TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewTES ผู้แปลง “ขยะ” ให้เป็น “มูลค่า”

TES ผู้แปลง “ขยะ” ให้เป็น “มูลค่า”

เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้งานในชีวิตประจำของคนมากมายมหาศาล แน่นอนว่า อุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้ย่อมมีอายุการใช้งานของตนเอง ดังนั้น เมื่อหมดประโยชน์ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว หรือไม่เป็นที่ต้องการใช้งานได้อีกต่อไป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ย่อมแปรสภาพเป็น e-waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ไม่สามารถโยนทิ้งปะปนกับขยะทั่วไปได้ เพราะจะเป็นมลพิษร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น e-waste เหล่านี้จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการจัดการที่เป็นระบบ ภายใต้ความเชี่ยวชาญชำนาญการของผู้ที่มีทักษะความรู้ในการดำเนินอย่างจริงจัง เพื่อให้การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณมหาศาลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์การใช้งานทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด

TES หรือ Total Enviromental Solutions ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นผู้จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบเบ็ดเสร็จแห่งเดียวในไทย ที่ให้บริการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ แบบ one-stop service ครบและจบสมบูรณ์ในที่เดียว 

TES ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 ปัจจุบันมีโรงงานอยู่มากกว่า 38 แห่งใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยโรงงานแต่ละแห่งจะดำเนินธุรกิจจัดการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ การทำลายข้อมูล (data destruction) และการทำ assets recovery หรือ การฟื้นสภาพอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้อีกครั้ง 

TES ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม Hi-tech จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำให้สะดวกด้านการจัดทำเอกสารเพื่อการส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปจัดการทำลายต่อไป โดยไม่ต้องเสียภาษี โดยบริษัทได้รับสิทธิในการส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามอนุสัญญา Basels ที่ว่าด้วยการส่งสินค้าอันตรายข้ามแดนที่ต้องขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมแบบปีต่อปี

กรวิกา ชัยประทีป ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดของ TES กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เทสรับจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ลิเธียมแบตเตอร์รี่ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ และรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงตลับหมึกเครื่องปริ๊นเตอร์​ 

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ TES ไม่รับ คือ จอมอนิเตอร์รุ่นเก่าหรือจอซีอาร์ทีที่มีหลอดไอโอโดสที่บริษัทไม่สามารถจัดการได้ ถ่านอัลคาไลน์ และหลอดไฟ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตเป็นคนรับไปไปจัดการ

กรวิกา กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยสามารถแบ่งตามที่มาได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ e-waste จากฝั่งผู้ผลิต และ e-waste จากฝั่งผู้บริโภค TES จะทำงานจัดการขยะอิเล็กทรอกนิกส์จากฝั่งผู้ผลิตเป็นหลัก ซึ่งมีปริมาณขยะ e-waste มากกว่าฝั่งผู้บริโภค

ประกอบกับการที่ไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับ e-waste Electrics Electrical Equipment ในฝั่งผู้บริโภคอย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถจัดการปริมาณ e-waste ในฝั่งนี้ได้มากนัก ตรงข้ามกันกับฝั่งอุตสาหกรรมที่มีกฎหมายกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและจริงจัง

ศักยภาพของ TES ประเทศไทย สามารถให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การไปรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Managed Deployment) การทำลายข้อมูล (Onsite Data Destruction) การฟื้นสภาพ (Asset Recovery) และการรีไซเคิล (Recycling)

“ปัจจุบัน TES สามารถรองรับการจัดการปริมาณ e-waste ได้ 300 ตันต่อเดือน จากแรกเริ่มที่ก่อตั้งบริษัทที่รับเพียงเดือนละไม่กี่สิบตัน”

ทั้งนี้ การจัดการของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ การเผา และการฝังกลบ ซึ่งการเผาทั้งแบบเผาที่ทำลายแบบหมดจดในระบบปิดเพื่อป้องกันมลพิษ ซึ่งข้อเสียของการกำจัดแบบนี้ คือ สูญทรัพยากรในส่วนที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ และการเผาเพื่อนำความร้อนที่ได้ไปใช้ในการผลิตพลังงาน 

ส่วนการจัดการขยะแบบฝังกลบนั้นจะมีกรรมวิธีจัดการใส่สารเคมีเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่สุดท้ายแล้วผืนดินขนาดใหญ่นั้น ๆ ก็ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการเพาะปลูกหรืออยู่อาศัยได้เป็นเวลานานหลายสิบปี 

“ไม่ใช่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทที่สามารถโยนเข้าเตาหลอมเผาเป็นพลังงานได้ทั้งหมด แนวทางการจัดการขยะของ TES คือ พยายามจะทำ Zero Landfill”

TES ผู้แปลง “ขยะ” ให้เป็น “มูลค่า”

การเดินทางของ e-waste

กรวิกา อธิบายว่า โดยหลัก ๆ แล้ว TES จะรับ e-waste ทุกอย่างที่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทางบริษัทจะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งเมื่อรับเข้ามาแล้ว บริษัทจะทำการแกะแยกให้เป็นวัตถุดิบหลัก อาทิ พลาสติก เหล็ก อะลูมิเนียม สแตนเลส หรือ พีซีบี บอร์ด เพื่อให้เห็นว่าส่วนไหนจัดอยู่ในหมวดขยะอิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ ในกรณีนี้ คือ พีซีบีบอร์ด 

โดย TES จะจัดการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปจัดการที่โรงงานแม่ของบริษัทในสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อได้รับขยะ e-waste ไปแล้วก็จะทำการบดย่อย ลดขนาด ก่อนส่งเข้ากระบวนการทางเคมี เพื่อกลั่นออกมาให้ได้เป็นแร่ธาตุหรือโลหะมีค่าตามสารประกอบในพีซีบอร์ด เช่น ทอง พาราเดียม หรือเงิน แล้วนำส่วนนี้ไปขายคืนให้บริษัทนำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ต่อไป หรือถ้าเป็นทองคำก็ขายให้กับผู้ผลิตนำไปหลอมเป็นทองแท่งต่อไปได้ 

“เท่ากับว่าวัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลนี้สามารถนำกลับไปใช้งานใหม่ได้ ไม่ต้องถลุงแร่ธาตุเพื่อมาผลิตเป็นพีซีบีบอร์ด ซึ่ง TES พยายามจะจัดการรีไซเคิล e-waste ให้ได้ 97% ส่วนที่เหลืออีก 3% เผื่อไว้สำหรับการสูญหายในระหว่างการดำเนินการ”

“โรงงานของ TES ในไทย ไม่สามารถดำเนินการรีไซเคิลได้ สิ่งที่ทำ คือ การรวบรวม การคัดแยก แล้วส่งไปรีไซเคิล กระบวนการจัดการ e-waste หลัก ๆ ของ TES จะอยู่ที่สิงคโปร์”

คำว่ารีไซเคิลนี้จะครอบคลุม 3R คือ Reduce, Reuse และ Recycle โดย R แรก คือ การลดขนาด R ที่สอง คือ นำชิ้นส่วนที่ยังใช้งานได้กลับมาซ่อมแซมแล้วนำกลับไปใช้ใหม่ และ R สุดท้าย คือ การนำชิ้นส่วนที่เสียใช้งานไม่ได้แล้วกลับไปเข้ากระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ต่อไป

ทั้งนี้ กระบวนการรวบรวมและคัดแยกมีขั้นตอนให้จัดการอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้กระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมอีกมากมาย 

กรวิกา กล่าวว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แต่ละชนิดจะมีรายละเอียดปลีกย่อย มีลำดับการคัดแกะแยก และมีประเด็นอ่อนไหว ที่ต้องเข้าไปจัดการ ซึ่งไม่เพียงต่ออาศัยแค่ทักษะความชำนาญในการจัดการเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง ความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ลูกค้าผู้ใช้บริการมีต่อบริษัท

ยกตัวอย่าง เช่น การจัดการอุปกรณ์แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ทีทาง TES แสดงให้ลูกค้าเห็นว่า บริษัทจัดการทำลายข้อมูลในส่วนที่อาจจะเป็นประเด็นอ่อนไหวหรือเป็นความลับชนิดที่ลูกค้าสามารถวางใจได้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะไม่มีทางรั่วไหลแน่นอน 

ขณะเดียวกัน การคัดแยกต้องอาศัยความรู้ที่แม่นยำในการแกะงัดและจัดประเภทของวัตถุดิบที่ได้ออกมา เพื่อให้สามารถนำไปจัดการต่อไปได้อย่างถูกต้อง

กระแสรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมช่วงไม่กี่ปีทีผ่านมา ทำให้การดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของ TES ได้รับการตอบรับจากบรรดาผู้ประกอบการไทยและบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น 

ทั้งนี้ เป้าหมายและพันธกิจหลักในการดำเนินธุรกิจที่ TES ตั้งเป้าไว้และยึดมั่นอยู่เสมอคือ การเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดการ e-waste อย่างเต็มรูปแบบครบวงจรเพื่อให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นมาได้สมบูรณ์ถ้วนทั่วตามอายุงานของมันอย่างเต็มศักยภาพ โดยครอบคลุมทั้งการรีไซเคิล การทำลายข้อมูล นำไปทำสินค้ามือสองต่ออายุการใช้งาน 

“ลูกค้าหลัก ๆ ของเราส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ คอมพิวเตอร์ มือถือ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างเมนบอร์ด ซึ่งในไทยมีโรงงานผลิตประเภทนี้เยอะมาก ๆ”

นอกจากนี้ ลูกค้าของ TES ยังครอบคลุมสถาบันการเงิน ในการทำลายอุปกรณ์ผลิตพันธบัตรหรือตู้เอทีเอ็ม ตามมาตรฐานที่หมายถึงการทำลายข้อมูลก่อนนำมารีไซเคิล ซึ่ง TES จัดการให้ได้ สถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้ให้บริการเทคโนโลยีโทรคมนาคม อย่างเอไอเอสและ ดีแทค 

TES ผู้แปลง “ขยะ” ให้เป็น “มูลค่า”

ขยะอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าที่ไม่สูญเปล่า

ทั้งนี้ 15 ปีของการเข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งจัดการ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ในไทย สิ่งที่ TES มองเห็น คือ ปริมาณขยะ e-waste ที่นับวันจะมีแต่เพิ่มมากขึ้นไม่มีลด และมีแต่กระบวนการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้นที่จะทำให้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วเหล่านี้ ไม่กลายเป็นขยะไร้ค่าจนเป็นภาระต่อโลกและสิ่งแวดล้อม 

“เราเรียกมันว่าขยะเพราะว่าเราเลิกใช้ แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราไม่ใช่แล้ว ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีค่า”

โดยเฉพาะกับ e-waste ที่ทางบริษัทรับเข้ามาจัดการทุกชิ้นก็มีต้นทุนราคาที่ต้องจ่ายด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่รถที่นำไปรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามโรงงาน ต้องมีการตัดตั้งระบบจีพีเอสเพื่อบันทึกตรวจสอบเส้นทาง 

การไปรับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบรรดาผู้ผลิตที่เป็นลูกค้าหลักของ TES นั้น บริษัทได้จ่ายเงินค่า e-waste เหล่านั้นไปแล้วด้วย ก่อนนำมาจัดการตามที่ได้ตกลงไปกับทางผู้ประกอบการจนได้เป็นของที่สามารถ reuse ได้ ของที่ต้องนำไป recycle ได้ และของที่ต้องนำไป reduce หรือบดย่อยทำลายได้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้เข้ามาหลังจากการจัดการ

โดยแต่เดิมวิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นิยมใช้กัน คือ การเผาทำลายและการฝังกลบ แต่การเปลี่ยนแปลงของทัศนคติของผู้คนในสังคม ทำให้การรีไซเคิล อย่างถูกวิธีทั้งในแง่ของกฎหมายและกระบวนการดำเนินการที่จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้รับการยอมรับมากขึ้น 

“ในฐานะผู้ประกอบการ สิ่งที่เราต้องทำ คือ การให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าว่าขยะที่เขาส่งเข้ามา เราได้นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีจริง ๆ ไม่มีการลักลอบนำไปขายต่อ กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ยังมีมาตรฐานที่ต่างกัน ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีเครื่องหมายรับรองอย่าง ISO ระดับต่าง ๆ มายืนยันควบคุมการจัดการ”

ปัจจุบัน TES ในประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ อาทิ ลิเธียม แบตเตอร์รี่ TES ประเทศไทยรับมาดำเนินการคัดแยกและส่งจัดการที่สิงคโปร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่อีกไม่นานบริษัทก็มีแผนที่จะดำเนินการลบพลังงานแบตเตอร์รี่ลิเธียมไว้ให้บริการ 

“ทุกกระบวนการมีค่าใช้จ่าย ถ้าลูกค้าโฟกัสแค่ “ราคา” TES อาจไม่สามารถตอบโจทย์ แต่ถ้าพูดถึง “มาตรฐาน” ที่ลูกค้าให้ความสำคัญมากกว่า TES ก็คือทางเลือกนั้นสำหรับคุณ”

TES ผู้แปลง “ขยะ” ให้เป็น “มูลค่า”

มุ่งสู่การจัดการ e-waste แบบครบวงจร 

กรวิกา ย้ำว่าสิ่งที่ TES คำนึงถึง คือ ความต้องการในการให้บริการลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบทั้ง Global ยกตัวอย่างเช่น DELL หรือ Samsung ที่มีโรงงานผลิตแทบจะในทุกประเทศ ถ้า TES สามารถตอบโจทย์การให้บริการของทุกประเทศได้ จะเหมือนได้ Global Contracts ที่ TES จะใช้มาตรฐานเดียวกันในโรงงานและพันธมิตรของ TES ที่มีอยู่ทั่วโลกในการดูแลในประเทศนั้น ๆ ทำให้การจัดการเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น 

“การที่ TES มีเครือข่ายโรงงานในการจัดการเก็บรวบรวม คัดแยก ก่อนส่งออกชิ้นส่วนที่เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์จริง ๆ ไปยังศูนย์ในสิงคโปร์ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเทศ จึงตอบโจทย์ลูกค้าบริษัทใหญ่ ๆ ชั้นนำระดับโลกได้”

ย้อนกลับมาในประเทศไทย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย TES การดำเนินการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ย่อมเป็นไปในมาตรฐานเดียวกันกับที่ดำเนินการกันอยู่ทั่วโลก เพิ่มเติม คือ รูปแบบทางเลือกในการจัดการที่จะมีแต่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์บางรูปแบบที่เพิ่มเข้ามาในภายหลัง เพราะขยะอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทที่ว่านี้ ยังมีปริมาณไม่มากพอที่จะเข้าไปดำเนินการ ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ไฮบริด และแบตเตอร์รี่รถยนต์ ซึ่ง TES ประเทศไทย เริ่มเปิดรับมาดำเนินการจัดการเมื่อปีที่แล้ว โดยทำข้อตกลงกับทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง หลังจากที่ไทยมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว 10 ปี ทำให้ e-waste มีปริมาณมากพอที่คุ้มค่าพอจะจัดการ

โดยนอกจากดำเนินการจัดการรีไซเคิลแล้ว ในส่วนของแบตเตอร์รี่ TES ยังได้นำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ ด้วยการนำแบตเตอร์รี่ที่ไม่ใช้งานจัดการเปลี่ยนแผงเซลล์แล้วติดตั้งเข้าไปในตู้คอนเนอร์ที่มี Solar Roof อยู่ข้างบน เพื่อนำพลังงานที่ได้จาก Solar Roof มาเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่ เพื่อใช้เป็นเครื่องสำรองไฟลูกใหญ่สำหรับโรงงานแทนเครื่องปั่นไฟที่ต้องใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งผลผลิตจากกระบวนการรีไซเคิลของ TES ในการให้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของแผนการในอนาคต TES ประเทศไทยมีแผนขยายไปในส่วนของ Manage Deployment Service ที่ครอบคลุมถึงการให้บริการด้านเซิร์ฟเวอร์จากระยะไกล ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักพักในการดำเนินงาน 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ทาง TES รับเข้ามาจัดการครึ่งหนึ่งเป็นขยะและชิ้นส่วนที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงาน อีกครึ่งหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่ผู้ผลิตแต่ละแบรนด์รับกลับคืนมาจากผู้บริโภคมาให้ TES จัดการ 

โดย TES ได้ร่วมมือกับหน่วยงาน อาทิ กรมควบคุมมลพิษ หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการรับผลิตภัณฑ์ที่เป็น end-user product เข้ามาจัดการรีไซเคิลด้วย ซึ่งทั้งหมดที่รีไซเคิลในไทยนี้จะเป็น general waste ส่วนที่เป็น electronic waste จะจัดส่งไปยังสิงคโปร์ทั้งหมด  

“เป็นที่น่าเสียดายว่า ยังมี e-waste อยู่อีกมากที่กระจายอยู่นอกระบบที่ TES ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะ e-waste จากฝั่งผู้บริโภค ที่เข้าสู่กระบวนการจัดการในอีกรูปแบบหนึ่งแทน”

“สิ่งที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จ คือ กฎหมาย เมื่อใดก็ตามที่กฎหมายบังคับใช้ เมื่อนั้นทุกคนจะทิ้งอย่างถูกวิธี ประเทศอื่น ๆ ค่าการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แล้ว เป็นการกำหนดช่องทางการทิ้งไปในตัว แต่ในไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดบังคับใช้ในลักษณะดังกล่าว”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ