TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewพันธกิจ Arincare ทำบริการสาธารณสุข ให้จับต้องและเข้าถึงได้

พันธกิจ Arincare ทำบริการสาธารณสุข ให้จับต้องและเข้าถึงได้

การทำงานในปีที่ผ่านมาท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังทำให้  Arincare ได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนพันธกิจหลักของบริษัทในแง่มุมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคมวงกว้างมากขึ้น 

ธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Arincare สตาร์ตอัพบริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการร้านขายยาสัญชาติไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า พันธกิจหลักของ Arincare ต่อจากนี้ คือ การทำราคายา และบริการด้านสุขภาพให้อยู่ในระดับที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้

“อดีตพันธกิจของ Arincare คือ Empower Healthcare ส่งเสริมการทำงานกับเภสัชกร นำเทคโนโลยีไปให้เขาใช้ แต่ปีที่แล้วที่ช่วงโควิดมา เราเปลี่ยนพันธกิจเลยครับ ตอนนี้พันธกิจหลักของ Arincare ก็คือ Make Healthcare Affordable ทำอย่างไรให้ต้นทุนของ ยา หรือ Healthcare มันถูกลง แล้วคนเข้าถึงได้มากขึ้น

เทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ได้แค่เข้าไปสนับสนุนบทบาทการทำงานของร้านขายยาเพียงอย่างเดียวแต่จะไปจับซัพพลายเชนที่จะกระจายไปในภาพกว้างด้วย ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในวงการมันลดลงไปได้ และให้คนหรือประชาชนเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้ถูกลง 

ผลิตภัณฑ์และบริการของ Arincare จะไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่แค่กลุ่มของร้านขายยาชุมชนอีกต่อไป ซึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีที่แรกที่มีการเปิดสายการทำงานกับร้านยาที่เป็นร้านยาเครือข่ายสาขา (Chain Store)

“เราเริ่มมองว่าโซลูชันที่เรามีสามารถดึงความมีส่วนร่วม ความเกี่ยวข้องของพันธมิตรธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาได้อย่างไรบ้าง”

Arincare ปรับแผนธุรกิจมาเน้นเทคโนโลยีที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดในยุค New Normal ได้อย่างมั่นคงมากขึ้น แผนการขยายไปตลาดต่างประเทศต้องหยุดไปเพราะวิกฤติโควิด-19

เป้าหมายที่โฟกัส คือ Tele Pharmacy ที่จะเป็นช่องทางการพูดคุยปรึกษาและเป็นตัวช่วยสำหรับการแสวงหาโซลูชันต่าง ๆ ที่จะเสริมการทำงานกับร้านยา

แม้ว่าทุกวันนี้จะมีช่องทางการติดต่อสื่อสารทางไกลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีให้เลือกใช้งานได้มากมาย แต่เครือข่ายเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการพูดคุยที่มีเนื้อหาอ่อนไหวหรือละเอียดอ่อนอย่างข้อมูลทางการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีเงื่อนไขทางกฎหมายเข้ามากำกับดูแลอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่ในแง่ของการระดมทุน Arincare เพิ่งจะปิดการระดมทุนรอบ Series A ไปเมื่อช่องต้นไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ดังนั้น จึงยังไม่มีแผนระดมทุนในปีนี้ 

ตั้งเป้าที่จะระดมทุนในปีหน้าคือ ปี 2022 โดยมีเป้าหมายต่อยอดผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของ Arincare ให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้น 

“ที่ผ่านมาเรามุ่งเน้นช่วยลูกค้าของเราในการบริหาร แต่ปีที่ผ่านมา ทำให้เรามองเห็นศักยภาพของ AI และ Image Recognition เราจะลงทุนในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มากขึ้น”

โควิด-19 ทำให้ต้องปรับรุปแบบธุรกิจ 

แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสตาร์ตอัพสาย Healthcare ที่คนส่วนใหญ่มองว่าน่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ Arincare ได้รับผลกระทบที่รุนแรงไม่ต่างกัน

ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้กิจการร้านขายยาชุมชนที่เป็นฐานลูกค้าหลักของ Arincare ต้องปิดตัวลง เพราะคนไม่ออกมาซื้อของที่ร้านขายยา จากที่คาดว่าคนต้องหาซื้อสินค้าจากร้านขายยา

Arincare ได้ทดลองทำไปหลาย ๆ อย่าง ตัวไหนที่มันทำท่าว่ากลาง ๆ หรืออาจจะไม่เวิร์คก็จะตัดทันที แต่อันไหนที่มีสัญญาณเติบโตทุ่มความพยายามลงไปให้มากขึ้น ทำให้เกิดแนวทางในการทำธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับ Arincare จนทำให้บริษัทเห็นสัญญาณบวกในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มอยู่ตัวมากขึ้น 

“เดือนกุมภาพันธ์เรามียอดขายต่ำสุดตั้งแต่เริ่มเคยทำงานมา เดือนธันวาคมเราโตขึ้น 12 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนโควิด กลายเป็นบวกยิ่งกว่าเดิมโดยที่เราไม่ได้เลย์ออฟใครแล้วก็ไม่ได้ลดเงินเดือนใครด้วย”

สิ่งที่ทำคือ เข้าหาลูกค้าที่เป็นร้านขายยามากขึ้น ลงพื้นที่ออกไปพูดคุย ไปรับฟังความปัญหาที่ร้านขายยาต้องเผชิญ รวบรวมเป็นข้อมูลแล้วเอากลับมาเป็นโจทย์ว่าจะมีโซลูชันแก้ปัญหาของร้านขายยาเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มช่องทางระบายสินค้า การเป็นตัวเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้ากับร้านขายยา ไปจนถึงการช่วยเหลือด้านการเงิน

“เราน่าจะเป็นรายแรกในไทยที่เปิดให้บริการซื้อยาด้วยการผ่อนชำระเงิน โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการซื้อยาในล็อตใหญ่ แค่พันสองพันบาท เราก็ให้ทยอยจ่าย 10 เดือนได้ เพราะเราเห็นแล้วว่า ร้านขายยาชุมชนบางแห่งติดขัดจริง ๆ ไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน แต่ก็ต้องมีของไปขายในร้าน เพื่อให้ธุรกิจประคองตัวต่อไปได้”

นอกจากนี้ Arincare ดำเนินการสำรวจมาทำเป็นข้อมูลแบ่งปันให้กับร้านขายยา ทำให้ได้เห็นว่าบางพื้นที่ร้านยาโตได้อยู่ได้เพราะอะไร แล้วร้านยาที่เหลือในต่างพื้นที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกิจการของตนเองได้ 

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานที่ปิดกิจการ Arincare ก็เข้าไปสัมภาษณ์พูดคุยหาทางช่วยเหลือด้วยเช่นกัน

“จะเห็นได้ว่าโปรเจกต์แต่ละอย่าง มันไม่ได้สร้างรายได้กลับมาเป็นกอบเป็นกำให้เรา แต่มันช่วยให้ตลาดของเรามั่นคงขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานของเราที่เขาลำบากหรือจะแย่ลงเรื่อย ๆ สามารถหยุดอยู่ตรงนั้น แล้วค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา พอลูกค้าของเราฟื้นตัว มันก็เป็นผลบวกกลับมาที่ยอดขายของเรา ที่สามารถสั่งซื้อหรือใช้บริการของเราให้มากขึ้นได้”

โตไปด้วยกัน

ทั้งนี้ แม้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปมากมายเพื่อให้สอดคล้องสอดรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดทั้งปีที่ผ่านมา แต่หัวใจหลักของ Arincare ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ การมุ่งทำธุรกิจที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเติบโตไปด้วยกัน นั่นคือ “ถ้าคุณโต เราก็โต”

ด้วยหลักการดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าจะคิดแผนการทำการตลาดอย่างไร Arincare จึงไม่มีความคิดที่จะเก็บเงินจากการที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการบนแพลตฟอร์มของ Arincare อย่างเด็ดขาด โดยถือว่าการให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม คือสิ่งที่ Arincare จะสามารถทำเพื่อตอบแทนลูกค้าได้ 

รายได้ของ Arincare มาจากส่วนแบ่งยอดขายของยาและสินค้าด้านสุขภาพ รวมถึงการเป็นช่องทางให้ผู้ผลิตได้กระจายสินค้าของตน โดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กรายย่อยทั้งหลายที่ไม่สามารถทำการตลาดสู้ผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มของ Arincare สามารถช่วยผู้ผลิตส่วนหนึ่งเพิ่มยอดขายจากหลักหมื่นเป็นหลักล้านภายในเวลาไม่กี่เดือน 

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็กลายเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ทำให้ Arincare เห็นช่องทางที่จะผลักดันการเติบโตของบริษัทในปี 2021 และปีต่อ ๆ ไป 

Start-up กำลังกลับมา

ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่หนักหน่วงมากสำหรับสตาร์ตอัพในทุกวงการ ทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่การดูแลสุขภาพหรือ HealthTech มีทั้งที่ล้มหายตายจากไป หรือที่หยุดพักชั่วคราว 

สิ่งที่ผลักดันให้แวดวงสตาร์ตอัพของไทยขยับเคลื่อนไหวอีกครั้ง มี 3 ปัจจัย ประการแรก คือ ธุรกิจของสตาร์ตอัพมาตอบโจทย์เรื่อง Personal Contact ที่หายไปเพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 

ประการต่อมา การทำงานที่ต้อง work from home ทำให้คนทำงานต้องปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ให้มากขึ้น ให้คุ้นเคยเคยชินขึ้น และประการที่สาม คือ การที่ภาคเอกชนใหญ่เปิดพื้นที่ยอมรับให้สตาร์ตอัพเข้ามาโชว์ของแสดงฝีมือ ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาสนับสนุนการดำเนินการในสตาร์ตอัพมากขึ้น 

เม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาในแวดวงสตาร์ตอัพในช่วงที่ผ่านมาที่ไม่ได้ลดจำนวนลงแม้แต่น้อย เพียงแต่อาจไปกระจุกตัวที่บางอุตสาหกรรมมากน้อยแตกต่างกันไป  

“ดังนั้นเมื่อมี Funding ในเวลาที่ ผู้บริโภคพฤติกรรมเปลี่ยนไปยอมรับเทคโนโลยีมากขึ้น และแรงงานต้องทำงานท่ามกลางความเป็นดิจิทัลมากขึ้น บวกกับกระแสจากซีรีส์ละครมา ก็เลยทำให้ปลายปีที่แล้วกระแสของสตาร์ตอัพเริ่มกลับมาเป็นอีกครั้ง”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ