TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityไทยวา เปิดตัว 'ROSECO' พลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศไทย

ไทยวา เปิดตัว ‘ROSECO’ พลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศไทย

ไทยวา ผู้นำบริษัทผลิตแป้งมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องทางด้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ประกาศเปิดตัวกลุ่มธุรกิจไบโอพลาสติกภายใต้แบรนด์ “ROSECO” พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร บรรจุภัณฑ์ พลาสติกคลุมดิน ฯลฯ ซึ่งนับเป็นการบุกเบิกพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศไทย

โฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “จากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารร่วมกับธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน  ทำให้เราเห็นการปรับตัวของตลาดไทยที่เริ่มหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ตามพฤติกรรมและความใส่ใจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจหลายรายเริ่มจัดหาบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งที่สามารถย่อยสลายได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจ สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ภาคการเกษตรยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนมาใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้มากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้พลาสติกคลุมดินเพื่อการเพาะปลูกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรมากถึง 150 ล้านไร่ ความต้องการเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นให้ไทยวาตัดสินใจเดินหน้าลุยตลาดไบโอพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลังเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย”

พลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายได้ (Biodegradable Bioplastic) คือ พลาสติกที่มีวัตถุดิบในการผลิตพื้นฐานเป็นพืช (Biobased) สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติ  จึงช่วยลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม วัสดุธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้มีหลายชนิด เช่น ชานอ้อย มันสำปะหลัง โปรตีนจากถั่ว ข้าวโพด และแป้งที่ทำจากพืชชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันสำปะหลังมีคุณสมบัติแข็งแรง ทนความร้อน และดูดซับความมันได้ดี จึงเหมาะที่จะนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทต่าง ๆ

สำหรับพลาสติกคลุมดิน (Plastic Mulch) เป็นวัสดุทางการเกษตรที่ใช้กันแพร่หลาย เพื่อปรับอุณหภูมิและเก็บกักความชื้นภายในดิน รวมถึงควบคุมวัชพืช ปรับปรุงคุณภาพพืช และป้องกันหน้าดินเสื่อมสภาพจากสภาวะอากาศแปรปรวน อย่างไรก็ตาม พลาสติกคลุมดินที่นิยมใช้กันทั่วไปทำจากพลาสติกชนิดโพลิเอธิลีน (PE) ซึ่งสลายตัวได้ยากในธรรมชาติ จึงอาจทิ้งสารพิษตกค้างและก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมในระยะยาว นอกจากนี้ การกำจัดพลาสติกชนิดนี้ยังทำได้ยากและมีต้นทุนสูงเพราะต้องใช้แรงงานและอุปกรณ์เฉพาะ ในขณะที่พลาสติกคลุมดินชนิดย่อยสลายได้ สามารถไถกลบได้ภายหลังการใช้งาน จึงช่วยลดขั้นตอนยุ่งยากและต้นทุนในการกำจัด ไม่ก่อให้เกิดสารพิษสะสม หรือทิ้งเศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกตามมา

ปัจจุบัน ไมโครพลาสติก หรือเศษพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ทางด้านสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาพบว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีไมโครพลาสติกเข้าไปปะปนอยู่ในที่ดินทางการเกษตรมากถึง 107,000 – 300,000 ตันในแต่ละปี ซึ่งเกิดจากการใช้ปุ๋ย พลาสติกคลุมดิน หรือการใช้พลาสติกเป็นสารเคลือบเมล็ดพืช นอกจากนี้ยังมีไมโครพลาสติกถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทรอีก 93,000 – 236,000 ตันเป็นประจำทุกปี ไมโครพลาสติกเหล่านี้เมื่อหลุดเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ และส่งผลกระทบเชิงลบต่อความยั่งยืน

ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

โฮ กล่าวว่า ROSECO ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติกที่มีคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค โดยวัตถุดิบที่ใช้เป็นเม็ดพลาสติกที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังซึ่งได้จากธรรมชาติโดยตรง จึงไม่เป็นพิษและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ ROSECO จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการหยุดพึ่งพาการใช้พลาสติกจากปิโตรเลียม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และก้าวสู่การเป็นสังคม Zero Waste ได้เร็วขึ้น จากการเลือกใช้วัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาแปรรูปใช้ใหม่ ซึ่งช่วยลดปริมาณของเสียที่จะทิ้งให้เหลือน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ธุรกิจเม็ดพลาสติกชีวภาพภายใต้แบรนด์ ROSECO ยังดำเนินการผลิตในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง “การตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยซึ่งเป็นหัวใจของแหล่งปลูกมันสำปะหลัง ทำให้เราสามารถใช้วัตถุดิบจากเครือข่ายเกษตรกรในประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้ และยังสามารถลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากจากการขนส่งวัตถุดิบเป็นระยะทางไกลๆ ด้วย ปัจจุบัน โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในจังหวัดระยองเปิดดำเนินการแล้ว โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตเฟสแรกไว้ที่ 3,000 ตันต่อปี เราคาดว่าธุรกิจนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้บริษัท 1,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า” โฮ สรุป

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ความสำเร็จ 9 ปี สร้างครู-ศูนย์เรียนรู้ ขยายผล “โคก หนอง นา โมเดล” ครอบคลุม 7 จังหวัด

ความยั่งยืน … ไม่ใช่แค่ ‘ซีเอสอาร์’ แต่คือ ‘พันธสัญญา’ ของเอปสัน ประเทศไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ