหาใหม่ในปี 2564 เพื่อให้คนไทย 60 กว่าล้านคนได้มีโอกาสเข้าถึงเนื้อหาความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัล

แผนการสนับสนุนส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ดีป้าตั้งเป้าหมายว่าจะส่งเสริมให้มีจำนวนผู้ประกอบการขนาดกลาง 500 ราย (อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูป เป็นต้น) และขนาดเล็ก 1,000 ราย (อาทิ หาบเร่ แผงลอย ร้านค้ารายย่อย เป็นต้น) นำดิจิทัลเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ ดีป้าวางแผนการทำงานเชิงรุกกับพันธมิตรใหม่เพื่อให้สามารถสนับสนุนได้ 5,000 ราย จาก 2 ล้านกว่าราย

ปี 2564 ดีป้าวางแผนจะสนับสนุนสตาร์ตอัพอีกจำนวน 50 สตาร์ตอัพ ที่จะไปทำงานกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาที่มีความต้องการใช้งานดิจิทัลในการอยู่รอด ปีที่ผ่านมาสนับสนุนไปเกือบ 60 ราย ในขณะที่ปีหน้าดีป้าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมคอนเทนต์เพิ่มเติมอีก 5 ราย

ส่วนแผนงานภาคสังคม ปี 2564 ดีป้าจะขยายจำนวนชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมเรื่องดิจิทัลจำนวน 100 ชุมชนในปีที่ผ่านมา ด้วยการกลยุทธ์การสร้าง “เซลแมน โซลูชั่น” ให้ชุมชนทั่วประเทศ แผนงาน คือ การสร้าง talent ในท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อให้ talent เหล่านี้เป็นตัวเชื่อในการถ่ายทอดองค์ความรู้ดิจิทัลจากสตาร์ตอัพสู่ชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง ดีป้าจะสวร้างตัวแปรใหม่ คือ solution agent เพื่อให้กระจายความคิดของบรรดาสตาร์ตอัพที่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไปสู่ชุมชนทั่วประเทศ และแปลงภาษาดิจิทัลสู่ภาษาที่ชาวบ้านท้องถิ่นเข้าใจได้

“หัวใจสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน คือ ต้องให้คนชุมชนบริหารจัดการชุมชน โดยเป้าจำนวนชุมชนยังคงเดิม คือ 100 ชุมชน”

และต้องสร้างความรู้ใหมม่ที่ชุมชนจำเป็นต้องรู้ให้ชุมชนสร้าง ดีป้าเติมเต็มความรู้ใหม่ ชุมชนไม่ได้หมายถึงชุมชนทางกายภาพที่อยู่ห่างไกลในต่างจังหวัดเท่านั้น แต่ยังหมายถึงชุมชนบนโลกออนไลน์ด้วย

“เราจะมีการเติมความรู้ใหม่ ๆ อาทิ แนวโน้มเทคโนโลยี กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล เป็นต้น หน้าที่เรา คือ ส่งเสริมทำให้คนไทย ชุมชนเข้าใจดิจิทัล ใช้ดิจิทัลอย่างถูกต้อง”

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดีป้าอยู่ระหว่างการก่อสร้าง Thailand Digital Valley ให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) และมีการร่วมเปิดศูนย์​ 5G EIC กับหัวเว่ย สำหรับปี 2564 ดีป้าจะมีความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีแนวคิดในการสร้าง Innovation Center เพื่อให้เกิด ecosystem ในการสร้างให้เกิด digital literacy ใหม่ ๆ ให้กับประชาชน หรือเป็นศูนย์ที่ทำให้เกิดการสร้างไอเดียใหม่ ๆ

“หากภาคการศึกษามีอาคารสถานที่ที่ว่างและอยากจะสร้างเป็นศูนย์พัฒนากำลังคนเพื่อป้อนสู่ประเทศในสาขาที่ขาดแคลน ดีป้ายินดีเป็นโซ่ข้อกลางในการประสานระบบเศรษฐกิจดิจิทัลกับภาคการศึกษาเพื่อให้เกิดกรทำงานที่เชื่อมโยงกัน โซ่ข้อกลางทางเศรษฐกิจดิจิทัล หมายความว่า ระหว่างบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ตอัพ มาเจอระบบการศึกษา”

ดีป้า วางแผนจะทำให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ด้านดิจิทัล 2 แห่งในปี 2564 นี้ และวางแผนพัฒนาระบบการศึกษา 2-3 เรื่องที่คนไทยต้องรู้ ต้องมีการเปลี่ยนผ่านระบบการศึกษาสู่การทำงานควบคู่กับการเรียน อาทิ AI, IoT และ Drone ดีป้าวางเป้าจะมี 3 ศูนย์สำหรับ 3 เรื่องนี้ และจะมีศูนย์รับรองมาตรฐานเทคโนโลยีเหล่านี้อีก 2 ศูนย์ ผ่านการผลักดันเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและ IoT ในชื่อ dSURE

“ปี 2564 ดีป้า พร้อมเดินหน้าผลักดันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านมหาวิทยาลัยสู่ยุคดิจิทัล โดยการจัดตั้ง Drone University เพื่อพัฒนาคนให้รู้จักนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ประกอบวิชาชีพ รวมถึงการจัดตั้ง AI University โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อผลิตบุคลากรตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม”

แผนเร่งด่วน คือ ต้องทำให้คนไทยมีอาชีพ และคนไทยเข้าถึงโซลูชั่นดิจิทัล ดีป้า พยายามร่วมมมือกับสตาร์ตอัพในการหาแพลตฟอร์มให้คนไทยเข้าถึงองค์ความรู้/โซลูชั่นเรื่องดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

“เราจะนำเสนอโครงการ Tech Hunting Platform เป็นโครงการเร่งด่วน”

งบประมาณปี 2564 ของดีป้ามี 1,090 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือนรวมค่าเช่าประมาณ 200 ล้านบาท เหลือเงินทำงานอีกประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นงบผูกพันการก่อสร้างอยู่ประมาณ 200 ล้านบาทเศษ เป็นงบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง World Expo อีกประมาณ 30-40 ล้านบาท เหลือเงินทำงานปี 2564 ประมาณ 500-600 ล้านบาท

“ใช้เงินเพื่อพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสตาร์ตอัพ 50 ราย พัฒนาผู้ใช้งาน หรือ used case ระดับเล็กจำนวน 1,000 และขยายเป็น 5,000 ราย และมีระดับกลาง 500 ราย พัฒนาชุมชน 100 ชุมชนทั่วประเทศ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านศูนย์การเรียนรู้ใหม่ การสร้างระบบการศึกษาใหม่ผ่านการระบบการศึกษาเดิม สร้างศูนย์การศึกษาเดิมที่เป็นการศึกษาพร้อมการมีงานทำร่วมกับสถาบันการศึกษา AI, IoT และ 5G และพัฒนาศูนย์มาตรฐานสินค้าดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลง”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ