TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistวิกฤติความเชื่อมั่นวัคซีน = วิกฤติรัฐบาลไทย

วิกฤติความเชื่อมั่นวัคซีน = วิกฤติรัฐบาลไทย

การระบาดครั้งที่ 3 ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7 พบครั้งแรกในประเทศไทยที่คลัสเตอร์ทองหล่อ ซึ่งสามารถระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติ 1.7 เท่า ทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นจังหวัดที่มีการระบาดหนักมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศ มีคนติดเชื้อและคนที่เสียชีวิตจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของคนในวงการแพทย์เรียกร้องให้มีการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนเข็มแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้น ประเทศไทยมีวัคซีน เพียง 2 ยี่ห้อ คือ วัคซีนของซิโนแวค และ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า แม้กลางเดือนพฤษภาคมนี้ ก็ยังมีวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อนี้เท่านั้น เป็นสิ่งที่คนไทยคาใจมากว่า “ทำไมรัฐบาลถึงเลือกวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อนี้ และรัฐบาลเป็นใครจึงบังคับให้คนไทยต้องฉีดเพียง 2 ยี่ห้อนี้” ทั้งที่วัคซีนทั่วโลกมีหลายยี่ห้อ ที่สำคัญองค์การอนามัยโลก (อังกฤษ: World Health Organization ตัวย่อ WHO) ยังไม่รับรองวัคซีนซิโนแวค แต่รัฐบาลไทยรับรองให้ฉีดได้

มีข้อความในโซเชียลมีเดีย ระบุว่า ฉีดวัคซีนฟรี ยังจะเลือกอีก ในความเป็นจริง วัคซีนที่ฉีดไม่ใช่ของฟรี เพราะต้องใช้เงินภาษีของพวกเราทุกคน ทำไมจึงไม่มีสิทธิที่จะเลือกยี่ห้อในการฉีด เพราะคนที่ได้รับผลกระทบ คือ ชีวิตของทุกคน  ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเปิดโอกาสให้วัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทยได้แต่ จำนวนผู้ฉีดวัคซีนและจำนวนผู้จองวัคซีนยังน้อยมาก

ดังจะเห็นจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วัน ที่ 9 พฤษภาคม 2564 เวลา 18.00 น. ระบุว่ามีผู้ฉีดวัคซีนในประเทศไทยไปแล้ว จำนวน  1,809,894 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,296,440 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 513,454 ราย

ฐานข้อมูล MOPH Immunization Center กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา มีแผนจะฉีด 16 ล้านโดส สำหรับผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวน 11.7 ล้านคน และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง 4.3 ล้านคน แต่ถึงวันที่ 9 พ.ค. 2564 เวลา 20.00 น. มีจำนวนผู้จองคิวเพื่อฉีดวัคซีนสะสมรวม 1,561,781 ราย แบ่งเป็นเขตกรุงมหานคร 510,363 ราย และต่างจังหวัด 1,051,418 ราย

ส่วนยอดประชากรไทยมีจำนวน 66,186,727 คน เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวนถึง 53.7 ล้านคน ข้อมูลจาก สำนักทะเบียนกลาง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 

ในขณะที่ ตัวเลขวัคซีนนำเข้าทั้งหมด จำนวน  3,617,000 โดส แบ่งเป็น

  • วัคซีน ซิโนแวค (Sinovac) จำนวน 3,500,000 โดส (นำเข้า 24 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 200,000 โดส, วันที่ 20 มีนาคม จำนวน 800,000 โดส, วันที่ 10 เมษายน จำนวน 1,000,000 โดส,วันที่ 24 เมษายน จำนวน 500,000 โดส และวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 จำนวน 1,000,000 โดส)
  • วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 117,600 โดส (นำเข้ามาตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ 2564)

ยังไม่มีวัคซีนนอกเหนือจาก 2 ยี่ห้อนี้นำเข้ามาในประเทศไทย  จะเห็นว่า จำนวนตัวเลขวัคซีนที่มีอยู่ และจำนวนผู้ฉีดวัคซีนไปแล้ว รวมกับยอดจองฉีดวัคซีน ไม่ได้สมดุลกัน ยังมีวัคซีนเหลืออีกจำนวนมากที่สามารถฉีดให้คนไทยได้ 

ทุกคนทราบดีว่า วัคซีนไม่ได้ป้องกันโรค 100% แม้ฉีดครบ 2 เข็มแล้วยังมีโอกาสที่จะติดไวรัสโควิด-19 แต่การฉีดวัคซีน การลดระดับความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่เพราะข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน กลายเป็นกระแสฮือฮา สร้างความหวาดหวั่นให้ประชาชน จนเกิดความไม่มั่นใจในการจะฉีดวัคซีน ไม่ใช่แค่ ประชาชน แต่รวมถึงคนหลากหลายอาชีพ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และตำรวจ 

พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1)  ยอมรับว่า ตำรวจในบังคับบัญชาประมาณ 12,917 คน ในจำนวนนี้มีตำรวจหลายนายที่ไม่อยากฉีดวัคซีน เพราะเกรงกลัวผลกระทบหลังการฉีด บางรายมีการทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาโดยตรง ซึ่งการฉีดวัคซีนเป็นความสมัครใจ แต่อยากใดก็ตาม จะอธิบายและโน้มน้าวให้ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตำรวจถึงเป็นด่านหน้าที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก ขณะนี้มีตำรวจเพียง 3,600 คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว

จากแผนการฉีดวัคซีนของภาครัฐ ทำให้มีการสั่งวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับประชานมากขึ้น เช่น วัคซีนโมโดน่าที่จะนำเข้าในเดือนมิถุนายนนี้ และวัคซีนไฟเซอร์ที่จะนำเข้าเดือนกรกฎาคม

ในขณะที่วัคซีน แอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย จำนวน 61 ล้านโดส จะทยอยออกมาติดต่อกัน 7 เดือน  เดือนมิถุนายนนี้ จำนวน 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม จำนวน 10 ล้านโดส เดือนสิงหาคม จำนวน 10 ล้านโดส เดือนกันยายนจำนวน 10 ล้านโดส  เดือนตุลาคมจำนวน 10 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายนจำนวน 10 ล้านโดส และ ธันวาคมจำนวน 5 ล้านโดส

จากการที่ภาครัฐบังคับให้ประชาชนใช้วัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ ทำให้ประชาชนลังเลที่จะฉีดวัคซีน ถึงขนาดประชาชนบางคนมองว่า ติดโควิดมีโอกาสหาย แต่ถ้าแพ้วัคซีนแย่กว่านั้นเยอะ ซึ่งรัฐบาลให้ข้อมูลและสื่อสารเรื่องนี้น้อยมาก ดังนั้น กรณีคนไม่ฉีดวัคซีน จึงไม่ใช่แค่วิกฤติความเชื่อมั่นของวัคซีนเท่านั้น แต่มันเป็นวิกฤติศรัทธาของรัฐบาลชุดนี้ด้วย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ