TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeดีแทค ต่อยอด "เน็ตทำกิน" ฟื้นฟู "หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

ดีแทค ต่อยอด “เน็ตทำกิน” ฟื้นฟู “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

“หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (Creative Industry Village: CIV) โดยกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัด ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 2559 มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้อัตลักษณ์ของชุมชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยว ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีเพื่อนสร้างศักยภาพให้แก่ชุมชน เสริมสร้างการบริหารจัดการ การเข้าถึงช่องทางการตลาดสมัยใหม่ ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วม เป็นผู้ผลักดันและยกระดับ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้ และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนอย่างยั่งยืน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้ของหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ลดลงร้อยละ 70 ประกอบกับสถานการณ์โรคดติดต่อในครั้งนี้ทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ไปใช้บริการระบบเทคโนโลยีออนไลน์มากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต้องปรับเปลี่ยนไป มีการวางแผน และตั้งเป้าหมายให้หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำมาพัฒนาต่อเนื่องได้ต่อไป

กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับดีแทค เดินหน้ายกระดับโครงการเน็ตทำกินมายกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village: CIV) เพื่อฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการธุรกิจสินค้าชุมชนที่มากด้วยอัตลักษณ์ให้ 152 หมู่บ้านจาก 76 จังหวัด เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมผ่านวิถีความเป็นไทย ต่อยอดด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อความยั่งยืน

วรวรรณ ชิตอรุณ  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินงานที่จะทำร่วมกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ช่วงแรกตั้งเป้าไว้ 152 หมู่บ้าน หรือจังหวัดละ 2 หมู่บ้าน ในปีงบประมาณ 2566 มีเป้าหมายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับชุมชน (Local Economy) คาดว่าเบื้องต้นจะสร้างรายได้กว่า 250 ล้านบาท 

“การได้มีโอกาสร่วมมือกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ผ่านโครงการดีแทคเน็ตทำกิน จะเป็นการรวมพลัง ฟื้นฟู และยกระดับขีดความสามารถของหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีแก่ผู้ประกอบการในชุมชุม ติดปีกความรู้การทำธุรกิจในยุค Next Normal ในยุคดิจิทัล ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี ปรับวิกฤติสู่โอกาสเพื่อกระจายรายได้ สู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชุมที่ยั่งยืนต่อไป”

กระทรวงอุตสาหกรรมมีแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาอยู่ 3 เสาหลัก คือ

1) C:Consensus มีฉันทามติร่วมกันในชุมชนนั้น มีส่วนร่วม สร้างประชาธิปไตยร่วมกันเป็นหนึ่งอันเดียวกัน

2) I:Identity กำหนดให้ได้ว่าอะไรเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน อัตลักษณ์ของสินค้า และอัตลักษณ์ของการบริการ ทีจะสื่อไปถึงอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น

3) V:Valuation การสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างรายได้ และสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชน ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมมี CIV ที่อยูในการดูแลทั้งหมด 250 หมู่บ้าน

กระทรวงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเป็นกลไกลสำคัญสำหรับการยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้าน CIV ได้ในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป วรวรรณ กล่าวสรุป

ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมองว่าหมู่บ้าน CIV เป็นสิ่งที่สร้างโอกาส เอาความรู้ไปยกระดับวิธีการทำงาน อาศัยสิ่งที่เขามีอยู่แล้วไปทำให้มีมูลค่ามากขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องดิจิทัล ช่วงโควิดที่ผ่านมา เปลี่ยนชีวิตนอกจากจะเป็นวิกฤติ แต่ก็สร้างโอกาส กลายเป็นว่าผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตที่เขาทำกันอยู่แล้ว มีโอกาส มีช่องทางที่จะทำให้มันกระจายไปสู่ทั้งประเทศได้ โดยที่ชาวบ้านเหล่านั้นไม่ต้องเดินออกมาจากบ้าน

องค์ประกอบที่จะทำให้ CIV ประสบความสำเร็จมีอยู่ 3-4 อย่าง คือ

1) พลังหรือศักยภาพของผู้ประกอบการ องค์ความรู้ของเขา สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน สิ่งที่ชาวบ้านอาจเคยทำกันอยู่แล้ว กระเป๋าลายต่าง ๆ เขาไม่รู้เลยว่าลายที่มีอยู่ เป็นลายที่ไม่เคยมีในโลกนี้

2) ความรู้จริง หรืออัตลักษณ์ ซึ่งถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งบางทีชาวบ้านอาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็น uniqueness ที่คนอาจไม่เคยรู้จัก อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ

3) จิตสำนึกรักบ้านเกิด การที่เราจะทำให้หมู่บ้านมีความเจริญเติบโต มีคุณค่า มีการทำงาน มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิด Commercial value ให้น้อง ๆ หรือรุ่นลูก หลาน รักหมู่บ้านของตัวเอง พอมีองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างนี้ หมู่บ้านนั้นก็ต้องพร้อมที่จะเปิดรับ แบ่งปันความรู้ เอาวิถีชีวิตชาวบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาด้วย

สิ่งที่ดีแทคทำร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คือ

1) ทำโครงการเน็ตทำกิน – เอาความรู้ในเชิงดิจิทัล ใช้อินเทอร์เน็ตมาทำมาหากิน ทำอย่างไร สอนคนตามหมู่บ้านต่าง ๆ โดยการสอนพื้นฐานการตลาด การรู้จักใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ทั้ง Facebook YouTube การสอนถ่ายภาพสินค้าและบริการให้ดูน่าทานน่าสนใจ รวมถึงการปักหมุดร้านค้าในแผนที่ Google และการสร้างคอนเทนต์ให้มีสตอรี่อยู่บนออนไลน์

2) ขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปในที่ไกล ๆ ให้ครอบคลุม – ที่ผ่านมีดีแทค Roll out ออกไปเยอะ ติดตั้งคลื่น 700 MHz แล้วมากกว่า 12,700 สถานีฐาน ขยายสัญญาณครบ 77 จังหวัด ครอบคลุมแล้ว 923 อำเภอทั่วไทย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยขยายครอบคลุมประชากร (population coverage) ประมาณ 93% ด้วยสัญญาณ 4G พร้อมเดินหน้าขยายสัญญาณต่อเนื่อง

3) มีดีทั่วดีถึง รีวอร์ด เชื่อมโยงผู้ประกอบการ CIV กับดีแทครีวอร์ด ซึ่งเป็น Loyalty program สู่ฐานผู้ใช้งานดีแทคกว่า 20 ล้านราย เพิ่มช่องทางออนไลน์ในการทำตลาดให้กับชุมชนบน โดยสามารถนำคะแนนไปแลกซื้อสินค้าจากชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการกว่า 30,000 รายการ

Success case โครงการดีแทคเน็ตทำกิน

จากชาวเขาเผ่าลาหู่ สู่ผู้ประกอบการอะโวคาโดที่มียอดสั่งซื้อสูงสุด 500 กก. ต่อสัปดาห์

กรรณิกา นาก่า ชาวเขาเผ่าลาหู่วัย 27 ปี หนึ่งในตัวแทนกลุ่มเยาวชนบ้านหนองเขียว จากเดิมที่ครอบครัวเคยประกอบอาชีพเกษตรกร เน้นการปลูกข้าวโพด ต้องกู้เงินมาซื้อปุ๋ยทำไร่ข้าวโพด ในขณะเดียวกันราคาข้าวโพดกลับตกลงเหลือ 4 บาทจากที่เคยขายได้กิโลละ 9 บาท จากนั้นเธอได้รับการแนะนำจากโครงการหลวงให้เปลี่ยนมาปลูกอโวคาโด้ ซึ่งในช่วงแรกใช้วิธีการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง จนได้มาเข้าร่วมโครงการ “ดีแทคเน็ตทำกิน” สอนเปิดเพจขายสินค้า เทคนิคการทำตลาดออนไลน์ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่

“เดิมทีพวกเราไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจหรือการเป็นผู้ประกอบการ ด้วยพื้นฐานความคิดเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เราไม่กล้าติดต่อกับสังคมภายนอก ค่อนข้างกลัวการติดต่อพูดคุยกับคนแปลกหน้านอกชนเผ่า ยิ่งพวกเรายังใช้ภาษากลางได้ไม่ดีนัก ยิ่งทำให้พวกเราประหม่า ไม่กล้าที่จะเริ่มทำ แต่พอได้พี่ ๆ ใจดีมาช่วยตั้งต้นให้ จากนั้นก็ต่อยอดได้เอง” 

ได้เรียนรู้การถ่ายภาพที่สวยงาม การถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตชาวลาหู่บนโซเชียลมีเดียว จากเดิมที่เคยขายอะโวคาโดได้เพียงสัปดาห์ละ 20 กิโลกรัม หลังเข้าร่วมโครงการ เคยมียอดสั่งซื้อสูงสุด 500 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ในกิโลละ 80 บาท ส่งผลให้งานล้นมือจนต้องเกณฑ์สมาชิกในบ้านและเพื่อนบ้านมาช่วยกันเก็บ ช่วยกันแพ็ก เพื่อส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทันตามกำหนด

ปัจจุบัน ผลผลิตจากอะโวคาโดทำรายได้ให้กับกรรณิกาถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้นมาจากพืชที่ปลูกอยู่ดั้งเดิม ขณะที่รายได้ทั้งปีของเธอนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 40,000-50,000 บาทต่อปี เป็น 150,000 บาท จนสามารถปลดหนี้ที่เคยกู้มาปลูกข้าวโพดได้สำเร็จ

“หมาขายหมึก” จากพนักงานบริษัทในกรุงเทพ สู่ผู้ประกอบการปลาหมึกย่างออนไลน์

วิธาร ไชโย หรือ ‘หมา’ หนุ่มชาวจันทบุรีวัย 30 ปี หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยหอการค้า และทดลองเป็นพนักงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพได้สักพัก จึงมีความคิดอยากกลับไปช่วยพ่อแม่ทำกิจการประมง ออกเรือที่จ.จันทบุรี

“ผมมีความรู้เรื่องวัตถุดิบอาหารทะเลอย่างลึกซึ้ง วัตถุดิบสดไม่สดดูยังไง เพราะผมออกเรือจับหมึกกับพ่อตั้งแต่เด็ก ๆ  ผมนำความรู้ความเชี่ยวชาญที่ผมมีมาเปิดเป็นร้านขายปลาหมึกย่างเล็ก ๆ”

จากนั้น มาสมัครเข้าร่วมโครงการเน็ตทำกินกับดีแทค โดยช่วยตั้งชื่อร้านและชื่อเพจหมาขายหมึก พร้อมทั้งถ่ายคลิปวิดีโอร้านลงเพจเฟซบุ๊ก จนทุกวันนี้มียอดคนดูคลิปกว่า 3 ล้านวิว ทำให้ร้านของเขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของหาดเจ้าหลาว จังหวัดจันทบุรี

นอกจากผู้ชมจะเพลิดเพลินไปกับของทะเลนานาชนิดแล้ว ยังสามารถเลือกช้อปของทะเลระหว่างการไลฟ์สด เพียงทิ้งคำสั่งซื้อไว้ที่ช่องคอมเมนท์หรืออินบ๊อกซ์ทางเฟซบุ๊ก เมื่อลูกค้าทำการสั่งซื้อและชำระเงินเรียบร้อยแล้ว ของจะถูกส่งตรงถึงหน้าบ้านของลูกค้าทั่วไทยภายในวันถัดไป โดยมีการแพ็คของอย่างดี 

อดีตนักสังคมสงเคราะห์ สู่แม่ค้าขายกระเป๋าออนไลน์ มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน

กุญศา ชัยกุหลาบ อดีตนักสังคมสงเคราะห์อิสระชาวเชียงใหม่ ทำงานให้กับมูลนิธิแห่งหนึ่งที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเด็กกำพร้าผู้ซึ่งพ่อแม่นั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการมอบทุนการศึกษาและการอุปการะ ภายหลังเธอได้รับเงินทุนสนับสนุนจากผู้ใจบุญชาวต่างชาติให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการในจังหวัดเชียงใหม่ และดูแลผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่ตามลำพัง

ปัจจุบัน กุญศาอายุ 59 ปี อาศัยอยู่ที่หอพักในอำเภอเมืองเชียงใหม่ กับสุนัขอีก 3 ตัว โดยหลังออกจากงานสังคมสงเคราะห์ เธอหันมายึดอาชีพหัตถกรรมประดิษฐ์กระเป๋าถักขาย ซึ่งเป็นทักษะที่ติดตัวมาจากคุณแม่ของเธอ และจากการช่วยงานผลิตสินค้าหัตถกรรมที่มูลนิธิฯ เพื่อระดมทุน

กุญศา เล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นทำขายส่งร้านกระเป๋า ฝากเพื่อนขายบ้าง ไปตั้งร้านขายที่ถนนคนเดินท่าแพบ้าง แต่พอช่วงโควิด นักท่องเที่ยวไม่มี เราขาดรายได้ มีอยู่วันนึง ป้าเล่นเฟซบุ๊กแล้วเห็นประกาศโครงการดีแทคเน็ตทำกิน เลยตัดสินใจเข้าร่วมสมัครกับเขาด้วย อยากลองดูว่าจะสามารถหารายได้จากช่องทางออนไลน์ได้จริงหรือเปล่า” 

หลังจากเข้าร่วมโครงการดีแทคเน็ตทำกิน มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการใช้งานช่องทางออนไลน์ วิธีทำตลาดบนโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการสร้างคอนเทนต์ จากโพสต์แรกซึ่งมียอดผู้กดไลก์เป็นศูนย์ ปัจจุบันช่องทางออนไลน์นั้นช่วยให้เธอสามารถสร้างรายได้เสริมเฉลี่ยราว 15,000 บาทต่อเดือน

ชุมชนบ้านศาลาดิน คลองมหาสวัสดิ จังหวัดนครปฐม 

หนึ่งในหมู่บ้านนำร่อง 152 หมู่บ้าน ของโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

วิถีของชุมชน “บ้านศาลาดิน” ล่องเรือ ดูนาบัว ชีวิตริมคลองมหาสวัสดิ เที่ยวบ้านฟักข้าว เชื่อมต่อออนไลน์ นำภูมิปัญญาชาวบ้านผสานดิจิทัลเพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่ยั่งยืนให้ชุมชน

วรวรรณ  ชิตอรุณ  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ปัจจุบันหมู่บ้านมีสมาชิกกว่า 250 หมู่บ้าน สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความยั่งยืนในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน มันต้องคงอยู่ตลอดไป และยั่งยืน การซื้อสินค้าไปไม่ได้หมายความว่าซื้อสินค้าไปใช้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการซื้อความทรงจำไปด้วย การได้มุมมองธุรกิจเข้าไปเสริม ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านเข้าใจหลักการในการมองเชิงธุรกิจมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะหาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มันตอบสนองวิถีชีวิตของตัวเอง เป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้”

วงสุรีย์ คำจุมพล ทีมดีแทคเน็ตอาสา กล่าวในฐานะโค้ชที่เข้าไปดูแลหมู่บ้านศาลาดิน ว่า “ครั้งแรกที่มา เราไม่รู้ว่าจุดไหนคือชุมชนบ้านศาลาดิน เพราะขึ้นใน Google search ว่าบ้านศาลาดิน โฮมสเตย์ศาลาดิน หรือตลาดน้ำศาลาดิน เราจึงเล็งเห็นว่านี่อาจเป็นปัญหาที่ทำให้ชุมชนขาดรายได้ โครงการดีแทคเน็ตทำกินจึงอยากนำความรู้ดิจิทัลมาสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการในหมู่บ้าน CIV มีตัวตนบนโลกออนไลน์ได้”

“เสียงตอบรับจากผู้ประกอบการว่า ขอบคุณที่มีโอกาส ขอบคุณที่มีโครงการดีแทคเน็ตทำกิน ให้เขาสามารถต่อยอดการขายสินค้าได้ สร้างมูลค่าให้กับสินค้าได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น รวมไปถึงตัวผู้ประกอบการ ครอบครัว และการมีรายได้ในชุมชนที่เพิ่มขึ้น”

ขนิษฐา พินิจกุล ประธานกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟักข้าวเกษตรพัฒนา หนึ่งในสมาชิกชุมชนบ้านศาลาดิน ที่ก่อนหน้านี้ปลูกพืชผลทานธรรมดา พอมาทำฟักข้าว หาวิธีแปรรูปคือน้ำ ตอนนี้พัฒนาไปอีก ปลูกเอง ทานเอง ขายเอง

“ถ้าวันหนึ่งเราได้ท่องอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบ ออเดอร์จะเข้ามาไม่ต้องพูดถึง เพราะทุกคนทำกินบนโลกออนไลน์เป็น”

นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของความสำเร็จ ภายใต้โครงการ “เน็ตทำกิน” จากดีแทค ที่มีการนำเทคโนโลยีการสื่อสาร และนวัตกรรม มาช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงข้อมูล การยกระดับ และสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น โดยไม่จำกัดพื้นที่ เขต หรือจังหวัด ซึ่งหากชาวบ้านรู้จักปรับตัว พร้อมที่จะเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว ก็จะสามารถเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ดีแทค ชวนมองความคิด 5 นักสู้ เพื่อเยาวชนท่องเน็ตปลอดภัยในวัน #SaferInternetDay

บอร์ดดีแทค อนุมัติการควบรวมกับทรู ดีแทค แยกอิสระธุรกิจ จนกว่าควบรวมเสร็จสิ้นในปี 2565

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ