TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"อดุลย์ เปรมประเสริฐ" ซีอีโอ น้ำมันพืชกุ๊ก เผยเคล็ดไม่ลับปรับตัวสู่ Industry 4.0

“อดุลย์ เปรมประเสริฐ” ซีอีโอ น้ำมันพืชกุ๊ก เผยเคล็ดไม่ลับปรับตัวสู่ Industry 4.0

จากงาน SMC Open House เปิดบ้านเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง เมื่อไม่กี่วันมานี้ อดุลย์ เปรมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืชรายใหญ่ของประเทศ ภายใต้แบรนด์ “กุ๊ก” ถ่ายทอดประสบการณ์การนำองค์กรปรับตัวสู่ Industry 4.0 อย่างน่าสนใจ และสนุกสนาน พร้อมเคล็ดไม่ลับน่าสนใจ ไม่มีกั๊ก ผู้สนใจจะปรับองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 ไม่ควรพลาด

CEO ต้องเป็นทัพหน้า

หลาย ๆ คนคงเคยศึกษามาบ้างแล้วว่า การขับเคลื่อนองค์กรไม่ว่าจะไปในทิศทางใด หากเริ่มด้วยผู้บริหารสูงสุดจะได้ผลดีที่สุด

อดุลย์ เล่าว่า ได้เข้าไปลุยเองตั้งแต่แรก ถึงจะเป็นคนรุ่นเบบี้บูม 195X แต่อายุที่ใช้ในการทำงานคือ 35 (จะครบร้อย) ลดอายุลงเพื่อจะได้สื่อสารกับพนักงานทั้งหลายได้คล่องตัว 

“ตำแหน่ง CEO ของผม รู้ไหมครับย่อมาจากอะไร Chief Entertainment Officer ผมทำหน้าที่เอ็นเตอร์เทนน้องๆ คอยซื้อขนมมาให้พวกเขากิน พูดคุยกับเขาทำให้เขารู้สึกว่า เรื่องที่ทำอยู่ไม่ได้เครียด เพราะผมมีพันธมิตรให้ มีที่พึ่งที่ปรึกษา และเรื่องที่ผมไม่มีความรู้ ต้องออกไปขอความรู้จากหน่วยงานรัฐ ผมก็ออกหน้า ลงมือเองเลย แม้น้อง ๆ จะบอกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ต้องถึงมือผม แต่ผมบอกว่า ไม่ได้ ผมต้องไปเอง เพื่อแสดงความจริงใจว่า เราเอาจริง ซึ่งก็ได้ผลดี”

นานาปัญหา-อุปสรรค

ปัญหาเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศ ตัวเลขจากกรมศุลกากร ปี 2563 และ 2564 ปริมาณการนำเข้าถั่วเหลือง จำนวนกว่า 7 ล้านตัน ส่วนในประเทศผลิตได้น้อยกว่า 1 แสนตันต่อปี เท่ากับเรานำ Food Security ไปฝากไว้กับต่างประเทศ เช่น บราซิล อเมริกา บราซิล ซึ่งเป็น 3 ผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก 

ในเมื่อความต้องการมีมากถึง 7 ล้านตัน แต่กำลังการผลิตมีแค่ 1 แสนตัน เป็นความท้าทายและอุปสรรค นำเข้ากากถั่วเหลืองสำหรับโรงงานผลิตอาหารสัตว์เกือบ 2.8 ล้านตัน การนำเข้าต้องเช่าระวางเรือ และในฐานะที่เป็นสินค้าคอมมูนิตี้จะต้องวางแผนเรื่องราคาที่ผันผวนตลอด ต้องทำอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) 

กว่าสินค้าจะมาถึงใช้เวลา 35-40 วัน และเข้าสู่กระบวนการผลิตออกมาเป็นสินค้า ออกสู่ตลาดที่เป็นยุคดิจิทัลซึ่งลูกค้าจะมีปัญหาเรื่องราคาไม่เป็นปัจจุบัน แต่วัตถุดิบ ซื้อ 30 วันก่อน ราคามีขึ้นมีลงจากการที่มีคนทำ Paper Trade ไม่ได้นำของไปใช้จริง (เป็นการเก็งกำไรรูปแบบหนึ่ง) ฉะนั้น จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน จากเดิมขายเป็นวัน ๆ จะซื้อเมื่อไรก็เสนอราคา เมื่อโลกเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยน เป็นเสนอขายล่วงหน้า เช่น ไตรมาสที่ 4 ปีหน้า โดยใช้เครื่องมือมาช่วยดูตลาดอนาคต (Future) ทั้งกากถั่วเหลือง น้ำมัน เมล็ดถั่วเหลือง แล้วนำมาคำนวณ ซึ่งการทำ 4.0 คือเครื่องมือดังกล่าว

ทั้งนี้ ในตลาดน้ำมันพืช จะเป็นถั่วเหลืองบรรจุขวดประมาณ 25% ส่วนใหญ่ 70% เป็นน้ำมันปาล์ม อีก 5% เป็นพืชอื่น ๆ การทำธุรกิจต้องหาตลาด ซึ่งคนทำธุรกิจควรมองถึงองค์รวมว่าไปเกี่ยวข้องกับใครบ้าง แล้ว “กุ๊ก” จะอยู่กับเขาอย่างไร น้ำมันถั่วเหลืองที่กุ๊กผลิต 6 แสนตัน ขายให้ภาคอุตสาหกรรม 2 แสนตัน ภาคการบริโภค 2 แสนตัน เหลืออีก 2 แสนตันทำตลาดส่งออกที่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศที่มีแหล่งวัตถุดิบในประเทศเอง ของเรานำเข้าต้องใช้เวลา 30-40 วัน เผชิญกับอัตราการแลกเปลี่ยนบางครั้งขึ้นไปถึง 37-38 บาทต่อดอลลาร์ หรือช่วงสงครามยูเครน-รัสเซีย จากที่เคยนำเข้าถั่วเหลืองลำละ 40 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันเพิ่มเป็น 80 ล้านดอลลาร์

ทุกอย่างเป็นความท้าทายที่ต้องวิเคราะห์ ทั้งอุปสรรค ซัพพลายเชน รูปแบบการทำงาน และเหตุการณ์ไม่คาดฝัน อย่างโควิดมา ความต้องการถั่วเหลืองลดจาก 7 ล้านตันเหลือ 5 ล้านตัน จากประสบการณ์ตรง เมื่อ 40 ปีก่อนคือ ซื้อแพง ขายถูก แต่มีกำไร มาปัจจุบัน ต้องซื้อแพง ขายถูก และยั่งยืน (Lowest Cost Producer) 

เหตุผลที่ต้องซื้อแพงเพราะซัพพลายเออร์ตลอดซัพพลายเชนต้องอยู่ได้ จะไปกดราคาเขาไม่ได้ แต่ช่วยเขาได้ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ขายถูกคือ การขายด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนปัจจุบันต้องยั่งยืนคือ ทั้งซัพพลายเชนต้องอยู่ได้ ไม่ใช่บริษัทอยู่ได้อย่างเดียว 

“คุณใช้ทุกอย่างทั้งพลังงาน น้ำ ไฟ กำไร = ต้นทุน – ความสูญเสีย ทำอย่างไรจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่ง Thailand 4.0 เป็นตัวช่วย ผมทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 19xx ทำให้รู้ว่าจุดไหนที่ขาดและต้องเติมเข้าไป ความท้าทายคือจะลดความสูญเสียที่เกิดจากการทำงานได้อย่างไร ตัวไหนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน ที่สำคัญของการแข่งขันคือต้องมี Economy of Scale บริษัทผู้ผลิตน้ำมันในประเทศมี 2-3 บริษัท ไม่ต้องแข่งขันกัน แข่งขันกับตัวเองดีกว่า หาวิธีทำให้ขายในราคาที่อยู่ได้ก็จะโตขึ้น เชื่อใน Power of Partnership ผมไม่ Disrupt แต่ Digital Constructive Disruption คือการดิสรัปต์อย่างสร้างสรรค์ ลูกค้าต้องการอะไรเรามีข้อมูลก็พัฒนาไปสู่ตรงนั้น”

วรุณาจับมือข้าวหงษ์ทอง ริเริ่มโครงการเกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีและความรู้ยกระดับอุตสาหกรรมข้าวไทย

“จำรัส สว่างสมุทร” ผู้อำนวยการใหญ่ส.อ.ท. ชี้เป้าภาคอุตสาหกรรม “เตรียมพร้อมสู่ความยั่งยืน”

นำเทคโนโลยีเข้าช่วย

ใครว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นการลงทุนที่สูง และสิ้นเปลือง แต่ผลปรากฏว่า ช่วยลดต้นทุนลง อย่างเช่น เรื่องการทำคาร์บอนฟุตพริ้นต์

“ทุกคนที่ได้ยินเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ เรื่องกรีน จะเห็นว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่ผมมีประสบการณ์ จากการทำเรื่องกรีน ผมลดต้นทุน ลดอะไรต่าง ๆ ไปมโหฬาร”

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ของน้ำมันพืชกุ๊ก เมื่อสิบกว่าปีก่อน จะมีคาร์บอนอยู่ประมาณ 1,253 ตอนนี้เหลือ 534 จากการเปลี่ยนวิธีการใช้พลังงาน เปลี่ยนวิธีการจัดการของเสีย ทำให้ต้นทุนลดลงเพราะใช้พลังงานน้อยลง ต้นทุนที่ลดลงยังนำไปจ่ายภาษีได้

รับสิทธิบีโอไอเป็นผลพลอยได้

การทำเทคโนโลยี 4.0 หรือโรงงาน 4.0 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนการใช้พลังงานปกติจากการนำพลังงานทดแทนมาใช้ ลดความสูญเสียในการทำงานทั้งหมด แต่ได้ผลพลอยได้อย่างไม่ตั้งใจคือ การได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ

โรงงานที่จะทำ 4.0 ต้องไม่คิดว่า จะทำ 4.0 เพื่อขอรับบีโอไอ เพราะสิ่งนี้เป็นเพียงผลพลอยได้ ผลลัพธ์ที่แท้จริงของการทำ 4.0 คือจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม การขอรับสิทธิส่งเสริมจากบีโอไอนั้น หลาย ๆ บริษัทไม่ทราบว่า กิจการของตัวเองสามารถขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอได้ จึงแนะนำให้เข้าไปดูรายละเอียดคู่มือขอรับการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรการเฉพาะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตที่ www.boi.go.th

“บางรายเปิดบริษัทมาเป็นยี่สิบปี ยังขอบีโอไอได้ จากการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ถ้าเครื่องจักรใหม่นั้น ลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม และล่าสุด จากมาตรการด้านการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เมื่อลงทุนด้านนี้จะนำไปลดภาษีได้ 100%”

ยุคปัจจุบันเกี่ยวข้องกับ Digital, Green, Health และ Industry 4.0 ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำเรื่องกรีนจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ช่วยให้มีเงินจากต้นทุนที่ลดลงไว้จ่ายภาษี ขณะนี้ ที่โรงงานกำลังทำ Circular Economy Carbon Footprint Product: CECFP ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดแนวคิดในการทำงาน ทั้งได้ทำ Digital Transformation Roadmap ตั้งแต่ไม่รู้ว่า AI คืออะไร Digital Twins คืออะไร

บริษัททำ Digital Constructive Disruption: DCD โดยการลงทุนทางด้าน Automation และ Digital ต้องช่วยลดต้นทุน ลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการผลิต คนทำงานต้องมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพด้าน Digital Interface ขององค์กร และสุดท้ายที่กำลังทำคือ Data Analytics

ทั้งนี้ ข้อควรพิจารณาการลงทุนด้านออโตเมชั่น และดิจิทัลในองค์กร คือ ลงทุนแล้วช่วยให้ประหยัด สร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า ขจัดความเสี่ยงเรื่องกฎหมาย ได้ความคุ้มค่าในการลงทุนด้านอัตราผลตอบแทนภายใน IRR มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV เป็นบวก ระยะเวลาคืนทุน (Payback Period: PbP) สั้น ได้รับการคืนทุนเร็ว

5 มิติควรได้จากเทคโนโลยีดิจิทัล

เป็นความร่วมมือกับ Partner ได้แก่ 1. การทำ Predict หรือการคาดการณ์ทางธุรกิจเพื่อช่วยองค์กรสร้างความสําเร็จบนพื้นฐานของข้อมูล ซึ่งจะต้องมีวิธีวัดก่อนจะเกิดเหตุบางอย่าง ไม่ต้องรอเสีย มิฉะนั้นจะพังก่อนจากการมีความหักเหเบี่ยงเบนบางอย่างเกิดขึ้น

2. ในสเกลใหญ่ต้องมี Automate ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผล 3. มี Secure ในทุกระบบ และช่องทาง ด้วยเทคโนโลยีและบริการด้าน Cyber Security และ Privacy ที่ครบวงจร

4. Modernize ระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีให้องค์กรพร้อมเดินหน้าทําธุรกิจบนสภาพแวดล้อมแบบ Hybrid Cloud เพื่อให้ตอบโจทย์ซอฟต์แวร์ แอส อะ เซอร์วิส ได้ครบ และ 5. Transform ที่สำคัญคือเปลี่ยน Mindset ของคน ช่วยองค์กรทรานฟอร์มด้วยโมเดลธุรกิจ Digital ใหม่ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

แค่ 3.7 หรือ 3.8 ก็พอแล้ว

โรงงานผม ไม่จำเป็นต้องไปถึง 4.0 แค่ 3.7 หรือ 3.8 ก็พอแล้ว ซึ่งแต่ละโรงงานจะไปถึงเทคโนโลยีระดับใด ขึ้นกับความจำเป็นของโรงงานนั้น ๆ

การปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 แนะนำให้ดำเนินการดังนี้

1. วางแผนการประเมิน Thailand i4.0 Index เพื่อจะได้รับทราบถึง 6 มิติหลัก ที่จะต้องเพิ่มเติมและปรับปรุงในองค์กร โดยใช้บริการของ SMC มาช่วยประเมิน เพื่อประหยัดเวลาในการดำเนินการด้าน Technology, Smart Operation, IT System & Data Transaction, Market & Customer, Strategy & Organization, Human Capital เมื่อเห็นทุกแง่มุมแล้วจะได้เติมเต็มส่วนที่ขาด

2. ต้องมีพันธมิตร (Partners) ที่หลากหลายสาขา และ 3. ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพตามมาตรการเฉพาะ

อย่าหยุดเรียนรู้

ทุกคนไม่ว่าวัยไหน ต้องอย่าหยุดเรียนรู้ เบื้องต้นอาจไม่รู้อะไรมากนัก แต่มีหน่วยงานพันธมิตรมากมายพร้อมให้การช่วยเหลือ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอื่น ๆ อีกมากมาย ให้ติดตามข่าวว่าหน่วยงานต่าง ๆ มีโครงการอะไรก็ให้สมัครเข้าร่วมเลย

“ผมไปนี่ บางทีก็ไม่รู้เรื่องหรอก ต้องไปกระซิบบอกให้อธิบายเป็นส่วนตัวอีกที ซึ่งทำให้เราเข้าใจ และคุยกับเขาต่อได้”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึก METI ประเทศญี่ปุ่นดึงนักลงทุนข้ามชาติ ยกระดับ SMEs ไทย

BOI หารือ ส.อ.ท. ยกระดับอุตสาหกรรมไทย หวังสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ