TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology"FoodSERP" แพลตฟอร์มขุมพลังวิจัย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางไทย ไปด้วยกันกับผู้ประกอบการ

“FoodSERP” แพลตฟอร์มขุมพลังวิจัย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเวชสำอางไทย ไปด้วยกันกับผู้ประกอบการ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานวิจัยระดับประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการนำความรู้ เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญที่บ่มเพาะมานานกว่า 30 ปี มาสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญคือประชาชนและชุมชนต้องเข้าถึงงานวิจัยที่ใช้ได้จริง จึงได้กำหนดนโยบายที่เรียกว่า “NSTDA Core Business” โดยมี “FoodSERP แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน” เป็นหนึ่งงานวิจัยที่มีความโดดเด่น และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

บริการครบวงจร 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร

ดร.กอบกุล-เหล่าเท้ง

ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการ กลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน  (Service platform for food and functional Ingredients Group) สวทช. เผยถึงที่มาของ แพลตฟอร์มฟูดเซิร์ปว่า ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอาหารในบ้านเรา มีความเข้มแข็งและสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารโลกในปัจจุบัน มุ่งไปสู่อาหารใหม่ หรืออาหารฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงในรูปแบบของส่วนผสมฟังก์ชัน (Functional Ingredients) สำหรับใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่าง ๆ เนื่องจาก ผู้ประกอบการไทยยังคงมี Pain point ในด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนาซึ่งเป็นทุนก้อนใหญ่ กว่าจะสร้างนวัตกรรมที่แตกต่าง แข่งขันได้ คุ้มทุนในการผลิต หรือทำออกมาสำเร็จแล้ว แต่ผู้บริโภคยังไม่เปิดรับ หรือไม่สามารถขึ้นทะเบียน อย. ทำให้ไม่สามารถขายได้  

แพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน หรือ “FoodSERP” คือ โซลูชันที่จะตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะ (tailor made) ในรูปแบบ One-Stop Service ตั้งแต่การให้บริการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตในระดับโรงงานต้นแบบที่มีมาตรฐานสากลสำหรับทดลองตลาด ทดสอบทางคลินิกหรือทดสอบภาคสนาม และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมถึงการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ 

โดยฟูดเซิร์ปได้ให้บริการใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มการเติบโตและเป็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก ได้แก่ ส่วนผสมฟังก์ชัน (Functional Ingredients) ได้แก่ ส่วนผสมในการผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจำพวกโปรไบโอติคส์ พรีไบโอติกส์ โพสต์ไบโอติกส์ หัวเชื้อในการหมักอาหาร เอนไซม์ย่อยอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่เป็นแหล่งโปรตีน ผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะกลุ่ม (Food for Specific Groups) ได้แก่ อาหารผู้สูงอายุ อาหารทางการแพทย์ และอาหารสำหรับผู้ที่ต้องการพลังงานและการเสริมความงาม โปรตีนทางเลือก (Alternative Proteins) เช่น โปรตีนจากพืช โปรตีนจากจุลินทรีย์ และเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง และ สารสกัดฟังก์ชัน (Functional Extracts) อย่างสารสกัดจากสมุนไพร สารสกัดจากจุลินทรีย์ และสารให้กลิ่นรส  

สวทช. เปิดตัว แพลตฟอร์ม FoodSERP บริการผลิต-วิเคราะห์ ทดสอบห่วงโซ่การผลิตอาหาร และขึ้นทะเบียน

มัดรวมขุมพลังวิจัยให้บริการแพลตฟอร์มการผลิตและทดสอบ

ฟูดเซิร์ป มีทีมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญหลากสาขา มีวิทยาการความรู้ (know-how) และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการ รวมถึงเครื่องมือและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและมีมาตรฐานการผลิต ที่จะช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาต่าง ๆ ในห่วงโซ่การผลิต เพิ่มความพร้อมของเทคโนโลยี การวิเคราะห์ทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้งด้านประสิทธิภาพ คุณภาพและความปลอดภัย ตลอดจนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์

โดยทางฟูดเซิร์ปมีโครงสร้างพื้นฐานและการบริการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทคเป็นสถานที่ผลิตอาหาร ที่ได้รับมาตรฐานสากล Codex GHPs และ HACCP รวมถึงการดำเนินงานภายใต้แนวทางการปฏิบัติที่ดีในการใช้จุลินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรม หรือ Good Industrial Large Scale Practice (GILSP) ในสภาพควบคุมระดับ LS1 ซึ่งรองรับการผลิตจากจุลินทรีย์ทั่วไปและจุลินทรีย์ดัดแปลงพันธุกรรม 
  • โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง ให้บริการตั้งแต่การทดลองผลิตในระดับสเกลขนาดเล็กเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง บริการขยายขนาดการผลิต และการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรมด้วยมาตรฐาน ASEAN Cosmetic GMP
  • บริการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ส่วนผสมฟังก์ชันอาหารสารสกัดจากพืชและสมุนไพรและเวชสำอาง สำหรับใช้ทดสอบประสิทธิภาพ ทดสอบทางคลินิก หรือทดลองตลาด รวมถึงการเตรียมข้อมูลวิเคราะห์ทดสอบและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์
  • บริการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนทางเลือกและอาหารเฉพาะบุคคล ด้วยเทคโนโลยีเอ็กซ์ทรูชัน และเทคโนโลยีการผลิตอาหารด้วยการพิมพ์ 3 มิติ 
  • บริการวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิผลคุณภาพและความปลอดภัย
    • การทดสอบประสาทสัมผัสเชิงโมเลกุลด้านการรับรสและกลิ่น  
    • การทดสอบเนื้อสัมผัสอาหาร และความหนืดของเครื่องดื่ม 
    • การทดสอบการย่อยและการดูดซึมของตัวอย่างทดสอบ ด้วยแบบจำลองระบบทางเดินอาหาร 
    • การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ เช่น ชะลอวัย ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ ของส่วนผสม (ingredients) หรือผลิตภัณฑ์เวชสำอาง โดยใช้โมเดลผิวหนัง ทั้งในระดับเซลล์ (2D cells) เนื้อเยื่อผิวหนังสามมิติ (3D skin) และผิวหนังที่ได้จากอาสาสมัคร (ex vivo Skin)
    • การทดสอบด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพด้วยแบบจำลองปลาม้าลาย (zebrafish)  
    • การทดสอบด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพด้วยแบบจำลองลำไส้แบบ 3 มิติ 
  • บริการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผ่นฟิล์มปิดภาชนะต่าง ๆ ยืดอายุผักผลไม้ (Packaging Technical Services: For Film Manufacturers) และให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ การวัดอัตราการซึมผ่านของออกซิเจน และการวัดอัตราการซึมผ่านของไอน้ำ 

Together with Entrepreneur ไปด้วยกันกับผู้ประกอบการ

ดร.กอบกุล เผยว่าหลังจากฟูดเซิร์ปเปิดให้บริการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มีลูกค้ามาใช้บริการกว่า 70 ราย โดยมีทั้งบริษัทมหาชนด้านอุตสาหกรรมอาหาร และบริษัททั่วไปคิดเป็น 30% ผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน มีสัดส่วนมากที่สุด คือ 50% และบริษัทสตาร์ตอัพ มีค่อนข้างน้อย คือ 10% ประเภทผลิตภัณฑ์ที่มาใช้บริการมากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์ส่วนผสมฟังก์ชัน หรือ Functional Ingredients เพราะสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร ส่วนผสมอาหารสัตว์ หรือใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางก็ได้

ด้วยแนวคิด Together with Entrepreneur ไปด้วยกันกับผู้ประกอบการ ทำให้ทางฟูดเซิร์ป มีการทำแพ็กเกจบริการมาตรฐานในหลายรูปแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการแต่ละราย และคิดค่าบริการตามขอบข่ายการบริการ หรือวางแพคเกจบริการตามงบประมาณที่มี ผู้ประกอบการสามารถพกโจทย์ความต้องการมาพูดคุยกันได้อย่างยืดหยุ่น และประเมินความพึงพอใจของผู้ประกอบการผ่านการกลับมาใช้บริการซ้ำ 

“เราให้บริการแบบ tailor made ตามโจทย์ของผู้ประกอบการ ในแง่บริษัทใหญ่ที่มีงานวิจัยและพัฒนาในระดับ Lab Scale เป็น Prototype อยู่แล้ว ก่อนจะลงทุนขนาดใหญ่ ทำโรงงานระดับร้อยล้านพันล้าน ก็มาลองขยายการผลิต (Scale up) กับเราดูก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน พร้อมขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เมื่อทุกอย่างผ่านหมด สามารถขายทดลองตลาดได้ แล้วค่อยขยายสายการผลิตของตัวเอง หรือลงทุนสร้างโรงงานใหม่ 

ส่วนเอสเอ็มอี แน่นอนว่าไม่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว ก็สามารถมาใช้เครื่องมือของฟูดเซิร์ป บางท่านมาแค่วิเคราะห์ทดสอบ บางท่านต้องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาเป็นระดับ Lab Scale จนถึงขนาดใหญ่ บางท่านมาแค่ใช้บริการผลิต หรือทดลองขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์  บางคนถือผลิตภัณฑ์มา บอกว่ามีปัญหาเรื่องการเก็บรักษา เช่น ตกตะกอน หรือเกิดการเหม็นหืน บางคนไม่มีอะไรเลย ถือเพลทถือหลอดจุลินทรีย์มาก็มี บางคนก็ถือผลทดสอบมา กังวลตรงนี้แก้ปัญหาได้มั้ย หรือทดสอบให้ละเอียดขึ้น หลากหลายรูปแบบ เราตอบโจทย์ได้หมด มีหลายรายที่สำเร็จโจทย์หนึ่งไปแล้ว ก็กลับมาใช้บริการอีกในโจทย์ใหม่” ดร.กอบกุลอธิบาย

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากการให้บริการของฟูดเซิร์ป

FoodSERP

ตะขาบห้าตัวยาอมที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 80 ปี

ฟูดเซิร์ป โดยทีมงานวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมมือกับ บริษัทห้าตะขาบ ซิมเทียนฮ้อ จำกัด วิจัยเพื่อปรัปปรุงกระบวนการผลิตยาอมแก้ไอแบบโบราณ เพื่อลดระยะเวลาในการผลิตให้สั้นลง เพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอรูปแบบใหม่ในรูปแบบสเปรย์พ่นแก้ไอสูตรสมุนไพร โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวกระบวนการ พัฒนาวิธีการเตรียมวัตถุดิบยา และเทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์ฤทธิ์ของผลิตภัณฑ์ ว่ามีสรรพคุณและการออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้มีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสู่สากล 

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโพรไบโอติกจากผู้ประกอบการ SMEs

ฟูดเซิร์ป ได้ร่วมกับ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเซลล์จุลินทรียโพรไบโอติก และโพสต์ไบโอติกที่เป็น Co-Product ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ภายใต้มาตรฐานสากลและเป็นไปตามแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้จุลินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตให้ผลผลิตสูง มีความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ ผ่านการทวนสอบประสิทธิภาพการนำไปใช้เป็นส่วนผสมฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เฟมินีน สำเรับผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มจากการผลิตผลิตภัฑณ์อาหารเสริม และต่อยอดโดยการนำของเหลวจากการผลิตมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เฟมีนีน 

ผลิตภัณฑ์ไบโอแคลเซียมจากเปลือกไข่ไก่ 

ฟูดเซิร์ป ร่วมกับ บริษัท โอวีเอฟ จำกัด พัฒนากระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ไบโอแคลเซียม (ฺBiocalcium) ผลิตจากเปลือกไข่ไก่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไข่เหลวพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพในการแยกเยื่อเปลือกไข่ออกจากแคลเซียมเปลือกไข่  ได้ไบโอแคลเซีมที่มีความบริสุทธิ์มากกว่า 98% สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น  นอกจากนี้ยังพัฒนากระบวนการที่สามารถบดเปลือกไข่ และผลิตไบโอแคลเซียมได้ตั้งแต่ 5-40 ไมโครเมตร เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในผลิตภัณฑ์  

เครื่องดื่มสุขภาพจากผลไม้ไทย 

ฟูดเซิร์ป โดยหน่วยงานไบโอเทคได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต Cider vinegar แบบขั้นตอนเดียว สำหรับวัตถุดิบการเกษตรของไทย โดยได้พัฒนา “กระบวนการหมักน้ำส้มสายชูจากผลไม้โดยใช้ตนเชื้อจุลินทรีย์บริสุทธิ์” ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถหมักแบบ 2 ขั้นตอนได้ในถังเดียว ภายใต้สภาวะไม่ปลอดเชื้อ กระบวนการผลิตทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ ลดระยะเวลาการหมักจาก 6 เดือน เหลือเพียง 3 เดือน ได้น้ำส้มสายชูหมักที่มีคุณภาพ ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีแปรรูปสินค้าการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น สับปะรด มะละกอ มังคุด ลำไย น้ำมะพร้าว ฯลฯ

เวชสำอางจากพืชตระกูลกัญชงกัญชา

Cannabidiol (CBD) คือสารสกัดจากพืชตระกูล กัญชง-กัญชา (Cannabis sativa L.) ที่กำลังได้รับความสนใจ ปัจจุบันนำไปใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยทางคลินิกในหลายประเทศ โดยในทางการแพทย์จะนำไปใช้ทั้งในรูปแบบสารสกัดเดี่ยวและสารสกัดผสมของ CBD หากแต่ว่าการใช้งานยังมีข้อจำกัด เช่น การนำส่งสารสกัด CBD ยังพบว่ามีชีวประสิทธิผลต่ำ (Low Bioavailability) เนื่องจากละลายน้ำได้น้อย การนำส่งสารสกัด CBD ผ่านผิวหนัง ยังมีประสิทธิภาพยังไม่สูงเท่าที่ควร จึงเกิดเป็นงานวิจัยการสังเคราะห์อนุภาคนาโนเพื่อนำส่งสารสกัดจากพืชตระกูลกัญชง-กัญชา เพิ่มประสิทธิภาพทางเภสัชวิทยาสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มธุรกิจแพทย์ทางเลือก กลุ่มธุรกิจเวชสำอาง และกลุ่มธุรกิจสปาแอนด์เวลเนส  

Ve-Chick ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อไก่จากโปรตีนพืช

ตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีความอร่อย มีรสชาติเนื้อสัมผัสและกลิ่นที่ดี และมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่เคยบริโภคเนื้อสัตว์ จึงมีความคาดหวังถึงเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ ให้มีเนื้อ สัมผัสมีความรู้สึกเหมือนการบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดนั้นจริง ๆ เป็นที่มาของแนวคิดในการจัดเรียงโครงสร้างของอาหารให้มีลักษณะเป็นเส้นใยเหมือนกับเนื้อไก่ ควบคู่ไปกับการปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติ เมื่อผู้บริโภคจะได้รับความรู้สึกที่เหมือนรับประทานเนื้อไก่จริง

โปรตีนทางเลือกจากจุลินทรีย์และผลิตภัณฑ์มัยคอโปรตีน

ทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวกระบวนการอุตสาหกรรม และทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระบวนการผลิตมวลเซลล์ของจุลินทรีย์กินได้ หรือจุลินทรีย์เกรดอาหาร ในระดับโรงงานต้นแบบ สำหรับใช้เป็นแหล่งมัยคอโปรตีนที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยในการบริโภค โดยได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก หรือเนื้อเทียมประเภทมัยคอโปรตีน โดยประมาณการณ์ส่วนแบ่งตลาดที่ 5-10% ของตลาด plant-based meat ภายใน 3 ปี โดยประเมินมูลค่าการลงทุนผลิตและจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท  

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ITAP สวทช. รับสมัครผู้ประกอบการและฟาร์มไก่ไข่ ร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง

นักช้อปไทย นิยมช้อปผ่านแบรนด์เว็บไซต์มากขึ้น

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ