TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeHealth CheckUp Kiosk นวัตกรรมเพื่อสุขภาพคนไทย

Health CheckUp Kiosk นวัตกรรมเพื่อสุขภาพคนไทย

จากรายงานการเสียชีวิตประจำปีของประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตสูงสุดจะอยู่ในกลุ่มของโรคที่เรียกว่า “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” หรือ NCD และมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคในกลุ่มนี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารรสจัด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ออกกำลังกาย ความเครียด เป็นต้น โดยโรคหลัก ๆ ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคความดันโลหิตสูง และ โรคอ้วนลงพุง (เบาหวาน)

ทาง สวทช. สปสช. และ ธ.ก.ส. จึงได้เล็งเห็นประโยชน์ของการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนว่าสุขภาพตัวเองเป็นอย่างไร โดยร่วมกันพัฒนาโครงการต้นแบบ Health CheckUp Kiosk หรือ เครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้งาน ประเมินผลการตรวจวัดเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความตระหนักที่จะดูแลตัวเองให้มากขึ้น

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลคนไทยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 48 ล้านคน และมีตัวเลขของการรับการรักษา เป็นผู้ป่วยใน ปีละประมาณ 8 ล้านครั้งต่อปี และ ผู้ป่วยนอก 180 ล้านครั้งต่อปี

“ปีแรก ๆ ที่เรามาทำงานผู้ป่วยนอก มีแค่ 120 ล้านครั้งต่อปี ปัจจุบันเพิ่มเป็น 180 ล้านครั้ง จะเห็นว่าอัตราการเข้ารับบริการสูงขึ้นเรื่อย ๆ” ทพ.อรรถพร กล่าว

ปัจจุบันนี้คนเป็นโรคที่เรียกว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นจำนวนมาก เช่น เบาหวาน ความดัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมของคน จึงมีแนวความคิดว่าถ้าจะทำให้การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีความเข้มแข็งต้องเริ่มที่ประชาชนเอง

ขณะที่เทคโนโลยีสูงมาก ขึ้นมียาใหม่ ๆ เกิดขึ้น เครื่องมือใหม่ ๆ มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพมีแต่จะมากขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปประเทศน่าจะไม่ไหว สปสช. จึงคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้อัตราการเจ็บป่วยมันคงที่ และลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ประชาชนตระหนักรู้ว่าขณะนี้สภาพร่างกายตัวเองเป็นอย่างไร โดยนำเครื่องหรือระบบเข้ามาเตือนว่ามีค่าบางอย่างในร่างกายเริ่มผิดปกติ และจะต้องทำอย่างไร คนก็จะเจ็บป่วยลดลง จึงเป็นที่มาของโครงการนี้

ด้าน ทรงพล ดำนิล ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยการประมวลสัญญาณชีวการแพทย์ (BSP) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ภายใต้สังกัดสวทช. กล่าวว่า จากปัญหาสุขภาพดังกล่าว สิ่งที่จะวัดได้ในเบื้องต้น คือ ความดันโลหิต น้ำหนักและส่วนสูง ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่วัดได้ง่าย โดยเลือกใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบ Medical Grade ตามมาตรฐานโรงพยาบาล ส่วนเครื่องชั่งน้ำหนักมีการปรับแก้บางส่วนเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อเป็นระบบเดียวกันได้ จากนั้นเราจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาใช้ได้ง่ายโดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล จึงต้องพัฒนาเครื่องให้สามารถติดตั้งในที่ต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น ธนาคารหรือชุมชน และรวมอุปกรณ์พื้นฐานเข้ามาไว้ด้วยกันในเครื่องเดียว

Health CheckUp Kiosk ที่พัฒนาขึ้นมามีระบบแนะนำการใช้งานเพื่อให้คนสามารถใช้งานได้เองโดยอัตโนมัติ ประชาชนจะสามารถมาใช้งานได้เอง โดยใช้บัตรประชาชนหรือกรอกหมายเลขบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน ชั่งน้ำหนัก กรอกส่วนสูง และวัดความดันโลหิต เมื่อวัดผลเสร็จสิ้นระบบจะทำการประเมินค่าต่าง ๆ ตามเกณฑ์มาตรฐาน และแจ้งเตือนให้กับผู้ใช้งานได้ทราบว่า ความดันโลหิตและค่าดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เมื่อผู้ใช้งานทราบผลก็ต้องพิจารณาว่าควรจะปรับปรุงตัวหรือไม่ จะทำอย่างไรให้สุขภาพดีขึ้น และในส่วนสุดท้ายของระบบคือ ระบบติดตามผลการตรวจวัดของผู้ใช้งาน เช่น เมื่อผู้ใช้งานทำการวัดค่าทุกสัปดาห์เป็นเวลาหลายเดือน ระบบจะสามารถแสดงผลการวัดย้อนหลัง ทำให้สามารถดูพัฒนาการได้ว่าร่างกายดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร

ด้านนวัตกรรมที่ A-MED ภายใต้สังกัด สวทช. ได้พัฒนาเพิ่มเติมเข้าไปในตัวเครื่องเป็นส่วนของระบบ เพราะเครื่องทั่วไปเมื่อตรวจวัดแล้วจะไม่มีการเก็บบันทึกผล แต่ Health CheckUp Kiosk สามารถเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้บนระบบคลาวด์ (Cloud) ของ สปสช. และสามารถสร้างแอปพลิเคชันเชื่อมต่อเพื่อดูสถิติของข้อมูลย้อนหลังได้

“ปัจจุบันเราพัฒนาร่วมกับสปสช. แต่ในอนาคตถ้าจะมีการนำไปใช้กับองค์กรอื่น ก็สามารถที่จะเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลในส่วนนั้นได้” ทรงพล กล่าว

กระจายเครื่อง Health CheckUp Kiosk ทั่วประเทศ

หลังจากพัฒนาโครงการสำเร็จ สปสช. ได้นำเครื่อง Health CheckUp Kiosk มาทดลองใช้กับพนักงาน ด้าน ธ.ก.ส. นำไปให้ลูกค้าที่มาใช้บริการธนาคารที่สาขาทั่วประเทศ

“เราเริ่มตั้งแต่นำมาตั้งไว้ที่หน้าสำนักงานสาขาศูนย์ราชการ เพื่อเชิญชวนให้อื่น ๆ ลองเข้ามาใช้เครื่องและสังเกตพฤติกรรม เราได้นำข้อมูลมาดูและพบว่ามีประชาชนมาใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นขาประจำ” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สปสช. เป็นพันธมิตรกับ ธ.ก.ส. มานาน และมีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน จึงเล็งเห็นว่าถ้าสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายแข็งแรงก็จะทำให้ทั้งสององค์กรได้ประโยชน์ ปกติคนไปธนาคารจะได้เป็น “สมุดบัญชี” แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้เป็น “บัญชีสุขภาพ” ด้วย เป็นสมุดบัญชีที่เก็บสถิติข้อมูลสุขภาพของตัวเองและอยากจะมาดูย้อนหลังเมื่อไรก็ได้

ด้านณิชา อวยพรรุ่งรัตน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า  ธนาคารคาดหวังว่าจะนำเครื่อง Health CheckUp Kiosk มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้บริการที่เป็นเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ให้ดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง เครื่องนี้มีข้อดีคือสามารถทำได้ตั้งแต่การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจวัดชีพจร วัดความดันโลหิต รวมถึงวัดดัชนีมวลกาย ธ.ก.ส. มองว่าเป็นประโยชน์กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่จะมีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือง่าย ๆ สามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักที่จะนำเครื่องนี้มาใช้ในธนาคาร ปัจจุบัน ธ.ก.ส. วางเครื่อง Health CheckUp Kiosk อยู่ 85 เครื่อง ทั่วประเทศ

“เป้าหมายของเรา คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและคนในชนบท เรามองว่าประชาชนทั่วไป การมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรามีสุขภาพที่ดีก็จะทำให้คุณภาพชีวิตดีไปด้วย” ณิชา กล่าว

ผลตอบรับน่าพอใจ

หลังจากทาง สปสช. และ ธ.ก.ส. ได้นำเครื่อง Health CheckUp Kiosk ทยอยติดตั้งทั่วประเทศเป็นเวลาเกือบ 1 ปี และได้เก็บข้อมูลการใช้งานและผลตอบรับมาตลอด “ทพ.อรรถพร” กล่าวว่า สปสช. มีโจทย์สำคัญตั้งไว้ ข้อแรก คือ ถ้านำมาตั้งไว้และไม่มีคนเฝ้าจะได้หรือไม่ ข้อ 2 คือ จะมีคนมาใช้บริการหรือไม่ ข้อ 3 คือ ค่าที่ได้มาจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่

ข้อแรกนั้นตอนนำเครื่องมาตั้งแรก ๆ ก็อาจจะต้องมีคนไปดูก่อนแต่เมื่อระบบเข้าที่ก็ไม่จำเป็นต้องมีคนไปเฝ้า ข้อที่ 2 หลังจากเก็บข้อมูลมา 1 ปี พบว่ามีลูกค้าประจำเข้ามาใช้งานถึง 6,000 คน และข้อสุดท้ายข้อมูลที่นำมาใช้ได้ เช่น ข้อมูลสุขภาพปกติ สุขภาพเริ่มผิดปกติก็จะต้องเตือน และข้อมูลผิดปกติจะแนะนำให้ไปพบแพทย์

“เราพบว่าคนที่เริ่มจะมีข้อมูลผิดปกติแล้วต้องไปพบแพทย์มีมากถึง 1 ใน 3 ฉะนั้นทำให้โจทย์ที่เราตั้งไว้ตอนแรกนั้นสามารถตอบโจทย์ได้หมด” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่ได้ คือ สามารถบอกประชาชนที่เริ่มมีสุขภาพร่างกายผิดปกติให้ไปพบแพทย์ได้ คนที่ไปพบแพทย์ไม่ได้หมายความว่าป่วยแต่สมควรจะต้องไปพบแพทย์เพื่อรักษาตั้งแต่เริ่มต้นจะได้ไม่ต้องไปเป็นโรคที่ต้องล้มละลายในตอนท้ายของชีวิต เพราะค่าใช้จ่ายที่น่าเป็นห่วงคือค่าใช้จ่ายสำหรับโรคที่เกิดความล้มละลาย เช่น ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะต้องไปฟอกไตทุก 2 วัน ครั้งละ 3,000 บาท หรืออย่างน้อย 60,000 บาทต่อเดือน ถ้ามีค่ายาอีกก็อาจจะต้องใช้ถึง 1 แสนบาท

“ถ้าเราเตือนเขาตั้งแต่ต้นก็จะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ และถ้าเราขยายโครงการออกไปและทำให้มันยืดหยุ่นมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อวงการสาธารณสุขในประเทศไทย” ทพ.อรรถพร กล่าว

ณิชา กล่าวเสริมว่า ธ.ก.ส. ประเมินผู้ใช้งาน ได้เสียงตอบรับความพึงพอใจมากที่สุด ประมาณ 78% แต่จะมีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลูกค้าอยากให้ปรับ เช่น ปกติการตรวจสุขภาพจะต้องใช้การถ่ายภาพจากหน้าจอหรือคิวอาร์โค้ด อยากจะให้พิมพ์ข้อมูลออกมาได้ และสามารถวัดส่วนสูงอัตโนมัติเมื่อยืนที่ตัวเครื่อง รวมถึงการส่งข้อมูลขึ้น Cloud มีความเสถียรมากขึ้น

วางแผนพัฒนาต่อเนื่อง

ด้านแผนการพัฒนาเครื่อง Health CheckUp Kiosk ในอนาคต ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เครื่องนี้มีประโยชน์ในการเก็บข้อมูลให้อยู่ใน Cloud และนำมาใช้ได้จริง แต่จุดที่เป็นข้อด้อยคือมีขนาดใหญ่ จะทำอย่างไรเพื่อย่อเครื่องเหล่านี้ให้เล็ก และสามารถติดไว้ที่ร่างกาย และจะเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องทำอะไรเลย และสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้งานได้ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่ผิดปกติจะสามารถแจ้งเตือนได้ผ่านทางอุปกรณ์ที่สวมใส่ ถ้าจะต้องพบแพทย์ ทาง สปสช. ก็มีทะเบียนประชาชนอยู่ สามารถแจ้งทางโรงพยาบาล หรือ อสม. ในพื้นที่ ให้พาคนไข้มารักษา ซึ่งเป็นประโยชน์ เป็นแผนในอนาคตที่ สปสช. ตั้งใจจะทำ

ด้าน ธ.ก.ส. เล็งเห็นการนำข้อมูลมาใช้กับการปล่อยสินเชื่อในอนาคต “ณิชา” กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ไม่เคยเก็บข้อมูลสุขภาพของเกษตรกร แต่จากการสังเกตที่ผ่านมาเกษตรกรค่อนข้างทำงานหนัก การดูแลสุขภาพอาจจะค่อนข้างน้อย ข้อมูลที่เก็บอยู่บน Cloud ทำให้เห็นภาพของความก้าวหน้าหรือวิวัฒนาการของการดูแลสุขภาพ

ในอนาคต ธ.ก.ส. คาดหวังว่าจะนำมาใช้ได้มากขึ้น ถ้าในอนาคตลูกค้าสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ก็จะเป็นประโยชน์ในภาพรวมของภาคเกษตรทั้งหมด สามารถนำมาประกอบกับการปล่อยสินเชื่อได้ ลูกค้าที่มีสุขภาพดีก็จะมีศักยภาพในการพัฒนาการเกษตรหรือมีแนวทางที่ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้เป็นเพียงปัจจัยเริ่มต้นเท่านั้น อาจจะยังไม่ได้เชื่อมโยงกับธุรกิจ เพราะบางคนอาจจะไม่ได้สุขภาพไม่ดีแต่มีปัญหาอย่างอื่น ซึ่งสิ่งที่ ธ.ก.ส. จะเข้าไปไม่ใช่เพียงดูแลเรื่องการให้เงินทุน แต่จะต้องให้ความรู้ หรือการดูแลในเรื่องต่าง ๆ ที่จะให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดี

“เรามีลูกค้าสินเชื่อประมาณ 4 ล้านราย การคาดหวังของการเปิดบัญชีสุขภาพ ณ วันนี้เรายังไม่มีการเชื่อมโยงเรื่องสุขภาพกับเรื่องธุรกิจ ปัจจุบันเราคาดหวังว่าจะให้ประชาชนทั่วไปจะมีสุขภาพที่ดีด้วยการดูแลตัวเองในเบื้องต้น” ณิชา กล่าว

ด้าน A-MED ภายใต้สังกัด สวทช. มีแผนจะพัฒนาเครื่อง Health CheckUp Kiosk ให้มีความสามารถมากกว่าเดิม “ทรงพล” กล่าวว่า อาจจะพัฒนาเพิ่มในส่วนของเซ็นเซอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น สามารถวัดอุณหภูมิได้ หรือค่าอื่น ๆ ในร่างกายได้ เช่น สัดส่วนไขมัน สัดส่วนกล้ามเนื้อ เพื่อให้ระบบสามารถประมวลผลได้มากขึ้น และดีกว่านี้ นอกจากนี้จะพัฒนาให้ระบบสามารถให้คำแนะนำเฉพาะเจาะจงของแต่ละบุคคลมากขึ้น เพราะปัจจุบันใช้เกณฑ์มาตรฐานในการประเมินในแต่ละครั้ง และให้คำแนะนำคล้าย ๆ กัน

“ถ้าเรามีข้อมูลในแต่ละภาค จะสามารถนำข้อมูลไปวางแผน หรือกำหนดนโยบายบางอย่างเพื่อให้ประชาชนตระหนักในสุขภาพและดูแลตัวเองให้ดีมากขึ้น” ทรงพล กล่าว

“สิ่งที่ทุกหน่วยงานคาดหวังมาร่วมกัน คือ การดูแลประชาชนทั่วไปให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี การทำงานร่วมกันแต่ละหน่วยงานก็จะดึงความถนัดของตัวเองออกมาเพื่อสนับสนุน เพื่อจะทำให้การดูแลสุขภาพของคนในประเทศเป็นไปด้วยดี ธ.ก.ส. เรามีหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนและนำเครื่องมือดีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในประเทศของเรา” ณิชา กล่าว

“หมายสำคัญของเรา คือ ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยจะต้องเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้ ในอนาคตอันใกล้ เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของคนไทย ดังนั้นเราจึงพยายามหาทุกวิธีที่จะทำให้คนไทยตระหนักรู้ในเรื่องของสุขภาพตนเอง เราเชื่อว่าการสาธารณสุขแบบเดิม ๆ มันหมดสมัยไปแล้ว อนาคตคือทำให้คนไข้รู้สึกได้เองว่าเขาต้องดูแลตัวเอง บริการที่เกิดขึ้นก็จะสามารถบริหารได้ง่ายขึ้น ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น เป็นโจทย์ร่วมกันระหว่า งสปสช. กับนักวิจัย” ทพ.อรรถพร กล่าว

“โรค NCD มันเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือการป้องกันไม่ให้เกิด ไม่ใช่ไปรักษาทีหลัง ดังนั้น ถ้างานวิจัยชิ้นนี้ช่วยให้คนตระหนักได้ว่าจะต้องปรับปรุงตัวเอง และทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น หมายความว่างานวิจัยเราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้” ทรงพล กล่าวปิดท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ