TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyซิสโก้เผย องค์กรไทย 97% ชี้ว่า "ความเป็นส่วนตัว" เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

ซิสโก้เผย องค์กรไทย 97% ชี้ว่า “ความเป็นส่วนตัว” เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

HIGHLIGHT

  • ซิสโก้ เผยรายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565 พบว่า 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกมองว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
  • องค์กรในไทยลงทุนในด้านความเป็นส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ด้วยงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 55%
  • กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวได้รับการตอบรับที่ดี โดยผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 92% เชื่อว่าจะส่งผลดี
  • ลูกค้าต้องการความโปร่งใสมากขึ้น และเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) และการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ

ซิสโก้ เผยผลรายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565 ระบุ ‘ความเป็นส่วนตัว (Privacy) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงาน’ โดย 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกมองว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ สำหรับในประเทศไทยมีตัวเลขสูงถึง 97%  

ความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

98% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยระบุว่าตนเองจะไม่ซื้อสินค้าและบริการจากองค์กรที่ไม่ได้ปกป้องข้อมูลของลูกค้าอย่างถูกต้องเหมาะสม และ 91% ระบุว่าการรับรองความเป็นส่วนตัวจากหน่วยงานภายนอกมีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่าความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าสำหรับองค์กรทั่วโลก

องค์กรคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่ดีจากความเป็นส่วนตัว

70% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทย เชื่อว่าจะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจอย่างมากจากการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม และป้องกันความสูญเสียจากปัญหาข้อมูลรั่วไหล ผู้ตอบแบบสอบถามในไทยประเมินว่า ROI น่าจะอยู่ที่ 1.2 เท่าของเงินลงทุนโดยเฉลี่ย

กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับในประเทศไทย 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามในองค์กรระบุว่า กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวก่อให้เกิดผลดี และมีเพียง 2% เท่านั้นที่ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสีย

ล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2565 ประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act – PDPA) ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ โดยมีการกำหนดว่าองค์กรจะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และจะต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ที่ระบุเท่านั้น

ผลของการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองความเป็นส่วนตัว

ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า “การบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวจะส่งผลกระทบต่อองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยในเรื่องของการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจาก ปัจจุบันองค์กรธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเป็นรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และมีการสร้างข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อองค์กรต่าง ๆ ในไทย

ข่าวดีก็คือ องค์กรเหล่านี้กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดย 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยระบุว่าองค์กรของตนมีการรายงานดัชนีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวอย่างน้อยหนึ่งรายการให้แก่คณะกรรมการบริหาร และมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับการลงทุนด้านความเป็นส่วนตัวโดยเฉลี่ย 55% ที่ซิสโก้เราเชื่อว่าความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเราจำเป็นต้องอาศัยระบบรักษาความปลอดภัยและความโปร่งใสเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น”

Data Localization

เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนต้องการให้มีการปกป้องข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ (Data Localization) ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 99% มองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อองค์กรของตน แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบตามมา โดย 93% ระบุว่าข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การใช้ข้อมูลอย่างรับผิดชอบ

ประการสุดท้าย ในเรื่องของการใช้ข้อมูล ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 99% ตระหนักว่าองค์กรของตนมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ข้อมูลอย่างรับผิดชอบ โดย 93% เชื่อว่าองค์กรของตนมีกระบวนการสำหรับการตรวจสอบว่าการตัดสินใจแบบอัตโนมัติเป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้า  

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคประจำปี 2564 ของซิสโก้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น และ 56% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถามรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในส่วนของ AI และการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ  นอกจากนี้ ผู้บริโภค 46% รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างเพียงพอ โดยสาเหตุหลักเนื่องจากผู้บริโภคไม่เข้าใจว่าองค์กรเก็บรวบรวมและนำเอาข้อมูลของตนไปใช้ทำอะไร

อนุรัก ธิงรา รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจ Collaboration ของซิสโก้ กล่าวว่า “ซิสโก้มุ่งมั่นคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เราได้จัดทำเฟรมเวิร์ก AI ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI Framework) ด้วยการกำหนดกระบวนการกำกับดูแลและแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับทีมงานฝ่ายพัฒนา รวมถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารที่สำคัญกับลูกค้าและฝ่ายต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  เฟรมเวิร์กดังกล่าวระบุหลักการที่ชัดเจนในลักษณะที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของลูกค้า”

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

CARS24 เปิดตัวแอปฯ ขายรถยนต์มือสอง ‘ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว’ ดูรถได้จริงแบบ 360°Views

นูทานิคซ์เปิดตัว Cloud Platform ครอบคลุมการใช้งานทุกแอปพลิเคชันบนคลาวด์ทุกระบบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ