TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessKBANK สร้างพลังประสานรวมรัฐ-เอกชนกรุยทางสู่เศรษฐกิจยั่งยืน 

KBANK สร้างพลังประสานรวมรัฐ-เอกชนกรุยทางสู่เศรษฐกิจยั่งยืน 

เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นหัวใจสำคัญของโลกธุรกิจ การค้า และการลงทุน ในอนาคตอันใกล้ และเป็นภาคบังคับที่บรรดานักลงทุนและผู้ประกอบการไทยทั้งหลายต้องเปิดรับ ปรับปรุง และเปลี่ยนผ่านเพื่อให้อยู่รอด รวมถึงสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเห็นหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะออกมาดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ความยั่งยืนในแง่มุมต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียน การสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานรองรับรถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบเก็บสำรองพลังงานเพื่อรองรับพลังงานสะอาด การตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการวางระเบียบมาตรฐานการวัดปริมาณการผลิตและการปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นต้น 

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไทยกลับยังไม่พร้อมที่จะเดินหน้าไปสู่ “ความยั่งยืน” บนเวทีโลก และความไม่พร้อมนั้นก็กำลังบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันที่จะเป็นเครื่องยนต์ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมั่นคงในระยะยาว 

ทั้งนี้ หนึ่งในสาเหตุขอความไม่พร้อมนั้น หลักใหญ่ใจความสำคัญที่สุดก็คือการขาดความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน โดยเฉพาะเอกชนในส่วนที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของการจ้างงานทั้งหมดเลยทีเดียว 

งานนี้ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จึงได้จัดเวทีเสวนา ภายใต้หัวข้อ Bridging Pathway to Sustainable Economy ขึ้น โดยมี 5 ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เข้ามาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ แนวทาง การลงมือปฎิบัติและคำมั่นสัญญา ที่จะร่วมมือกันสร้าง “ความยั่งยืน” ที่จะกลายเป็นโอกาสสำคัญให้เศรษฐกิจไทยเจริญรุ่งเรืองอย่างทั่วถึงทั่วหน้ากัน 

Net Zero Earth Jump กับ กสิกรไทย สู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน

สำหรับตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ ประกอบด้วย พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย, อโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) 

ความยั่งยืนคือโอกาสทางธุรกิจ

ความเห็นจากตัวแทนจากทั้ง 5 หน่วยงานนี้ ต่างเห็นสอคคล้องตรงกันว่า แนวทางปฎิบัติเพื่อความยั่งยืนที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยทยอยเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนนั้น อาจจะเป็นตัวเลขต้นทุนที่ต้องมีการใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาลในช่วงเริ่มต้น แต่การกระทำดังกล่าวไม่ใช่ภัยคุกคามที่จะสั่นคลอนความอยู่รอดของธุรกิจที่ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยหรือชะลอตัวในปัจจุบันอย่างแน่นอน

ตรงกันข้าม ความยั่งยืนภาคบังคับนี้จะเป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่ที่ถ้าหากไทยสามารถก้าวตามได้ทัน จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีจุดยืนที่มั่นคงไม่แพ้ประเทศไหน ๆ บนเวทีโลกได้อย่างไม่ยากเย็น

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่กระแสโลก (Global Trends) แต่เป็นความจริงที่ทุกประเทศต่างตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งลงมือทำ โดยรายงานจาก World Economic Forum ระบุชัดเจนว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 3.2 องศาเซลเซียสภายในปี 2050 จะสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 8 % ต่อจีดีพีโลกต่อปีเลยทีเดียว 

ลำพังแค่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงปี 2020 – 2022 ก็สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกที่ 3% ต่อจีดีพีโลกยังสาหัสขนาดนี้ แล้ว 8% ที่คาดการณ์ไว้นั้น จะหนักหนารุนแรงเพียงใด

ความโหดร้ายดังกล่าวทำให้หลายประเทศในซีกโลกตะวันตกเริ่มออกมาตรการคุมเข้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่หายนะอย่างที่คาดการณ์กันไว้ ไม่ว่าจะเป็น Carbon Border Adjustment Machanism (CBAM) ของยุโรป หรือ Clean Competition Act (CCA) ของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อ 5 อุตสาหกรรมส่งออกหลักของไทยโดยตรงคือ อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า

พิพิธ ชี้ว่า ระเบียบมาตรการดังกล่าวอาจถือการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง และประเทศใดก็ตามที่ไม่สามารถปฎิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ย่อมต้องเจอค่าปรับมหาศาล โดยกสิกรคาดการณ์ว่าถ้าทุกอุตสาหกรรมของตะวันตกพร้อมใจบอกตรงกันว่าถ้าสินค้าไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่รับซื้อ เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายสูงถึง 26% ของจีดีพีประเทศ

แต่ถ้าหากประเทศไทยสามารถดำเนินการตามระเบียบมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งหมายความว่าภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจน มีแนวทางปฎิบัติที่เหมาะสม ขณะที่ภาคเอกชน ครอบคลุมถึงเอสเอ็มอีก็มีการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการของไทยย่อมได้รับการยอมรับและต้อนรับอย่างดีในโลกเศรษฐกิจการค้าเพื่อความยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ในส่วนของภาคการเงินการธนาคาร ก็มีบทบาทสำคัญที่ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ความยั่งยืนของไทยยืนหยัดได้อย่างมั่นคง โดยพิพิธ กล่าวว่า ธนาคารเปรียบเสมือน น้ำมันหล่อลื่น ที่จะคอยจัดสรร “เงิน” ซึ่งเป็นทุนรอนสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่กรอบของความยั่งยืน ทั้งในแง่ของคน สังคม และสิ่งแวดล้อม 

พิพิธกล่าวว่า ถ้าในอดีตน้ำมันคือทองคำดำ (Black Gold) อนาคตต่อจากนี้ สังคมและสิ่งแวดล้อม (Social Environment) ก็คือ ทองคำเขียน (Green Gold) ที่จะเป็น “พรมแดนธุรกิจใหม่” (new business frontier) ที่ประเทศไทยมีโอกาสจะก้าวไปข้างหน้าได้ โดยกสิกรไทยถือเป็นธนาคารพาณิชย์รายแรกของประเทศที่ให้คำมั่นสัญญาชัดเจนว่าจะจัดสรรทุน 2 แสนล้านบาทให้กับภาคธุรกิจเพื่อปล่อยกู้หรือลงทุนด้านความยั่งยืนภายในปี 2030

Climate Reporting: กิจการไทยยืนหนึ่งในอาเซียน

ความท้าทายคือกรอบนโยบายที่ชัดเจนและรวดเร็ว  

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ท้าทายการดำเนินการด้านความยั่งยืนของไทยก็คือระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล โดย อโณทัย สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ทางอบก. กำลังจัดทำกรอบระเบียบปฎิบัติการเพื่อให้ไทยบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งหมายรวมถึงการสร้างระบบนิเวศตลาดคาร์บอนของไทย (Thailand’s Carbon Market Ecosystem) เพื่อให้ไทยเป็นตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการยอมรับแห่งหนึ่งของโลก

ขณะเดียวกันก็สร้างกรอบการดำเนินการที่พิสูจน์ตรวจวัดปริมาณการผลิตและการปล่อยก๊าซคาร์บอน ของผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นฉลากระบุยืนยันในตลาดส่งออกของยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่ง อโณทัยย้ำชัดว่า บทบาทสำคัญของอบก.ก็คือการเป็นหนึ่งในตัวเร่งสำคัญเพื่อทำให้ไทยมีมาตรการการตรวจวัดคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่สามารถเชื่อถือตรวจสอบได้ และใช้กลไกตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ด้านดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานต่างตระหนักและเห็นความจำเป็นของการเดินหน้าผลักดันประเทศไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งหน้าที่ของรัฐคือการออกแบบกลไก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน และเอกชน สามารถก้าวทันตามโลกให้ทัน 

สิ่งสำคัญในขณะนี้คือการกำหนดเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ของเศรษฐกิจสีเขียวของไทยให้ชัดเจน และการเดินหน้าเร่งยกระดับปรับปรุงคุณภาพโครงสร้างขั้นพื้นฐาน รวมถึงการเปิดทางให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเพิ่มขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจสีเขียวของไทย  

CBAM สัญญาณเตือนผู้ประกอบการไทย ให้เตรียมพร้อมต่อเทรนด์ Net Zero

ความร่วมมือทุกฝ่ายคือกุญแจความสำเร็จ 

ทั้งนี้ กุญแจความสำเร็จของเศรษฐกิจยั่งยืนก็คือความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย โดย ทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลบริหารจัดการให้ไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงต่อความต้องการและยั่งยืน กฟผ.ได้เร่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการดำเนินการภายในหน่วยงานเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการบริโภคของคนในประเทศและทิศทางกระแสโลก

โดยกฟผ.ได้เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนแนวทางโดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ด้วยหลักการ Triple S คือ Source Transformation, Sink Co-creation และ Support Measures Mechanism 

Source Transformation คือการผลิตโดยหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดเป็นวัตถุดิบในการผลิตแทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากขึ้น การพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ 

Sink Co-creation หมายถึงการดูดซับกักเก็บคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ และ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน หรือ Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) 

Support Measures Mechanism คือการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งหมายรวมถึงการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 

ขณะที่ จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น

ขณะที่ จรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น ในฐานะบริษัทใหญ่ที่ทำงานกับบริษัทข้ามชาติระดับโลกมากมาย โมเดลเศรษฐกิจสีเขียวเป็นสิ่งที่มีการดำเนินงานมานานหลายปีแล้ว และจะเป็นเครื่องยนต์หลักเบื้องหลังการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ต่อไปในอนาคต 

ทั้งนี้ มีรายงานคาดการณ์ว่า โมเดลเศรษฐกิจสีเขียวจะช่วยเพิ่มจีดีพีไทยได้มากกว่า 1.4 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มกำลังการบริโภค ขยายตลาดส่งออก และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้มากกว่า 1 ล้านบาทแน่นอน 

จรีพร กล่าวว่า ขณะนีเอกชนไทยไม่เฉพาะแต่ WHA มีการดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนมากมาย โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงพลังงานและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการพัฒนาทักษะของคน และการเป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนให้เอสเอ็มอีก้าวให้ทันการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งจากความสามารถที่ทัดเทียมกันทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม จรีพรยอมรับว่า ต่อให้ภาคเอกชนมีความพร้อมด้านแนวทาง กำลังพล และทรัพยากรมากแค่ไหน ก็ไม่อาจขับเคลื่อนประเทศไทยให้รุดหน้าไปข้างหน้าได้ หากปราศจากกลไกกับดูแลจากภาครัฐ ซึ่งความเห็นดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากตัวแทนทุกภาคส่วนที่เห็นตรงกันว่า ความสำเร็จของความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างแท้จริง

พิพิธ แห่งกสิกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้หมดเวลาที่ต่างคนต่างทำแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ หลังจากที่ทุกคนมองเห็นและมีเป้าหมายเดียวกันแล้ว ก็ได้แล้วเวลาที่ทุกคนจะต้องเต้นในจังหวะเดียวกันเสียที

ความยั่งยืนไม่ใช่ภาระแต่จะเป็นใบอนุญาตให้สิทธิ์ (license) สำคัญในการทำให้ไทยเติบโตสู่โลกใบใหม่ได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคงและความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนภายใต้เป้าหมายเดียวกันนอกจากจะทำให้เกิดผลกำไรแล้วยังทำให้ผู้คนและดาวโลกเดินหน้าสู่ความยั่งยืนด้วยเช่นกัน พิพิธ กล่าวปิดท้าย 

ธุรกิจไทยในกระแสสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เมื่อโลกพร้อมใจกระโดดไปพร้อมกัน

ความท้าทายของไทย ในยุค Green Gold สร้างกลไกคาร์บอนเครดิตรับศึกมาตรการทางการค้า

ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย กับความท้าทายสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ