TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessSleep Market โต 432 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Sleep Market โต 432 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เปิดสถิติคนไทย 19 ล้านคน เผชิญปัญหานอนไม่หลับจากสังคมเร่งรีบและเศรษฐกิจผันผวน ส่งผล Sleep Market เติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องประชาคมโลกเจอปัญหาเดียวกัน ดันตลาด Sleep Market ปี 63 โต 13 ล้านบาท W9 รุกออกแบบพัฒนาโปรแกรม Sleep Better Package ปรับสมดุลการนอนโดยไม่ต้องพึ่งยา

-ม.ศรีปทุม โชว์ 3 นวัตกรรม IoT แก้ปัญหาสังคม
-เอไอเอส NEXT หนุนไอเดียเจ๋ง แก้ปัญหาสังคมผ่าน Jump Thailand Hackathon

เวลานอนคือช่วงแห่งการฟื้นฟู แต่ปัจจุบันเวลานอนกลายเป็นปัญหากับหลายคนที่เผชิญกับอาการนอนไม่หลับ หรือการนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ถึงแม้จะไม่ใช่ประเด็นสุขภาพที่อยู่ในกระแสความสนใจของผู้คนในปัจจุบันเหมือนปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือฝุ่น PM 2.5 แต่เป็นปัญหาที่กำลังแทรกซึมเข้ามาทำลายสุขภาพคนไทยในทุก ๆ วัน และมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุจากสภาพแวดล้อม อาทิ เศรษฐกิจที่ผันผวน สภาวะการทำงานที่กดดัน รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้หลาย ๆ คนเกิดความกังวล มีภาวะตึงเครียด จนในที่สุด “โรคนอนไม่หลับ” หรือนอนหลับไม่เพียงพอมาเยือนแบบไม่รู้ตัว ส่งผลให้คนไทยกำลังก้าวสู่ภาวะที่น่าเป็นห่วงและน่าตกใจไม่น้อย

โดยจากสาธารณสุขไทยอัปเดตล่าสุด เกี่ยวกับปัญหาการ ‘นอนไม่หลับ’ พบว่า 30-40% ของประชากรไทย กำลังเผชิญกับปัญหานอนไม่หลับ ส่งผลให้ตลาดการนอน หรือ Sleep Market เป็น segment ที่มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในธุรกิจ Wellness ของปี 2563 โดยข้อมูลจาก Global Wellness Institute เผยตลาดดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 432 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ W9 แนะทริคการปรับนาฬิกาชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยสร้างสมดุลการนอนหลับได้โดยไม่ต้องพึ่งยานอนหลับ

นายแพทย์พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม W9 Wellness Center ในโรงพยาบาลพระรามเก้า เผย ปัจจุบันปัญหาการนอน หรือนอนไม่หลับ กำลังแทรกซึมเข้ามาทำลายสุขภาพประชากรทั่วโลก จากสถิติพบว่ากว่า 20% ของประชากรบนโลกหรือประมาณ 1 ใน 5 มีพฤติกรรมทำงานในช่วงเวลากลางคืน (Nighttime Shift Work) หรือ การประชุมติดต่องานข้ามทวีปที่โซนเวลาต่างกันมาก พร้อมยังพบกับปัญหาจากสภาพแวดล้อมในแต่ละวัน อาทิ เศรษฐกิจที่ผันผวน สภาวะการทำงานที่กดดัน รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ที่ส่งผลให้เกิดความกังวล มีภาวะตึงเครียดจนนอนไม่หลับ หรือเกิดอาการหลับ ๆ ตื่น ๆ พักผ่อนไม่เพียงพอ และนำมาซึ่งการเสื่อมโทรมของร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง การตอบสนองของสมองช้าลง และร่างกายทำงานติดขัด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง เป็นต้น โดยจากสาธารณสุขไทยอัปเดตล่าสุดเกี่ยวกับปัญหาการ ‘นอนไม่หลับ’ พบว่า 30-40% ของประชากรไทย หรือราว 19 ล้านคน เผชิญกับปัญหานอนไม่หลับ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 ต่อ 1 โดยพบบ่อยขึ้นตามช่วงอายุที่มากขึ้น

ล่าสุด จากปัญหาการนอน หรือนอนไม่หลับที่กำลังคุกคามทั่วโลก ส่งผลให้ Sleep Market เป็น segment หนึ่งของธุรกิจ Wellness ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2563 ด้วยมูลค่าตลาสูงถึง 432 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13 ล้านล้านบาท

ที่ W9 ได้ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมที่เกี่ยวกับการช่วยแก้ปัญหาการนอน ตั้งแต่ Sleep Better Package ซึ่งเป็นโปรแกรมตรวจวิเคราะห์สมดุลฮอร์โมน ที่จำเป็นต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย มีความสำคัญต่อระบบประสาท การควบคุมอารมณ์ การนอนหลับ สมรรถภาพทางเพศ รวมถึงระบบการสร้างพลังงานของร่างกาย หรือ Hormone Balance ซึ่งเป็นโปรแกรมตรวจวิเคราะห์สมดุลฮอร์โมนเพศ 7 รายการที่จำเป็นต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะสมดุลของฮอร์โมนเพศที่มีความสำคัญต่อระบบประสาทในการควบคุมการนอนหลับ นอกจากนี้ ทุกคนสามารถลดปัญหาการนอนไม่หลับได้ด้วยตนเอง เพียงเริ่มจากการปรับ “นาฬิกาชีวิต” หรือ “Biological Clock” ของตนเอง สร้างสมดุลอวัยวะในแต่ละส่วนของร่างกาย มากกว่าการแก้ปัญหาจากปลายเหตุในปัจจุบัน ที่นิยมจ่ายเงินราคาสูง เพื่อซื้อเตียง หมอน ยานอนหลับ หรือ วิตามินต่าง ๆ

“นาฬิกาชีวิต” หรือ “Biological Clock” เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น จากการประกาศรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2560 ซึ่งมีการค้นพบว่า อวัยวะในแต่ละส่วนของร่างกายมีนาฬิกาเป็นของตัวเอง กระเพาะอาหารหลั่งฮอร์โมนหิว (เกอร์ลิน) ในเวลาเดิม ๆ พอตกเย็น ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะค่อย ๆ ลดระดับลง เมื่อฟ้าเริ่มมืดฮอร์โมนเมลาโทนินจะถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เราเริ่มรู้สึกง่วงนอน เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ยังมีฮอร์โมนในร่างกายอีกหลายชนิดที่ หลั่งเป็นเวลา แต่ในส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญคือ การนอน หรือ Circadian Sleep ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย จากการค้นพบครั้งนี้ ทำให้ประเด็นของการนอนให้เป็นเวลา ได้ถูกพูดถึงเป็นอย่างกว้างขวาง และถูกกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้นอีกครั้งในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้

จะเห็นว่านาฬิกาชีวิตไม่เพียงแค่กำหนดเวลาการตื่น การทำภารกิจในแต่ละวัน หรือการนอนเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อระบบการทำงานอื่น ๆ ในร่างกาย อาทิ ฮอร์โมน อุณหภูมิของร่างกาย กระบวนการเมตาบอลิซึม การสร้างเซลล์ใหม่ และระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงแสงที่ถูกนับให้เป็นมลภาวะรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า Light Pollution และจะคอยตามหลอกหลอนเราเหมือน Lightmare ไม่ใช่ Nightmare (ฝันร้าย) อีกต่อไป โดย 20% ของคนบนโลก หรือประมาณ 1 ใน 5 ของคนทั้งโลก ทำงานในช่วงเวลากลางคืน (Nighttime Shift Work) หรือ การประชุมติดต่องานข้ามทวีปที่โซนเวลาต่างกัน โดยไม่ให้ความสำคัญกับการนอนเป็นเวลา เพราะเรามีแสงและเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงทุกอย่างไว้ด้วยกันตลอดเวลา เราสามารถทำงานตอนไหน ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิต (Circadian Disrupt)

การนอนหลับหรือเวลานอนคือช่วงแห่งการฟื้นฟู ซึ่งการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอที่ใช้งานไปในแต่ละวัน และยังฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของเราให้ดีและแข็งแรงขึ้น ดังนั้น ในแต่ละวันควรมีช่วงเวลาการนอนหลับอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง แค่นี้ร่างกายก็จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ สำหรับนาฬิกาชีวิตในแต่ละช่วงวัยของแต่ละคนนั้นก็ต่างกันออกไป ข้อมูลจากมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ ในสหรัฐอเมริกา ( National Sleep Foundation ) ได้แนะนำระยะเวลาการนอนผักผ่อนที่เหมาะสมแบ่งตามช่วงอายุ ไว้ดังนี้ เด็กวัยเรียน 6-13 ปี ควรพักผ่อน 9-11 ชั่วโมง ต่อวัน วัยรุ่น 14-17 ปี ควรพักผ่อน 8-10 ชั่วโมง ต่อวัน วัยผู้ใหญ่ตอนต้น 18-25 ปี ควรพักผ่อน 7-9 ชั่วโมง วัยผู้ใหญ่ 26-64 ปี ควรพักผ่อน 7-9 ชั่วโมง และวัยสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรพักผ่อน 7-8 ชั่วโมง แต่ที่สำคัญกว่านั้นไม่ใช่แต่จำนวนชั่วโมงการนอนที่เพียงพออย่างเดียวเท่านั้น แต่ช่วงเวลานอนที่ตรงตามนาฬิกาชีวิตก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

อย่างไรก็ดี เพื่อช่วยลดภาวะพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือโรคนอนไม่หลับ W9 แนะทริคการปรับนาฬิกาชีวิต ง่าย ๆ ได้ด้วยตัวเอง โดย “เริ่มจากการให้ร่างกายได้สัมผัสแสงแดดธรรมชาติให้มากขึ้นในช่วงเวลากลางวัน ในระหว่างวันพยายามเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยทุกชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงบ่ายและช่วงเย็น ช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดินพยายามปิดหรือหรี่ไฟที่ไม่จำเป็นให้มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้รับรู้ว่ามืดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากหน้าจอ อย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน เพื่อให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนินได้อย่างปกติ” นายแพทย์พิจักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ