TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"สมคิด จิรานันตรัตน์” ชูแนวคิด Thailand Digital Platform ช่วยขับเคลื่อนประเทศ

“สมคิด จิรานันตรัตน์” ชูแนวคิด Thailand Digital Platform ช่วยขับเคลื่อนประเทศ

Thailand Digital Platform เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากการพัฒนาแอปพลิเคชัน วอลเล็ต สบม. ก่อนจะต่อยอดเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs ให้เติบโตได้ รวมถึงนำมาใช้รวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “Big Data” เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาความรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) สร้างการแข่งขันให้ประเทศไทยในระดับโลกได้

แนวคิดนี้เกิดจากผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีมาอย่างยาวนานอย่าง “สมคิด จิรานันตรัตน์” ปัจจุบันนั่งตำแหน่ง ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศไทย เช่น “ตลาดหลักทรัพย์” มีส่วนเข้ามาปรับจากระบบเคาะกระดานเป็นระบบซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์ รวมถึงส่วนระบบสนับสนุนอย่าง ศูนย์รับฝาก ระบบนายทะเบียน ระบบข้อมูล

ก่อตั้งบริษัท settrade.com และทำระบบหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม

ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทย มีส่วนร่วมกับโครงการใหญ่อย่าง K-Transformation รวมถึงตั้ง KBTG บริษัทเทคโนโลยีของกสิกรไทย พัฒนา K-Plus และโปรเจกต์อื่น ๆ อีกมากมาย

หลังจากเกษียณได้มาเป็นที่ปรึกษาให้ธนาคารกรุงไทย และได้ร่วมงานหลายโครงการที่เป็นของภาครัฐ ตั้งแต่ ชิมช้อปใช้ เราไม่ทิ้งกัน ไทยชนะ และ วอลเล็ต สบม. ระบบขายพันธบัตรของรัฐบาลที่ขายหมดภายใน 99 วินาที

สมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบการสร้างทีม ตั้งแต่สมัยอยู่ตลาดหลักทรัพย์ต้องสร้างทีมใหญ่ เพราะการเปลี่ยนระบบซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์ต้องเปลี่ยนทีมขนานใหญ่ การสร้างทีมมีโอกาสจะเรียนรู้การสร้างพื้นฐาน สร้างความต่อเนื่อง และเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้จากน้อง ๆ ด้วย

การพัฒนาระบบใหญ่ ๆ ผู้นำทีมต้องมีความเข้าใจในเทคโนโลยีระดับหนึ่ง เข้าใจโครงสร้างที่ออกแบบ หรือถ้าออกแบบได้เองจะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ดีมาก

สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ คือ ความเชื่อและความไม่สงสัยในความเชื่อของตัวเอง รวมถึงต้องไม่สงสัยความเชื่อของลูกทีม แต่ขณะเดียวกันถ้าลูกทีมยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอก็จะต้องทำให้เขามีความรู้เพิ่มขึ้น แข็งแกร่งขึ้น

“การที่เรารู้เทคโนโลยี เราจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกทีมได้ และต้องหาทีมที่เชื่อใจกันได้ เราต้องสร้างทีมที่มีความสามารถ”

อีกส่วนหนึ่งคือ “วิสัยทัศน์” จะต้องไปคู่กับเทคโนโลยี จะต้องเห็นว่าปัญหาที่มองอยู่จะต้องถูกแก้อย่างไร ต้องดูว่าเทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามาช่วยได้ รวมถึงจะต้องเข้าใจโครงสร้างและสถาปัตยกรรมที่ทำให้โครงการบรรลุเป้าหมายได้

“ในโครงการแรก ๆ หรือการตั้งทีมใหม่ ๆ ส่วนมากจะพบปัญหาคนไม่พอ แต่การที่เราเข้าใจเทคโนโลยี และปัญหา เราจะสามารถแก้ไขได้สามารถหาทีมเข้ามาเสริมได้”

Thailand Digital Platform เทคโนโลยีตัวช่วยประเทศไทย

สมคิด กล่าวว่า ส่วนที่ทำกับธนาคารกรุงไทยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น การออกแบบเพื่อให้รองรับระบบได้ ตอบโจทย์ได้ แต่กับงานสเกลใหญ่ของภาครัฐ จะมีหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ เช่น ปัจจัยทางด้านนโยบาย ด้านแนวคิด ด้านการตัดสินใจ เช่น “ชิมช้อปใช้” ไม่ค่อยมีปัญหามากเพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนหนึ่ง คือเติมเงินให้แต่คนนำไปใช้

“เราไม่ทิ้งกัน” เป็นแพลตฟอร์มต่อยอดมาจาก ชิมช้อปใช้ พัฒนาได้ดีกว่า แต่ปัญหาเกิดจากคนที่มีปัญหาเรื่องเงินและรอคอยวันที่จะเข้าไปที่บัญชีช้าเกินไป ซึ่งถ้าสร้างความเข้าใจได้ดีปัญหาจะน้อยลง

“ไทยชนะ” พัฒนายากกว่า เราไม่ทิ้งกัน เพราะต้องรับมือกับคนจำนวนมาก ปัจจุบันมีคนเช็คอินแล้วมากกว่า 120 ล้านครั้ง ถ้ารวมกับเช็คเอาท์ก็ประมาณ 200 ล้านครั้ง

“วอลเล็ต สบม.” ใช้เวลาพัฒนา 6 เดือน เป็นโครงการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสเกลอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับการสร้างแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งหวังว่าจะสามารถใช้ประโยชน์กับกคนส่วนใหญ่ได้ กับ SMEs รายเล็ก ๆ ได้ รวมถึงเกษตรกร โดยที่ธุรกิจเหล่านี้ไม่ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีมาก

“เราอยากจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง ที่คนใหญ่จะทำธุรกิจสามารถเสียบปลั๊กและนำไปต่อยอดเองได้ และไม่ต้องลงทุนทำเองทั้งหมด”

สมคิด กล่าวต่อว่า โครงสร้างพื้นฐานกลางเริ่มพัฒนากับแพลตฟอร์มการเงิน การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล คนที่ใช้บริการจะเห็นว่าเป็นแค่ วอลเล็ต สบม. แต่หลังบ้านเป็นระบบที่เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินกับสินทรัพย์ดิจิทัล และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างอื่นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นพันธบัตรรัฐบาล ระบบถูกออกแบบให้เป็นระบบเปิดให้แอปพลิเคชันอื่น ๆ เข้ามาต่อเชื่อมได้

“เราตั้งชื่อไว้กลาง ๆ ว่า Thailand Digital Platform เพื่อให้คนที่ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันและต้องการใช้วอลเล็ต หรือลูกค้าทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ได้”

ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้พัฒนาภายใต้ธนาคารกรุงไทย แต่ถ้าจะทำให้ดีกว่านี้ จะต้องมีคนมาร่วมมือ เช่น สตาร์ตอัพ หรือองค์กรใหญ่ ๆ ให้มีบริการได้หลากหลายขึ้น

เป้าหมาย สร้างความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย

สมคิด กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้น่าจะพัฒนาแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

1.พัฒนาต่อยอดจาก วอลเล็ต สบม. ให้รองรับเรื่องการเงินมากขึ้น ทำให้การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทำได้ใกล้เคียงกับพันธบัตรรัฐบาล

2.สามารถเป็น Open Financial Platform เป็นภาคการเงินแบบเปิดที่มีต้นทุนต่ำ สามารถเข้าถึงรายเล็ก ๆ หรือ SMEs ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงบริการของภาคธนาคารในปัจจุบัน หรือเข้าถึงด้วยดอกเบี้ยที่สูง ต้นทุนที่แพง หรือต้องไปกู้นอกระบบ

3.ปัจจุบันมีคนคิดเรื่องสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เงินจะไหลไปสู่สกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถสร้างสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตัวเอง และแพลตฟอร์มนี้สามารถใช้สร้างสกุลเงินดิจิทัลได้

4.แพลตฟอร์มนี้สามารถสร้าง Big Data ที่เป็นระดับธุรกรรมจำนวนมหาศาล โดยไม่ระบุตัวตน ทำให้ล่วงรู้ธุรกรรม เห็นแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศได้ โดยที่ไม่ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้ทำธุรกรรม และสามารถเผยแพร่ให้นักวิเคราะห์หรือสถาบันวิจัยต่าง ๆ ได้ รวมถึงนำไปพัฒนาข้อมูล การเรียนรู้และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะทำได้ต่อเนื่อง

“ทั้งนี้จะต่อยอดพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับการหาคนเข้ามาพัฒนาและต่อยอด สร้างการเชื่อมต่อได้มากขึ้น มีคนเข้ามาต่อเชื่อมมากขึ้น ก็จะตอบโจทย์ประเทศได้ดีมากขึ้น”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-Thailand Mobile Expo มาใหม่ในรูปแบบ “ไฮบริด” ออนไลน์/ออฟไลน์
-“โควิด-19” ขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น “ธุรกิจ เทคโนโลยี คน” ปัจจัยสำเร็จ
-Siri Ventures เดินหน้าลงทุนสตาร์ตอัพ พัฒนาเทคโนโลยี สร้างรายได้เพิ่ม
-“Ookbee” จากธุรกิจอีบุ๊คสู่การเป็น Digital Content Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
-SCB ส่ง Robinhood กระตุ้นตลาด ลดผูกขาด ลุยเกมมาราธอน ต่อยอดธุรกิจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ