TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityความสำเร็จ 9 ปี สร้างครู-ศูนย์เรียนรู้ ขยายผล “โคก หนอง นา โมเดล” ครอบคลุม 7 จังหวัด

ความสำเร็จ 9 ปี สร้างครู-ศูนย์เรียนรู้ ขยายผล “โคก หนอง นา โมเดล” ครอบคลุม 7 จังหวัด

เชฟรอน สรุปผลการเดินทาง 9 ปี โครงการ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” ซึ่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน สัมฤทธิ์ผลในการสร้าง “ครู-ศูนย์เรียนรู้” ภายใต้แนวคิด “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง และยกระดับการพัฒนาชีวิตและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมในด้านการจัดการน้ำกว่า 1,700 คน มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ แล้วกว่า 79,500 คน  

โครงการ “ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ” (โครงการฯ) เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ด้วยงบประมาณสนับสนุนประมาณ 50 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อสร้าง “ครูพาทำ” พัฒนาคู่มือและตำรา สร้างศูนย์เรียนรู้ ตลอดจนอบรมผู้สนใจให้เกิด “คนมีใจ” ที่จะนำศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติและเผยแพร่องค์ความรู้นี้ออกไปในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยมีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัดในลุ่มน้ำป่าสัก ได้แก่ สระบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย และพระนครศรีอยุธยา 

อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนได้รู้จักและทำงานร่วมกับทางอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) นับตั้งแต่โครงการแรกคือ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ซึ่งมุ่งเน้นการสื่อสาร เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดความสนใจในแนวทางศาสตร์พระราชาแก่สาธารณชนในวงกว้าง ผ่านกิจกรรมรณรงค์และการผลิตสื่อความรู้ ในขณะที่การขับเคลื่อนในภาคปฏิบัติก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้เกิดการขยายตัวต่อไปโดยเร็ว จึงเกิดเป็นโครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ ที่เชฟรอนให้การสนับสนุนควบคู่กันไป เหมือนโครงการพี่โครงการน้อง โดยที่โครงการนี้ เราเน้นเรื่องการฝึกอบรม สร้างครู สร้างพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นา ให้กระจายไปทั่วทั้งลุ่มน้ำ เพื่อคนที่สนใจเข้าถึงได้โดยง่าย สามารถดูตัวอย่างความสำเร็จในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้ และสร้างศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ต่อไป  

“โดยหลังดำเนินงานมา 9 ปี โครงการฯ สามารถสร้างตัวอย่างความสำเร็จในลุ่มน้ำป่าสักจำนวนทั้งสิ้น 147 พื้นที่ สร้างครูพาทำจำนวน 155 คน และเกิดศูนย์เรียนรู้จำนวน 10 ศูนย์ทั้งในลุ่มน้ำป่าสักและนอกลุ่มน้ำ นับเป็นความภาคภูมิใจของเชฟรอนที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต” 

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า “เราเริ่มที่ ‘ลุ่มน้ำป่าสัก’ เพราะเป็นลุ่มที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยที่สุด เนื่องจากบริหารจัดการได้ยากที่สุด เนื้อหาของโครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสัก ตามรอยพ่อ’ จึงเน้นที่การสร้างคนให้มีความเข้าใจ ทั้งหลักคิดในการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวิธีการลงมือปฏิบัติ ภายใต้ปรัชญาของความพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อเรียนรู้และพัฒนาแล้ว ก็ค่อย ๆ ยกระดับไปสร้างพื้นที่ต้นแบบ และศูนย์เรียนรู้ นอกจากนี้ โครงการนี้ฯ ยังช่วยหนุนเสริมให้โครงการแรกมีพลังในการสื่อสารได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จากการสร้างตัวอย่างความสำเร็จให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มีคนมีใจเกิดขึ้นมามากมาย ทั้งประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งสามารถยกระดับเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ถึง 10 ศูนย์ ขยายผลไปสู่ประชาชนในทุกลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงผู้คนในต่างประเทศก็เริ่มมาเรียนรู้และนำไปปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องเผชิญวิกฤติ คนจะเห็นคุณค่าของความมั่นคงทางอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ป่า ที่จะช่วยให้สามารถพึ่งพาตนเองได้” 

อุดม อุทะเสน ผู้นำชุมชนกลุ่มบ้านทุ่งเทิง ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย ตัวแทนพื้นที่ จ.เลย กล่าวว่า “ครอบครัวทำการเกษตร เริ่มจากภรรยาไปร่วมอบรมที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จ.ลพบุรี ของโครงการฯ ในปี 2562 แล้วกลับมาลงมือทำทันที ผมก็ช่วยเขาทำด้วย จนได้มีโอกาสไปร่วมอบรมด้วยตัวเอง ที่ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาคืนป่าสัก จังหวัดลพบุรี ของโครงการฯ ในขณะนั้น มีคนทุ่งเทิงจำนวนหนึ่งที่เข้าอบรมก็นำความรู้ที่ได้มาปรับแนวทางการทำเกษตรแบบโคก หนอง นา ตอนแรก ๆ ชาวบ้านแถวนั้นหาว่าบ้า ทำแบบนี้จะไม่มีเงินใช้หนี้แน่นอน แต่เราก็ยังทำต่อไปเรื่อย ๆ ลงมือขุดคลองไส้ไก่ และปลูกพืชผักไว้กินในพื้นที่ จนมีผลผลิต มีน้ำใช้ คนก็เข้าไปเก็บของกินจากสวนของเรา ซึ่งเราก็ประกาศให้เข้ามาเก็บกินได้

ปัจจุบันนี้ บ้านทุ่งเทิงสามารถขยายผลการทำโคก หนอง นา ได้ถึง 30 แปลง และคนในหมู่บ้านประมาณ 70 ครัวเรือนก็หันมาปลูกพืชผลกินเอง ทำให้พึ่งพาตนเองได้ ยามมีวิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมา นอกจากเราอยู่รอดได้ ยังแบ่งปันผลผลิตไปช่วยผู้อื่นได้ ส่วนคนในหมู่บ้านที่หันมาปลูกพืชกินเอง ก็มีรายจ่ายที่ลดลง หนี้สินลดลง เกิดการแบ่งปันมากขึ้น คราววิกฤตโรคระบาด ผมก็ช่วยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมเครือข่ายรวบรวมข้าวสารอาหารแห้งจากคนในหมู่บ้าน ทำเป็นถุงยังชีพ เพื่อแจกจ่ายให้กับคนที่ต้องกักตัวด้วย”   

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

SO สยามราชธานี บุกตลาดโลจิสติกส์ ส่งแอปพลิเคชั่น SWAT Mobility หนุนศักยภาพงานด้านขนส่ง

ความยั่งยืน … ไม่ใช่แค่ ‘ซีเอสอาร์’ แต่คือ ‘พันธสัญญา’ ของเอปสัน ประเทศไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ