TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษ ใส่ชื่อคนปนตัวเลขได้

ป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษ ใส่ชื่อคนปนตัวเลขได้

นับเป็นครั้งแรกของป้ายทะเบียนรถในประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้เจ้าของรถทั้งบุคคลหรือนิติบุคคลเปิดหมวดป้ายทะเบียนใหม่ได้เอง โดยสามารถใช้ชื่อคน ชื่อบริษัท หรือตัวอักษรที่ชอบ และเลือกหมวดตัวเลขต่อท้ายได้เองด้วย เพียงยอมจ่ายมูลค่าตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือประมูลแข่งในราคาที่เหนือกว่าก็จะมีป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษของตัวเอง

ที่มาของแนวคิดป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษเกิดจากนโยบายของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้สามารถนำลักษณะแผ่นป้ายดังกล่าวและหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่นิยมหรือเป็นที่ต้องการของประชาชน ออกประมูลเป็นการทั่วไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการนำรายได้เข้ากองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ซึ่งใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน โดยไม่ใช้เงินงบประมาณของทางราชการ

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ไปต่ออย่างไรในยุค EV?

Smart Museum พิพิธภัณฑ์ไทยจากของจริงสู่โลกเสมือน

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมีการเพิ่มเติมสาระสำคัญ คือ การกำหนดลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรถสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม อาจมีตัวอักษรประจำหมวดมากกว่าสองตัว หรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ก็ได้ เพื่อให้การกำหนดตัวอักษรประจำหมวดมีความหลากหลายมากขึ้น

ซึ่งต่างไปจากร่างฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่กำหนดให้ตัวอักษรประจำหมวดพิเศษใช้ได้เฉพาะกับหมายเลขทะเบียน 1 หลัก โดยแก้ไขเป็น “ใช้กับหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม” ซึ่งมีทั้งหมายเลขทะเบียน 1 หลัก, 2 หลัก, 3 หลัก และ 4 หลักได้ด้วย

โดยกำหนดให้แผ่นป้ายแบ่งออกเป็น 2 บรรทัด คือ บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วย ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 1 ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 2 และหมายเลขทะเบียนไม่เกิน 4 หลัก  บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดที่จดทะเบียน เว้นแต่กรณีจดทะเบียนที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง ทั้งนี้ตัวอักษรให้ใช้ตัวอักษรไทย และหมายเลขทะเบียนให้ใช้ตัวเลขอารบิค ทั้งตัวเลขและตัวอักษรให้อัดเป็นรอยดุน

ในการแก้ไขล่าสุดเพิ่มเติมให้หมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดมากกว่า 2 ตัวอักษร หรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ได้ด้วย 

ดังนั้นเจ้าของรถที่ต้องการป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าบุคคลหรือนิติบุคคลสามารถเปิดหมวดป้ายทะเบียนใหม่ได้เอง เพื่อใช้แทนหมวดอักษรเดิม โดยสามารถใช้ชื่อคน ชื่อห้างร้าน บริษัท หรือตัวอักษรที่ชอบ เป็นชื่อเฉพาะได้ อีกทั้งสามารถเลือกหมวดตัวเลขต่อท้ายได้เองด้วย โดยรวมตัวเลข ตัวอักษร และสระแนวนอน จำนวนต้องไม่เกิน 7 หลัก เช่น อมรเทพ 9, โชคดี 111, ทำดี 8899 เป็นต้น

กรณีป้ายทะเบียนแบบนี้ให้ขอบแผ่นป้ายไม่ต้องอัดเป็นรอยดุน และเครื่องหมาย ตัวเลข และตัวอักษรใช้เป็นลายพิมพ์ โดยการกำหนดตัวอักษรประจำหมวดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

คำหรือข้อความที่ขอใช้ในแผ่นป้ายทะเบียนลักษณะพิเศษต้องเป็นคำที่ใช้ทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจง สามารถนำออกประมูลเป็นการทั่วไปและได้รับความสนใจจากประชาชน ความหมายของคำต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ต้องไม่มีความหมายส่อเสียด ไม่สุภาพ ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่มีผลกระทบต่อระยะการมองเห็นและการจดจำหมายเลขทะเบียน และไม่ซ้ำซ้อนกับหมวดอักษรที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยจะมีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาก่อน

ซึ่งหลังจากนี้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมลงนามและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ได้ภายในปี พ.ศ.2564

กรมการขนส่งทางบกคาดว่าป้ายทะเบียนหมายเลขแบบพิเศษนี้จะได้รับความนิยมจากประชาชนที่มีความสนใจในป้ายทะเบียนเฉพาะจำนวนมาก เมื่อเปิดประมูลจะสร้างรายได้เข้ากองทุนกปถ.เพิ่มขึ้นราว 300-500 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีการประมูลทะเบียนเลขสวยแบบปกติหมวดละ 301 เลขหมาย ทำรายได้กว่าปีละ 1,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มมีการประมูลช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ.2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติ หลักเกณฑ์การขอใช้ทะเบียนลักษณะพิเศษ หลักเกณฑ์การประมูล ขั้นตอนการประมูล รวมถึงการกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลต่างจากการประมูลหมายเลขทะเบียนรถเลขสวยที่ดำเนินการอยู่แล้ว

เดิมป้ายทะเบียนที่ถูกเปิดประมูลโดยกรมการขนส่งทางบกจะมีลักษณะพิเศษ ได้แก่ เลขทะเบียนรถพิเศษ (เลขสวย) ตัวอย่างเช่น ฌร 9999 ซึ่งถือเป็นเลขมงคลของไทย ส่วนแผ่นป้ายมีพื้นหลังเป็นรูปกราฟิกที่สื่อถึงจังหวัดนั้นๆ เช่น กรุงเทพมหานคร จะมีรูปวัดพระแก้ว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานพระราม 8 เป็นต้น

ในช่วงแรกเปิดประมูลป้ายทะเบียนเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่งเท่านั้น ต่อมาได้เปิดประมูลป้ายทะเบียนเลขสวยของรถตู้และรถกระบะเพิ่มด้วย โดยแผ่นป้ายเป็นภาพพื้นหลังเหมือนกันหมดทั้งประเทศ โทนสีแบบเดียวกับสีและตัวอักษรของทะเบียนปกติ คือ ขาวฟ้าและขาวเขียว ตามลำดับ

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับแผ่นป้ายทะเบียนรถเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากมีผู้ใช้รถจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้แผ่นป้ายแบบเก่าไม่เพียงพอสำหรับการรองรับรถจดทะเบียนรถใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นับแต่ปี พ.ศ.2554 เป็นต้นมา กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดเลขทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์แบบใหม่ โดยเริ่มหมวดอักษรจาก 1 กก 1 เรียงตามลําดับ ถึง 1 กก 9999 และเริ่ม 1 กข 1 จนถึง1 กข 9999 เรื่อยไปจนถึง 1 กฮ 9999 หลังจากนั้นจึงใช้ตัวเลข 2 ถึง 9 นําหน้าหมวดตัวอักษร ด้วยรูปแบบนี้จะใช้ได้กับหมายเลขทะเบียนรถยนต์นาน 157 ปี และจะใช้กับรถจักรยานยนต์ได้ถึง 289 ปี

หากย้อนไปในอดีตจะพบว่าป้ายทะเบียนรถเกิดขึ้นพร้อมกับพระราชบัญญัติรถยนต์ รัตนโกสินทร์ศก 128 (พ.ศ.2452) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ฉบับแรก เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการออกกฎหมายของกระทรวงเรื่องป้ายทะเบียนรถตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 โดยใช้รูปแบบตัวอักษร กท เรียงแนวดิ่ง มีหมวดตัวอักษรและตัวเลขอยู่ในแผ่นป้ายขนาดกว้าง 11 ซม. ยาว 39 ซม. พื้นหลังเป็นสีดำ จนในปี พ.ศ.2518 เปลี่ยนรูปแบบเป็นตัวอักษรเรียงตามแนวนอน พร้อมกับเปลี่ยนขนาดแผ่นป้ายเป็นกว้าง 15 ซม. ยาว 30 ซม. มีพื้นหลังเป็นสีขาว

การเปลี่ยนจากสัญลักษณ์ตราโล่ มาเป็นตัวย่อ “ขส” อย่างในปัจจุบันเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2526 และเปลี่ยนหน่วยงานรับผิดชอบจากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมในปี พ.ศ.2531 โดยยังคงรูปแบบเหมือนเดิมทุกประการ

ในปี พ.ศ.2539 มีการเพิ่มตัวอักษรเป็น 2 ตัว เช่น กก – 9999 และเปลี่ยนขนาดแผ่นป้ายยาวขึ้นจากขนาด 30 ซม. เป็นขนาด 34 ซม. เพื่อรองรับตัวอักษรที่เพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว จนปี พ.ศ.2554 เพิ่มตัวเลขหน้าตัวอักษรดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งยังคงใช้มาจนทุกวันนี้

ปัจจุบันป้ายทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลของไทยทำจากอะลูมิเนียม มีขนาด 13.5 x 6 นิ้ว พื้นป้ายมีลักษณะสะท้อนแสง ตัวอักษรและตัวเลขนูนเป็นรอยดุน โดยใช้สีของแผ่นป้ายและสีตัวอักษรจำแนกประเภทการใช้งานของรถ ซึ่งป้ายทะเบียนที่เราคุ้นเคยมากที่สุดคือ ป้ายขาวอักษรดำ ที่เป็นป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง

ส่วนป้ายขาวอักษรฟ้า คือป้ายทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 ที่นั่ง และป้ายขาวอักษรเขียว ของทะเบียนรถกระบะ นอกนั้นเป็นป้ายของรถประเภทอื่น ๆ เช่น ป้ายเหลืองอักษรดำ คือ ป้ายรถรับจ้าง ป้ายเหลืองอักษรเขียว คือ ป้ายรถตุ๊กตุ๊ก หรือป้ายเขียวอักษรขาวหรือดำ คือ ป้ายรถยนต์บริการธุรกิจ ทัศนาจร หรือรถบริการให้เช่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ตัวอักษรที่ปรากฏบนแผ่นป้ายก็ยังสื่อความหมายให้เรารู้ได้ว่าเป็นป้ายของรถประเภทใด โดยตัวอักษรประจำหมวดที่แตกต่างกัน บ่งบอกประเภทของรถยนต์และจุดประสงค์การใช้งานที่ต่างกัน เช่น หมวดอักษรตัวแรก ก/ข/ จ/ ฉ/ ช/ ฌ/ ญ/ ฎ/ ฐ/ ธ/ พ/ ภ/ ว/ ศ/ ษ/ ส เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน หรือหมวดอักษรตัวแรก น/ ฬ/ อ/ ฮ เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน หมวดอักษรตัวแรก ฒ/ ณ/ ต/ ถ/ บ/ ผ/ ย/ ร/ ล เป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และหมวด ท และ ม เป็นรถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7 คน (รถแท็กซี่) เป็นต้น ส่วนตัวเลข 4 หลักที่อยู่ท้ายคือหมายเลขทะเบียนรถ

สำหรับป้ายทะเบียนรถแบบพิเศษที่จะเริ่มปราฎให้เห็นบนท้องถนนในปี พ.ศ.2565 ถือเป็นสีสันใหม่ที่จะมีแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ต้องการความเป็นพิเศษแบบเฉพาะตัวจำเป็นต้องลงทุนด้วยเงินก้อนโตเพราะมีข่าวว่ากำหนดราคาเริ่มต้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อป้าย

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ