TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyDentiiScan นวัตกรรม Dental CT สัญชาติไทย (ตอนที่ 2)

DentiiScan นวัตกรรม Dental CT สัญชาติไทย (ตอนที่ 2)

การพัฒนา DentiiScan เพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาลทั่วประเทศอาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อยอดของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทีมวิจัยตั้งเป้าการพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็น Digital Dentistry Platform ซึ่งเปรียบดังแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่มีคุณสมบัติในการสร้างโครงข่ายการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับร้านค้า ที่ครอบคลุมไปถึงการติดต่อหน่วยงานต่างๆ การขนส่ง และอื่น ๆ การสร้าง Digital Dentistry Platform จะเป็นการเติมเต็มช่องว่างที่สำคัญสู่การจัดการและส่งผ่านข้อมูลทางการแพทย์แบบดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลหรือคลินิกสามารถจัดการข้อมูลทางการแพทย์ผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อใช้ในการติดต่อ สื่อสาร ซื้อ-ขาย กับบริษัทเอกชน (ผู้ผลิตวัสดุทางทันตกรรม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.ณัฐนันท์ ทัดพิทักษ์กุล นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงและสิ่งอำนวยความสะดวก (AAT) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการพัฒนา Digital Dentistry Platform คือ การจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นทีมวิจัยจึงให้ความสำคัญกับคลามปลอดภัยของตัวแพลตฟอร์ม โดยเลือกใช้ระบบคลาวด์ที่มีความปลอดภัยที่ผ่านการรับรองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

การส่งผ่านข้อมูลทางทันตกรรมและสั่งทำวัสดุทางทันตกรรมที่ผลิตแบบเฉพาะบุคคล ประกอบด้วยขั้นตอนการสั่งผลิต ขั้นตอนการออกแบบ ขั้นตอนการผลิต และขั้นการจัดส่ง ซึ่งแต่เดิมจะใช้วิธีการสั่งทำบนกระดาษพร้อมส่ง CD ภาพถ่ายทางทันตกรรมไปให้บริษัทและก็จะส่งข้อมูลในแต่ละขั้นตอนผ่านการโทรศัพท์ E-Mail หรือไลน์ ทำให้เกิดความล่าช้าในการผลิตวัสุดทางทันตกรรมแบบเฉพาะบุคคล จึงเป็นที่มาของการออกแบบแพลตฟอร์มที่สามารถสั่งผลิต และติดตามการผลิตได้ ทำให้ลดเวลาในการจัดส่งเอกสาร สามารถตรวจสอบการผลิตได้ ทุกขั้นตอนจะต้องได้การยืนยันจากทันตแพทย์ก่อนส่งไปขั้นตอนถัดไป ซึ่งจะทำให้ทันตแพทย์ได้รับทราบความก้าวหน้าและทางบริษัทก็จะมีความมั่นใจว่าผลลัพท์แต่ละขั้นตอน

ทันตแพทย์ยืนยันแล้ว 

นอกจากนี้ ในการผลิตวัสดุทางทันตกรรมมีความจำเป็นต้องใช้ภาพ CT Scan  ซึ่งภาพดังกล่าวถูดจัดว่าเป็นข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลที่ถูกเก็บรักษาไว้ในระบบของโรงพยาบาล เพื่อป้องการการรั่วไหลของข้อมูลที่อาจตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี ดังนั้น การพัฒนาแพลตฟอร์มจึงมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ผ่านระบบคลาวด์ที่มีความปลอดภัยและง่ายต่อการส่งผ่านข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างทันตแพทย์และผู้ผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุทางทันตกรรม 

นอกจากนี้ ทันตแพทย์สามารถบันทึกข้อมูลทางทันตกรรมต่างๆเข้าไปในระบบจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ รวมไปถึงข้อมูลภาพถ่ายรังสี เช่น X-ray CT scan เป็นต้น การใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรมทำให้การรับ-ส่งภาพและข้อมูลทางทันตกรรมเหล่านี้มีความง่ายและรวดเร็ว เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานทางทันตกรรมในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง 

ดร.ณัฐนันท์ กล่าวเสริมอีกว่า หากโรงพยาบาลที่ไม่มีเครื่องถ่ายภาพรังสีเช่น X-ray หรือ CT scan ทันตแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ขาดเครื่องมือนั้นสามารถขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลอื่นผ่านแพลตฟอร์มนี้เพื่อส่งต่อผู้ป่วยเพื่อไปเข้ารับการถ่ายภาพรังสีที่ศูนย์บริการอื่นและส่งข้อมูลกลับมาให้ยังโรงพยาบาลต้นทางได้

ด้าน ดร.กฤษณ์ไกรพ์ สิทธิเสรีประทีป นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน (IMT) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) กล่าวว่า ต้องการผลักดัน Digital Dentistry Platform  ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ทั้งแพทย์ และประชาชนคนไทย ได้รับประโยชน์จากตรงนี้ซึ่งเป็นพันธกิจแรกที่ต้องการผลักดัน

จากเดิมทันตแพทย์ฝังรากฟันด้วยวิธีแมนนวล คือ การเปิดกระดูกคนไข้และเล็ง แต่ปัจจุบันหมอเริ่มยอมรับการวินิจฉัย 3 มิติ และกำลังก้าวสู่อีกขั้นหนึ่งคือใช้ DrillGuide คือทำให้มีความเที่ยงตรงและแม่นยำมากขึ้น และสุดท้ายตัวครอบฟันและสะพานฟันมีการออกแบบที่สบกันพอดี

“เรามีการฝึกอบรมหมอฟันให้รับรู้วิธีการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทย และอาจจะมีการบูรณาการบางเทคโนโลยีเป็นดิจิทัล เพื่อให้ได้คุณภาพของการฝังรากฟันเทียมและตัวครอบฟันที่มีความเหมาะสมและเทคโนโลยีมีความเท่าเทียมหรืออยู่ชั้นแนวหน้าในระดับนานาชาติ” ดร.กฤษณ์ไกรพ์ กล่าว

ดร.กฤษณ์ไกรพ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบเร็ว ๆ นี้ คนที่มีอายุ 40-50 ปี อย่างน้อยจะต้องมีการฝังรากฟันเทียมอย่างน้อย 1 ราก และจะพบว่ามีแนวโน้มสูงมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องการลงทุนวิจัยพัฒนากับเทคโนโลยีนี้จะเป็นการตอบโจทย์ผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างแน่นอน นอกจากนี้การฝังรากฟันเทียมยังอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางของประเทศ เพราะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3-5 หมื่นบาท แต่จะทำอย่างไรให้ลดลงเหลือ 25,000 หรือ 15,000 บาท ที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ในระดับชั้นกลางลงมาถึงข้างล่างได้เข้าถึงเทคโนโลยีตรงนี้

อีกประเด็น คือ ประเทศไทยโด่งดังในเรื่อง Medical Tourism มีคนต่างชาติเข้ามารับการรักษาผ่าตัดจำนวนมาก ซึ่ง Dental Tourism ไทยก็โด่งดังเช่นกัน มีคนบินเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้ามาฝังรากฟันเทียมจำนวนมาก เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยได้เข้าสู่ในระดับนานาชาติในการสร้างอุตสาหกรรมบริการด้านการแพทย์และทันตกรรม

“ในแต่ละเทคโนโลยีเราทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ DentiiScan และ Drill Guide รวมถึงแพลตฟอร์มในอนาคตที่จะขยายผล เพราะฉะนั้นเราจะทำงานผ่านภาคเอกชน ซึ่งการจะขยายไปสู่ภูมิภาคกับภาคเอกชน บริษัทที่ทำงานร่วมกันก็ทำงานตามมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ เราก็คาดหวังว่าจะได้รับการตอบรับจากภาครัฐทำให้เทคโนโลยีสามารถเติบใหญ่ได้ในอนาคต คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น” ดร.กฤษณ์ไกรพ์ กล่าว

“ในอนาคตเราคิดว่าเราจะให้ไปในลักษณะเชิงที่เป็น e-Marketplace ของงานทันตกรรม เพราะเรามองแล้วว่าการผลิตวัสดุอุปกรณ์พวกนี้ มันเป็นเรื่องของการปรับแต่งกับรายบุคคล จะต้องมีบริษัทที่รับทำเรื่องพวกนี้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งเราก็คิดว่าจะสามารถเข้าไปเติมเต็มและสามารถสร้างตลาดด้านการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางด้านทันตกรรมได้” ดร.ณัฐนันท์ กล่าวเสริม

หวัง DentiiScan สร้างโอกาสคนไทย

DentiiScan เป็นเครื่องที่พัฒนาเองในประเทศ ช่วยสร้างโอกาสให้คนไทยในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงที่ทันสมัยอย่างทัดเทียมเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมทำให้ผู้ป่วยได้รับการบริการรักษาที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยที่ไม่ต้องเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯหรือในเมืองใหญ่ ๆ

ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) กล่าวว่า การที่สามารถผลิตเครื่อง DentiiScan ได้เองในประเทศก็จะถือว่าเป็นการสร้างอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ขั้นสูงในประเทศ เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในประเทศ และที่สำคัญก็จะเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

“จริง ๆ เราไม่ได้คาดหวังว่า DentiiScan จะสามารถใช้งานได้มาจนถึงขนาดนี้ เราดีใจมากที่เครื่องมีการติดตั้งใช้งานถึง 60 แห่งและปัจจุบันก็ยังมีการใช้งานอยู่ เราพัฒนามาตั้งแต่ปี 2550 เครื่องแรกที่ออกไปคือ ในปี 2554 ซึ่งปัจจุบันเครื่องนั้นก็ยังพอใช้งานได้อยู่ มีการขยายผลมากขึ้น สามารถส่งต่อให้บริษัทเอกชนเพื่อความยั่งยืน คุณหมอหลายท่านโดยเฉพาะในโรงพยาบาลต่างจังหวัดรู้สึกดีใจมากที่ได้เครื่องเดนตีสแกนมาใช้งาน ทำให้การวินิจฉัยในงานทันตกรรมง่ายขึ้นมาก ซึ่งเป็นความภาคภูมิของผู้วิจัยพัฒนาเครื่อง อยากให้สังคมไทยยอมรับและสนับสนุนนวัตกรรมไทยมากขึ้น” ดร.เสาวภาคย์ กล่าว

“เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในทีมที่พัฒนา DentiiScan ซึ่งเครื่องที่สร้างมาได้มันไม่ได้เกิดจากความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง แต่ต้องใช้ศาสตร์ความรู้ในหลาย ๆ แขนง ทั้งเครื่องกล ไฟฟ้า ระบบควบคุม ซอฟต์แวร์ รวบรวมกันเพื่อสร้างขึ้นมาให้ได้เป็น 1 เครื่อง โจทย์ที่ท้าทายหลัก คือ การทำงานร่วมกันเป็นทีมและให้ประสบความสำเร็จนั้นค่อนข้างยาก แต่เมื่อทำออกมาและใช้งานได้จริงก็รู้สึกดีใจ” อัฐศักดิ์เกียงเอีย วิศวกรอาวุโส ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) กล่าวเสริม

ทันตแพทย์ชี้ DentiiScan ประโยชน์มากมาย

การที่งานวิจัยจะลงจากหิ้งได้นั้น จะต้องมีผู้ใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเครื่อง DentiiScan และซอฟต์แวร์บริหารจัดการงานทันตกรรม เป็นงานวิจัยที่ทำให้เห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์กับผู้นำไปใช้จริง

รศ.ทพ.ดร.ปฐวี คงขุนเทียน ผู้อํานวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางทันตกรรมรากเทียม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ถ้าเทียบ DentiiScan กับเครื่องที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่เป็นของนำเข้า ทั้งความคมชัด คุณภาพ และการใช้งาน DentiiScan ถือว่าเทียบเท่ากับเครื่องจากต่างประเทศ สามารถนำมาใช้กับคนไข้ได้ทั่วไปสร้างโอกาสเข้าถึงเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และสามารถเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำ คนไข้จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วน สามารถนำไปตัดสินใจวางแผนการรักษา ทำให้ทันตแพทย์กับคนไข้สามารถอธิบายคุยกันและตกลงในเรื่องของแผนการรักษาได้ดีขึ้น ส่วนภาครัฐเองก็ได้เครื่องที่ดีไปใช้ คุณหมอรุ่นเดิม ๆ ที่ยังไม่มีความเคยชินกับการใช้เครื่อง 3 มิติ ก็ได้พัฒนาองค์ความรู้ สามารถรักษาอะไรที่ซับซ้อนและปลอดภัยมากขึ้น

ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าการทดแทนฟันที่หายไปด้วยการฝังรากฟันเทียมเป็นวิธีที่ดีที่สุด อัตราความสำเร็จอยู่ประมาณ 97-98 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการทดแทนฟันธรรมชาติด้วยรากฟันเทียมประเภทนี้มีความใกล้เคียงกับธรรมชาติสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการใส่ฟันติดแน่นแบบเดิม หรือการทำสะพานฟันซึ่งจะต้องสูญเสียเนื้อฟันไปอีก และอัตราความสำเร็จของสะพานฟันก็ต่ำกว่าการรักษาด้วยการฝังรากฟันเทียม

ส่วนคนไข้ที่ฟันหายไปหรือสูญเสียไปทั้งปาก การใช้รากฟันเทียมเข้าไปช่วยยึดพวกฟันเทียมแบบถอดได้จะทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานเพิ่มขึ้น คนไทยก็มีความมั่นใจมากขึ้นไม่ต้องระมัดระวังที่ฟันเทียมจะหลุดออกมาหรือทำให้เกิดความอับอาย รวมไปถึงประสิทธิภาพการบดเคี้ยวที่ดีขึ้น

“และเนื่องจากเป็นเครื่องที่ผลิตในประเทศไทย คนไข้ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อใช้เครื่องในศูนย์ความเป็นเลิศ ซึ่งโดยปกติค่าเอกซเรย์จะมีราคาค่อนข้างสูงต่อครั้ง หลายพันบาท คนไข้จะรู้สึกว่าได้รับบริการที่ดี ได้รับเทคโนโลยีที่ดีจากเครื่องที่มีคุณภาพ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล” รศ.ทพ.ดร.ปฐวี กล่าว

ด้าน ทพญ.กรรณิกา สุมานนท์ จาก รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า เครื่อง DentiiScan ถูกติดตั้งที่แผนกรังสีของโรงพยาบาลขอนแก่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 มีคนไข้ที่ส่งไปเอกซเรย์หลายเคส ไม่ว่าจะเป็นเอกซเรย์ช่องปากเพื่อวางแผนทำรากเทียม ดูฟันคุด ฟันฝัง ดูการแตกหักของกระดูกใบหน้า ดูถุงน้ำ ดูรอยโรคมะเร็งบริเวณใบหน้า นอกจากนี้กรณีที่คนไข้แจ้งว่ายังปวดฟันในตำแหน่งอื่น ก็สามารถนำภาพ 3 มิติ มาดูย้อนหลังได้อีก ว่าตำแหน่งอื่นของช่องปากมีรอยโรคอะไรหรือไม่ ซึ่งการที่ได้เห็นภาพทุกมิติเป็นประโยชน์กับทั้งผู้รักษาและคนไข้

“จากการใช้งานมาเกือบ 2 ปี ไม่มีการบ่นจากเจ้าหน้าที่รังสีเลย ซึ่งเราในฐานะที่รับผลของการถ่ายภาพรังสีมาวางแผนก็เห็นว่ามีความละเอียดชัดเจนดี บันทึกได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น CD หรือนำขึ้นคลาวด์” ทพญ.กรรณิกา กล่าว

รพ.ห้วยยอด เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้นำเครื่อง DentiiScan ไปใช้กว่า 2 ปีแล้ว ทพ.พีรพงษ์ จันทร์พุ่ม จาก รพ.ห้วยยอด กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ด้านรังสีมีความพึงพอใจมาก โดยเฉพาะประเด็นของการแก้ปัญหา การ Remote เข้ามาช่วยสนับสนุนการให้คำปรึกษา ในส่วนของทีมทันตแพทย์เองจากการที่ได้ไปสัมผัสการใช้งานเครื่อง การใช้ไฟล์ที่ได้มาถือว่าใช้งานได้ดี

“ถ้าเทียบกับเครื่องต่างประเทศเครื่อง DentiiScan ไม่ได้ด้อยกว่า ทำงานได้ใกล้เคียงกับเครื่องต่างประเทศคุณภาพสูง เพราะการสแกนค่อนข้างแม่นยำ ภาพที่ออกมามีคุณภาพสูง และยังสามารถดูไฟล์ผ่านสมาร์ตโฟนได้” ทพ.พีรพงษ์ กล่าว

ขณะที่ ทพญ. ปิยนันท์ เกื้อสกูล จาก วชิรพยาบาล กล่าวว่า ที่ผ่านมาวชิระพยาบาลรักษาไปประมาณ 40 เคส คนไข้ส่วนมากชมว่าใช้เวลาไม่นาน ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คนไข้คิด วิธีการใช้งานไม่ยุ่งยาก เรียนรู้เพียง 1-2 ครั้งก็สามารถใช้งานได้ ภาพที่ได้ชัดเจนนำมาใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างมากและตรงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ยังมี RadiiView เข้ามาช่วยให้ทันตแพทย์สามารถดูภาพที่ไหนก็ได้ ปรึกษากับแพทย์ท่านอื่นได้ ส่วน DentiPlan ช่วยให้ทันตแพทย์สามารถวัดระยะต่าง ๆได้อย่างเที่ยงตรง สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างดีขึ้น

“ต้องยอมรับว่าการฝังรากเทียมด้วยภาพ 2 มิติ เราต้องใช้การกะเอา แต่เครื่องนี้ทำให้เกิดระบบ Digital Platform ทำให้งานเร็วมากและมีความแม่นยำ เข้ามาช่วยความมั่นใจของทันตแพทย์ ทำให้ทำงานได้ราบรื่น” ทพญ. ปิยนันท์ กล่าว

ทพญ. ปิยนันท์ กล่าวต่อว่า ต้องขอบคุณนักวิจัยที่ทำเครื่องมือดี ๆ มาให้ได้ใช้งาน เพราะเครื่องนี้ช่วยการเข้าถึงของคนไข้ ช่วยเพิ่มศักยภาพของทันตแพทย์ที่เข้ามาทำงาน ถ้านักวิจัยสามารถวิจัยต่อไปก็จะทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือเป็นของตัวเองที่ลงทุนไม่แพงมากเมื่อเทียบกับเครื่องต่างประเทศ ถ้าพัฒนาให้ตอบโจทย์ได้กับทุกงานทันตกรรม เช่น การจัดฟัน หรือส่งข้อมูลเข้าทุกห้องตรวจได้ง่ายขึ้น และเข้าสู่โรงพยาบาลรัฐบาลทุกแห่งจะทำให้ภาพใหญ่ของประเทศดีขึ้น ซึ่งผลสุดท้ายคือคนไข้จะได้ประโยชน์

ด้าน ทพญ.กรรณิกา กล่าวว่า ปกติทันตแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีโอกาสขออุปกรณ์แพงราคาเป็นล้านบาทน้อยมาก จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะฉะนั้นทำให้ไม่สามารถเปิดงานรากฟันเทียมได้ตลอด ขณะที่คนไข้ก็จะรู้สึกว่ายุ่งยากเพราะต้องเดินทางไปหลายที่ แต่หลังจากมีเครื่อง DentiiScan ตั้งอยู่ที่โรงพยาบาล ทำให้คนไข้ไม่ต้องเดินทางลำบาก ส่วนทางโรงพยาบาลเองก็สามารถเปิดงานบริการใหม่ ๆ ในการดูแลผู้ป่วยได้

“อย่าหยุดการพัฒนา เพราะการพัฒนาจะเป็นโอกาสของคนไทยที่ได้มีอุปกรณ์จากคนไทยมาใช้เอง เราอยากเห็นสิ่งนี้มันเกิดขึ้นในประเทศไทย” ทพญ.กรรณิกา กล่าว

“สิ่งที่อยากจะฝากถึงนักวิจัย คือ เรื่องความละเอียด เนื่องจากในบางสาขาของทันตกรรมต้องการความละเอียดของพื้นที่ที่ละเอียดมาก เช่น ในกรณีของคุณหมอที่รักษารากฟัน จะต้องดูรอยแตก ถ้าสามารถพัฒนาตัวเครื่องให้ตรวจความละเอียดได้ระดับสูงกว่านี้ก็จะดีมาก ปัจจุบันเครื่อง DentiiScan ใช้ในส่วนของทันตกรรมแต่เรามีแผนจะคุยกับคุณหมอในสาขาอื่น เช่น ศัลยกรรม หรือในห้องฉุกเฉิน ที่คุณหมอสามารถใช้เครื่องมือชิ้นนี้ช่วยในการวินิจฉัยได้” ทพ.พีรพงษ์ กล่าวเสริม

ขณะที่ รศ.ทพ.ดร.ปฐวี กล่าวว่า ผลดีของการที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ เมื่อทันตแพทย์มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้นก็จะสามารถให้การรักษาในรายที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ คนไข้ที่อยู่ตามโรงพยาบาลตามอำเภอ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปในโรงพยาบาลใหญ่ในตัวจังหวัด ด้าน

ทันตแพทย์ก็สามารถอยู่ในโรงพยาบาลตามอำเภอโดยที่ไม่จำเป็นต้องขวนขวายเข้ามาหาเครื่องมือในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ซึ่งช่วยเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ซับซ้อนโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ในแง่ของการศึกษา การให้ความร่วมมือ การให้ความรู้ ก็จะเกิดนวัตกรรมทางความคิด แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลจะสามารถริเริ่มการรักษาแบบใหม่ ๆ ที่พึ่งพาเทคโนโลยีและสามารถถ่ายทอด แลกเปลี่ยน แชร์ความรู้กันผ่านแพลตฟอร์มซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่สำคัญ

“ท้ายที่สุดเมื่อเรามีข้อมูลมากเพียงพอจนได้ Big Data ก็จะสามารถพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยจัดการข้อมูลในการวางแผนในการดำเนินการเพื่อที่จะดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่โดยที่มีข้อมูลขนาดใหญ่เข้ามาช่วยก็จะเป็นประโยชน์มหาศาล” รศ.ทพ.ดร.ปฐวี กล่าว

เอกชนกำลังเสริมด้านการผลิต

สวทช. เป็นองค์ความรู้ประดับประเทศ อุดมไปด้วยงานวิจัยจากภาครัฐนั้น ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างต้นแบบและอาจจะร่วมไปถึงการขยายผลไปถึงการใช้งานจริงเพื่อให้ได้มาซึ่งต้นแบบในเชิงพาณิชย์ หากขาดหน่วยงานเอกชนเป็นขุมพลังทางด้านงานผลิตและให้บริการสินค้านวัตกรรมเพื่อให้เกิดความสะดวก
สบายต่อการใช้งาน ก็จะขาดโซ่กลางที่เชื่อมต่อระหว่างสินค้านวัตกรรมกับผู้ใช้ให้ยั่งยืน

ภิญโญ แย้มพราย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พิกซาเมด จำกัด ซึ่งบริษัทเอกชนที่ได้รับการในถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลงานวิจัยเครื่อง DentiiScan ไปทำการตลาดเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัท พิกซาเมด เป็นผู้ผลิตและให้บริการบำรุงรักษาเครื่อง โดยเครื่องที่ผลิตอยู่ตอนนี้เป็นความรู้ที่พัฒนามาจาก สวทช. ซึ่ง บ.พิกซาเมด ต้องมีความรู้ความสามารถทั้งกระบวนการ  ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการของการผลิตจนออกกมาเป็นผลิตภัณฑ์ และมีเข้าใจในการใช้งานเครื่องและซอฟต์แวร์ โดยผ่านการถ่ายทอดเทคโนยีจาก สวทช. ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการทำให้สินค้านวัตกรรมได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง ปัจจุบันนี้เครื่องที่ได้รับการติดตั้งจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสอนการใช้ตัวเครื่องอย่างถูกต้อง ปกติเครื่องมือแพทย์แต่ละชนิดจะต้องมีการบำรุงรักษา DentiiScan ก็เช่นกัน พิกซาเมดให้ความใส่ใจกับจุดนี้ โดยมีการบำรุงรักษาประจำทุก 4 เดือน เน้นการบริการหลังการขายที่รวดเร็ว มีคุณภาพ และคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้ใช้งานเป็นหลัก

“เราสามารถผลิตได้เดือนละ 4 เครื่อง ปัจจุบันผลิตไปแล้ว 57 เครื่อง โดยใช้คนไทยผลิตตั้งแต่ กระบวนการขึ้นรูปอุปกรณ์ทางกล ประกอบทางด้วยไฟฟ้า การสอบเทียบมาตรฐาน รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพของเครื่อง” ภิญโญ กล่าว

DentiiScan ช่วยสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืน

ภิญโญ กล่าวว่า บริษัทมีพันธกิจอยากจะสนับสนุนงานวิจัยไทย และเห็นว่า DentiiScan สามารถเข้ามาตอบโจทย์และจะสร้างฐานความรู้ของคนไทยที่สามารถดูแลเองได้ทั้งหมด ตั้งแต่ตัวเครื่องที่ต้องใช้ความรู้ทางกลไก และจะทำงานได้ครบถ้วนต้องมีความรู้ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จนกระทั่งถึงเทคนิคขั้นสูงในการสร้างภาพตัดขวางสามมิติ กระบวนปรับปรุงทั้งหมดจะเป็นองค์ความรู้ภายในประเทศ และผลสำเร็จที่พยายามเพื่อนวัตกรรมที่ตามมา  ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่ง DentiiScan ถือว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะเครื่องมีการทำงานที่ซับซ้อน เป็นการแปลงภาพ 2 มิติให้กลายเป็นภาพ 3 มิติได้ และมีความแม่นยำ

“ปัจจุบันสินค้าจากต่างประเทศก็ต้องยอมรับว่าดี แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ามีสินค้าไทยที่ดีเทียบเท่ากันให้คุณได้เลือกใช้ และจะดีที่สุดหากสินค้านั้นๆ เกิดจากรากฐานความรู้ของคนไทย อยากจะชวนคนที่มีความรู้สึกอยากจะสร้างสังคม สร้างความรู้ที่เป็นของคนไทย เกิดการใช้งานได้จริง เป็นที่ประจักษ์ในเชิงพาณิชย์ และทำให้คนไทยได้คิดว่าซื้อของไทยก็ได้ เพราะเราจะสนับสนุนกันเอง เราจะเติบโตกันอย่างยั่งยืน” ภิญโญ กล่าว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ