TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"ดีพร้อม" ให้คำมั่นเคียงข้างเอสเอ็มอีไทย พลิกกลยุทธ์ทุ่มกว่า 500 ล้านปั้นรายย่อยฝ่าวิกฤติ

“ดีพร้อม” ให้คำมั่นเคียงข้างเอสเอ็มอีไทย พลิกกลยุทธ์ทุ่มกว่า 500 ล้านปั้นรายย่อยฝ่าวิกฤติ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ((กสอ.) หรือ DIPROM (ดีพร้อม) เปิดทิศทางและนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) และวิสาหกิจชุมชนฉบับปรับปรุงใหม่ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกาศให้คำมั่นยืนหยัดเคียงข้างเอสเอ็มอีไทย เผชิญทุกปัญหาฝ่าวิกฤติ พร้อมจัดงบอัดฉีดให้ 520 ล้านบาท ตั้งเป้ายกระดับพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยกว่า 16,000 ราย หวังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสู่ประเทศ 7,000 ล้านบาท 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ให้คำมั่นระหว่างงานแถลงเปิดนโยบาย “ดีพร้อมแคร์: แคร์ทุกก้าวการเติบโตอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีไทย” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของดีพร้อมฉบับปรับปรุงใหม่ภายใต้แนวทาง “ปั้น ปรุง เปลี่ยน” เอสเอ็มอีไทยให้ดีพร้อมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 โดยมุ่งให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมไทยในการปรับตัวในทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การตรวจเช็คสุขภาพธุรกิจ การหนุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่องทางตลาดใหม่ มาตรการด้านการเงิน อีคอมเมิร์ซ และการดึงพันธมิตรต่างชาติเพื่อมีส่รนร่วมในการปรับเปลี่ยน (ทรานส์ฟอร์ม) อุตสาหกรรมเอสเอ็มอีไทย

ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินการในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแห่งความท้าทายอีกปีหนึ่ง กระนั้น ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ที่เริ่มมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวเติบโตในทางบวกของหลายอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึง บรรดาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เอ็มเอสเอ็มอี (MSMEs) ที่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว โดยมีกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย (ไมโคร) ที่เติบได้เร็วที่สุดที่ 8 % เพราะได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ 

ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อยกลับยังคงฟื้นตัวได้ช้า เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียน ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางฟื้นได้เรื่อย ๆ ที่ 2.2% ด้วยแรงหนุนจากเงินทุนหมุนเวียนและภาคการส่งออกที่ค่อยฟื้นตัวกลับมาตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก  

ด้านอุตสาหกรรมในภาพรวมพบว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ผ่านมาสามารถขยายตัวได้ 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่หดตัว 7.4% สะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตกำลังกลับมาฟื้นตัวเพราะได้อานิสงค์จากตลาดส่งออกที่ขยับขยายตัวจากมาตรการทางเศรษฐกิจของต่างประเทศ ควบคู่กับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีขยายตัวดีคือ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการผลิตในภาคการเกษตรเนื่องด้วยอัตราความต้องการในการบริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง

“ภาพรวมของเอสเอ็มอีไทยในมุมมองของดีพร้อมปีนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวและโตได้ดี โดยมีเอสเอ็มอีรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นจากคนที่คิดเปลี่ยนงาน ลาออกจากงาน โดยปลดหรือโดนพักงาน แล้วไม่อยากกลับไปทำงานประจำ ซึ่งช่วง 2 ปีก่อนหน้า คนกลุ่มนี้ต่างหาทางไปใช้ชีวิตและประกอบอาชีพอื่น ๆ แล้ว โดยส่วนใหญ่จะหันมาประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก แบบเล็กมาก ช่วยให้ตัวเลขของเอ็มเอสเอ็มอีเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่เป็นกิจการที่เชื่อมโยงกับธุรกิจด้านการเกษตรและอาหาร เช่น ขนมไทย ปลูกผัก”

ขณะที่ในปี 2565 ดร.ณัฐพล ประกาศว่า ทางดีพร้อมจะดำเนินงานภายใต้งบประมาณการทำงาน 527.68 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ดังนั้น หลังจากที่ทางดีพร้อมได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ออกไปสำรวจปัญหา รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของผู้ประกอบการไทย ครอบคลุมถึงเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน (โอทอป) จึงได้ข้อมูลที่นำมาปรับเปลี่ยนมาตรการแนวทางการส่งเสริมช่วยเหลือ และสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการไทยอย่างรอบด้านและเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ที่ชื่อว่า นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ประจำปีงบประมาณ 2565

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีพร้อม แคร์ ประกอบด้วย 4 แนวทางหลังตามตัวย่อ CARE คือ C จาก Customization, A จาก Accessibiltiy, R จาก Reformation และ E จาก Engagement 

ทั้งนี้ Customization ก็คือการวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อให้เข้าถึงต้นตอปัญหาธุรกิจ และช่วยออกแบบ หาแนวทาง เครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ ตามบริบทที่แท้จริง

Accessibility คือ ความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งหมายความถึงการกระจายช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมักกระจุกตัวอยู่ส่วนกลางได้อย่างเต็มที่ โดยจะนำระบบออนไลน์มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้องค์ความรู้ ให้คำปรึกษาทางไกล หรือการจัดกิจกรรม-มหกรรมด้านธุรกิจที่จะขยายไปสู่ระดับพื้นที่อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

Reformation คือ การปรับเปลี่ยนปฏิรูป หลังจากที่บริบทการดำเนินธุรกิจในยุคนิวนอร์มัลทำให้ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วเพื่อให้อยู่รอด ดังนั้น ดีพร้อมจึงปฏิรูปกลไกการดำเนินงานในภาพรวมของทุกโครงการ รวมถึง การดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจวิถีใหม่ อีกทั้งยังเพิ่มบทบาทของศูนย์ฯ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างครบวงจร

และ Engagement คือ การมีส่วนร่วมโดยดีพร้อมจะคอยเชื่อมโยงพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านรูปแบบการจับคู่ธุรกิจ การทดสอบตลาดอีกทั้งยังได้ดึงความร่วมมือจากนานาชาติมาร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย 

ดร.ณัฐพลกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายทั้งหมดครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อทำให้เอสเอ็มอีและอุตสาหกรรมของไทยดีพร้อม และมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่งมากต่อความมั่นคงแข็งแรงของเศรษฐกิจประเทศ โดยยังคงยึดมั่นในการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยใน 3 มิติ คือ ด้านเกษตรอุตสาหกรรม (ก), ด้านแนวคิดสร้างสรรค์ (ส) และ ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะอย่างมีประสิทธิภาพ (อ) หรือ ก-ส-อ

ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายข้างต้น ได้เป็นแนวทางหลักให้ทางดีพร้อมวางแผนจัดทำโครงการสนับสนุนอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ 4 ด้านด้วยกัน คือ 1) การสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2) การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน 3) การสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ และ 4) การสนับสนุนศักยภาพบุคลากร 

ในส่วนของการสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อธิบายว่า เป็นการจัดการโครงการเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ตัวอย่างเช่น โครงการ CIV+ ซึ่งเป็นการยกระดับสินค้าและบริการในชุมชนท่องเที่ยวให้มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศรวมถึงสามารถดึงดูดการจ้างงานได้ หรือโครงการถุงดีพร้อมช่วยธุรกิจชุบชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นการทดสอบตลาดผ่านถุงดีพร้อมและช่วยผู้ได้รับผลกระทบในวิกฤติ หรือโครงการส่งเสริม E-Commerce 3.0 ในการยกระดับการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ พัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดจนโครงการ Logistics-for-เกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง รวมถึงยังมีการดึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจด้วยการนำ Digital SI-for-SME ด้วยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านระบบอัตโนมัติ (ออโตเมชั่น) มาสนับสนุนการทำงานของเอสเอ็มอีเพื่อสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ดร.ณัฐพล อธิบายว่า ดีพร้อมจะมีการยกระดับ ITC-2-OEM คือ ศูนย์ปฏิรูปเกษตรอุตสาหกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ OEM (รับจ้างผลิต) โดยจะเชื่อมโยงผู้รับจ้างผลิตเพื่อให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านศูนย์ ITC สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมถึงการขยายเครือข่าย IDC-2-Thai เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ ตลอดจนศูนย์ทดสอบคุณภาพมาตรฐานและรับรองแหล่งกำเนิดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร สินค้าฮาลาล กาแฟ ผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจใหม่ 3ก อย่าง กัญชง กัญชา กระท่อม รวมถึง เครื่องเรือน และเซรามิก 

นอกจากนี้ ดีพร้อมยังจะให้การสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมธุรกิจในไทย ในโครงการ MIT และ SME-GP เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโครงการ Thailand Textile Tag ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงสินเชื่อดีพร้อมเปย์เพื่อให้ธุรกิจ SME มีเงินทุนหมุนเวียน และปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ 

ขณะที่ในส่วนสุดท้ายซึ่งเป็นส่วนที่ดร.ณัฐพลกล่าวว่ามีความสำคัญไม่แพ้กันและไม่อาจละเลยได้ ก็คือ การสนับสนุนศักยภาพบุคลากร ผ่านการปั้นนักธุรกิจวิถีใหม่ในโครงการ NEC วิถีใหม่ หรือ โครงการ “ปลูกปั้น” คอร์สอบรมคนดีพร้อม และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ+): Diprom mini MBA

นอกเหนือจากแผนการทำงานทั้ง 4 ด้านที่กล่าวไป ทางดีพร้อมยังเตรียมแผนขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นมีประเทศจีน เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส โดยได้มีการลงนามความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอีของไทยกับประเทศพันธมิตรเหล่านี้ไว้แล้ว 

ขณะเดียวกัน ดร.ณัฐพลยังได้กล่าวถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยของดีพร้อม ซึ่งข้อแตกต่างที่อาจถือได้ว่าเป็นจุดอ่อนของสตาร์ทอัพไทยจากที่ได้สังเกตมา เมื่อเปรียบเทียบกับสตาร์ทอัพต่างประเทศ ก็คือ สตาร์ทอัพไทยยังอ่อนด้อยในเรื่องของการวางแผนการทำธุรกิจและการตลาด ซึ่งมักจะทำให้สตาร์ทอัพไทยไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวนักลงทุน (พิทชิ่ง : pitching) ให้มาลงทุน ทั้งๆ ที่ ไอเดียและเทคโนโลยีของสตาร์ตอัพไทยอยู่ในระดับดีทัดเทียมกับต่างประเทศ ดังนั้น สิ่งที่ดีพร้อมมองไว้ก็คือการเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนในส่วนการเขียนแผนธุรกิจ ตลอดจนโมเดลรายได้ และแผนการตลาดให้กับบรรดาสตาร์ทอัพเหล่านี้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

วอลโว่ แง้มกลยุทธ์ปี 65 มุ่งตลาด EV 100% ตั้งเป้าเปิดตัวโมเดลใหม่ต่อเนื่องทุกปี

ดีลอยท์ เผยเอกชนไทยส่วนใหญ่พร้อมรับ PDPA แล้ว เหตุหวั่นโดนฟ้องกระทบชื่อเสียงและความเชื่อมั่นองค์กร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ