TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"Ookbee" จากธุรกิจอีบุ๊คสู่การเป็น Digital Content Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในไทย

“Ookbee” จากธุรกิจอีบุ๊คสู่การเป็น Digital Content Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในไทย

Ookbee เริ่มต้นจาก e-Book ก่อนขยายธุรกิจออกไปมากมาย จนปัจจุบันมีผู้ใช้ต่อเดือน (Monthly active users) รวมกันทุกแพลตฟอร์ม ประมาณ 10 ล้านคน หรือเท่ากับคนใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทย และมีเพจวิวประมาณ 3 พันล้านวิวต่อเดือน มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอ่านการ์ตูนและนิยาย Gen Y และ Z

หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ CEO & Co-Founder บริษัท อุ๊คบี จำกัด – Ookbee กล่าวกับ The Story Thailand ว่า แนวโน้มตลาดคอนเทนต์ จะมุ่งไปสู่ลักษณะของ Professional User Generated Content (PUGC) เช่น ยูทูปเบอร์ที่หารายได้จากการทำคอนเทนต์ Ookbee ในฐานะผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ต้องทำให้คนที่สร้างคอนเทนต์ขึ้นมา สามารถนำเสนอผลงานไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ และมีรายได้จนสร้างเป็นอาชีพได้

“เราต้องขยับมาให้ผู้บริโภคผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง (UGC) ในอนาคต เพื่อตอบรับกับตลาดคอนเทนต์ขนาดมหาศาล จากการที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ มีอินเทอร์เน็ต และสามารถสร้างคอนเทนต์ขึ้นมาได้”

Ookbee แตกไลน์ธุรกิจไปหลายกลุ่ม เช่น แอปพลิเคชัน Fungjai ที่ทำเกี่ยวกับดนตรีแนวอินดี้ มีโมเดลธุรกิจจากการจัดคอนเสิร์ตต่าง ๆ มีแพลตฟอร์มที่เป็นนิยายโดยเฉพาะ เช่น Tunwalai, Joylada และ Fiction Log มีเพจ Facebook บันเทิงประมาณ 10 เพจ หนึ่งในนั้นคือเพจ C Channel ที่มีคนติดตามมากกว่า 12 ล้านคน มีแอปพลิเคชัน A Duang เป็นบทความหรือดูดวงออนไลน์ สามารถจ่ายเงินผ่านออนไลน์ได้

Ookbee ปรับธุรกิจจากการนำคอนเทนต์สำนักพิมพ์มาลง เป็นผู้อ่านสามารถสร้างคอนเทนต์ลงในแพลตฟอร์มได้ ปรับจากการขายเป็นเล่มมาขายเป็นตอน มีระบบบริจาค และมีไลฟ์สตรีม ปัจจุบันบนแพลตฟอร์ม Ookbee มีนักเขียน UGC ประมาณ 7 แสนคน ผลงานต่อวันละเป็นหมื่นชิ้น

ไม่เพียงแต่สนับสนุนให้เกิดการสร้างคอนเทนต์บนแพลต์ฟอร์มเท่านั้น Ookbee ยังมีการใช้อัลกอริทึมช่วยให้คนอ่านได้อ่านสิ่งที่ตัวเองต้องการ

ด้วยปริมาณคอนเทนต์ที่เข้ามาวันละ 10,000 ชิ้นนั้นไม่สามารถแสดงให้คนเห็นได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น หลังบ้านจะต้องช่วยเลือกและเสิร์ฟคอนเทนต์ให้กับกลุ่มคนอ่านที่เหมาะสม เช่น นิยายโรแมนติก จะมองเหมือนกันหมดไม่ได้แต่จะต้องหาความแตกต่าง เข้าไปวิเคราะห์ ใช้การปัญญาประดิษฐ์ (AI) แนะนำ

ด้านผู้สร้างคอนเทนต์ จะมีรายได้ต่อเมื่อมีฐานแฟน ซึ่ง Ookbee คาดหวังว่าก่อนที่จะเข้ามาเขียนจะต้องใช้แพลตฟอร์มก่อน จากนั้นค่อยดูว่าสามารถเปลี่ยนจากคนดูเป็นคนเขียนได้กี่คน ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มอื่น อาทิ คนดูยูทูป 100 คนอาจจะเป็นคนสร้างคอนเทนต์แค่ 1 คน แต่คนดู TikTok 100 คนอาจจะสร้างคอนเทนต์ 20-30 คน

เพราะฉะนั้น Ookbee ต้องทำให้คนเขียนสามารถเขียนและขึ้นงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเห็นผลเร็วขึ้น เมื่อเขียนไปแล้วมีคนเข้าถึงง่ายขึ้น อาทิ การเขียนแบบ “นิยายแชท” เป็นการออกแบบระบบให้สร้างคอนเทนต์ได้ง่าย เมื่อเช้าถึงง่ายก็จะมีคนดูมากขึ้น เมื่อมีคนดูมากขึ้นก็จะมีคนสร้างมากขึ้น

“พอถึงจุดหนึ่งผู้สร้างก็จะตัดสินใจว่ามีคนตามมากพอหรือไม่ ก็อาจจะปรับเป็นการเขียนและสร้างรายได้จากผู้อ่าน ซึ่งเราสามารถแบ่งรายได้จากผู้เขียนได้”

ทั้งนี้ รายได้ของ Ookbee มาจากหลายช่องทาง ทั้ง การขายคอนเทนต์ การขายโฆษณาหรือต่อกับ Ads Network อย่าง Google หรือขายแคมเปญเป็นแบนเนอร์และให้คนใช้พรีเมี่ยมเพื่อไม่ให้เห็นโฆษณา รวมถึงการจัดอีเวนต์ ขายสินค้า ของที่ระลึก เช่น หนังสือ ตุ๊กตา เป็นต้น แต่รายได้หลักมาจากขายคอนเทนต์ ที่ผู้อ่านเข้ามาสนับสนุนผู้เขียน โดยจ่าย Coin ให้ และ Ookbee ได้ส่วนแบ่ง

“ปัจจุบันอาจจะยังใช้ Coin ข้ามแพลตฟอร์มไม่ได้ แต่ในอนาคตจะมีการพัฒนา ซึ่งอาจจะขอใบอนุญาต e-Wallet และให้นักเขียนสามารถนำ Coin ที่ได้ไปใช้ต่อได้”

รายได้นักเขียนรวมเกือบ 50 ลบ.

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า Ookbee มีคนใช้ประจำอย่างน้อย 1 ครั้งอยู่ที่ 10 ล้านคนต่อเดือน ในช่วงโควิด-19 มีคนเข้ามาใหม่ 10-20% ทุกเดือน แต่รายได้ไม่ได้โตเท่ากับคนที่เข้ามาใหม่ ขณะที่นักเขียน 700,000 คน ส่วนใหญ่จะไม่ได้เขียนคอนเทนต์ลงหลายแพลตฟอร์ม เพราะแต่ละแอปพลิเคชันมีความแตกต่างด้านกลุ่มลูกค้า

ซึ่งนักเขียนมีรายได้รวมทั้งหมดเกือบ 50 ล้านบาท ส่วนมากมาจากการที่คนอ่านสนับสนุนโดยการใช้ Coin ส่วนโฆษณาเป็นรายได้ส่วนน้อยของนักเขียน ปัจจุบันมีอยู่หลายร้อยคนที่ทำเป็นอาชีพได้ บางคนมีรายได้ต่อเดือนถึงหลักแสน

“ถ้านักเขียนทำเป็นอาชีพได้ การได้รายได้จากการสนับสนุน Coin จะมีความมั่นคงกว่ามาจากโฆษณา การที่นักเขียนมีรายได้และมั่นคง แพลตฟอร์มเราก็จะมั่นคงมากขึ้น และต้องพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับนักเขียนให้สามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องทำงานอื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญ”

กลยุทธ์จับตลาดเด็กรุ่นใหม่

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า โลกมันค่อย ๆ เรียลไทม์มากขึ้น สมัยก่อนคนออกหนังสือเป็นเล่ม แต่สมัยนี้ออกเป็นตอน วันละ 1-2 ตอน เมื่อเขียนลงไปคนก็จะมาตอบกลับ แสดงความคิดเห็น พูดคุยกับนักเขียนได้ มีทั้งคนเขียนคุยกับคนอ่านและคนอ่านคุยกันเอง และในปัจจุบันจะเรียลไทม์มากกว่าเดิม หลังจากมีการเปิดให้นักเขียนทำไลฟ์สตรีมได้

Ookbee มีคนใช้ทุกแพลตฟอร์มรวมกันมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อคนต่อวัน รวมกันประมาณ 6,000 ล้านนาทีต่อเดือน

“เราต้องเข้าใจก่อนว่า Gen Y ขึ้นไปเป็นตลาดที่มีเงิน แต่ไม่มีเวลา ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มีเวลาแต่ไม่มีเงิน”

Ookbee พยายามดึงคนที่อยู่ในวัยเดียวกันให้เป็นผู้จัดการชุมชน (Community Manager) เช่น แอปฯ ดูดวง A Duang คนที่จ้างเข้ามาจะต้องอยู่ในวงการดูดวงมาก่อน หรือมีความรู้เรื่องการดูดวง เพื่อที่จะเข้าถึงลูกค้าได้

ส่วน C Channel เป็นบริษัทของญี่ปุ่นที่เป็นอดีตผู้บริหาร LINE ออกมาเปิดบริษัทใหม่ มีโอกาสรู้จักสมัยระดมทุน Series B จึงชวนมาทำที่เมืองไทย โมเดล คือ การทำวิดีโอขึ้นไปมาก ๆ ให้มียอดวิวบน Facebook และขายโฆษณา อีกส่วนหนึ่งคือเอาไว้โปรโมทกิจกรรมของ Ookbee

สร้างระบบนิเวศในไทยให้แกร่ง ยังไม่รีบบุกต่างประเทศ

ณัฐวุฒิ กล่าวว่า การสร้างรายได้ คือ การสร้างระบบนิเวศให้มีคนเขียนที่แข็งแรงขึ้นและเขียนได้มากขึ้น อีกส่วนคือต่อยอดในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา เช่น นิยายบางเรื่อง ถ้านำมาทำเป็นซีรีส์ อาจจะขายได้ 10 ล้านบาทต่อเดือน และทำให้คนรู้จักแพลตฟอร์มมากขึ้น

“เรามีโปรเจกต์ที่นำนิยายดัง ๆ มาพัฒนาต่อเป็นซีรีส์ ปัจจุบันทำไป 5 เรื่อง ทั้งจำหน่ายและให้ดูผ่านแพลตฟอร์ม อย่าง LINE TV หรือ VIU รวมถึงขายไปที่จีน”

ส่วนแพลตฟอร์มจะต้องดูว่ามีอะไรที่ง่ายกว่าการเขียนการอ่าน รวมถึงทำแล้วดีกว่าคนอื่นหรือไม่ และหารายได้ได้หรือไม่ จะต้องลองผิดลองถูกกันไปทีละนิด

ล่าสุดมีแอปพลิเคชัน ชื่อ Beeber เป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนเข้ามาเล่านิยายผ่านเสียง เป็นพอดแคสต์ เหมือนฟังละครวิทยุในอดีต แต่มีแบบที่เป็นไลฟ์สตรีมด้วย

มีลูกค้าอยู่ในอินโดนีเซียประมาณ 7 แสนคน แต่ในอินโดนีเซียค่อนข้างใหม่มาก ถึงแม้เขาจะมีประชากรมาก แต่คนไทยจ่ายเงินกับเรื่องนี้มากกว่า ขณะที่มีลูกค้าที่เวียดนามประมาณ 1 แสนคน

ขณะเดียวกันในตลาดประเทศไทย ยังสามารถเพิ่มจำนวนคนที่จ่ายเงินได้ รวมถึงยอดจ่ายต่อคนให้สูงมากขึ้น และมีลูกค้าเป็นเด็กอยู่มาก ก็อาจจะมีธุรกิจที่นอกเหนือจากบันเทิง เช่น เป็นเรื่องการศึกษาสำหรับเด็ก แต่ไม่ได้เป็นแพลตฟอร์ม EdTech

ซึ่ง Ookbee มีกำไรแล้วแต่ว่าไม่มากและไม่ต้องระดมทุนเพิ่ม ส่วน Ookbee U ที่เป็นคอนเทนต์ UGC ธุรกิจโตเร็วกว่ามาก รายได้เข้ามามาก ขณะเดียวกันก็เข้าไปเปิดชุมชนใหม่มากเช่นกัน ปัจจุบันจึงยังขาดทุนอยู่

“เราอยู่ในช่วงปรับโครงสร้าง และระดมทุนเพื่อให้ขยายไปต่อได้ คาดว่าอาจจะปิดรอบ Serie C ได้ในปีนี้ หลังจากระดมทุนจะลองดูโอกาสที่จะไปลงทุนเพิ่ม แต่ถ้าทำแล้วไปต่อไม่ได้ก็จะเลิก เพราะเราไม่อยากขาดทุน ซึ่งจะทำให้คนไม่อยากมาลงทุน”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-SCB ส่ง Robinhood กระตุ้นตลาด ลดผูกขาด ลุยเกมมาราธอน ต่อยอดธุรกิจ
-CVC ไทย เงินทุนเหลือแต่ระวังการลงทุน เตรียมช่วยปูทางสู่ exit
-บริการต่าง ๆ ของ Google คือ “ผู้ช่วยส่วนตัว” ที่สำคัญ ช่วงโควิด-19
-โซเชียลมีเดีย เครื่องมือการตลาดในภาวะวิกฤติ
-ดีป้าเร่งเครื่องหนุนศก.ดิจิทัล ฟื้นประเทศหลังโควิด-19

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ