TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeศรีปทุม ใช้ D Club พัฒนาวิชาดิจิทัลมีเดีย ส่งเด็กรุ่นใหม่สู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์

ศรีปทุม ใช้ D Club พัฒนาวิชาดิจิทัลมีเดีย ส่งเด็กรุ่นใหม่สู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์

คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดศูนย์สร้างสรรค์สื่อดิจิทัล “D Club” สร้างประสบการณ์การทำงานจริงให้นักศึกษารุ่นใหม่ ก้าวสู่การทำงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ร่วมมือพาร์ทเนอร์ “ConceptD” นำอุปกรณ์เสริมทักษะและประสบการณ์ให้กับนักศึกษารอบด้าน

-จาก “สถานีโทรทัศน์อันดับหนึ่ง”​ สู่ “ผู้ผลิตคอนเทนต์” อันดับหนึ่งของประเทศไทย
-ดีป้า เผยมูลค่าอุตฯ ดิจิทัลคอนเทนต์ เกม-บิ๊กดาต้า เติบโตต่อเนื่อง

ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดี คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า เทคโนโลยีและดิจิทัลเป็นสองสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยังมีโอกาสในการเติบโตขึ้นอีกมาก ในช่วงโควิด-19 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น ในอุตสาหกรรมเกม ไม่ว่าจะเป็นโมบายล์ พีซี หรือคอนโซลเกมส์ ทั้งในรูปแบบของ VR, AR หรือ eSport ล้วนมีความต้องการสูงมาก

มหาวิทยาลัยศรีปทุมมองเห็นถึงความต้องการและความสำคัญดังกล่าว ศูนย์สร้างสรรค์สื่อดิจิทัล (Digital Club / D Club) จึงเป็นสนามฝึกฝนฝีมือและพัฒนาศักยภาพในรูปแบบของบริษัทเสมือนจริง ให้นักศึกษาได้ทำงานจริงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งพบลูกค้า รับโจทย์ เลือกเทคโนโลยีที่จะตอบโจทย์ลูกค้า พัฒนาชิ้นงาน และขายงาน

ศรีปทุมมีนักศึกษาในคณะดิจิทัลมีเดีย ประมาณ 800-900 คน ต่อปี จึงเป็นเรื่องยากที่จะส่งไปฝึกงานทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีมหาวิทยาลัยจะคัดเลือกเด็กเข้ามาฝึกงานประมาณ 50% ซึ่งส่วนใหญ่ที่เข้ามาสมัครก็จะเรียนอยู่ในปี 3-4

ศรีปทุม ใช้ D Club พัฒนาวิชาดิจิทัลมีเดีย ส่งเด็กรุ่นใหม่สู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์

ดร.กมล กล่าวต่อว่า เด็กบางคนผู้ประกอบการอยากจะพาไปทำงานด้วยตั้งแต่ปี 3 ก็จะเสี่ยงเรียนไม่จบ ศรีปทุมจึงเปิดโครงการเพื่อให้เด็กได้ฝึกงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ให้พัฒนาจากมหาวิทยาลัย โดยคณะจะเป็นผู้รับจ้างงานจากบริษัท SMEs หรือ สตาร์ตอัพ และให้เด็กรับผิดชอบโปรเจกต์ต่าง ๆ ซึ่งจะเหมือนกับการไปฝึกงานกับบริษัทข้างนอก เป็นเหมือนบริษัทจำลอง และเมื่อฝึกเสร็จนักศึกษาจะสามารถออกไปเติบโตข้างนอกได้

“การฝึกงานใน D Club จะเหมือนกับไปฝึกงานข้างนอก ถ้าฝีมือดีจะได้เงินตั้งแต่ 3,000-12,000 บาท ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับฝีมือและโครงการที่ทำ” ดร.กมล กล่าว

D Club ฝึกงานเด็กโดยดึงคนในวงการอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์เข้ามาสอน เป็นคนที่มีประสบการณ์ทำงานจริง ๆ และเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง ซึ่งศรีปทุมมองว่าเป็นลักษณะแบบ Win Win Win คือ คนสอนก็อยากได้เด็กเก่ง ๆ ไปทำงานที่บริษัท ด้านเด็กได้เรียนวิชาที่ดีสามารถพัฒนาฝีมือและยังได้เงินเดือนจากมหาวิทยาลัย ส่วนคณะก็ได้ชื่อเสียงด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ

“ด้วยความพร้อมของเราที่มีนักศึกษาที่จะเป็นบุคลากรสร้างสรรค์ผลงาน สถานที่ ทีมคณาจารย์ที่พร้อมเป็นพี่เลี้ยง เรายังมีพันธมิตร ConceptD ที่มีผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานด้านดิจิทัลคอนเทนต์ ที่ติดตั้งใน D-Club นี้จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์การทำงานด้วยอุปกรณ์ระดับมืออาชีพ ร่วมกับประสบการณ์การทำงานจริงก่อนที่จะออกไปสู่ตลาดแรงงานอย่างแท้จริง” ดร.กมล กล่าว

ด้าน นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด หนึ่งในพาร์ทเนอร์ที่เข้ามาสนับสนุนฮาร์ดแวร์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของแบรนด์ ConceptD ที่ได้มีโอกาสในการร่วมมือกับทางคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่ง ConceptD เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนให้แก่อาจารย์และนักศึกษาในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะฝีมือ รวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างนักศึกษาให้เป็นนักสร้างสรรค์ที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูงเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล

“เรามั่นใจว่า D Club จะช่วยสร้างทักษะและประสบการณ์ให้กับนักศึกษาอย่างรอบด้าน ทั้ง Hard Skills, Soft Skills, Business Skill และก้าวสู่บุคลากรในวงการดิจิทัลคอนเทนต์อย่างมีคุณภาพ” นิธิพัทธ์ กล่าว

ศรีปทุม ใช้ D Club พัฒนาวิชาดิจิทัลมีเดีย ส่งเด็กรุ่นใหม่สู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์

ดิจิทัลคอนเทนต์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนในปัจจุบันด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เสพสื่อดิจิทัลกันมากขึ้น และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ระบุว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในปี 2562 มีมูลค่า 31,080 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.51 เมื่อเทียบกับปี 2561 และคาดว่าจะมีมูลค่าอุตสาหกรรมถึง 45,094 ล้านบาทในปี 2565

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความต้องการสร้างงานดิจิทัลคอนเทนต์ที่มากขึ้น ทำให้เห็นความต้องการแรงงานหรือบุคลากรทางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ข้อมูลจาก DEPA ได้ระบุว่าบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในปี 2562 ลดลง 12.04% เหลือเพียง 5,021 คน จากปี 2561 ที่มีจำนวนบุคลากรอยู่ที่ 5,708 คน

ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับในอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ภาคการศึกษาจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม

“ปัจจุบันคนในอาชีพดิจิทัลคอนเทนต์ยังมีไม่พอ ขณะที่ดิจิทัลคอนเทนต์เข้าไปอยู่ในทุกอุตสาหกรรม และความต้องการในตลาดยังมีสูงมาก มหาวิทยาลัยจึงต้องเร่งพัฒนาเด็ก” ดร.กมล กล่าวสรุป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ