TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านไอที เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

แนวทางการพัฒนาบุคลากรด้านไอที เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

สัปดาห์ที่แล้วผมเล่าเรื่องเมื่อตอนกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยหลังจากจบปริญญาเอก เป็นช่วงที่สาขาคอมพิวเตอร์กำลังบูมและมีการเปิดหลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเราได้เน้นการผลิตบัณฑิตเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ และก็เป็นปัญหาเดิม ๆ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี ซึ่งหากเจาะลึกไปในกลุ่มที่สำเร็จการศึกษาจะพบว่า มีเพียงจำนวนน้อยมากที่มีความสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งอาจแบ่งกลุ่มบัณฑิตตามลักษณะของสถาบันการศึกษาได้คร่าว ๆ ดังนี้

-ปัญหาการพัฒนา “บุคลากรด้านไอที” จากอดีตจนปัจจุบัน
-เมื่อเข้าสู่การเล่น “เว็บเบราว์เซอร์” ในปี 2537

กลุ่มระดับต้น คือสถาบันที่มีสาขาวิชา และมีนักศึกษาพร้อมทำงานในอุตสาหกรรม มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลุ่มนี้มีไม่เกิน 10 แห่ง และนักศึกษาส่วนมากเก่งมีจำนวนรวมกันไม่เกิน 2,000 คน แต่ก็พบว่า จำนวนหนึ่งเมื่อจบออกมาก็ไม่ได้ทำงานด้านไอที และหลาย ๆ คนไปศึกษาต่อสาขาอื่น

กลุ่มระดับกลาง มีไม่เกิน 20 แห่ง จะได้นักศึกษาที่มีคุณภาพพอใช้ได้ประมาณ 20-30% จำนวนคนเหล่านี้มียอดรวมกันราว 1,000 คนเศษ แต่ที่เหลือก็ไม่เก่ง เพราะขาดพื้นฐานที่ดี

กลุ่มสุดท้ายเป็นสถาบันส่วนใหญ่ที่เปิดสอน จะมีนักศึกษาที่มีคุณภาพน้อยมาก บางแห่งมีนักศึกษาที่พอทำงานได้ ซึ่งเรียนทางด้านไอทีไม่เกิน 3-5 คน

จากจำนวนที่กล่าวมาจะเห็นว่า ยอดรวมต่อปี เรามีบัณฑิตที่พร้อมจะเข้าสู่วิชาชีพเพียงแค่ 3-4 พันคนทั้งที่เราผลิตบัณฑิตด้านนี้ออกมานับหมื่นคน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่า ทำไมผู้ประกอบต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บัณฑิตจำนวนมากไม่มีคุณภาพ ไม่เก่ง และคำพูดที่พบบ่อยมาก คือ จบด้านไอทีแต่เขียนโปรแกรมไม่เป็น ทำงานด้านไอทีไม่ได้

จะเห็นได้ว่า วิกฤติอุตสาหกรรมไอทีอยู่ที่เราไม่อยู่กับความจริง ไม่อยู่กับข้อมูลและตัวเลข เราได้แต่สร้างภาพและการตลาดว่า จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งที่เรามีบุคลากรเก่งน้อยมาก

เราพยายามบอกว่าเด็กจบใหม่เก่งไปเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ได้ ทั้งที่จริงจะเป็นไปได้หรือ ในเมื่อเด็กเราอ่อนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บัณฑิตที่จบด้าไอทีเขียนโปรแกรมไม่เป็น ไม่เข้าใจเรื่อง Deep Technology มีบัณฑิตที่มีคุณภาพจำนวนไม่เกิน 3-4 พันคนต่อปี หากทำธุรกิจเองก็คงรอดเพียงไม่กี่รายและยากที่จะขยายไปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้ เพราะสุดท้ายก็ไม่มีทางที่จะหาบุคลากรได้เพียงพอ

จริง ๆ แล้วตอนนี้เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลง จึงเป็นโอกาสของประเทศเราถ้าจะสร้างกลุ่มคนที่มีคุณภาพ กลุ่มคนที่จะต้องเข้าใจด้าน AI, Cloud Computing, Blockchain, Big Data และ Quantum Computing แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าการศึกษาเราในปัจจุบันยังไม่ดีพอ เด็กเราอ่อนในสาขาด้าน STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์(Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) เราจึงต้องวางแผนสร้างคนในอนาคต ซึ่งอาจจะต้องเน้นในการปฎิรูประบบการศึกษา พัฒนาหลักสูตรใหม่ อาจต้อง ฝึกอบรมอาจารย์ และต้องส่งเสริมให้ทำการวิจัยใหม่ ๆ รวมถึงมีการเรียนการสอนเทคโนโลยีใน 10-15 ปีข้างหน้า

หากต้องการสร้างบุคลากรทางด้านนี้ต้องวางแผนระยะยาว ส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การเขียนโปรแกรม การสอนด้านปัญญาประดิษฐ์ การวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาขต้องใช้เวลา 10-15 ปี เป็นอย่างน้อยในการสร้างคนรุ่นใหม่

นอกจากนี้การพัฒนาหลักสูตรที่กำลังเป็นที่ต้องการเช่น ทางด้าน Data Science หรือ AI ต้องเน้นที่คุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณหรือเน้นการตลาดเหมือนการทำหลักสูตรทางเทคโนโลยีสารสนเทศบางสาขาในอดีตที่ทำให้เข้าใจผิดว่าใครก็เรียนได้ แล้วออกแบบหลักสูตรง่าย ๆ สุดท้ายบัณฑิตที่จบออกมาก็ไม่มีคุณภาพไม่สามารถทำงานและแข่งขันกับต่างประเทศได้

ถ้าเราจะผลิต Data scientist จำนวนมากโดยไม่เน้นคณิตศาสตร์ เราควรเน้นสร้าง Citizen Data Scientist โดยสอนวิชาพวกนี้ในสาขาต่างๆดีกว่าเช่น คณะเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชฯ คณะนิเทศศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ให้เข้าใจหลักการและใช้เครื่องมือพวก Auto ML ดีกว่ามาสร้างหลักสูตร Data science แบบผิวเผินเหมือนยุคเร่งผลิตหลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ แล้วทำอะไรไม่ได้มาก

ส่วนคนเรียน Data science ก็มุ่งเน้นให้เก่งจริงไม่เน้นปริมาณ เรียนคณิตศาสตร์พื้นฐานเยอะ ๆ ทำวิจัยระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ให้พัฒนาและเข้าใจอัลกอรึทึมยาก ๆ ได้มาช่วยพัฒนาประเทศ

ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล จึงเป็นโอกาสทำให้ทุกประเทศสามารถจะเข้าแข่งขันในอุตสาหกรรมที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้บุคลากรก็ต้องมืพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งจะต้องมีการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะในเรื่องของ Deep Technology และรัฐบาลอาจต้องทุมเทงบประมาณจำนวนมากเหมือนที่หลาย ๆ ประเทศทำ จึงจะแข่งขันในอนาคตได้ การพัฒนาคนต้องใช้เวลาไม่มีนโยบายใด ๆ ที่สามารถจะทำให้คนเก่งขึ้นมาได้ในระยะเวลาอันสั้น หากเราไม่ได้สร้างพื้นฐานความรู้ให้แข็งแกร่งพอ แต่ถ้าจะหวังสร้างคนแบบ Quick Win ก็คงได้แค่พื้น ๆ การเรียนคอมพิวเตอร์ ยิ่งถ้าเป็น AI, Data Science ต้องมีพื้นฐานคณิตศาสตร์แน่นจริง ๆ ถึงจะแข่งกับเขาได้ เหมือนแพทย์ครับ คงไม่มีใครคิดหลักสูตร 3-6 เดือน ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาจากคนเรียนสาขาใดมาก็ได้

ที่สำคัญที่สุดคือภาคการศึกษาต้องทำความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม รูปแบบการสอนจะต้องเป็นการลงมือทำงานจริงไม่เน้นเพียงแต่ทฤษฎี วันนี้เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วดังนั้นความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยหลายอย่างเมื่อจบออกมาอาจล้าสมัยไปแล้ว ดังนั้นเราต้องสอนให้บัณฑิตที่จบออกมามีความสามารถในการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ด้วยต้วเอง สามารถค้นคว้าวิจัยในเรื่องใหม่ ๆ ได้ และพร้อมที่จะปรับตัวในการทำงานได้ตลอดเวลา

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-ขุนคลังคนใหม่ …ในยามศก.“ไร้ความเชื่อมั่น”
-โควิด-19 แช่แข็งเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลปี 63 อยู่ที่ 19.6 พันล้านบาท
-IDC เผย Salesforce จะสร้างงานกว่า 2 หมื่นตำแหน่ง ระหว่างปี 2018 – 2024
-ZAAP PARTY ชี้อีเวนต์ต้องปรับตัว เน้นขายไอเดียสร้างความแตกต่าง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ