TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupเอ็นไอเอ เปิดแผน 3 ปี สร้าง 100 สตาร์ตอัพ DeepTech และ 3,000 สตาร์ตอัพหน้าใหม่

เอ็นไอเอ เปิดแผน 3 ปี สร้าง 100 สตาร์ตอัพ DeepTech และ 3,000 สตาร์ตอัพหน้าใหม่

สำนักงานนวัตกรรมแหงชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดแผนส่งเสริมนวัตกรรมระดับท้องถิ่นให้เกิดการกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการ บริษัทสตาร์ตอัพเข้าถึงนวัตกรรม แหล่งเงินทุน โมเดลการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เน้นนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ในธุรกิจ ตั้งเป้าปี 2564-2566 เดินหน้าส่งเสริมระบบนวัตกรรม และสร้างโอกาสนวัตกรรมท้องถิ่น

วางเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้าจะต้องสร้างสตาร์ตอัพ DeepTech 100 ราย และสร้างบริษัทสตาร์ตอัพหน้าใหม่ 3,000 ราย พร้อมเผย 7 นวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ ได้แก่ นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ นวัตกรรมเชิงพื้นที่ นวัตกรรมสังคม นวัตกรรมภาครัฐและสาธารณะ นวัตกรรมข้อมูล นวัตกรรมกระบวนทัศน์ และ นวัตกรรมเชิงศิลป์

-Ricult สตาร์ตอัพหัวใจเกษตร ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรม
-ความสำเร็จ สตาร์ตอัพไทย ฝ่าวิกฤติโควิด-19

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาสังคมไทยถูกดึงเข้าสู่สังคมในยุค New Normal อย่างกะทันหัน ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรุนแรง ซึ่ง NIA คาดว่าโควิด-19 จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 3 ปี ถึงแม้ว่าจะมีวัคซีนแล้วก็ตาม ด้านเศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันที ประเทศที่คาดการณ์ว่า GDP จะกลับมาบวกก็มีแค่ไม่กี่ประเทศ

สำหรับปี 2564 การสร้างนวัตกรรมจะไม่ได้ตอบโจทย์แค่ปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เท่านั้น แต่จะสะท้อนไปถึงการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ โดยจะเน้นการสนับสนุนและสร้างโอกาสนวัตกรรมท้องถิ่นผ่านความร่วมมือของทั้งเอกชน รัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างให้จังหวัดหัวเมืองกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค (ปัจจุบันมีโหนดหลักอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ จ.นครราชสีมา อ.หาดใหญ่ และ กรุงเทพฯ) เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัพในพื้นที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยหรืองค์ความรู้ที่มีอยู่ในห้องถิ่น

“เรามองว่าใน 3 ปีนี้ เราอยากจะทำนวัตกรรมที่มาจากประเทศไทยให้ชัด เพื่อไปเสริมพลังภูมิภาคให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น”

NIA วางเป้าหมายว่าในปี 3 ปีข้างหน้าจะต้องสามารถสร้าง สตาร์ตอัพ DeepTech 100 ราย และสร้างบริษัทสตาร์ตอัพหน้าใหม่ 3,000 ราย จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 5 นวัตกรรมเชิงลึก นวัตกรรมเกษตร (Agritech) นวัตกรรมอาหาร (FoodTech) นวัตกรรมที่ใช้ระบบ AI Robotic (ARI) นวัตกรรมอวกาศ (SpaceTech) และ นวัตกรรมสุขภาพ (HealthTech) ส่วน 2 นวัตกรรมเชิงคอนเทนต์ ได้แก่ นวัตกรรมด้านศิลปะ (MARtech) และ นวัตกรรมท่องเที่ยว (Traveltech)

“เราทำ FoodTech มาแล้ว 2 ปี ผ่านโครงการ SPACE-F เราตั้งเป้าว่าจะให้กรุงเทพฯ เป็น FoodTech Silicon Valley เพราะประเทศไทยมี Value chain ที่แข็งแรงมาก เรามีทรัพยากรจริง มีบริษัทอาหารระดับโลก ทั้งนี้การจะเป็น FoodTech Silicon Valley ได้นั้น จะต้องมีความไว้วางใจกันระหว่างภาคเอกชน และภาครัฐ”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ด้าน Agritech ประเทศไทยมีบริษัท SMEs ด้านเกษตรมากมาย แต่แทบจะไม่มี Deep tech ด้านเกษตร ซึ่งในอนาคตจะเห็นเรื่องการทำ Urban farming (การเกษตรในเมือง) และ Precision Farming ที่ใช้หุ่นยนต์ในการทำเกษตร NIA จะเข้าช่วยสร้างสตาร์ตอัพ DeepTech ด้านเกษตรเพิ่มขึ้น

ขณะที่ SpaceTech เพิ่งเริ่มปีนี้ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ NIA จะไม่ได้เข้าไปสร้างยานอวกาศ แต่จะเข้าไปช่วยสตาร์ตอัพที่ทำในส่วนของอุตสาหกรรม Supply chain ของ SpaceTech เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้า อย่างในประเทศญี่ปุ่น มีตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่สตาร์ตอัพเริ่มต้นจากการรับงานเมกะโปรเจกต์จากรัฐบาล ทำเรื่องการเก็บขยะอวกาศ ยืดอายุดาวเทียม ก่อนจะนำความรู้มาพัฒนาบริษัท

ด้าน HealthTech จะเน้นเรื่องบริการ Tele Consult หรือการส่งยา ที่อาจจะไม่ใช่ DeepTech มากก็ได้ ส่วน ARI (AI Robotic Immersive) การพัฒนาด้านนี้ประเทศไทยจะต้องเปิดให้คนต่างชาติที่เก่งเข้ามา มีการให้สมาร์ทวีซ่า

MARtech นวัตกรรมกลุ่มนี้ไม่เหมือนกับการทำ R&D ในห้องทดลอง จะเห็นว่าปัจจุบันคนไทยติดซีรีส์ต่างประเทศมากขึ้นทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี และ จีน NIA จึงจำเป็นต้องเข้ามาพัฒนานวัตกรรมนี้ของประเทศไทย

“เราต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน 3 ปี เพื่อให้มี Deep tech สตาร์ตอัพเพิ่มขึ้นเป็น 100 รายที่ครอบคลุมใน 5 สาขา ซึ่งจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างประเทศก็ได้ แต่จะต้องตั้งบริษัทในประเทศไทย”

สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรม NIA มีการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ครอบคลุมในทุกกลุ่ม ผ่าน 7 เครื่องมือ ได้แก่

1.Incubator/Accelerator ซึ่งมีทั้งมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อให้ความรู้ บ่มเพาะ และเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัพ
2.Investment โดย NIA จะเป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการและสตาร์ตอัพให้เข้าถึงแหล่งลงทุนมากขึ้น ผ่านเครือข่ายนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
3.Innovation Organization / Digital / Transformation เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรมีการใช้ระบบดิจิทัล หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการใช้เครื่องมือในการประเมินองค์กรนวัตกรรม
4.SID หรือหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อบ่มเพาะ ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้วยการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมจนสามารถพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องได้ ผ่านกิจกรรมเครือข่าย การให้ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและการบ่มเพาะ
5.Grant ผ่านเงินทุนอุดหนุนให้กับผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ โดยต้องดำเนินการพร้อมกับแผนธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
6.Region / Innovation Hub/ Innovation District เพื่อสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันในแบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นการสร้างศักยภาพให้แก่พื้นที่นั้น ๆ โดยการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย
7.Entrepreneurial University การส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และความเข้าใจในการทำธุรกิจนวัตกรรม สามารถสร้างโมเดลการทำธุรกิจใหม่ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยหลัก ๆ ตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศ เพื่อกระจายความรู้และโอกาสไปยังท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม NIA ตั้งเป้าอยากเห็นผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนสามารถสร้างโมเดลธุรกิจนวัตกรรมให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน โดย NIA เล็งเห็นถึง 7 นวัตกรรมที่สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศได้ในช่วงที่ระบบนวัตกรรมกำลังเปลี่ยนแปลง ได้แก่

1.นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (Business Model Innovation) ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนหันมาสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ด้วยนวัตกรรม รวมถึงการหาเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ
2.นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area-Based Innovation) โดยสร้างให้เกิดหน่วยนวัตกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสทางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค ช่วยให้เกิดการจ้างงาน
3.นวัตกรรมสังคม (Social Innovation) เน้นลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ผู้คนให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19
4.นวัตกรรมภาครัฐและสาธารณะ (Public-Sector Innovation) เป็นเรื่องใหม่ที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมในภาคการบริการประชาชน และเปิดโอกาสให้หน่วยงานระดับกรมทำงานใกล้ชิดกับสตาร์ทอัพมากขึ้น เนื่องจากเอสเอ็มอีหลายรายมีความสามารถในการเข้าไปร่วมกับภาครัฐอยู่แล้ว
5.นวัตกรรมข้อมูล (Data-Driven Innovation) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญสำหรับใช้วิเคราะห์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการวิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดมีโอกาสในการเข้าถึงระบบนวัตกรรม โดยผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพสามารถหยิบข้อมูลไปประกอบการทำธุรกิจได้เลย ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้เข้าถึงข้อมูลได้ประมาณกลางปี 2564
6.นวัตกรรมกระบวนทัศน์ (Paradigm Innovation) เน้นเรื่องการมองอนาคตนวัตกรรม เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น ทำให้สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที
7.นวัตกรรมเชิงศิลป์ (Aesthetic Innovation) ทั้ง ดนตรี ศิลปะ และสันทนาการ โดยเป็นนวัตกรรมที่จะส่งเสริมเพื่อเกาะกระแสความต้องการของคนในสังคมที่เสพคอนเท้นท์บันเทิงต่าง ๆ เพราะที่ผ่านมาหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สามารถสร้างสรรค์จนประสบความสำเร็จและสร้างรายได้มหาศาลกลับเข้าสู่ประเทศ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ