TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอินเทอร์เน็ตในยุคโมเด็ม, ICQ, GPRS และ PDA

อินเทอร์เน็ตในยุคโมเด็ม, ICQ, GPRS และ PDA

ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่ผมเห็นอย่างมากนับจากเริ่มเล่นอินเทอร์เน็ตในบ้านเราตั้งแต่ช่วงปี 2538 คือจำนวนผู้คนที่เข้าใช้งาน จำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ และความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต มาถึงเมืองไทยในช่วงแรก ๆ การจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความยากลำบากมาก มีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่องในมหาวิทยาลัยที่สามารถเชื่อมต่อได้ ต้องมีจุดที่มีสาย LAN ความเร็วก็ช้ามาก ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของ Wifi เพราะในยุคนั้นยังไม่มี คนจำนวนมากยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต ยังจำได้เลยครับว่ากลับมาใหม่ ๆ จัดอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้นให้กับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นหัวข้อที่ทันสมัยแล้วและได้รับความสนใจมา

-แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านไอที เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
-ปัญหาการพัฒนา “บุคลากรด้านไอที” จากอดีตจนปัจจุบัน

ช่วงนั้นหน่วยงานไหนมีการทำเว็บไซต์มีประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากแล้ว จำได้ว่าในประมาณหลังปี 2540 จะเป็นครั้งแรก ๆ ที่เริ่มมีการประกาศผลสอบการเข้ามหาวิทยาลัยทางเว็บไซต์เป็นครั้งแรก จากเดิมการประกาศผลเอ็นทรานซ์ ทางโทรทัศน์ โดยจะเริ่มประกาศตอนเที่ยงคืนเป็นต้นไป เรียงตามรหัสตั้งแต่คนแรกไปถึงคนสุดท้าย ยุคนั้นเด็ก ๆ และกองเชียร์ จะต้องนั่งลุ้นแบบ วินาทีต่อวินาทีเพราะ รายชื่อประกาศผลเอ็นทรานส์ จะไหลไปแบบเร็วมาก ๆ ดูแล้วตื่นเต้นจริง ๆ ไม่เหมือนสมัยนี้ แต่การประกาศผลสอบผ่านเว็บไซต์เป็นเรื่องใหม่มากในยุคนั้น บางคนยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้เปิดเว็บไซต์ไม่เป็น ก็ยังต้องดูโทรทัศน์แบบเดิมหรือใช้โทรศัพท์จากตู้สาธารณะโทรไปถามผลผ่าน Call Center

แม้ระบบอินเทอร์เน็ตในยุคนั้นยังเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็เริ่มมีการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เครือข่ายภายในเพื่อสร้างวง LAN แบบ Intranet เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่งข้อมูลระหว่างกันได้ ช่วงนั้นได้ช่วยดูแลศูนย์คอมพิวเตอร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เลยได้เรียนรู้การติดตั้งระบบซึ่งต้องใช้โปรแกรม NetWare ของบริษัท Novell ที่จะช่วยทำให้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฎิบัติการ MSDOS และ Microsoft Windows สามารถแลกเปลี่ยนไฟล์ระหว่างกันโดยไม่ต้องใช้ Floppy Disk ได้

การต่ออินเทอร์เน็ตไปที่บ้านยังเป็นเรื่องยากเนื่องจากไม่มีผู้ให้บริการ จำได้ว่ายุคนั้นต้องใช้เครื่องโมเด็มต่อเข้ากับระบบโทรศัพท์ โดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จะให้เบอร์โทรศัพท์ รหัสผู้ใช้และรหัสผ่าน และมีความเร็วเพียงแค่ 14.4 – 56 kbps ซึ่งค่อนข้างช้ามาก โดยมากใช้งานเพื่อเล่นดูเว็บที่ส่วนมากจะเป็น Static web ไม่ได้มีภาพ วิดีโอหรือเสียงอะไรมากมาย อินเทอร์เน็ตในยุคนั้นใช้ในการทำงานจริง ๆ ถ้าไม่ใช้เปิดเว็บ ดูอีเมล ก็อาจไปดูข่าวสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเว็บบอร์ดในยุคนั้นผ่าน Pantip.com ส่วนการดูวิดีโอหรือเล่นเกมส์ออนไลน์ตอนนั้นยังไม่ต้องพูดถึง เพราะยังไม่มีบริการอะไรแบบนั้นมากนัก รวมทั้งยังไม่มีโปรแกรมสังคมออนไลน์ใด ๆ ถ้าจะค้นข้อมูลยังเป็นยุคของ Yahoo หรือส่วนใหญ่ก็จะเข้าหาข้อมูลผ่านเว็บท่าอย่าง Sanook.com

ส่วนโปรแกรมแชทที่คุยกันแบบทันทีทันใดได้ในยุคนั้นคือโปรแกรม ICQ ที่จะมีวัยรุ่นในใช้กัน โปรแกรม ICQ ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยกลุ่มนักเรียนในอิสราเอลใน ซึ่งการเปิดตัว ICQ ในครั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกการแชทให้เรียบง่ายยิ่งกว่าเดิม ซึ่ง ICQ ไม่ได้มีการเข้ารหัสใด ๆ โดยมีการกำหนดเลขหมายประจำตัว 6 หลักให้กับผู้ใช้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยผู้ใช้ ICQ สามารถส่งข้อความถึงใครก็ได้ที่มีรหัสประจำตัวอยู่ และยังสามารถรวบรวมรายชื่อผู้แชทจากโปรแกรมอื่นอย่าง IRC ก็ได้เช่นเดียวกัน โดย Contact List และข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ในฝั่งไคลเอนท์ ทำให้ในช่วงต้น ICQ ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ส่วนการเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือยังทำไม่ได้ เพราะสมัยนั้นโทรศัพท์ส่วนใหญ่ยังเป็น feature phone และก็ยังเป็นระบบ 2G เน้นใช้ในการพูดคุยมากกว่า แม้จะเป็นโทรศัพท์ดิจิทัลแต่ความเร็วอยู่ที่แค่ 9.6 Kbps จึงทำให้ใช้งานได้เฉพาะการส่งข้อความผ่าน SMS โดยยังไม่สามารถดูเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือได้

จุดเปลี่ยนของระบบโทรศัพท์ เกิดขึ้นในช่วงปี 2544 ในยุคที่ระบบโทรคมนาคมเปลี่ยนเข้าสู่ยุค 2.5G คือกลายเป็น ระบบ GPRS (General Packet Radio Service) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้โทรศัพท์มือถือสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วที่ 40 Kbps และสามารถส่งข้อมูลได้ในรูปแบบของมัลติมีเดีย ซึ่งประกอบด้วย ข้อความ ภาพกราฟิก เสียง และวิดีโอได้ จึงเริ่มมีการส่ง MMS มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา (Always On) โดยช่วงนั้นเริ่มมีโทรศัพท์หลายรุ่นที่สามารถใช้ระบบ GPRS ได้ ผมเองก็ได้ใช้เครื่อง Nokia 7650 ทำให้เล่นอินเทอร์เน็ตได้แต่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะหน้าจอมีขนาดเล็ก

ในยุคนั้นหากต้องการเล่นอินเทอร์เน็ตแบบพกพา คนจะสนใจหาอุปกรณ์ PDA (Personal Digital Assistant) มาใช้งาน ซึ่งเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจดบันทึก จดเวลานัดหมาย หรือ จัดการงานต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว รวมไปถึงสามารถพิ่มแอปพลิเคชันต่าง ๆ ได้ รวมถึงสามารถเล่นเว็บ หรือรับ-ส่ง E-Mail ได้ และอีกอย่างที่สำคัญคือสามารถทำงานด้านมัลติมีเดีย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ได้อีกด้วย โดย PDA ที่เป็นที่นิยมกันมากคือเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Palm OS และ Microsoft Windows Mobile หรือที่เรียกกันว่า Pocket PC

จากที่เล่ามาให้ฟังจะเห็นได้ว่าคนที่จะใช้อินเทอร์เน็ตในยุคนั้นจะต้องมีความยากใช้จริง ๆ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็ยังไม่ใช่เรืองง่าย และมีการใช้ในวงจำกัดมาก ๆ ตอนหน้าผมจะเล่าถึงจุดเปลี่ยนว่าทำไมถึงมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน

ภาพจาก wikipedia.org/wiki/Modem และ wikipedia.org/wiki/Personal_digital_assistant

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ