TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"ความสำเร็จ" ในยามเศรษฐกิจโหดร้าย ….

“ความสำเร็จ” ในยามเศรษฐกิจโหดร้าย ….

ถ้าจะนับย้อนหลังไปดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมา มีหลายต่อหลายครั้งที่โลกเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยแบบหนัก ๆ เอาง่าย ๆ ก็ในช่วงสงครามโลก และถ้าย้อนหลังไปแค่ 20-30 ปีนี้ ก็เกิดขึ้นหลายครั้ง อย่างวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ขณะที่แต่ละประเทศก็เผชิญวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศที่แตกต่างกันออกไป…

มาถึงวิกฤติโรคระบาดทั่วโลกในยุคปี 2020 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกบาดเจ็บสาหัสอีกครั้ง

ธนาคารโลกประเมินว่าศรษฐกิจโลกในปี 2020 นี้ จะลงต่ำมากถึง 5.2% ซึ่งแย่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกในปี 1946 ขณะที่ แมคคินซีย์ ประเมินว่าตอนนี้รัฐบาลทั่วโลกใช้เงินในการเยียวยา ประคับประคองเศรษฐกิจ ประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ด้านองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ประเมินตัวเลขคนตกงานทั่วโลกสูงกว่า 190 ล้านคน

ธุรกิจต่าง ๆ เรียกว่าแทบจะหยุดชะงัก … การหยุดชะงักของเศรษฐกิจในครั้งนี้ ไม่ได้มาจาก Demand หรือ ความต้องการบริโภคที่หดตัวหรือชะงัก แม้จะมีสัญญาณมาบ้างก่อนหน้านี้เพราะสงครามการค้า แต่การชะงักของเศรษฐกิจมาจากสถานการณ์บีบบังคับให้ธุรกิจหยุดการเคลื่อนไหว หยุดกิจกรรมเศรษฐกิจต่าง ๆ

ในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอย สิ่งหลาย ๆ บริษัททำคงเหมือน ๆ กัน คือ นิ่ง ประคองตัว ไม่ลงทุนใด ๆ เพิ่มอีก… แต่โมเดลธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา มีหลาย ๆ บริษัทที่อาศัยช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแทบจะไปต่อไม่ได้แจ้งเกิดในวงการธุรกิจ อย่างเช่น เจเนอรัล มอเตอร์ (GM) เบอร์เกอร์คิง CNN UBER แม้แต่ Airbnb ก็ใช้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยสร้างธุรกิจ

ตัวอย่างของ GM ก่อตั้งในปี 1908 ตอนนั้นเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับวิกฤติที่เรียกว่า “The Panic of 1907” ตอนนั้นชาวอเมริกันแห่ถอนเงินจากธนาคารกันโกลาหล เนื่องจากตกใจจากการที่ตลาดหุ้นนิวยอร์คร่วงลงมาถึง 50%

ส่วนเบอร์เกอร์คิงก็เริ่มธุรกิจในปี 1953 ซึ่งในช่วงเวลานั้นสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอย ในหลังสงครามเกาหลี โดยเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในประเทศ ขณะที่สถานีโทรทัศน์ชั้นนำของโลกอย่าง CNN ก็กำเนิดขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน ในปี 1980 ตอนนั้นเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงถึงเกือบ 15% ส่วน UBER กับ Airbnb ก็เริ่มธุรกิจในช่วงที่สหรัฐเจอวิกฤติซับไพร์มในช่วงระหว่าง ปี 2007-2009

ช่วงสถานการณ์ที่บีบบังคับ ไม่มีแหล่งเงิน ขณะที่ความกังวลของผู้บริโภคก็สูง ดังนั้นจึงต้องทำธุรกิจที่วางแผนอย่างรัดกุม สมบุกสมบัน และต้องก้าวให้ไว

แต่ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างนี้ เรามักจะได้เห็นแรงฮึดจากผู้ประกอบการเล็ก ๆ สะท้อนได้จากตัวเลขนี้ …

ปลายเดือนพฤษภาคม ที่สหรัฐฯ มียอดของผู้ยื่นจัดตั้งบริษัทเกิดขึ้นมากถึง 67,160 บริษัท ทั้ง ๆ ที่อยู่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งหลายคนคงคิดว่าน่าจะมีการปิดบริษัท หรือตัวเลขจัดตั้งบริษัทน่าจะไม่มากนัก แต่เหตุผลสำหรับตัวเลขที่สูงนี้ คงต้องไปดูตัวเลขการเลิกจ้างงานในสหรัฐฯ ที่สูงเป็นประวัติการณ์เหมือนกัน โดยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตัวเลขคนว่างงานมากถึง 36 ล้านคน ทำให้ในจำนวนคนเหล่านี้ตัดสินใจที่จะออกมาทำบริษัทของตัวเอง

โรเบิร์ต แฟร์ลี่ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา ครูส์ เรียกนักธุรกิจหน้าใหม่เหล่านี้ว่า “ผู้ประกอบการจำเป็น” เพราะคนเหล่านี้ถูกผลักออกจากตลาดแรงงาน ซึ่งการจะหางานในช่วงเวลานี้ก็ยากพอสมควร ดังนั้นหาทางออก คือ การออกมาทำบริษัทด้วยตัวเอง

หลาย ๆ คนที่จัดตั้งบริษัทในช่วงเวลานี้ ก็อาจจะมีแนวคิดมาก่อนแล้ว ซึ่งพอมาเจอพิษโควิด-19 ทำให้มีเวลาคิดถึงการทำธุรกิจได้มากขึ้นและลงมือทำ

อย่างมีธุรกิจหนึ่งที่เริ่มต้นธุรกิจภายในเวลาเพียงแค่ 6 วันเท่านั้น และในวันที่ 7 ก็มียอดสั่งสินค้าเข้ามา… เป็นธุรกิจผลิตพลาสติกใสคลุมจากศีรษะลงมาถึงหัวไหล่ ใช้กับผู้ป่วยในร.พ. เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ใช้กับผู้ป่วย ผลิตโดยแมทธิว แคมเบลล์ ฮิลล์ และ ลิเดีย ฮิลล์ คู่สามีภรรยา ชาวอเมริกัน

ทั้งคู่เล่าว่าพวกเขาผลิตที่คลุมพลาสติกเพื่อป้องกันการรับเชื้อโควิด-19 โดยแมทธิวเรียนจบด้านวิทยาศาตร์การแพทย์ จึงมีความรู้เรื่องการผลิตเป็นอย่างดี ผลิตภัณฑ์ของทั้งคู่มีชื่อว่า “Aerosol Shield” เป็นพลาสติกใสคลุมจากศีรษะไปยังหัวไหล่ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย โดยทั้งสองคนไปว่าจ้างให้บริษัทที่ผลิตเตนท์ใช้ในกองทัพและองค์กรมนุษยชนต่าง ๆ ช่วยผลิตให้

หรืออีกธุรกิจหนึ่งที่คล้าย ๆ กันคือ หน้ากากอนามัย ที่ผลิตโดยนีล คอตตัน นักธุรกิจในอังกฤษ ซึ่งหน้ากากของเขามีความพิเศษคือเย็บด้วยผ้าคอตตอน 2 ชั้น และสอดกระดาษกรองเชื้อโรคไว้ข้างใน ซึ่งจะช่วยให้สามารถใช้กระดาษกรองได้นานขึ้น ทำความสะอาดเฉพาะตัวผ้าคอตตอนชั้นนอกเท่านั้น

นี่เป็นแค่ตัวอย่างการเริ่มธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวผลักดัน ซึ่งไทยก็มีตัวอย่างธุรกิจในทำนองนี้เช่นกัน ทั้งการผลิตสินค้ากระแส สอดรับกับการระบาดของโควิด-19 หรือการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคตามสถานที่ต่าง ๆ

มาร์คัส เบอร์เกอร์ เดอ ลีออน ที่ปรึกษาของบริษัทแมคคินซีย์ ให้แนวคิดของการเริ่มธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่เอาไว้ว่า การเริ่มธุรกิจในช่วงเวลานี้ต้องคิดให้มากว่าหากลูกค้าจะควักเงิน สินค้าของคุณจำเป็นกับการจ่ายเงินหรือไม่ และเมื่อตัดสินใจกระโดดเข้าไปเริ่มธุรกิจแล้ว ก็จะต้องก้าวให้ไว ซึ่งการเริ่มธุรกิจในยามนี้ ต้องเริ่มเงินทุนที่ไม่มากนัก กรณีพลาดจะไม่เจ็บตัวมากนัก พร้อมย้ำกว่า

“ธุรกิจใหม่ที่จะรอดได้ในยามเศรษฐกิจถดถอย คือ ต้องเรียนรู้ในไว”

ที่มา: https://www.bbc.com/news/business-53075485

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ