TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyไมโครซอฟท์ – AWS – อาลีบาบา เร่งเครื่องลงทุน ‘Cloud’ ในไทย

ไมโครซอฟท์ – AWS – อาลีบาบา เร่งเครื่องลงทุน ‘Cloud’ ในไทย

การทรานส์ฟอร์เมชันขององค์กรในไทย เริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่าน สถานการณ์โควิด-19 อาจเป็นเพียงตัวเร่งและแรงส่งให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ‘คลาวด์’ (Cloud) มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ และยิ่งเด่นชัดขึ้นเมื่อหลายองค์กรที่ได้ใช้ระบบนี้ กำลังมองหาความประโยชน์จากการใช้งานที่คุ้มค่ามากกว่าเดิม จึงเป็นความท้าทายสำหรับผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศไทย

โดยปีนี้ ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ในตลาดโลกประกาศตัวชัดเจนว่า ไทยคือที่ตั้งสำคัญของการทำตลาดคลาวด์ ทั้งนี้จากข้อมูลคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายบริการคลาวด์สาธารณะในประเทศไทยปี 2566 ของการ์ทเนอร์ อิงค์ ระบุว่า จะมีการเติบโตขึ้น 31.8% หรือ 5,440 ล้านบาท จาก 4,130 ล้านบาท ในปี 2565ที่ผ่านมา โดยปีนี้บริการ Infrastructure-as-a-service (IaaS) จะเป็นหมวดที่มียอดการใช้จ่ายเติบโตมากที่สุดประมาณ 41.9% จากการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดของบริการคลาวด์ในไทย ทำให้ผู้เล่นหลายรายเร่งลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์ Azure Cloud, AWS Cloud และอาลีบาบา คลาวด์…The Story Thailand จึงได้รวบรวมกลยุทธ์เด็ดที่ผู้เล่นทั้ง 3 ราย ใช้ทำตลาดคลาวด์ในประเทศไทย

‘Azure Cloud’ สร้างความคุ้มค่าในงบลงทุนเท่าเดิม

วสุพล ธารกกาญจน์ Microsoft Azure Business Group Director ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า เรามองว่าตลาดคลาวด์ในอาเซียนและในประเทศไทยมีการเติบโตต่อเนื่องในทุกปี อีกทั้งเมื่อมีการเปิดประเทศ มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นเป็นตัวขับเคลื่อนให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ซึ่งหลายองค์กรเริ่มมองเห็นว่าการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยมองว่าการแข่งขันในปี 2566 นี้ มีการแข่งรุนแรงเนื่องจากลูกค้ามองหาการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วและใช้งบลงทุนไม่เพิ่มขึ้นมีความคุ้มค่า

ไมโครซอฟท์ นําบริการคลาวด์ของ Microsoft Azure มาสู่ลูกค้าคนไทยด้วย Azure Arc

Do More with Less

ไมโครซอฟท์ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดของคลาวด์ในไทยช่วงมากกว่า 6 เดือนที่ผ่านมาที่ดี ซึ่งเรายังคงติดอันดับ 1 ใน 3 ของคู่แข่งในตลาดไทย ทำให้ในปี 2566 เรายังคงใช้กลยุทธ์ Do more with less โดยมองไปที่ความต้องการของลูกค้าใน 3 แกนหลักคือ 1. ลูกค้ามีการปรับเปลี่ยนมาใช้งานคลาวด์มากขึ้น โดยใช้วิธี Cloud Economy เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง เช่น การลงทุนด้านไอที ถ้าเราลงทุนแบบ Upfront แล้วได้ Outcome ตามมาจะต้องใช้งบลงทุนมหาศาลและไม่ชัดเจนว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไปหรือไม่

ขณะที่ Cloud Economy เป็นการลงมือทำจริง ติดตามผลต่อเนื่องและใช้งบประมาณตามการใช้งาน โดยวัดจากสิ่งที่ได้ผลลัพธ์กลับมาจริง หากช่วงไหนธุรกิจขาลงก็ใช้งบลงทุนน้อยลงและหากช่วงไหนธุรกิจขาขึ้นจึงใช้งบลงทุนมากขึ้นตามสัดส่วน ซึ่งสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินขององค์กรในการลงทุน

2. ลูกค้าที่เริ่มใช้คลาวด์แล้ว กลุ่มนี้มีความต้องการระบบที่ช่วยให้ประหยัดการลงทุนได้ความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งไมโครซอฟท์มีการออกโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ เช่น เครื่องมือในการสรุปผลออกมาเป็นรายงานว่าตัวเลขการใช้งานจริงของลูกค้ามีเท่าไร ลูกค้าสามารถคำนวณและจ่ายตามการใช้งานจริงได้ เป็นต้น โดย 3-6 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้ามีความพอใจในการใช้งานโปรแกรมของเรา ช่วยลดต้นทุนเดิมที่ต้องจ่ายลงถึง 50% ซึ่งในปีนี้จะเห็นปรากฎการณ์นี้เพิ่มขึ้น

และ 3. แนะนำให้ลูกค้าใช้ส่วนต่างที่ได้จากการลดต้นทุนมาลงทุนในเรื่องอื่น เพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจใหม่ๆซึ่งการลงทุนด้านนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในครั้งเดียว แต่เป็นการเริ่มใช้จำนวนน้อยเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ ซึ่งงบลงทุนรวมของลูกค้าจะเท่าเดิมแต่ได้ความคุ้มค่าในการนำไปใช้มากขึ้น

Save Cost To Reinvestment

ปัจจุบันเรามีลูกค้าหลักได้แก่ สถาบันการเงิน เทเลคอม อุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น ซึ่งเทรนด์ปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตให้ความสนใจในการทำธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเรามีแดชบอร์ดแจ้งให้ลูกค้าได้รู้ว่าการผลิตแต่ละครั้งมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร การนำระบบไอทีเข้ามาใช้วางแผนการผลิต การขนส่ง นอกจากช่วยเรื่องต้นทุนการผลิตแล้วได้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรบ้าง และอีกเทรนด์ที่จะได้เห็นปีนี้คือ ChatGPT ที่นำ OpenAI มาใช้โดยเรามีโปรแกรมด้านความปลอดภัยให้กับลูกค้าองค์กรที่ใช้ระบบคลาวด์

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์มีลูกค้าขนาดใหญ่เป็นฐานเดิมและมีการขยายไปยังลูกค้ากลุ่มขนาดกลางต่อเนื่อง ส่วนลูกค้าขนาดเล็กเรามองว่ากลุ่มนี้ต้องการสินค้าที่เป็นสำเร็จรูปพร้อมนำมาใช้งานได้ทันที (Ready to use product) โดยลูกค้าสามารถกดใช้งานและจ่ายตามการใช้งานจริงให้กับบริษัทที่เป็นพาร์ตเนอร์กับเรา ซึ่งมีสตาร์ตอัพหลายรายที่ให้บริการ โดยหากไม่ต้องการสามารถหยุดใช้งานได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าลักษณะ B2B เช่น ระบบโลจิสติกส์ ระบบคลังสินค้า ระบบบัญชี ระบบ CRM เป็นต้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนในเรื่องการบริหารจัดการระบบไอทีภายในลงได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กอย่าง SME ไม่สามารถมีค่าใช้จ่ายในส่วนทีมไอทีในองค์กร

อีกทั้งการใช้ระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์จะถูกเชื่อมโยงไปยังการใช้งานสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เช่น สินค้าในกลุ่มความปลอดภัย โดยเรามองว่าลูกค้าทุกคนสามารถทำอินโนเวชันที่ไหนก็ได้ ซึ่งเราเป็นรายแรกที่สามารถนำบริการบนระบบคลาวด์เพื่อใช้ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ หรืออุปกรณ์  IoT ของลูกค้า ซึ่งเป็นไมโครซอฟต์ไฮบริดคลาวด์ Azure Arc ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงการใช้งานได้ง่าย

‘AWS Cloud’ ปักหมุด 5 เทคโนโลยีในไทย

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager ของ AWS ประเทศไทย กล่าวว่า แน่นอนว่าทิศทางของเทคโนเลยีที่มาตอบโจทย์การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันคือระบบคลาวด์ ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มเห็นชัดเจนแล้วว่าหลายองค์กรมีการใช้ระบบคลาวด์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและสร้างอินโนเวชัน เช่น กลุ่มการเงินการธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้น เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันที่ต่างไปจากเดิม ทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องปรับเปลี่ยนวิธี อีกทั้งระบบคลาวด์ได้ช่วยให้หลายองค์กรได้เปิดตลาดใหม่ด้วยการใช้แพลตฟอร์มคลาวด์เพื่อไปในระดับต่างประเทศ เราจึงเชื่อมั่นว่าคลาวด์เป็นแพลตฟอร์มสำคัญมากในการผลักดันองค์กรธุรกิจให้ขับเคลื่อนและอยู่รอดได้ในภาวะการแข่งขันปัจจุบัน

การ์ทเนอร์ อิงค์ คาดการณ์ว่าตลาดคลาวด์ของไทยเติบโตโดยเฉลี่ยมากกว่าตลาดคลาวด์ในตลาดโลก เนื่องจากองค์กรของไทยเปิดรับและมีการปรับตัวมากขึ้น  จากข้อมูลนี้จึงทำให้ AWS มั่นใจในการทำตลาดคลาวด์ในประเทศไทย โดย Country Manager ของ AWS ประเทศไทย มองว่าสำหรับปี 2566นี้ จะทำตลาดใน 5 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1. Specific cloud services คือระบบคลาวด์จะตอบโจทย์อุตสาหกรรมแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ในการแข่งขัน อี-สปอร์ต มีการใช้คลาวด์ในส่วนของ VR และAR ได้ดีขึ้น หรือในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ คลาวด์สามารถทำเป็นบริการเพื่อใช้ในการจัดลำดับยีนเช่นเดียวกับ HTC (High-throughput computing) ได้เช่นกัน

อีกทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่จะต้องใช้ Supply chain ตั้งแต่กระบวนการจัดการการผลิตเพื่อทำให้เกิดสินค้าหรือบริการขึ้นมา ทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ บริหารการผลิต การจัดเก็บสินค้า ไปจนถึงกระบวนการจัดส่งให้ลูกค้า ระบบคลาวด์ได้เข้าไปจัดการให้เป็น Smart supply chain เป็นต้น

2. Digital twin technology คือโมเดลเสมือนจริงของวัตถุทางกายภาพ ซึ่งครอบคลุมวงจรชีวิตของวัตถุและใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ส่งมาจากเซนเซอร์บนวัตถุเพื่อจำลองพฤติกรรมและติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน Digital Twin สามารถจำลองสิ่งของในโลกจริงได้หลายอย่าง ตั้งแต่อุปกรณ์ชิ้นเดียวในโรงงานไปจนถึงการติดตั้งแบบเต็มรูปแบบ โดยกลุ่มที่นำไปใช้งาน เช่น งานก่อสร้างใช้วางแผนโครงการที่พักอาศัย ให้ภาพแบบเรียลไทม์ว่าโครงการที่มีอยู่มีความคืบหน้าอย่างไร การสร้างแบบจำลอง 3 มิติของอาคาร เป็นต้น ดังนั้น การนำเครื่องมือของคลาวด์มาใช้ในรูปแบบ High computing จะช่วยให้การทำ Digital twinได้เป็นอย่างดี

3. Database หลายองค์กรมีปัญหาในเรื่อง Data warehouse การนำข้อมูลที่มีมาใช้ต้องผ่านหลายขั้นตอนของ EDL เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค Zero EDL โดยลูกค้าสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้แบบเรียลไทม์ 4. Innovation Governance security เนื่องจากข้อมูลที่มีเพิ่มมากขึ้นการเข้าถึงของข้อมูลในองค์กรจึงจำเป็นต้องจัดหมวดหมู่เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าเห็นข้อมูลในภาพรวมที่เหมือนกัน แต่จะแบ่งความเฉพาะความต้องการใช้งานจำเพาะออกมา เช่น แพทย์กับพยาบาลจะเข้าถึงชุดข้อมูลไม่เหมือนกัน

และ 5. Custom silicon การพัฒนาชิป หรือ custom chip ที่แตกต่างจากชิปที่มีขายตลาดทั่วไป เรียกว่าGraviton Chipset’ ที่ใช้แทน CPU ในการประมวลผล ทำให้ลูกค้าจ่ายเงินในราคาที่ต่ำลงจากเดิม

อว. จับมือ AWS ยกระดับการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีคลาวด์

เพิ่มพาร์ตเนอร์ชิพขยายคลาวด์สู่ธุรกิจรายย่อย

Country Manager ของ AWS ประเทศไทย กล่าวต่อว่า ลูกค้าคือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ดังนั้น ลูกค้าที่เรามีค่อนข้างหลายหลาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าองค์กรใหญ่ เช่น กลุ่มการเงินการธนาคาร กลุ่มประกัน เป็นต้น ส่วนกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดเล็กมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในการนำระบบคลาวด์ไปใช้ เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่สามารถหาพนักงานประจำด้านไอทีที่สามารถจัดการระบบได้ และกลุ่มลูกค้าที่เป็น B2B คือนำระบบคลาวด์ของเราไปพัฒนาต่อยอดออกมาในรูปแบบบริการ เช่น 2C2P ที่นำไปใช้ในระบบเพย์เมนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสตาร์ตอัพที่นำคลาวด์ไปใช้งานเป็นหลัก

ทั้งนี้ เรายังคงมองไปที่ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมด้วย เช่น กลุ่มสินเชื่อ ยังคงมีคนส่วนใหญ่มากกว่า 30 ล้านคนที่เข้าถึงสถาบันการเงินในการทำสินเชื่อได้ค่อนข้างยาก จึงส่งผลให้เกิดหนี้นอกระบบ เรามองว่าการนำเทคโลยีที่เรามีเข้าไปช่วยสตาร์ตอัพด้านสินเชื่อ จะทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ขั้นตอนการปล่อยกู้ไม่ซับซ้อนและรู้ผลในเวลารวดเร็วด้วยการใช้ แมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาช่วยพิจารณาการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้นสำหรับปีนี้เราจึงให้ความสำคัญใน 3 กลุ่มลูกค้าหลักคือ 1. กลุ่มสถาบันการเงิน ประกัน 2. กลุ่มค้าปลีก และ 3. กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต โดยเราจะมีการจัดกิจกรรมมากขึ้นใน 3 กลุ่มนี้

นอกจากนี้เราจะขยายพาร์ตเนอร์ระดับกลางและใหญ่เพิ่มขึ้น โดยการจัดอบรมเพิ่มทักษะ รวมถึงการมีพาร์ตเนอร์ไทยในระดับเล็กที่จะช่วยในการทำตลาดลูกค้ารายย่อยให้เข้าถึงบริการคลาวด์โดยในปี 2564 เราสามารถมีลูกค้ารายย่อยใหม่ประมาณ 200 ราย

ประกาศลงทุน AWS Region

ในปี 2565 ที่ผ่านมา เราได้ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในไทยมูลค่ามากกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนา สตาร์ตอัพ และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงภาครัฐ การศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร สามารถเรียกใช้แอปพลิเคชันของตนและให้บริการผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูล AWS ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการเก็บข้อมูลไว้ในไทยสามารถทําได้

ทั้งนี้ สิ่งที่เราต้องเตรียมตัวคือการสร้างคนเข้ามาในระบบด้วย 3 วิธีคือ 1. การเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ให้กับกลุ่มคนไอทีเดิมที่มีอยู่ได้เข้าใจเรื่องคลาวด์มากยิ่งขึ้น 2. การให้ความรู้และทักษะในกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่มีเคยมีความรู้ด้านคลาวด์มาก่อน ด้วยการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ และ 3. การเพิ่มหลักสูตรการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากขึ้น

‘อาลีบาบา’ เร่งสร้างระบบนิเวศน์คลาวด์ในไทย

ไทเลอร์ ชิว ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า ตลาดคลาวด์ในประเทศไทยกำลังขยายตัว เรามองว่าธุรกิจไทยมีความต้องการใช้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับยุทธศาสตร์ของประเทศที่สนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต่างต้องการใช้คลาวด์เพื่อทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลให้ได้เร็วขึ้นแล้ว กลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ที่เป็นดิจิทัลมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ต้องการใช้คลาวด์เพิ่มขึ้นเช่นกัน เราคาดว่าธุรกิจสองประเภทนี้จะทำให้เกิดการใช้คลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ องค์กรไทยมีการนำคลาวด์มาใช้และส่วนมากตระหนักถึงความสำคัญของคลาวด์คอมพิวติ้ง และโยกย้ายการทำงานไปใช้คลาวด์ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เช่น ประหยัดเวลาและเงินในการสร้างและรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ภายในองค์กรซึ่งต้องทำด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามองค์กรต่าง ๆ ยังไม่ได้นำประโยชน์ด้านความยืดหยุ่น ความปลอดภัยและความพร้อมใช้งานของคลาวด์ รวมถึงการวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ บนคลาวด์และบริการที่ช่วยในการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ในเชิงธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

Alibaba Cloud เดินหน้าลงทุนและขยายตลาดคลาวด์ในประเทศไทย

เดินหน้าสร้าง Thailand Partner Alliance

ไทเลอร์ ชิว กล่าวต่อว่า เป้าหมายหลักของเราในปี 2566 นี้ ยังคงเป็นเรื่องของการสร้างระบบนิเวศในประเทศไทยร่วมกับพันธมิตร โดยอาลีบาบา คลาวด์ ได้เปิดตัว Thailand Partner Alliance 100 ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเป็นโครงการด้านระบบนิเวศที่ออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุนด้านการตลาด การขายและด้านเทคนิคให้กับพันธมิตรในประเทศไทยและส่งเสริมความร่วมมือกัน ตั้งแต่เปิดตัวโปรแกรมนี้ เรามีพันธมิตรมากกว่า 40 ราย เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT), สมาคมฟินเทคประเทศไทย (Thai Fintech Association), ทีเอ็มอีเอส (TMES), ทรูไอดีซี (True IDC), ทรู ดิจิทัล อคาเดมี (True Digital Academy), เอสไอเอส (SIS) เป็นต้น

ทั้งนี้ เราจะยังคงยกระดับข้อเสนอด้านผลิตภัณฑ์และบริการของเราให้เป็นโซลูชันที่เฉพาะเจาะจงกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภทอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมค้าปลีก ภาคการผลิต ฟินเทค สื่อและความบันเทิงรูปแบบดิจิทัล

โดยมีการเปิดตัวโซลูชันสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงินและค้าปลีกหลายรายการ เช่น โซลูชันสำหรับบริการด้านการเงินมากกว่า 70 รายการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ให้บริการด้านการเงินทุกขนาดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ประกันภัย หลักทรัพย์ และฟินเทค ส่วนอุตสาหกรรมค้าปลีกได้เปิดตัว EMAS (Enterprise Mobile Application Studio) เพื่อช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันสร้างซูเปอร์แอป (superapps) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าใช้จ่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ อาลีบาบา คลาวด์ ได้สนับสนุนบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคต ในปี 2564 เราเปิดตัว Academic Empowerment Program ซึ่งเป็นโครงการเสริมศักยภาพทางวิชาการให้กับนักศึกษา นักวิชาการและนักวิจัย ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับทรัพยากรด้านคลาวด์คอมพิวติ้งไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงโอกาสในการฝึกอบรมและความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเสริมสร้างความรู้ให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ 20 ปีของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านดิจิทัลและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้กับผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 20,000 คนภายในปี 2566นี้

จุดต่าง ‘Alibaba Cloud’ เหนือคู่แข่ง

อาลีบาบา คลาวด์ เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และหน่วยงานหลักด้านอินเทลลิเจนซ์ของอาลีบาบา กรุ๊ป จึงได้สะสมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดมากมาย รวมถึงแนวปฏิบัติที่ได้จากการเป็นผู้สนับสนุนทางเทคโนโลยีให้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในเครือ เช่น ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ สื่อและความบันเทิงดิจิทัล การชำระเงิน และอื่น ๆ เราจึงสามารถให้การสนับสนุนองค์กรธุรกิจในประเทศไทยได้อย่างดีด้วยความรู้ความชำนาญ และโซลูชันที่เจาะจงใช้งานกับแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อช่วยขจัดความท้าทายทางเทคโนโลยีและธุรกิจในเวลาที่องค์กรไทยเร่งขับเคลื่อนตัวเองสู่ดิจิทัล

ทั้งยกตัวอย่างกรณี บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไลฟ์สไตล์แบรนด์นารายา (NaRaYa) กำลังเปลี่ยนสู่ดิจิทัลด้วยโซลูชันของอาลีบาบา คลาวด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ รองรับการขยายตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัทฯ ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค NaRaYa สามารถสร้างแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นและมีลาเทนซีต่ำ เพื่อมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ด้วยการใช้โซลูชัน ได้แก่ Elastic Compute Services, Alibaba Cloud CDN และ Object Storage Service (OSS) ซึ่งโซลูชันเหล่านี้เป็นโซลูชันเดียวกันที่ใช้รองรับเทศกาลช้อปปิงระดับโลก 11.11 โดยไม่เกิดดาวน์ไทม์

ทั้งนี้ ในปี 2565ที่ผ่านมา เราได้เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในไทย โดยสินค้าและบริการเต็มรูปแบบเพื่อสนับสนุนธุรกิจในไทย ซึ่งรวมถึงการประมวลผลแบบยืดหยุ่น (elastic computing), ดาต้าเบส, สตอเรจ, บริการเน็ตเวิร์กเวอร์ชวลไลเซชัน, การประมวลผลขนาดใหญ่, โซลูชันด้านความปลอดภัย, บริการด้านการบริหารจัดการและแอปพลิเคชัน, การวิเคราะห์ข้อมูล และแมชชีนเลิร์นนิ่ง เป็นต้น

ลงทุนระบบคลาวด์ในไทยต่อเนื่อง

อาลีบาบา คลาวด์ จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรเพื่อขยายระบบนิเวศในประเทศอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านต่างประเทศของบริษัทฯ ที่ได้ประกาศใช้งบประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระหว่างการประชุม International Summit ที่ประเทศไทยในช่วงกันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยใช้งบประมาณนี้เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้กับพันธมิตรและสนับสนุนพันธมิตรให้ขยายตลาดด้วยเทคโนโลยี ภายในระยะเวลา 3 ปี การลงทุนประกอบด้วยรางวัลทั้งที่เป็นเงินและที่ไม่ใช่เงิน เช่น การให้เงินทุน การให้เงินคืน และความคิดริเริ่มในการนำเสนอสินค้าและบริการออกสู่ตลาด (go-to-market)

ทั้งนี้ เราได้ออกโปรแกรม ‘Regional Accelerator’ เพื่อเร่งสร้างการเติบโตให้กับพันธมิตร โดยให้พันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจในตลาดที่แตกต่างกันได้ปรับรูปแบบการทำธุรกิจร่วมกันให้เหมาะกับตลาดในแต่ละท้องถิ่น รูปแบบนี้ได้รับการออกแบบโดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ระดับความเข้าใจทางเทคโนโลยีของตลาด การเจาะตลาดเฉพาะทาง ความต้องการด้านดิจิทัล และความต้องการทางธุรกิจให้กับพันมิตร

นอกจากนี้เราได้พัฒนาความสามารถทางดิจิทัลโดยการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการฝึกอบรมและจัดหลักสูตรเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้ง, AI และความปลอดภัย เพื่อร่วมบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลซึ่งสามารถสนับสนุนการพัฒนาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระยะยาวของประเทศได้

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นัจกร สุทธิมาศ – เรียบเรียง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

อเล็กซ์ ถัง ผู้บริหารคนใหม่ของ Xiaomi Thailand เปิดกลยุทธ์ครองตลาดสมาร์ทโฟน

BDMS ก้าวสู่ความเป็นเลิศด้าน Health Tech พร้อมแผนพัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ