TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview"โควิด-19" ขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น "ธุรกิจ เทคโนโลยี คน" ปัจจัยสำเร็จ

“โควิด-19” ขับเคลื่อนดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น “ธุรกิจ เทคโนโลยี คน” ปัจจัยสำเร็จ

ใน 5 ปีที่ผ่านมา เรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นคำยอดฮิตมากในประเทศไทย การใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนที่เกือบจะ 100% จำนวนหมายเลขโทรศัพท์ที่มีมากกว่าประชากรประเทศ ทำให้เห็นว่าคนไทยตื่นตัวเรื่องดิจิทัล ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวมาก โดยเฉพาะธนาคาร Internet Banking หรือ Mobile Banking เติบโตมากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันการทำธุรกรรม 70-80% อยู่บนระบบดิจิทัล

ประกอบกับวิกฤติโควิด-19 เข้ามาเร่งทำให้เห็นภาพได้ชัดในธุรกิจค้าปลีก จากคนที่ไม่เคยสั่งของ สั่งอาหาร ผ่านดิจิทัล ทุกคนต้องทำให้เป็น ขณะเดียวกันจะเห็นว่าอุตสาหกรรมที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมีการปรับตัวค่อนข้างมาก

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวกับ The Story Thailand ว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกับองค์กร 2 ส่วนคือ “ผลกระทบจากผู้บริโภค” ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพราะไม่สามารถออกจากบ้านได้ ถ้าธุรกิจไม่มีช่องทางดิจิทัลมารองรับจะขายสินค้าไม่ได้ ธุรกิจที่ลูกค้าจะต้องไปที่ร้านกระทบหนักมาก จนต้องเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มส่งอาหาร ธุรกิจที่เคยอยู่แต่ในห้างสรรพสินค้าต้องออกมาทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมถึงใช้เทคนิคใหม่ ๆ ผ่านอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้น

ส่วนที่ 2 คือ “ผลกระทบภายในองค์กร” พนักงานทำงานลำบากกันมากขึ้น ถ้าไม่สามารถทำงานแบบรีโมทได้จะได้รับผลกระทบ องค์กรต่าง ๆ ปรับตัวให้พนักงานใช้โน้ตบุ๊คมากขึ้น ปรับเปลี่ยนให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ผ่านเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) บางบริษัทอาจจะย้ายระบบขึ้นไปอยู่บนคลาวด์

อีกส่วนสำคัญคือ การบริหารการเงิน ถ้าบริหารไม่ดีโอกาสที่จะล้มมีสูงมาก ทำให้หลายธุรกิจเริ่มมองดิจิทัล ที่นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นยังเป็นการลดรายจ่าย เช่นการใช้ Software as a Service ที่จ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน เดือนไหนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ก็หยุด เป็นการลดต้นทุน

เข้าใจ “ธุรกิจ เทคโนโลยี คน” ปัจจัยทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ให้สำเร็จ

นิยามการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ให้สำเร็จ ในมุมมองของ บลูบิค คือ การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัลมากขึ้น ไม่ใช่แค่การซื้อเทคโนโลยีหรือนำเครื่องมือมาใช้

เรื่องแรก คือ ต้องเข้าใจธุรกิจ ว่าต่างกันอย่างไร รายได้มาจากลูกค้ากลุ่มไหน ลูกค้ามีพฤติกรรมอย่างไร เข้าใจต้นทุนของบริษัท ถ้าเข้าใจจะสามารถหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาทางธุรกิจได้

เรื่องที่ 2 คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล เข้าใจเทคโนโลยี จะต้องรู้ว่าเทคโนโลยีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีต้นทุนอย่างไร บางระบบอาจจะแพงแต่สร้างผลกลับคืนมาได้มาก เช่น คลาวด์ อาจจะไม่ได้ถูกแต่มีความยืดหยุ่นสูง

เรื่องที่ 3 คือ ความเข้าใจในมนุษย์ เพราะลูกค้ายังเป็นมนุษย์ พนักงานเป็นมนุษย์ การปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งจะเกิดความต่อต้านได้ง่าย เพราะธรรมชาติของมนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาให้คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จะเจอความยากลำบาก จะต้องดูว่าใช้วิธีไหนเพื่อช่วยให้คนที่อยู่ในองค์กรและลูกค้าค่อย ๆ คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ได้สะดวกมากขึ้น

“ถึงแม้ว่าจะเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมา หรือผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดี แต่ถ้าไม่มีใครยอมไปในทิศทางเดียวกับเรา สิ่งที่เราคิดก็จะไม่สำเร็จ”

พชร กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์มีทั้งองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แต่ส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จเพราะน้อยองค์กรที่จะมีความเข้าใจในมุมมองทั้ง ธุรกิจ เทคโนโลยี และบุคลากร

“เชื่อว่าในวิกฤตินี้ทุกคนไม่มีทางเลือก ถึงแม้ว่าจะทำไม่สำเร็จก็จะต้องทำต่อ และยังเชื่อว่าในวันใดวันหนึ่งก็จะสำเร็จ ทั้งนี้คนที่สำเร็จก่อนก็มีโอกาสที่จะชนะมากกว่า”

“ผู้นำ” สำคัญกว่าขนาดองค์กร

พชร กล่าวว่า ขนาดขององค์กรมีปัจจัยกับความสำเร็จในการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น องค์กรขนาดใหญ่แรงต้านจากคนอาจจะมีมาก ถึงแม้ว่าจะเข้าใจเทคโนโลยีและธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับผู้นำด้วยว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ส่วนองค์กรขนาดเล็กอาจจะมีความคล่องตัวสูง แต่ไม่ได้มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะหาช่องทางใหม่ อาจจะวิเคราะห์ธุรกิจไม่ขาด หรือไม่มีกำลังพอจะซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้

“จะเห็นว่าขนาดของธุรกิจ ก็มีความท้าทายแตกต่างกันไป ด้านผู้นำ ถ้าเก่ง และเข้าใจ จะยิ่งมีโอกาสทำให้ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นสำเร็จมากขึ้น”

หลายองค์กรเมื่อผู้นำได้เริ่มทำแล้วจะเข้าใจว่าความท้าทายมันอยู่ตรงไหน เช่น CEO มีความท้าทายในหลาย ๆ มุม

เรื่องแรก คือ ความเข้าใจธุรกิจและวางกลยุทธ์ บางองค์กรอาจจะไม่เข้าใจและมองว่าการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ใช่เรื่องของการวางกลยุทธ์ แต่มองเป็นแค่เรื่องการทำ การตลาดดิจิทัล หรือการซื้อเทคโนโลยี ก็จะมีปัญหา

เรื่องที่ 2 คือ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี บริษัทส่วนใหญ่จะใช้ที่ปรึกษาหรือ System Integrator เข้ามาช่วยพัฒนาระบบ

เรื่องที่ 3 คือ ทรัพยากร องค์กรอาจจะผิดพลาดโดยการให้คนที่ทำงานประจำแบกรับงานดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นงานที่ต้องเชื่อมโยงในมุมของกระบวนการและเทคโนโลยีรวมถึงบุคลากร

เรื่องสุดท้าย เป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ ผู้นำอาจจะลืมทำเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถสื่อสารและจูงใจให้คนได้ ผู้นำที่เก่งต้องสามารถสื่อสารและบอกได้ว่าการที่เดินไปในทิศทางนี้จะทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ และให้ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน

บลูบิค ช่วยทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แบบ End-To-End

พชร กล่าวว่า บลูบิคน่าจะเป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ทำเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ไปจนถึงการนำระบบเข้ามาช่วย สามารถช่วยองค์กรได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ต้องการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นในสเกลใหญ่ ซึ่งบลูบิคสามารถเข้าไปเติมเต็มได้ในจุดใดจุดหนึ่งหรือทั้งหมดก็เป็นไปได้ โดยมีทั้งหมด 5 บริการ

1.กลยุทธ์ดิจิทัล ทำอย่างไรให้กำไรเพิ่มขึ้นและอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น
2.การทำตัวต้นแบบ ออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ ออกแบบบริการ ช่วยลูกค้าทำเรื่องการออกแบบความคิด แนะนำต้นแบบไปทดสอบกับลูกค้าว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จหรือไม่
3.ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทำระบบลีน นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วย รวมถึงการทำช่องทางอีคอมเมิร์ซ โมบายล์แอปพลิเคชัน หรือเชื่อมต่อระบบกับโซเชียลมีเดีย
4.ช่วยบริหารจัดการองค์กรใหญ่ที่มีความซับซ้อน หรือบางบริษัทร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ จะต้องติดตั้งโครงสร้างขึ้นมา จะมีทีมเข้าไปช่วยบริหารจัดการเหมือนเป็นคนในของธุรกิจ รวมถึงให้คำปรึกษา
5.Big Data เพราะการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น จะได้ข้อมูลที่นำมาใช้งานได้ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ แมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) เข้าไปช่วยประมวลผล ทำให้สามารถเจอโอกาสใหม่ ๆ ของธุรกิจได้

“ในอีก 3 ถึง 5 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ วิกฤติรอบนี้ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ต้องหันมาใช้ดิจิทัล ธุรกิจที่ไม่เปลี่ยนจะไม่สามารถอยู่รอดได้”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-Siri Ventures เดินหน้าลงทุนสตาร์ตอัพ พัฒนาเทคโนโลยี สร้างรายได้เพิ่ม
-“Ookbee” จากธุรกิจอีบุ๊คสู่การเป็น Digital Content Ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในไทย
-SCB ส่ง Robinhood กระตุ้นตลาด ลดผูกขาด ลุยเกมมาราธอน ต่อยอดธุรกิจ
-CVC ไทย เงินทุนเหลือแต่ระวังการลงทุน เตรียมช่วยปูทางสู่ exit
-บริการต่าง ๆ ของ Google คือ “ผู้ช่วยส่วนตัว” ที่สำคัญ ช่วงโควิด-19

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ