TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist344 ปี กับการเป็นไปได้ของ “คอคอดกระ” ไทย

344 ปี กับการเป็นไปได้ของ “คอคอดกระ” ไทย

พื้นที่ที่แคบสุดของประเทศไทย อยู่ที่ บ้านโขดทราย ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด วัดระยะทางได้เพียง 450 เมตร วัดจากชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกจรดทิวเขาบรรทัด แนวพรมแดนธรรมชาติกั้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา แต่แผ่นดินส่วนที่แคบที่สุดบนคาบสมุทรมาลายู มีระยะทางจากฝั่งทะเลตะวันตกจรดฝั่งตะวันออกกว้างเพียง 50 กิโลเมตร ฝั่งหนึ่งอยู่ในเขตบ้านทับหลี ตำบลมะมุ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง กับอีกฝั่งอยู่เขตอำเภอสวี จังหวัดชุมพร เรียกว่า คอคอดกระ หรือ กิ่วกระ(Kra Isthmus) 

นับย้อนหลังกลับไปประมาณ 344 ปี ราว พ.ศ. 2220 ตั้งแต่สมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความพยายามจะขุดส่วนที่แคบที่สุดนี้ เพื่อเชื่อมต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามัน โดยมีวิศวกรชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สำรวจ

-หลักสูตรพิเศษ ความรู้ควบคู่คอนเนคชั่น
-วัดกำลัง… อนาคต BTS สายสีเขียว มีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

จากนั้นมีความพยายามหลายครั้ง ที่จะตัดทางน้ำผ่านคอคอดกระนี้ ทั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงปี พ.ศ. 2425 วิศวกรผู้สร้างคลองสุเอซ Ferdinand de Lesseps ได้มาดูพื้นที่ดังกล่าวเช่นกัน และในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสจะขอขุดคอคอดกระ เพื่อร่นระยะทางในการเดินเรือจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย โดยไม่ต้องอ้อมไปทางแหลมมลายู แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

เมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนจดหมายถึง นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขียน เรื่อง “แผนขุดคอคอดกระ” แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการขุดคลองดังกล่าว

จน พ.ศ. 2544 วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ แต่ไม่ได้ขุดในบริเวณนั้นเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหินและภูเขา โดยบริเวณคอคอดกระอยู่ที่ชายแดนพม่าปากแม่น้ำกระบุรี มีปัญหาเรื่องความมั่นคง จึงขยับบริเวณที่จะขุดที่มีความเป็นไปได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด คือ เส้นทาง 9A ผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ระยะทาง 120 กิโลเมตรให้เรียกชื่อคลองว่า “คลองไทย”

จากทฤษฎีความร่วมมือ One Belt One Road ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งจีน ผู้ประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road)  ในปีพ.ศ. 2559 ทีมวิศวกรจากประเทศจีน ได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับทะเลจีนใต้ แต่จนแล้วจนรอดยังไม่มีความคืบหน้า

จากนั้นอีก 2 ปี คือ พ.ศ. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยสั่งการให้ สศช. และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ และ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2563 มีความพยายามในการนำเสนอให้มีการขุดคอคอดกระ อีกครั้ง โดยมีการทำประชาพิจารณ์โครงการ ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564

จากความพยายามที่จะขุดคอคอดกระ 344 ปี หลายคนมองว่า หากคอคอดกระขุดสำเร็จ จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเดินเรือของโลก ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือในภูมิภาคเอเชียเทนที่สิงคโปร์ได้ และช่วยแก้ปัญหา “วิกฤติมะละกา”

จากข้อมูลยืนยันได้ว่า มะละกาเป็นเส้นทางเดินเรือที่คับคั่งที่สุดในโลก ราว 100,000 ลำต่อปี โดย 40% ของการค้าโลกต้องขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา ธนาคารโลกคาดว่าเมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมามีเรือเข้ามากกว่า 122,000 ลำ ซึ่งเกินความสามารถสูงสุดในการรองรับของช่องแคบมะละกา นอกจากนี้ยังมีรายงานพบการปล้นสะดมจากกลุ่มโจรสลัดเพิ่มมากขึ้น ในช่องแคบมะละกา จากปี พ.ศ. 2561 ที่เกิดขึ้น 8 ครั้ง แต่ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มเป็น 30 ครั้ง

หลายประเทศจะได้ประโยชน์จากการขุดคอคอดกระ โดยเฉพาะจีน ที่สามารถย่นระยะทางการเดินเรือที่ไม่ต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกาได้ถึงราว 1,500 กิโลเมตร หรือประมาณ 2-3 วัน ลดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 15- 20  ทุกวันนี้จีนเผชิญปัญหา ช่องแคบมะละกาจีนจึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ทดแทน จีนต้องพึ่งพาเส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา นำเข้าน้ำมันถึง 80% และวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ในการผลิตสินค้าและส่งออกทั่วโลก

ขอเพียงประเทศไทย แค่โอเคกับการขุดคลองนี้ จีนและญี่ปุ่นพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน โดยไทยไม่ต้องลงทุนเอง ขณะเดียวกันอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ สนใจสนับสนุนโครงการขุดคอคอดกระของไทย เพราะเกรงว่าถ้าจีนสนับสนุนการขุดคลองจะทำให้กองทัพเรือของจีน สามารถสร้างฐานทัพเรือในคอคอดกระ นอกเหนือจาก ย่นระยะทางเดินเรือข้ามจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเลของอินเดียในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้

ก่อนหน้านี้มีความกังวลทางภูมิรัฐศาสตร์ว่า หากขุดคลองนี้ จะทำให้ประเทศไทย เกิดการแบ่งแยกดินแดนปลายด้ามขวาน ซึ่งปัจจุบัน ข้อกังวลนี้ไม่ได้หนักแน่นเช่นเดิม เพราะได้รับการยืนยันจากฝ่ายความมั่นคงว่า มียุทธวิถี เทคโนโลยีและมีกองทัพเรือได้จัดวางกำลังไว้ทั้งสองฝั่งอยู่แล้วในยามปกติ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นอีกคนที่คัดค้านการขุดคอคอดกระ โดยอธิบายว่า “ทำแลนด์บริดจ์ดีกว่า การทำคอคอดกระน่าจะไม่เหมาะสม มีระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยไม่เท่ากัน เมื่อไม่เท่ากันสิ่งที่ต้องทำคือ เวลาเรือวิ่งเข้าไปในคลอง ต้องมีจุดพักเพื่อปรับระดับน้ำ ซึ่งตรงนั้นจะใช้เวลานาน เพราะใช้พื้นที่มาก”

ถึงวันนี้ต้องรอดูว่า การขุดคอคอดกระ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักกันระหว่าง การเพิ่มอำนาจเศรษฐกิจ-พาณิชย์ของประเทศไทย กับสิ่งที่เป็นข้อกังวลต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเสียพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ จากการถูกแทรกแซงจากต่างประเทศ การขยายอิทธิพลของประเทสเพื่อนบ้านและอื่น ๆ

ภาพประกอบจาก googlemaps

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ