TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอย่าชะล่าใจ แม้ดอกเบี้ยขึ้นแค่ "เสี้ยวเปอร์เซ็นต์"

อย่าชะล่าใจ แม้ดอกเบี้ยขึ้นแค่ “เสี้ยวเปอร์เซ็นต์”

สัปดาห์ที่แล้วแบงก์ทยอยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ โดยอ้างถึงมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 1.25% ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยกนง. แถลงย้ำถึงทิศทางทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ 

แบงก์ชาติเริ่มปรับนโยบายการเงินจากผ่อนคลายสุด ๆ ในช่วงโควิดที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์มาสู่เข้มงวดตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อสกัดคลื่นเงินเฟ้อที่ซัดกระหน่ำเศรษฐกิจโลก ตลอดช่วงปีที่ผ่านมาหลังราคาพลังงานทะยานเมื่อควันสงครามยูเครนพวยพุ่ง แบงก์ชาติบ้านเราแม้ปรับทิศนโยบายการเงินแต่ยังขยับแบบสายกลางขยับขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้า ๆ

ทีนี้มาดูกันว่าแบงก์ไหนขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกันเท่าไหร่ …  

เริ่มกันที่ ไทยพาณิชย์ ปรับขึ้น ดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.45% และขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ ระหว่าง 0.125 – 0.25 % กสิกร ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากระหว่าง 0.10% ถึง 0.40% ส่วน ดอกเบี้ย เงินกู้ปรับขึ้นระหว่าง 0.13% ถึง 0.25% ทีทีบี ธนชาติ ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ดิจิทัล 0.60% ส่วนดอกเบี้ย เงินกู้ขึ้น 0.20% ถึง 0.25%   

ต่อด้วย กรุงไทย ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ สูงสุด 0.50% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นระหว่าง 0.15% ถึง 0.25% ด้านกรุงศรีฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระหว่าง 0.15% ถึง 0.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยงินกู้ ปรับขึ้นระหว่าง 0.20% ถึง 0.25

หากโฟกัสเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ เอ็มอาร์อาร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่ม เอสเอ็มอี และสินเชื่อที่อยู่อาศัย กลุ่มแบงก์ใหญ่ปรับขึ้นอัตราเบี้ยประเภทนี้ ระหว่าง 0. 125 -0.20% เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เอ็มอาร์อาร์ อยู่ที่ 6.21% แบงก์แถลงเหมือนนัดกันว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบค่อยเป็นค่อยไป ตามนโยบายของแบงก์ชาติเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสะดุดและกระทบกับลูกค้ารายย่อยน้อยที่สุด

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้นแล้ว 2 ครั้งนับจาก กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ซึ่งตอกย้ำทิศทางดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปจากขาลง มาเป็นขาขึ้น สำหรับผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อดอกเบี้ยแบงก์ซึ่งส่งผ่านถึงชาวบ้าน ผู้มีผลได้ผลเสียโดยตรงนั้น ก่อนหน้านี้คนแบงก์ชาติออกให้ให้ข้อมูลดังนี้ว่า  

ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพ ระบบการเงิน แบงก์ชาติ เคยออกมาให้ข้อมูลก่อน กนง. เริ่มขยับดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างถึงผลการศึกษาภายใต้สมุมติฐานว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ระดับ 2 – 2.75% ต่อปีภายในสิ้นปี 2566 หรือเพิ่มขึ้น 1.5% ถึง 2.2% จากระดับ 0.5% (ในขณะนั้น) 

ภายใต้เงื่อนไขการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เท่ากับค่าเฉลี่ยในอดีต หรือ ดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 100% อัตราดอกเบี้ย MLR ขึ้น 60% เศรษฐกิจและเงินเฟ้อขยายตัวตามที่กนง. ประเมิน (กนง. ประเมินล่าสุดจีดีพีปีนี้เติบโต 3.2% ปีหน้า 3% เงินเฟ้อปีนี้ 6.3% ปีหน้า 3%) ภาคธุรกิจและครัวเรือนยังสามารถชำระหนี้ แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ 2.75% ต่อปี ดอนยังบอกด้วยว่าจากการวิเคราะห์พบว่า ครัวเรือนจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) มากกว่าภาคธุรกิจ เพราะภาระดอกเบี้ยจ่ายอยู่ 8% ขณะที่ภาคธุรกิจอยู่ที่ 2-4%  

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ เคยบอกกับสื่อในเรื่องเดียวกันว่า ดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้น 1% ทำให้ภาระดอกเบี้ยครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.5% เทียบกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ 3.6% ซึ่งมากกว่าผลกระทบของดอกเบี้ย 7 เท่า แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติยอมรับว่า กลุ่มลูกหนี้เปราะบาง ลูกหนี้รายย่อยที่มีสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบบ้าง  ( 22 ก.ค. 65 )

สรุปว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบกับครัวเรือนมากกว่าธุรกิจ และกลุ่มเปราะบางจะเจอแรงกระแทกหนักขึ้นจากฤดูกาลดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ใครที่คิดจะกู้เพิ่ม หรือก่อหนี้ใหม่ คงต้องทบทวนผลได้ผลเสียกันหลาย ๆ รอบ แม้เงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ที่เงินเฟ้อทะลุขึ้นไป 7.66% ก่อนย่อลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 5.5% ลดลงเป็นเดือนที่สาม ตามที่กระทรวงพาณิชย์ แถลงเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่แบงก์ชาติทั้งชาติอื่น ๆ และบ้านเราคงต้องคุมเชิงขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าคุมเงินเฟ้อได้ชัดเจน

อย่าลืม แม้แบงก์ชาติยึดนโยบายขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือขึ้นทีละเสี้ยวเปอร์เซ็นต์อย่างที่ผ่านมา แต่ทุกเสี้ยวของเปอร์เซ็นต์หมายถึงภาระที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จีดีพี ปี 65 จบที่ 3.4% ปีหน้าต้องลุ้น

การฟื้นตัวของ “ท่องเที่ยว” และ “บทเรียนที่ถูกลืม”​

ค่าปกติใหม่ของ “เงินบาท” และทิศทางที่ยากคาดเดา

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ