TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupเอ็นไอเอ เร่งปั้นสตาร์ตอัพสาย “ดีพเทค” ป้อนนิคมฯ - EEC ต่อยอด ARITech

เอ็นไอเอ เร่งปั้นสตาร์ตอัพสาย “ดีพเทค” ป้อนนิคมฯ – EEC ต่อยอด ARITech

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดตัว “โครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ตอัพในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” นำร่องกิจกรรม “บ่มเพาะสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” เพื่อสร้างโอกาสให้สตาร์ตอัพกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ ดีพเทคได้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด พร้อมทั้งการขยายโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โดยในโครงการนี้มุ่งเป้าที่สตาร์ตอัพกลุ่ม ARI Tech ซึ่งประกอบด้วย Artificial Intelligence , Robotics และ Immersive, IoT และขณะนี้มีบริษัทพันธมิตรให้ความสนใจและยินดีตอบรับการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพแล้ว อาทิ ด้านเกษตร-อาหารและค้าปลีก ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ด้านพลังงาน ได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ด้านดิจิทัล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

-DEPA หนุนสตาร์ตอัพให้บริการดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตร
-NIA ตั้งเป้า 3 ปี ปั้นดีพเทคสตาร์ตอัพรองรับอุตสาหกรรมอวกาศ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ประเทศไทยติดหนึ่งในสามของประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนจากการจัดอันดับนวัตกรรมบลูมเบิร์ก หรือ Bloomberg Innovation Index ประจำปี 2564 โดยมิติสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศขยับขึ้นสูงกว่าเดิมถึง 8 อันดับ สะท้อนให้เห็นถึง “โอกาส” ของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” และจากโอกาสดังกล่าว NIA ได้เล็งเห็นว่ามี 3 กลยุทธ์ที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นวัตกรรม ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสร้างศักยภาพแห่งอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์กับกลยุทธ์ดังกล่าว NIA จึงได้ริเริ่มกิจกรรม “NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ศักยภาพของประเทศ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในโครงการนี้มุ่งเป้าที่สตาร์ตอัพในกลุ่ม ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT) จำนวน 10 ราย เนื่องจากเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี และเพื่อให้สตาร์ตอัพได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ EEC

พร้อมกันนี้ยังสร้างการเชื่อมโยงกับพันธมิตรในพื้นที่ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) สมาคมการค้าสตาร์ตอัพไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) มาร่วมในโครงการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการไปสู่ระดับโลก เนื่องจากการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ในพื้นที่ EEC จะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานไร้ทักษะ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปใช้กระบวนการทำงานมากขึ้น

“การส่งเสริมสตาร์ตอัพ ให้สามารถเข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC เปรียบเสมือนการสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ และพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ดึงพันธมิตรจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ตอัพโดยสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าใจปัญหาและแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ (Public Private Partnership หรือ PPP) สตาร์ตอัพจึงจะได้ลงมือพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการรวมถึงมีเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงช่วยเหลือกันได้ เวทีนี้จึงถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ในการต่อยอดธุรกิจ มีเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ที่พร้อมผลักดันและช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสในการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งจะได้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของธุรกิจไปพร้อมกัน ถือเป็นการร่วมมือกันแบบที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีบริษัทพันธมิตรให้ความสนใจและยินดีตอบรับการทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ EEC อาทิ ด้านเกษตร-อาหารและค้าปลีก ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ด้านพลังงาน ได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ด้านดิจิทัล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งในทุกบริษัทล้วนแล้วแต่จะมีโจทย์และโอกาสทางธุรกิจที่ต้องการมองหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเชิงลึกที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์เหล่านั้น สำหรับโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในพื้นที่ EEC จะเปิดรับสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกใน 3 กลุ่มเทคโนโลยีได้แก่ 1) Artificial Intelligent (AI) 2) Robotics และ 3) Immersive, IoT

โดยจะคัดเลือกสตาร์ตอัพเข้าไปร่วมทำงานจริงกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำใน EEC ซึ่งจะมาร่วมเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจผ่านประสบการณ์และมุมมอง เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมแก้ปัญหาและต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งนี้ ยังได้รับองค์ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาศักยภาพแบบเจาะลึก ได้ลงพื้นที่ทดสอบการใช้งานจริงไปพร้อมกับลูกค้า รวมถึงโอกาสในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนและบริษัทชั้นนำในพื้นที่ EEC โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาศักยภาพสตาร์ตอัพให้มีความพร้อมและสามารถขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไป โดยสตาร์ตอัพที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://aritech.nia.or.th/eec ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เท่านั้น”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ