TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyGoogle ประกาศหนุนประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจยุค AI

Google ประกาศหนุนประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจยุค AI

หลังจากการประกาศความร่วมมือระหว่าง Google กับรัฐบาลไทย ในการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 ธ.ค.) Google ประเทศไทย ถือโอกาสจัดงาน “Digital Samart Thailand” งานใหญ่ประจำปีที่ที่มักจัดขึ้นเป็นประจำเพื่อประกาศคำมั่นของ Google ในการส่งเสริมประเทศไทยให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในโลกที่หมุนไปท่ามกลางความการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ภายใต้พันธกิจ ‘Leave No Thai Behind’ 

ภายในงานปีนี้ Google ได้เผยความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินงานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI ได้แก่ ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) ความร่วมมือด้าน Generative AI (Gen AI) กับ 3 หน่วยงานภาครัฐ และการมอบทุนการศึกษาภายใต้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน พร้อมเพิ่ม 4 หลักสูตรใหม่ เพื่อช่วยให้คนไทยมีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับสายงานที่มีความต้องการสูงและปูทางสู่อาชีพในอนาคต 

โครงการริเริ่มทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือ 4 เสาหลักระหว่าง Google และรัฐบาลไทยเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่ Google กับรัฐบาลไทย ได้ประกาศไว้ในงาน APEC ที่ผ่านมา ได้แก่ 1. การต่อยอดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 2. การวางหลักเกี่ยวกับนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Policy) 3. การส่งเสริมการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและปลอดภัยเพื่อยกระดับการให้บริการของภาครัฐ และ 4.การทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลได้มากขึ้น

Impact ของ Google

Google เผย Impact ของเทคโนโลยี Google ต่อเศรษฐกิจของไทย โดย แจ็คกี้ หวัง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 ธุรกิจต่าง ๆ ในไทยที่นำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทํางานด้วยระบบ AI ของ Google ไปใช้ ได้สร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 7.4 หมื่นล้านบาท และได้สร้างให้การจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง 

ในเศรษฐกิจยุค AI ที่เริ่มนับหนึ่งจากนี้ไป ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเร่งเพิ่มศักยภาพของทุกองคาพยพของระบบเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถก้าวหน้าเติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI ซึ่ง Karan Bajwa, Vice President, Asia Pacific, Google Cloud กล่าวว่า จากผลวิจัยของ Google พบว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 

“โครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มศักยภาพการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบคลาวด์ที่จะรองรับการทำงานของเทคโนโลยีเอไอ เมื่อปีที่ผ่านมา (2022) Google ได้ประกาศลงทุนสร้าง Google Cloud Region ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความซับซ้อนสูง ปัจจุบันการลงทุนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานและคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ตามกำหนดการ” 

ไม่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการลงทุนและความร่วมมือกับ Google ซึ่ง Karan Baiwa มองว่า 4 กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ในไทยที่จะได้อานิสงส์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และเอไอ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง Google กับรัฐบาลไทย คือ ธุรกิจการผลิต (Manufacturing) ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (Wholesale/Retial) ธุรกิจขนส่ง (Logistic) และธุรกิจการเงิน (Finance) รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กเองก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีคลาวด์และเอไอ 

ลำพังเทคโนโลยีนั้นไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของประเทศไทยที่จะแข่งขันในระบบเศรษฐกิจยุคเอไอ “คน” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ การเตรียมพร้อมเรื่องกำลังคนที่มีทักษะดิจิทัลที่จำเป็นเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระหว่าง Google และรัฐบาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาก่อนที่จะมีการประกาศความร่วมมือกับรัฐาลไทยที่ APEC นั้นตลอดทศวรรษกว่าที่ผ่านมา Google ให้ความสำคัญและดำเนินการเรื่องการเพิ่มทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับคนไทยมาโดยตลอดผ่านโครงการต่าง ๆ แต่ล่าสุดคือ โครงการ Saphan Digital และ Samart Skills

โครงการ Saphan Digital เป็นโครงการที่เพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมทั้ง NGO ในไทย ที่ผ่านมามีมากกว่า 100,000 รายที่ผ่านการฝึกใช้เครื่องมือดิจิทัลสำหรับธุรกิจจาก Google 

ส่วนโครงการ Samart Skills เป็นหลักสูตรออนไลน์ที่ให้นักศึกษาและคนทั่วไปได้รับการฝึกฝนทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการ ที่ผ่านมา Google ให้ทุนมากกว่า 30,000 ทุน โดยร่วมมือกับ True, AIS, UNDP รวมทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษา 100 แห่งรวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES)

เดินหน้า 3 ความร่วมมือ: Cloud-First Policy, Gen AI และ Digital Skill 

ทั้งนี้ เพื่อทำให้ประเทศไทยได้ใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลไทยจำเป็นจะต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่รองรับนั่นคือเทคโนโลยีคลาวด์เอไอ (Cloud AI) ซึ่ง Google กำลังให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการร่างนโยบาย Go Cloud First เพื่อทำให้องค์กรภาครัฐได้รับประโยชน์ที่มีอยู่อย่างมากมายจากการใช้งาน Generative AI เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยและสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว

ส่วนความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จาก Gen AI นั้น Google ก็ประกาศความร่วมมือด้าน Generative AI (Gen AI) กับ 3 หน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute: BDI) เพื่อฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud ให้กับบุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรนี้ เพื่อให้มีความสามารถในการนำ Generative AI มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ รวมไปถึงการใช้ Vertex AI เพื่อจัดทำโซลูชันของตัวเอง แพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud องค์กรต่าง ๆ สามารถเลือกโมเดล AI พื้นฐานทั้งของ Google และแบบโอเพนซอร์สกว่า 100 โมเดล เพื่อนำไปปรับใช้ในการสร้างโมเดลแบบกำหนดเองโดยใช้เครื่องมือและข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ และผนวกรวมโมเดลแบบกำหนดเองเหล่านี้เข้ากับบริการดิจิทัลขององค์กรเพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ 

Google มอบทุนการศึกษา Google Career Certificates เพิ่มอีก 12,000 ทุน เพราะโลกกำลังหมุนเข้าสู่ที่ระบบเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ดังนั้น ทุกประเทศต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับคนในประเทศอย่างรวดเร็ว การช่วยให้คนไทยเข้าถึงทักษะดิจิทัลได้มากขึ้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกโอกาสทางดิจิทัลให้กับทุกคน ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย 

จากรายงานผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจฉบับล่าสุด มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะต้องการแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลระดับสูงและระดับกลางเพิ่มอีก 600,000 คนภายในปี 2570 เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า การลดช่องว่างด้านทักษะความสามารถทางดิจิทัลด้วยการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทยได้มากถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2573

เพื่อช่วยลดช่องว่างด้านทักษะดิจิทัล Google มอบทุนการศึกษาเพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ไปจนถึงสิ้นปี 2567 พร้อมเพิ่มหลักสูตรสาขาอาชีพใหม่อีก 4 หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics) ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) และการสร้างระบบอัตโนมัติด้านไอทีด้วย Python (IT Automation with Python) ทำให้ตอนนี้มีหลักสูตรทั้งหมด 9 หลักสูตร โดย 5 หลังสูตรเดิมได้แก่ Data Analytics, Digital Marketing & E-Commerce, IT Support, Project Management และ UX Design (9 หลักสูตรจาก Samart Skills: g.co/grow/samartskills

ต่อยอดโครงการ “Samart Skills”

Google เปิดตัวโครงการ “Samart Skills” โครงการที่เพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้คนไทยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และได้มอบทุนการศึกษาภายใต้หลักสูตร Google Career Certificates ไปแล้วจำนวน 22,000 ทุน ซึ่ง โครงการ “Samart Skills” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทยภายใต้ Grow with Google เพื่อช่วยแก้ปัญหาช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลด้วยการเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะดิจิท้ลและนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในสายอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้น 

ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่จบหลักสูตรในโครงการ Samart Skills ไปแล้วจำนวน 5,500 คน โดย 85% ของผู้จบหลักสูตรได้รับโอกาสที่ดี อาทิ ได้งานใหม่ เลื่อนตำแหน่ง และปรับเงินเดือนใหม่ภายใน 6 เดือนหลังสำเร็จหลักสูตร

ศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากความต้องการด้านทักษะดิจิทัลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Google จึงได้ประกาศมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพที่ใช้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ไปจนถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน และเพื่อเป็นการรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

รัฐบาลไทยพร้อมเดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุค AI 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความยินดีที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Google เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเทคโนโลยีสำคัญอย่างเช่น AI ในระบบคลาวด์ 

ความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเพิ่มโอกาสสร้างงานที่มีมูลค่าสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก 

“หลังจากการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC รัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการในด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย เรื่องแรกคือ การจัดทำนโยบาย Go Cloud First ที่เราได้ร่วมมือกับ Google ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะนำนโยบายนี้ไปใช้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ในการดำเนินการของรัฐบาลจะช่วยปรับปรุงคุณภาพและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ประชาชน”

เรื่องที่สอง รัฐบาลกำลังวางแนวทางสำหรับกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Framework) โดยคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. (National Cyber Security Committee: NCSC) จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ 

และเรื่องที่สาม รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการใช้ Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน โดย Google Cloud จะช่วยจัดฝึกอบรมและมอบเครื่องมือที่จำเป็นแก่บุคลากรของรัฐ ทั้งหมดนี้คือการดำเนินการเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจ AI ยุคใหม่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ