TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeสองนวัตกรพลังชุมชน แห่งจังหวัดอุดรธานี ผู้หอบความหลงใหลกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

สองนวัตกรพลังชุมชน แห่งจังหวัดอุดรธานี ผู้หอบความหลงใหลกลับมาพัฒนาบ้านเกิด

จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บินตรงสู่จังหวัดอุดรธานีด้วยเวลาชั่วโมงเศษ ก็ถึงท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ภาพมุมสูงจากหน้าต่างเครื่องบิน ในช่วงที่เครื่องใกล้จะลงจอด เผยให้เห็นรูปร่างสี่เหลี่ยมใหญ่น้อยสีน้ำตาล สีเขียวของผืนนาที่รอการเพาะปลูก ฝนแรกของเดือนมิถุนายนโปรยลงมาต้อนรับการมาเยือนผู้เดินทางสู่เมืองอุดรธานี เมืองรองด้านการท่องเที่ยว แต่เป็นศูนย์กลางสำคัญของเศรษฐกิจชายแดนและเป็นประตูสู่ลาวและเวียดนาม 

ณ ดินแดนแห่งนี้ เป็นบ้านเกิดของสองนวัตกรชุมชน ผู้เป็นเจ้าของเรื่องราวของพลังแห่งความหลงใหลและการแบ่งปัน นอกจากเป็นคนอุดรเหมือนกัน เขาทั้งสองมีจุดคล้ายกันคือ การต้องจากบ้านไปเพื่อทำงานและการเติบโตของชีวิต คนหนึ่งไปรับราชการเป็นนายทหารแห่งกองทัพอากาศ ส่วนอีกคนหนึ่งจากบ้านไปไกลถึงประเทศเยอรมนี แต่ทั้งสองคนมีเป้าหมายที่เหมือนกัน คือ มุ่งมั่นที่นำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการทำงานมาพัฒนาบ้านเกิด และทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้และร่วมงานกันในที่สุดผ่านโครงการพลังชุมชน

น้ำหมักเอนไซม์ของหญิงสาวผู้หลงใหลโพรไบโอติก

ห่างจากสนามบินไปเพียง 14 กิโลเมตร ในเขตตัวเมืองอุดรธานี ที่บ้านหนองเป็ด ตำบลเชียงยืน  เป็นที่ตั้งของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เมื่อเดินเข้าประตูรั้วไปทางซ้ายมีพื้นที่เล็ก ๆ ของสวนสมุนไพร ผักสวนครัว และผลไม้พื้นบ้าน ก่อนจะถึงศาลาและโรงเรือนที่ทำการของกลุ่ม กลิ่นหอมหวานอมเปรี้ยว ลอยมาให้ได้สัมผัส ก่อนจะมองเห็นถังพลาสติกขนาดใหญ่ตั้งเรียงรายอย่างเป็นระเบียบอยู่เกือบเต็มโรงเรือน ฝาปิดคลุมป้องกันไว้ด้วยผ้าสะอาดสอ้าน บนถังระบุชื่อผลไม้ และวันเดือนปีที่เริ่มหมัก 

“จุลินทรีย์เขามีชีวิต เรารักเขา ต้องดูแลเขาอย่างดี และถ้าเรายิ่งเผื่อแผ่ไปสู่คนอื่น เขาก็ยิ่งงอกงาม” คือคำบอกเล่าของ เขียว จอดนอก หรือพี่บัว ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ เผยถึงความหลงใหลของเธอที่มีต่อจุลินทรีย์โพรไบโอติกผู้สร้างกลิ่นหอมหวานอมเปรี้ยวจากถังหมักเหล่านั้นที่เป็นเสมือนลูกรักของเธอ ด้านในของศูนย์เรียนรู้พื้นที่ 7 ไร่แห่งนี้ ยังมีห้องผลิตขนาดเล็กที่พี่บัวใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และกำลังเร่งก่อสร้างอาคารผลิตตามมาตรฐาน GMP เพื่อผลิตสบู่และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว รองรับคำสั่งซื้อจากเวียดนามที่จ่อรออยู่ในปลายเดือนมิถุนายน

ด้านหลังของอาคารเป็นบ่อน้ำและพื้นที่ปลูกมะพร้าวซึ่งนำมาใช้ทำน้ำหมักคอมบูชา และปลูกหม่อนซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา ราชภัฏสวนสุนันทา ในการทำอาหารเสริมไฟเบอร์จากลูกหม่อน องค์ความรู้ที่เธอใช้ในการลงมือทำงานอันเป็นที่รักนี้ ได้มาจากการเรียนรู้และลงมือฝึกฝน ทดลองทำในช่วงที่เธอจากบ้านไปทำงานที่เยอรมนีกว่า 24 ปี ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเหมือนคนไทยหลาย ๆ คน แต่ความต่างของพี่บัว คือ นิสัยที่รักการเรียนรู้ สนุกกับการทำงาน ทำงานเกินหน้าที่รับผิดชอบตลอด ด้วยจิตใจที่อยากให้งานสำเร็จลุล่วงได้ดีและรวดเร็ว บวกกับจิตใจที่ชอบช่วยเหลือคน 

จากงานร้านอาหาร งานโรงพยาบาล อบรมความรู้ด้านโภชนาการ ขยับไปเป็นผู้จัดการร้านอาหาร ก็ยังไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้านการดูแลผู้สูงอายุ และมีโอกาสได้ฝึกการอบรมและฝึกฝนเกี่ยวกับการหมักไวน์เพื่อสุขภาพกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญองค์ความรู้ด้านโพรไบโอติกแห่งโรงพยาบาลเบลิสซ์ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รู้จักกับลูกค้าผู้สูงอายุ ซึ่งเคยทำงานบริษัทเครื่องสำอางแบรนด์ดังในเยอรมนี และได้รับคำแนะนำว่าน้ำหมักเอนไซม์ที่ทำอยู่นั้น สามารถนำไปทำเป็นเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือนได้ พร้อมทั้งถ่ายทอดวิธีการทำให้กับเธอ

น้ำหมักเอนไซม์

ยิ่งเธอได้เรียนรู้ ลงมือทดลองทำและใช้ประโยชน์จริง ยิ่งทำให้พี่บัวคิดถึงเมืองไทย ที่มีพืชสมุนไพรและผลไม้ที่หลากหลายและทรงคุณค่ามากมาย การนำองค์ความรู้ไปพัฒนาพืชพรรณท้องถิ่นของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ให้โลกรับรู้ถึงคุณค่า จึงเป็นสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นในใจของเธอจนทำให้ตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิด ในปี 2557 และลงมือทำตามความตั้งใจทันที กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรน้ำหมักเอนไซม์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ บ้านหนองเป็ด จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2561 หลังจากที่กลับมาลงมือทำด้วยตนเองแล้วยังไม่พอ เธออยากจะแบ่งปัน “โอกาส” ทั้งในการพัฒนาตนเองและการทำงานร่วมกันกับคนในชุมชน 

ดูแลสุขภาพองค์รวมด้วยคุณค่าสารสกัดเอนไซม์โพรไบโอติก

พี่บัว ในวัย 57 ปี เจ้าของผิวสีน้ำผึ้ง ใบหน้าผ่องใสเปล่งปลั่งอ่อนกว่าวัย ใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งเป็นอาหาร เป็นยา ดูแลสุขภาพร่างกายทั้งภายนอกและภายใน และใช้ในครัวเรือนในชีวิตประจำวัน เธอไม่เคยหยุดที่จะคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมามากมาย ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้ง 5 หมวด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ความงาม สุขภาพ ทำความสะอาด ปรับอากาศ และปศุสัตว์ ทั้งผลิตขายในแบรนด์ของตนเอง และรับจ้างผลิตในลักษณะ OEM 

เขียว จอดนอก

หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทุกคนต่างมองหาแนวทางในการดูแลสุขภาพมากขึ้น โพรไบโอติกถือเป็นเทรนด์ด้านสุขภาพที่มาแรง งานวิจัยใหม่ ๆ อธิบายถึงจุลินทรีย์ดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายทำหน้าที่มากกว่าแค่ช่วยย่อยอาหาร แต่ยังช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน ลดอาการภูมิแพ้ ปัญหาผิวพรรณ จนไปถึงการช่วยให้เราหลับสบายขึ้น พี่บัวอธิบายผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่เธอพัฒนาขึ้นด้วยองค์ความรู้จากประเทศเยอรมนีว่า 

“คนบ้านเราเน้นผลิตภัณฑ์แบรนด์แพง ๆ จากต่างประเทศ แต่ที่จริงเขากวาดซื้อสมุนไพรบ้านเราจากบ้านเราไป ทำผลิตภัณฑ์ราคาแพงมาขายเราอีกที จึงเป็นความใฝ่ฝันของเราที่อยากจะทำให้สังคมได้กลับมาเห็นคุณค่าของพืชผักสมุนไพรและผลไม้ซึ่งมีมากมายในเมืองไทย และมีประโยชน์หลายอย่าง เรารู้อยู่แล้วว่าคนหันมาหาเรื่องสุขภาพ แต่คนหันมาทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากมายจนไม่มีข้อแตกต่าง พี่จึงเลือกสื่อสารว่า นี่คือ จุลินทรีย์โพรไบโอติก ไม่ว่าครีมบำรุงผิว เครื่องดื่มคอมบูชาหรือสเปรย์คลายกล้ามเนื้อ จุลินทรีย์จะนำพาสารสำคัญของสมุนไพรเข้าสู่ร่างกายคุณ ทำให้คุณสุขภาพดีและสวยได้อย่างที่คุณเป็น”

ในกระบวนการผลิตน้ำหมักเอนไซม์ วัตถุดิบสมุนไพรและผลไม้ที่ปลูกในท้องถิ่นจะถูกนำล้างให้สะอาดโดยใช้น้ำผสมเอนไซม์ ก่อนจะนำไปหมักกับน้ำตาลทรายแดง โดยแยกประเภทวัตถุดิบ น้ำตาลทรายแดงจะดึงสารสำคัญออกมาจากเซลล์ของพืช เกิดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์สีขาว มีกลิ่นหวานอมเปรี้ยวและหอมพืชสมุนไพรชนิดนั้นๆ ระหว่างการหมักจะมีการตรวจสอบค่า pH ควบคุมคุณภาพและดูแลความสะอาดอย่างใส่ใจ และได้รับการตรวจสอบสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ในระดับห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ดี มีประโยชน์ ไม่พบจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโทษ 

ผลิตภัณฑ์เด่น ของกลุ่มวิสาหกิจฯ มีทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคอมบูชาหลากรสชาติที่ช่วยเติมจุลินทรีย์ตัวดีให้กับระบบขับถ่าย ซึ่งนอกจากเป็นเครื่องดื่มขวด ยังได้มีการร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา ราชภัฏสวนสุนันทา ทดลองผลิตเครื่องดื่มชนิดผงฟรีซดรายคอมบูชาดอกทองกวาวอีกด้วย 

ผลิตภัณฑ์ความงาม แบรนด์เซลีน่า ซึ่งมีทั้ง เซรั่ม คลีนเซอร์ มอยส์เจอไรเซอร์ ที่ผสานคุณค่าของเอนไซม้สมุนไพรมาใช้ในการดูแลผิวหน้า และโลชั่นสารสกัดแก่นมหาด ที่ได้รับรางวัล Smart Product จาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2 ปีซ้อน ผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลสุขภาพอย่างสเปรย์คลายกล้ามเนื้อ สกัดจากเอนไซม์ไพลและมะกรูด 

ในช่วงโควิด-19 พี่บัวยังได้นำผลิตเจลว่านหางจระเข้ไปแจกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนเจลแอลกอฮอล์ และพัฒนาเมาท์สเปรย์จากลำไย กระชายดำ ฟ้าทะลายโจร แจกตามโรงพยาบาล โรงเรียนเด็กกำพร้า สถานดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโควิดในชุมชน รวมถึงช่วงที่มีการระบาดของโรคลัมปีสกิน ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรย์เอนไซม์สมุนไพรสำหรับสัตว์ และน้ำสมุนไพรเอนไซม์จุลินทรีย์สำหรับฉีดพ่นคอกสัตว์  เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและกระบือ ซึ่งใช้ได้ผลเป็นอย่างดี

จากนายทหารแห่งกองทัพอากาศสู่ CEO ปลาส้มวังธรรม

ห่างออกไปกว่า 90 กม. จากดินแดนโพรไบโอติกของพี่บัว คือดินแดนท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา เทือกเขาสันภูพาน ตำบลนางัว อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ที่นี่คือบ้านเกิดของอีกหนึ่งนวัตกรผู้มากความสามารถ ยศวัจน์ ผาติพนมรัตน์ หรือพี่เก๋ อดีตข้าราชการทหารแห่งกองทัพอากาศ ที่มีความมุ่งหมายจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด กับเป้าหมายระยะไกลในการทำอำเภอน้ำโสมให้เป็น Food and Herb Land ภายใน 10 ปี โดยเริ่มต้นจากการร่วมกับภรรยา ศรินรัตน์ ผาติพนมรัตน์ หรือ ส้มโอ ทำธุรกิจเมนูอาหารภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่เรียบง่ายอย่าง “ปลาส้ม”  

ยศวัจน์-ผาติพนมรัตน์

“ปลาส้มสมุนไพรสูตรโบราณ ก้างนิ่ม ๆ ไม่ใส่ดินประสิว ปลาโจดเนื้อนุ่ม ปลาจีนเนื้อมัน ปลาตะเพียนก้างนิ่ม ปลาสวายไม่เค็มไม่คาว ปลานิลแสนอร่อย” คือคำบรรยายความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ปลาส้มจากวิสาหกิจชุมชนวังธรรมผลิตและแปรรูปปลาครบวงจร ก่อนจะเริ่มต้นธุรกิจ สองสามีภรรยาใช้เวลาในการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำปลาส้มตั้งแต่ซัพพลายเชนของวัตถุดิบ โดยเริ่มต้นจากการเลือกใช้วัตถุดิบปลาจากจังหวัดอ่างทอง ส่งมาที่จังหวัดหนองคาย 

ปลาส้มวังธรรม ประกอบไปด้วย 6 สูตรด้วยกัน ได้แก่ สูตรโบราณ, สูตรสมุนไพร, สูตรพริกไทยดำ, สูตรขมิ้น, สูตรไม่มีน้ำตาลและผงชูรส และสูตรโพรไบโอติก ซึ่งได้วัตถุดิบในการปรุงรสของแต่ละสูตรจากในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร พริกไทยดำ หรือขมิ้น และยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาส้ม ได้แก่ปลาส้มเส้น และน้ำพริกปลาส้ม 4 ภาค ภาคกลาง – โนริสาหร่าย, ภาคอีสาน น้ำพริกลาบ, ภาคใต้ คั่วกลิ้ง และภาคเหนือ น้ำพริกข่า ซึ่งใช้น้ำพริกแซ่บถะล้าจากลำปางมาผสมกับปลาส้มคั่ว

ส่วนการตลาดเน้นลูกค้าเป้าหมายในพื้นที่รัศมี 45 ตารางกิโลเมตรโดยรอบอำเภอน้ำโสม 73 ร้านค้าชุมชน ตลาดสด ตลาดนัด การส่งดิลิเวอรี่ และมีขายผ่านช่องทางออนไลน์และลูกค้าต่างประเทศรายย่อยบ้างเล็กน้อย ปัจจุบันผลิตปลาส้ม 28,800 กก.ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 4,320,000 บาท ยังไม่รวมมูลค่าจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีสินค้าได้ขึ้นทะเบียน อย. ทั้งหมด 19 ชนิด จาก 50 ผลิตภัณฑ์ ตอบสนองตลาดต่างกัน ลูกค้าต่างกัน

นอกจากนี้ยังมีการเสริมในส่วนของต้นน้ำ ส่งเสริมการเลี้ยงปลาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปลาส้ม โดยได้เรียนรู้และนำนวัตกรรมการผลิตปลาด้วยระบบไบโอฟลอคจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาใช้ เป็นบ่อปลาจากผ้าพลาสติกแข็งแรงทนทาน มีระบบการจัดการของเสียโดยใช้ตะกอนจุลินทรีย์ หรือไบโอฟลอค มาช่วยในการย่อยสลายซากของเสียที่เกิดจากสัตว์น้ำ สามารถกลับไปเป็นอาหารของสัตว์น้ำเหล่านั้นอีกได้ เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำน้อย ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพดี ในอนาคตจะสามารถวัดค่า pH และตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ผ่านแอพพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟน

บริบทของปราชญ์ชาวบ้านยุคใหม่

เมื่อนึกย้อนถึงภาพงานด้านการพัฒนาชุมชนในยุคก่อนๆ ที่หน่วยงานของรัฐมักจะเป็นมีบทบาทหลักในการนำทางชุมชน และส่งเสริมคนเก่ง ผู้รู้ ผู้ที่มีภูมิปัญญา สามารถทำอยู่ทำกินอยู่ได้อย่างพอเพียง ยกย่องว่าคือ ปราชญ์ชาวบ้าน แต่เมื่อเห็นลีลาของคุณเก๋ในการอธิบายนำเสนอแนวคิดและประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และการแบ่งปันองค์ความรู้ของตัวเองไปสู่ชุมชน ประกอบกับความสามารถในการประสานสร้างเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ของชุมชนแล้ว ชวนให้คิดว่า คำว่าปราชญ์ชาวบ้านอาจจะยังไม่พอที่จะนิยามนวัตกรผู้นี้ น่าจะเรียกเขาว่า CEO ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนจะเหมาะสมกว่า

เวลา 5 ปีในการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนวังธรรม เกิดสมาชิกเครือข่ายเป็นกลุ่มต่างๆ ในชุมชนกระจายไปใน 5 อำเภอ โดยที่วังธรรมจะรับหน้าที่แปรรูปผลิตภัณฑ์ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ มีต้นแบบบ่อปลา ให้ความรู้ในการผลิตปลา และแปรรูป ส่วนที่ อำเภอสามัคคี จะสมาชิกที่เลี้ยงปลาและปลูกพืชวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ขมิ้น พริกไทยดำ และพยายามเชื่อมต่ออำเภอใกล้เคียง กลุ่มใดมีของดี ก็มาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ผัก แคปหมู หรือไข่เค็ม เป็นต้น

ที่นี่เราจะสามารถเห็นภาพของ “การประสานความร่วมมือ” ในลักษณะของพันธมิตรที่ร่วมกันกันอย่างสมประโยชน์กันและกัน ไม่ใช่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเป็นแกนนำ หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาเทคโนโลยีอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยี ราชภัฏอุดรธานี ที่ร่วมพัฒนาเมนูต้นแบบ 3 ระดับ ได้แก่ เมนูระดับตำบล ข้าวโป่งปลาส้ม, เมนูระดับโมเดิร์นเทรด คุกกี้ปลาส้ม และเมนูเพื่อการส่งออก เสปรดปลาส้ม 

ปลาส้มสมุนไพรสูตรโบราณ

ที่ราชภัฏอุดรธานียังมีกลไกอย่าง ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-tech and Innovation Center) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระจายไปในหลายจังหวัดเพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนองค์ความรู้งานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรในสถาบันการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในชุมชนท้องถิ่น ศูนย์ AIC จังหวัดอุดรธานี ได้ให้การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนวังธรรม ในเรื่องหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการทำบัญชี การทำการตลาด การบริหารจัดการและสนับสนุนโดมตากปลาพลังแสงอาทิตย์ ห้องเย็นธนาคารปลาสำหรับเก็บวัตถุดิบ และสนับสนุนบ่อเลี้ยงปลาระบบไบโอฟลอค 

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอย่างประมงจังหวัดที่สนับสนุนองค์ความรู้ในการเลี้ยงปลา การเพาะพันธุ์ลูกปลา และอาหารปลากินพืชซึ่งผลิตเองได้ในท้องถิ่น  มีสำนักอุตสาหกรรมภาค 4 ที่ให้การสนับสนุนความรู้ด้านบรรจุภัณฑ์ และการเขียนแผนธุรกิจเพื่อระดมทุนสนับสนุน รวมไปถึงทุกภาคส่วนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศบาลตำบล เพื่อระดมตัวแทนชุมชนมาร่วมเรียนรู้ และร่วมกับสถานศึกษาในท้องถิ่น เช่น การร่วมกับเชฟจากโรงเรียนการอาชีพอุดรธานีสร้างสรรค์เมนูขึ้นโต๊ะ อย่างข้าวเหนียวมูนปลาส้ม และมีโครงการจะพัฒนาเมนูเชฟเทเบิ้ลเมนูอื่นๆ ต่อไป 

ความร่วมมือที่โดดเด่นและเป็นความหวังที่สุด น่าจะเป็นการส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ โดยการทำกิจกรรมร่วมกับครูและนักเรียน โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.5 ในชื่อ กลุ่มกล้าดี SP Shop ได้ใช้ธุรกิจปลาส้มเป็นต้นแบบการ เรียนรู้ทักษะการทำธุรกิจและสร้างสรรค์เมนูปลาส้มสำหรับคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ ยังเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันและได้รับรางวัลระดับชาติในการแข่งขันศิลปหัตถกรรมระดับชาติ ปี 2566 จากโครงงานอาชีพนานาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากปลา ส่งผลให้มีการทำ MOU ร่วมกันระหว่างศูนย์เรียนรู้วังธรรมกับโรงเรียนน้ำโสมพิทยาคมในการสร้างหลักสูตรท้องถิ่น Product Super Kid โดยบูรณาการองค์ความรู้ในธุรกิจปลาส้มเข้ากับ 8 กลุ่มสาระวิชาของนักเรียนมัธยมต้นทั้ง 3 ระดับชั้น 

พลังชุมชนเปลี่ยนวิธีคิดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเสริมแกร่งการตลาด

“ปัจจัยความสำเร็จคือ การสร้างปัจจัยทุกด้านให้สมบูรณ์” คือคำตอบที่พี่เก๋ให้ เมื่อถูกถามว่า ความสำเร็จที่ปรากฏให้เห็นข้างต้นเกิดขึ้นได้อย่างไร 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างคนใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคล ระดับ ชุมชน และระดับเครือข่าย ยกระดับปราชญ์ชาวบ้านด้วยการ “นำคุณค่าความเก่งมาสร้างมูลค่า” ด้วย 3 ศาสตร์ ศาสตร์ปราชญ์ชาวบ้าน ให้รู้จักตน ถิ่นฐาน ภูมิสังคม, ศาสตร์สากล รู้เหตุและผล สร้างสิ่งใหม่ วิทยาศาสตร์ และศาสตร์พระราชา เกิดเป็นภูมิคุ้มกัน ด้วยสร้างปัจจัยทุกด้านให้สมบูรณ์และเพียงพอ และ “สร้างคน สร้างระบบ สร้างงาน พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” และหลักคิดต่างๆ ข้างต้นคือสิ่งที่ พี่เก๋ พี่บัว และสมาชิกอีกมากมายหลายคนในเครือข่าย ได้เรียนรู้จาก “โครงการพลังชุมชน”

พี่เก๋สรุปมัดรวมเคล็ดวิชาที่เรียนรู้จากโครงการพลังชุมชน ว่าเป็นองค์ความรู้ในการทำการตลาดครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ (ผลิต) – กลางน้ำ (แปรรูป) – ปลายน้ำ (จัดจำหน่าย) ซึ่งช่วยลดต้นทุน พัฒนาแหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น และแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม และควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพสูง ทั้งหมดกลายเป็น หลักการตลาดรอดจน ประกอบด้วย  

1. ทำสิ่งที่ถนัด นำความชอบและความเชี่ยวชาญการทำอาหาร มาแปรรูปปลาส้มเพื่อเพิ่มมูลค่า  2. มัดใจลูกค้า คิดค้นปลาส้มหลากหลายสูตร เพื่อเสิร์ฟของอร่อยให้ลูกค้าจนกลายเป็นขาประจำ  3. เน้นตลาดออฟไลน์  จำหน่ายสินค้าในตลาดรอบชุมชนรัศมี 45 กิโลเมตร  จึงรู้จักลูกค้าเป็นอย่างดี  นำพฤติกรรมการบริโภคมาปรับปรุงคุณภาพปลาส้มให้ดีขึ้น ขณะเดียวกันส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงปลาเพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาส้ม สร้างรายได้ให้ชุมชนเฉลี่ย 200,000-300,000 บาทต่อเดือน

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ สำนักงาน Enterprise Brand Management เอสซีจี อธิบายถึงแนวทางในการทำธุรกิจของ เอสซีจี โดยใช้หลัก ESG 4plus ได้แก่ การดำเนินการที่ให้ความสำคัญทั้งด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และความถูกต้องโปร่งใส และรวมอีก 4 ข้อคือ Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ และย้ำร่วมมือ และโครงการพลังชุมชน อยู่ในส่วนของ Lean เหลื่อมล้ำ หรือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

“ในช่วงสถานการณ์โควิด วิกฤติเศรษฐกิจยิ่งรุนแรง คนตกงานกลับมาอยู่บ้านเยอะมาก เอสซีจี จึงมุ่งมั่นในการช่วยชุมชนโดยให้ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่เราถนัด อย่างที่เอสซีจีทำอยู่ เราสนับสนุนให้ชุมชนหาของในชุมชน หาความถนัดที่คนในชุมชนมีมาสร้างมูลค่าเพิ่ม “

โครงการพลังชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เน้นพึ่งพาตนเอง ส่งเสริมชุมชนให้เห็นคุณค่า และพัฒนาศักยภาพตนเอง แปรรูปเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เข้าใจลูกค้าและตลาดก่อนผลิตและจำหน่าย บริหารจัดการความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน  ปัจจุบัน พลิกชีวิต 140 ชุมชน กว่า 10,000 คน ใน 14 จังหวัด ปลดหนี้ มีรายได้เพิ่ม อาชีพมั่นคง ทั้งต่อยอดความรู้จนสามารถพัฒนาเป็นการตลาดรอดจนซึ่งมีรูปแบบเฉพาะตัว พร้อมแบ่งปันความรู้ขยายเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจให้ชุมชนอื่นๆ ต่อไป 

น้ำหมักเอนไซม์โพรไบโอติก x ปลาส้มวังธรรม

พี่บัวได้พบพี่เก๋ครั้งแรกในงานอบรมด้านสมุนไพรที่จัดโดยสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 และได้รับคำชักชวนให้เข้าร่วมโครงการพลังชุมชน แต่พี่บัวปฏิเสธ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองหรือธุรกิจขายตรง พี่เก๋ไม่ละความพยายามที่จะเชิญชวนให้มาเรียนรู้ร่วมกัน เพราะเห็นศักยภาพและองค์ความรู้ที่โดดเด่นในเรื่องโพรไบโอติก ทุกครั้งที่พี่เก๋มาออกขายปลาส้มที่ตลาดนัดในเมืองอุดรธานี จะต้องเทียวมาพูดคุยเรื่องโครงการพลังชุมชนให้พี่บัวฟัง จนสนใจเข้าร่วมเรียนรู้ในที่สุด โดยเริ่มเรียนจนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน) เป็นเวลาเพียง 6 เดือน แต่สิ่งที่พี่บัวสะท้อนออกมาคือ

“โครงการพลังชุมชน ทำให้เรารู้สึก “ระเบิดข้างใน” ค้นหาตัวตนของตัวเองได้ กล้ายืนหยัด ไม่สะเปะสะปะ เข้าใจในสิ่งที่เราทำ ยิ่งพูดถึงศาสตร์พระราชายิ่งซาบซึ้ง เพราะเราอยู่ต่างประเทศไม่รู้เรื่องนี้ อาจารย์สอนให้เรานำความต้องการลูกค้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ก่อนผลิตและจำหน่าย ทำอะไรที่ ‘ง่าย ไว ใหญ่ ยั่งยืน’ คือ ทำในสิ่งที่เรามี ทำอะไรที่ได้ไวๆ ทำสิ่งที่ใหม่ไม่เหมือนใคร สร้างผลกระทบได้ในวงกว้างอย่างยั่งยืน มีความสุข และถ่ายทอดแบ่งปัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตั้งใจไว้อยู่แล้ว” พี่บัวกล่าว

ในอนาคตอันใกล้ วิสาหกิจชุมชนฯ น้ำหมักเอนไซม์ และ วิสาหกิจชุมชนวังธรรม ได้มีโครงการร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำปลาร้าโพรไบโอติก” ซึ่งพี่บัวได้มีแนวคิดและทดลองพัฒนาสูตรไว้แล้ว เมื่อทราบว่าพี่เก๋มีโครงการโรงงานน้ำปลาร้า เริ่มต้นทำธนาคารปลาร้าไว้แล้วถึง 18 ตัน และตั้งเป้าส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน จึงกลายเป็น Business Matching ที่เหมาะสม โดยพี่บัวจะนำน้ำหมักพรีไบโอติกจากสมุนไพรชนิดต่างๆ เช่น สับปะรด มะกอกป่า มาใช้เป็นส่วนผสมในต้มปลาร้า โดยลดอุณหภูมิในการต้มลงเพื่อไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์ตาย จากที่ทดลองพัฒนาสูตรพบว่าสามารถนำไปใช้ปรุงอาหารให้รสชาติกลมกล่อม ไม่ว่าจะเป็นอาหารอีสาน ไทย หรืออาหารยุโรปอย่าง ซอสเสต็ก ซึ่งพี่บัวคุ้นเคยจากการใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนีมาอย่างยาวนาน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

YO! และนี่คือเสียงจากเด็กค่าย “เพาเวอร์กรีน” เสียงสะท้อนจากวัยรุ่นยุคใหม่หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม

ฝรั่งเศส จ่อทุ่มลงทุน ‘อากาศยาน’ ปล่อยคาร์บอนต่ำ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ