TH | EN
TH | EN
หน้าแรกThe MovementETDA ประกาศรายชื่อ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่แจ้งข้อมูลตามกฎหมาย DPS

ETDA ประกาศรายชื่อ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่แจ้งข้อมูลตามกฎหมาย DPS

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ประกาศรายชื่อ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่ดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ ภายใต้กฎหมาย DPS (Digital Platform Service) เป็นที่เรียบร้อย ประชาชนสามารถเช็ครายชื่อได้ที่เว็บไซต์ของ ETDA ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps/th/opendata/section14 พร้อมย้ำบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้าข่ายตามกฎหมายและยังไม่ดำเนินการแจ้งข้อมูล จะต้องรีบดำเนินการ ภายในวันที่ 18 พ.ย. 2566 นี้

ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า หลังจากที่ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือที่เราเรียกว่า กฎหมาย DPS (Digital Platform Service) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา มีบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาสอบถามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทั้งคุณสมบัติของแพลตฟอร์มที่ต้องเข้าข่ายปฏิบัติตามกฎหมาย รายละเอียดเอกสารข้อมูลที่ต้องแจ้ง ช่องทางและขั้นตอนการแจ้งข้อมูล เป็นต้น

ETDA ภายใต้ ทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS ได้ดำเนินการให้คำปรึกษา ตลอดจนคำแนะนำแก่ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างใกล้ชิด พร้อมเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool เพื่อให้แพลตฟอร์มได้เข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติด้วยตนเองแบบง่าย ๆ ผ่านทางออนไลน์ว่า เข้าข่ายบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลหรือไม่ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีธุรกิจบริการแพลตฟอร์มเข้ามาร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองจำนวนมาก

โดยหลังจากได้เปิดระบบให้เข้ามาจดแจ้งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2566 จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจกับ ETDA แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 109 ราย อาทิ Bitkub NFT Marketplace, CredenData, NDID Platform, Robinhood,​ ​BentoWeb และ Zipevent เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการแพลตฟอร์ม ประเภท e-Marketplace มากที่สุด รองลงมาคือ Communication Platform, News aggregators, Searching tool, Web browser, Cloud service, Virtual assistant, Advertising service เป็นต้น ซึ่งมาจากหลากหลายอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ ยังไม่พบรายชื่อแพลตฟอร์มต่างชาติ อาทิ Facebook, Google, LINE, TikTok, Lazada และ Shopee เป็นต้น มาจดแจ้งแต่อย่างใด

โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นให้กลุ่มบริการแพลตฟอร์มทั่วไปเร่งเข้ามาแจ้งก่อน เพราะมีกำหนดภายในวันที่ 18 พ.ย. 66 ที่จะถึงนี้ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เข้ามาแจ้งข้อมูลกับ ETDA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ด้วยตนเองที่เว็บไซต์ของ ETDA หรือที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps/th/opendata/section14 การแจ้งข้อมูลจะช่วยเน้นย้ำความเชื่อมั่นสำหรับผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน และแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการจะได้รับความคุ้มครองจากการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ETDA เชื่อมั่นว่า หลังจากนี้จะมีรายชื่อธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ทยอยเข้ามาแจ้งกับทาง ETDA อย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มแรกที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 18 พ.ย. 66 คือ กลุ่มธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ทั้งของไทยและต่างประเทศที่จะหมายถึงธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีคุณสมบัติดังนี้ 1. กรณีบุคคลธรรมดา มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในไทย เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 2. กรณีนิติบุคคล ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ไทย เกิน 50 ล้านบาทต่อปี หรือ 3. มีจำนวนผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศ)

ส่วนธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่ ที่กำลังจะเริ่มให้บริการ จะต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลก่อนให้บริการ โดยสามารถศึกษาขั้นตอนการแจ้งข้อมูลได้ที่ลิงก์ https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/dps_open.aspx หากธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายตามกฎหมายแล้วไม่เข้ามาแจ้งข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด จะมีโทษตามกฎหมาย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้กฎหมาย DPS สามารถดำเนินการแจ้งได้ครบถ้วน ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ETDA จึงได้เดินหน้าจัดกิจกรรม Workshop สำหรับกลุ่มสำนักงานทนายความ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และนักกฎหมาย โดยจะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566 นี้ เพื่อทำความเข้าใจลงลึกให้มากขึ้น ตั้งแต่นิยามของกฎหมาย DPS ประเภทและลักษณะธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 15 ประเภท หน้าที่และภาพรวมของผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมาย เอกสารหรือข้อมูลที่ประกอบการแจ้งข้อมูลตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำไปสู่การให้คำปรึกษาในประเด็นของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างชัดเจน พร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นสงสัยโดยผู้เชี่ยวชาญจากทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS จาก ETDA โดยตรง ที่สำคัญหลังจากจบกิจกรรมจะเปิดให้คำแนะนำในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น การปรึกษาในด้านการเตรียมเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สำหรับ สำนักงานทนายความ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และนักกฎหมาย ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS โทร 02-123-1234 ในวันและเวลาราชการ (09.00-17.00 น.) หรือติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกฎหมาย DPS ที่ https://www.etda.or.th/th/regulator/Digitalplatform/index.aspx

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

คนไทยใช้เวลาบน LINE เฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน แนะภาครัฐใช้เป็นช่องทางบริการประชาชน

Google เผยคนไทยยังนิยมชมคอนเทนต์ผ่าน YouTube เดินหน้าใช้ AI ยกระดับประสบการณ์การใช้งาน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ