TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเซลส์ฟอร์ซ เผยคนไทยเกินครึ่งมั่นใจมีทักษะดิจิทัลเพียงพอ

เซลส์ฟอร์ซ เผยคนไทยเกินครึ่งมั่นใจมีทักษะดิจิทัลเพียงพอ

เซลส์ฟอร์ซ (Salesforce) ผู้นำระดับโลกด้านการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) เปิดเผยรายงาน Digital Skill Index ดัชนีชี้วัดทักษะทางดิจิทัล โดยพบมุมมองคนไทยให้คะแนนความพร้อมด้านดิจิทัลของตนเองไว้ในระดับที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยโลก คือจากคะแนนเต็ม 100 คนไทยให้ตนเองที่ 48 ขณะที่คะแนนเฉลี่ยจากทั่วโลกอยู่ที่ 33 คะแนน พร้อมมองว่า ทักษะการเข้ารหัสและความปลอดภัยทางไซเบอร์ จัดเป็นทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานที่สำคัญที่สุดในอนาคตข้างหน้า

ทั้งนี้ เซลส์ฟอร์ซระบุว่าการจัดทำรายงานสำรวจ Global Digital Skills Index ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นวิกฤติทางด้านทักษะดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยตัวรายงานได้มีการสำรวจเพื่อชี้วัดความพร้อมด้านดิจิทัลของบุคลากรคนทำงานทั่วโลกกว่า 23,000 รายใน 19 ประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยที่มีกว่า 1,400 ราย เพื่อสำรวจมุมมองและทัศนคติของคนทำงานถึงความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลที่สำคัญสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน และในอีก 5 ปีข้างหน้า

กิตติพงษ์​ อัศวพิชยนต์ รองประธานประจำภูมิภาคและกรรมการผู้จัดการ เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย ได้หยิบยกประเด็นผลการสำรวจที่น่าสนใจสำหรับตลาดไทย โดยระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยมากกว่าครึ่งหรือ 51% รู้สึกว่าตนมีทักษะด้านดิจิทัลที่เพียงพอสำหรับการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าเปอร์เซ็นเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก (40%)  

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยเกินครึ่งรู้สึกว่าตนมีความพร้อมในเชิงทักษะดิจิทัลในที่ทำงาน แต่มีเพียง 42% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลได้ และอีก 43% ยอมรับว่ากำลังวางแผนที่จะเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลอย่างจริงจังภายในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย

“แม้จะประเมินความพร้อมและทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อการทำงานของตนเองไว้สูงกว่าผู้ร่วมการศึกษาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก แต่การประเมินตนเองนี้ก็ยังห่างจากคะแนนเต็มอยู่อีกมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และหน่วยงานต่าง ๆ จะต้องร่วมมือกันให้เกิดการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่พนักงานและคนในวัยทำงาน ตลอดจนผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศอย่างจริงจัง ธุรกิจต้องส่งเสริมพนักงานของตนในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทักษะดิจิทัลที่จำเป็น ให้สามารถรับมือกับความต้องการด้านดิจิทัลและเตรียมความพร้อมสำหรับรูปแบบการทำงานในอนาคตที่ทุกกระบวนการต้องนำเอาดิจิทัลเข้ามาใช้เสมอ (Digital First)  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า”  กิตติพงษ์ กล่าว 

ขณะเดียวกัน รายงานดัชนีชี้วัดทักษะทางดิจิทัลนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอีก 6 ประเด็นด้วยกัน โดยประเด็นแรกสุด คือ ช่องว่างทักษะทางดิจิทัลระดับโลก ที่แม้จะเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ถือเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่เข้าด้วยเช่นกัน เพราะธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนมาใช้โมเดลที่เน้นดิจิทัลเป็นหลัก ส่งผลให้ความต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นตามมา 

ภาพรวมรายงานของเซลส์ฟอร์สพบว่า เมื่อให้คะแนนความพร้อมทางดิจิทัลจากการประเมินในแง่ของความพร้อม, ความชำนาญในทักษะ, ความสามารถในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการปรับระดับทักษะดิจิทัล ซึ่งมุมมองความพร้อมทางดิจิทัลของคนทำงานทั่วโลกให้คะแนนตัวเองเฉลี่ยอยู่ที่ 33 จาก 100 คะแนน โดยระดับคะแนนสูงสุดที่ได้คือ 63 และต่ำสุดคือ 15 คะแนน 

กิตติพงษ์ อธิบายว่า คะแนนที่แตกต่างนี้เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องเร่งการลงทุนเพื่อปิดช่องว่างทางทักษะดิจิทัลและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมให้แรงงาน

“ช่องว่างด้านทักษะทางดิจิทัลเป็นปัญหาควรได้รับการแก้ไข และธุรกิจองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกล้วนมีบทบาทที่สำคัญในการปิดช่องว่างดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวความคิดด้านการศึกษา และการฝึกอบรมบุคลากร การลงทุนที่ยั่งยืน และการเป็นพันธมิตรที่มีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ เพียงเท่านี้ธุรกิจต่าง ๆ จะสามารถเป็นแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้” กิตติพงษ์ กล่าว 

ประเด็นที่น่าสนใจประการต่อมา คือ ประเทศกำลังพัฒนามีความมั่นใจในด้านความพร้อมทางดิจิทัลมากที่สุด โดยผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย อินเดีย เม็กซิโก และบราซิล มีความมั่นใจมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วเกี่ยวกับอนาคตด้านดิจิทัลของตน โดยคนทำงานในอินเดียให้คะแนนความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลของตนเองสูงที่สุด (63 จาก 100) โดย 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจในอินเดียรู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลสำหรับทำงาน และ 69% พร้อมต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ ๆ 

ในส่วนของประเทศไทย กิตติพงษ์ เผยว่า ผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนความพร้อมต่อทักษะทางดิจิทัลของตนเองสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 (48 จาก 100 คะแนน) โดย 51% ของผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยลงความเห็นว่า ตนเองมีความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลสำหรับการทำงาน และ 39% พร้อมต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ ๆ 

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้ รายงานจากองค์กร RAND Europe ในหัวข้อเรื่อง The Global Digital Skills Gap ระบุว่า ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของทักษะทางดิจิทัลในการทำงานจะเป็นปัญหาหลักในทุกประเทศทั่วโลก โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการกระจายแรงงาน จะเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดช่องว่างทางทักษะของแรงงานในแต่ละประเทศ

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจประเด็นที่ 3 คือ ทักษะด้านดิจิทัลสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันนำมาใช้กับการทำงานไม่ได้เสมอไป กิตติพงษ์ อธิบายว่า เมื่อพูดถึงทักษะทางดิจิทัลจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ทักษะดิจิทัลที่ใช้ในชีวิตประจำวัน กับทักษะทางดิจิทัลที่ใช้ในการทำงาน 

ทั้งนี้ ตัวแทนจากเซลส์ฟอร์ซ ระบุชัดว่า ทักษะดิจิทัลที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้งานโซเชียลมีเดีย หรือการท่องเว็บทั้งหลาย ต่อให้เชี่ยวชาญเพียงใดก็อาจไม่สามารถนำมาใช้แทนทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานได้ เพราะการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางธุรกิจและส่งเสริมการเติบโตจำเป็นต้องอาศัยทักษะดิจิทัลที่เฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล และการตลาดดิจิทัล เป็นต้น

ผลการสำรวจพบว่า ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ (83%), ภูมิภาคยุโรป (82%) และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (70%) มีทักษะด้านโซเชียลมีเดียในระดับ ‘สูง’ หรือ ‘ปานกลาง’  มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น คือในอเมริกาเหนือ 31%, ยุโรป 24% และ เอเชียแปซิฟิก 34% ที่รู้สึกมีความพร้อมสำหรับทักษะดิจิทัลเพื่อการทำงานที่สำคัญและจำเป็นในอนาคต 5 ปีข้างหน้า

ประเด็นที่น่าสนใจถัดมา คือ ทักษะดิจิทัลที่สำคัญที่สุดที่หลาย ๆ ธุรกิจกำลังต้องการในปัจจุบัน คือ ทักษะด้านเทคโนโลยีในการทำงานร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดย 63% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก มองว่า ความชำนาญในการประสานงานร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่ธุรกิจกำลังต้องการในปัจจุบันและในอีก 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่ในส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยยังให้น้ำหนักกับการเข้ารหัสและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ว่าเป็นทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานที่สำคัญที่สุดในอนาคตข้างหน้า ตามมาด้วยทักษะด้านอีคอมเมิร์ซและการค้าทางดิจิทัล, การบริหารด้านดิจิทัล, การตลาดรูปแบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และเทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน

ประเด็นน่าสนใจประเด็นที่ 5 คือ การพัฒนาต่อยอดทักษะของพนักงานโดยธุรกิจต่าง ๆ สามารถก้าวไปข้างหน้าเพื่อปิดช่องว่างทางทักษะที่พบได้ ด้วยการนำเอาศักยภาพของพนักงานที่มีอยู่ออกมาให้มากที่สุด ซึ่งรายงานของเซลส์ฟอร์ซพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่อายุน้อยดูมีความมั่นใจ และความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ มากกว่าผู้ตอบแบบสำรวจที่อายุมากกว่า 

นอกจากนี้ มากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่ม Gen Z กำลังเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในอนาคต 5 ปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับ 12% ของกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ส ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจต่าง ๆ กำลังมีโอกาสที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานที่มีศักยภาพสูงรุ่นใหม่ ผ่านการจัดหาโอกาสเรียนรู้ที่เหมาะสมให้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรม พร้อมทั้งเพิ่มความเท่าเทียม, การมีส่วนร่วม และสร้างความเป็นผู้นำให้พนักงานเหล่านี้ในอนาคต

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจประการสุดท้าย คือ การก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญของภาคธุรกิจ โดยเซลส์ฟอร์ซมองว่าธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบันต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐ พันธมิตรและชุมชน เพื่อจัดการกับวิกฤติทักษะทางดิจิทัล โดยให้การฝึกอบรม สร้างโอกาสในการทำงาน เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความพร้อมต่อการทำงานในอนาคตอย่างเท่าเทียม

“คำแนะนำคือให้เราทำตัวประหนึ่งเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว และพร้อมจะเรียนรู้อยู่ทักษะใหม่ ๆ ทางดิจิทัลตลอดเวลา ซึ่งในมุมมองส่วนตัว จุดอ่อนที่ทำให้เกิดช่องทักษะทางดิจิทัลประการหนึ่งของไทย ก็คือที่เรายังไม่เปิดกว้างให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัล ในต่างประเทศ คนที่ไม่มีพื้นฐานทางดิจิทัลสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ถ้าสนใจต้องการ แต่ไทยยังขาดในส่วนนี้  นอกจากนี้ ในฝั่งบุคลากรเองมีอุปสรรคทางภาษาเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงบางส่วนที่คิดว่า อายุเยอะแล้ว หัวช้าเรียนรู้ยาก ซึ่งเป็นเรื่องของแนวคิดที่ต้องหาทางกระตุ้นปรับเปลี่ยนให้เห็นว่าทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้” กิตติพงษ์ กล่าว

ในส่วนของการเสริมทักษะทางดิจิทัลให้แรงงานไทย ส่วนหนึ่งต้องพิจารณาถึงโอกาสในตลาดว่ามีอะไรบ้าง ส่วนความท้าทาย คือ การที่ต้องเลือกว่าทักษะทางดิจิทัลตัวไหนที่ควรจะเรียนรู้ ต้องเลือกให้ถูก และเลือกให้เหมาะกับตนเอง

ท่ามกลางทักษะทางดิจิทัลที่ผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกลงความเห็นว่าสำคัญที่สุดซึ่งประกอบด้วย 14 ข้อด้วยกัน คือ 1) Encryption and cyber security 2) Collaboration Technology 3) E-commerce and digital trade 4) Digital administrative 5) Creative design 6) Project management technology 7) Data science, Database management, or analytical 8) Digital Marketing 9) Artificial Intelligence 10) Sales technology 11) Coding and app development 12) Product management technology 13) Data visualization และ 14) Digital green/sustainability 

“ให้คิดว่าเป็นเรื่องที่เราสนใจและสามารถที่จะเรียนรู้ได้ และอาจจะไม่ได้เป็นอะไรที่ยากจนไม่ได้มีใครในตลาดต้องการเรื่องเหล่านั้น ยังมีความต้องการทักษะทางดิจิทัลในตลาดอยู่ค่อนข้างมากพอสมควร เพราะฉะนั้น ถ้าเราเลือกที่จะขัดเกลาทักษะทางดิจิทัลตัวใดตัวหนึ่ง โอกาสที่จะได้งานย่อมมีสูงขึ้น ดังนั้น การเลือกว่าจะเรียนเรื่องไหนถือเป็นความท้าทายอันหนึ่ง ส่วนข้อควรระวังน่าจะเป็นในเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญมากกว่าว่า ถ้าเราเลือก เราคงไม่สามารถเลือกที่จะเทรนด์ทุกเรื่องได้ คงต้องเลือกว่าเราจะเน้นทางด้านไหน ไม่ใช่ไปทุกเรื่อง เพราะถ้าไปทุกเรื่อง บางทีมันก็ไม่ได้เชี่ยวชาญ สุดท้ายคุณก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ดังนั้นต้องมีโฟกัส” กิตติพงษ์ สรุป

ทั้งนี้  เซลส์ฟอร์ซมีเป้าหมายในการพัฒนาความสามารถของบุคลากรทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่าง Trailhead โดยในปัจจุบันมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าวกว่า 3.9 ล้านคน เพื่อเรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานในอนาคต และยังมี Trailblazer Community ซึ่งเป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานและผู้เชี่ยวชาญมากมายทั่วโลก 

ขณะที่ประเทศไทย ทางเซลส์ฟอร์ซได้ร่วมงานกับทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ในโครงการ “Salesforce depa Career Kickstarter” โดยมีวัตถุประสงค์สนับสนุนและเสริมสร้างทักษะทางดิจิทัลเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตให้แก่นักศึกษาไทย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Bluebik แนะ 4 สิ่งที่ธุรกิจต้องรู้ก่อนทำ Data-driven Marketing

นักวิชาการ-สอบ.รวมพลังค้านดีล “ทรู-ดีแทค” ฟันธงควบรวมผูกขาด วอนกสทช.ใช้กฎหมายป้องสิทธิผู้บริโภค

“Character Building” ภารกิจหลักของครูปัจจุบัน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ