TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessโซเชียล แบงกิ้ง ... เมกะเทรนด์ สู่ เงินไร้กระดาษ

โซเชียล แบงกิ้ง … เมกะเทรนด์ สู่ เงินไร้กระดาษ

โซเชียล แบงกิ้ง (Social Banking) จะมีผลกระทบอย่างมาก โซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อย่างไร โซเชียล แบงกิ้งจะเปลี่ยนแปลงนายธนาคารในระดับเดียวกันหรือมากกว่า

ยุคที่แล้วคนส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงโซเชียล มีเดีย (Social Media) เมื่อก่อนเป็นแค่ Buzzword แต่ตอนนี้ โซเชียลมีเดีย เป็น Household Word นั่นคือ ทุกคนรู้จักว่ามันคืออะไร เช่นกันที่ตอนนี้ โซเชียล แบงกิ้ง เป็นแค่ Buzzword มีคนส่วนน้อยที่ได้ยินและรู้จัก แต่อีกไม่นานจะกลายเป็น Household Words ที่คนทั้งประเทศจะรู้ว่า โซเชียล แบงกิ้ง คืออะไร

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub และ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวกับ The Story Thailand ว่า การโอนเงินของโลกอนาคต สามารถโอนเงินเหมือนส่งสติกเกอร์ สติกเกอร์ถึงเมื่อไร เงินก็ถึงเมื่อนั้น แม้แต่การโอนเงินข้ามประเทศจะเหมือนการส่งสติกเกอร์ข้ามประเทศ ถึงทันที ไม่มีค่าใช้จ่าย ระยะทางไม่ใช่ปัจจัย และอยู่ในเครือข่ายเดียวกันทั่งโลก นี่คือ แนวโน้มที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวงการการเงินเหมือนอย่างที่โซเชียลมีเดียยุคที่แล้วมาเปลี่ยนแปลงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์

แอปฯที่คนดาวน์โหลดมากที่สุด คือ Facebook, Instagram, WhatsApp ซึ่ง 3 แอปนี้อยู่ในแทบทุกเครื่องมือถือ แต่มีเจ้าของแค่คนเดียวคือ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซึ่งเขาประกาศว่าอีกไม่นาน Message จะสามารถข้ามแพลตฟอร์มได้ และถ้า Libra ออกมาก็น่าจะสามารถโอน “มูลค่า” ข้ามแพลตฟอร์มได้ เหมือนส่งสติกเกอร์และข้อความข้ามแพลตฟอร์มที่ถึงทันทีไม่มีค่าใช้จ่าย ทั่วโลก ระยะทางไม่ใช่ปัจจัยในการโอนเงินอีกต่อไป

3 แอปฯนี้รวมกันมีผู้ใช้งานทั้งหมด 3.3 พันล้านคน ประชากรทั่วโลกมี 7.7 พันล้านคน ครึ่งหนึ่งอยู่ในระบบนิเวศของ Facebook เรียบร้อยแล้ว ใครจะกลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลกอนาคต ถ้า Libra ออกมา พวกนี้เรียกว่า โซเชียล แบงกิ้ง ทั้งหมด พวกโซเชียลมีเดียแอปฯที่มีผู้ใช้จำนวนมาก เขาเปิดสวิทช์โอนเงิน ปล่อยกู้ ให้บริการสิ่งที่ธนาคารให้บริการเข้ามาในมุมที่การบริการดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง

“การโอนเงินในอนาคตจะไม่ต่างอะไรกับการส่งสติกเกอร์ที่ถึงทันที ส่งไปที่ไหนก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย มูลค่าจะเปลี่ยน Format ได้ เหมือนแปลงไฟล์ข้อมูล”

มันจะเป็นเหมือนคลื่นสินามิเข้ามา ดิสรัปชันจะเร็วและแรงมากในวงการการเงิน สิ่งที่แพงที่สุด คือ เวลา ที่นายธนาคารควรจะต้องรีบปรับตัวกันแล้ว

“ไทยจะกลายเป็นเมืองขึ้นเต็มตัวหรือไม่สำหรับเทคโนโลยีในโลกอนาคต ตอนนี้เรากำลังดีใจกันอยู่ว่ายอดใช้ของ PromptPay แซงหน้าอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งไปแล้วในเมืองไทย แต่เป็นผู้ชนะในระยะสั้น ที่ประเทศจีนไม่มีใครใช้โมบาย แบงกิ้งแล้ว เขาใช้ โซเชียล แบงกิ้ง กันหมด”

ตรุษจีนที่ผ่านมา แอปฯ WeChat โอนเงินอิเล็กทรอนิกส์อั่งเปา 100 กว่าพันล้านดอลลาร์ภายในไม่กี่วัน แอปฯนี้ไม่ได้โอนเงินอย่างเดียว เรียกแท็กซี่ได้ สั่งอาหารได้ นัดหมอได้ ลงทุนได้ เรียกว่า Super App Trend

ถ้าแอปฯธนาคารยังไม่ User Friendly จะโอนเงินแต่ละครั้งต้องนั่งจำเลขที่บัญชีหลายตัว จำไม่ง่าย เลขที่บัญชีไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชื่อผู้ที่จะรับโอน เข้าออกแอปฯประมาณ ​7 ครั้งเพื่อที่จะโอนเงินสำเร็จหนึ่งครั้ง

กระแสการเปลี่ยนเปลงที่รุนแรงและรวดเร็วนี้ ทำให้ในอนาคตจะเกิดรูปแบบความร่วมมือทางธุรกิจแบบใหม่ ระหว่างธนาคารกับบริษัทเทคโนโลยี เพื่อให้บริการโซเชียล แบงกิ้ง

ในรูปแบบความร่วมมือนี้ธนาคารจะเล่นบทบาทเป็น Utilities Provider ข้างหล้งบ้าน และทำงานส่วนหลังบ้าน อาทิ การเก็บเงินลูกค้า การส่งรายงานให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และการขอใบอนุญาจากธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ในขณะที่บริษัทเทคฯ จะเป็น Front-end Customer Facing ทำ User Experience ที่ดี ทำส่วนที่ ​Sexy ที่สุดของวงการการเงิน นั่นคือ โอนเงิน และปล่อยกู้

จิรายุส กล่าวว่า ถ้าธนาคารเบอร์หนึ่งไม่จับมือ ธนาคารเบอร์สองไม่จับมือ แต่ถ้าธนาคารเบอร์สี่จับมือกับแอปโซเชียลมีเดียต่าง ๆ (WeChat, LINE, Facebook, GOJEK, Grab) ทำโซเชียล แบงกิ้งก่อน ธนาคารนั้นจะเข้าถึงลูกค้า 47 ล้านคน หรือ 70 ล้านบัญชีทันที อยู่ที่ว่าใครเป็นพันธมิตรกับใคร ธนาคารเบอร์สี่จะกลายเป็บธนาคารเบอร์หนึ่ง และจะกลายเป็น Utilities Provider เบอร์หนึ่งของประเทศทันที ถ้าธนาคารเบอร์สี่ไม่ทำ ธนาคารเบอร์ห้าทำอยู่ดี

“ถ้าธนาคารไม่จับมือกับบริษัทเทคโนโลยี อาจเปิดทางให้ธุรกิจอื่นกลายมาเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแทน จึงเกิดเป็นรูปแบบพันธมิตรแบบใหม่ระหว่างธนาคารกับบริษัทเทคโนโลยี”

ปีนี้เป็นปีที่มูลค่าของข้อมูลแซงหน้ามูลค่าของน้ำมันไปแล้ว คนที่มีข้อมูลที่เรียกว่า Non-traditional Data คือ บริษัทเทคโนโลยีส่วนธนาคารมีแค่ Traditional Data ได้แก่ สถานภาพทางการเงิน (Bank Statement) เงินเข้าออกบัญชี อาชีพ รายได้ ซึ่งไม่มากพอที่จะรู้จักลุกค้าคนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีเงินหรือสินทรัพย์ค้ำประกันถึงจะปล่อยกู้ได้

แต่บริษัทเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee, Grab, GOJEK, Facebook, LINE, Flash Express หรือ Kerry มี Non-traditional Data ที่จะนำมาวิเคราะห์ให้รู้จักลูกค้าหนึ่งคนดีจนกระทั้งไม่ต้องมีอะไรมาค้ำประกัน สามารถปล่อยกู้ได้เลย

แนวโน้มรูปแบบความร่วมมือแบบนี้ชัดเจนมาก Apple ออกบัตรเครดิตของตัวเอง ที่มีโลโก้ Apple อยู่ข้างหน้าของบัตร โลโก้ธนาคารโกลด์แมน แซคส์ ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดที่เปิดมา 151 ปี อยู่ด้านหลังบัตร และล่าสุด Google เปิดบริการ Checking Account (บัญชีเงินฝากที่รองรับการจ่ายเช็คเงินสด หรือการรูดบัตรเดบิต) ให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีธนาคารได้กับ Google ซึ่งเป็นพันธมิตรกับธนาคาร

ล่าสุด กสิกร ไลน์ เป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกับบริษัทเทคโนโลยี มาเปิดร่วมกันเป็น โซเชียล แบงกิ้ง

อย่างไรก็ดี โซเชียล แบงกิ้ง ช่วงเริ่มต้นอาจจะเป็น Quick-Win ในภาคธนาคารให้บริการลูกค้ารายย่อย เป็น B2C แต่ถ้าปริมาณมากขึ้นก็สามารถเป็น B2B ได้ คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมจะเห็นแนวโน้มและรูปแบบธุรกิจว่าจะสามารถเปลี่ยนบริการ โซเชียล แบงกิ้ง มาให้บริการลูกค้าองค์กร (B2B) อย่างไร ทั้งนี้ บริษัทเองก็ต้องการสิ่งที่เร็วขึ้น ดีขึ้น และถูกลง เช่นกัน

ในจีน โซเชียล แบงกิ้ง กลายเป็นบริการหลักทางการเงินภายใน 6 ปี ที่ Alipay กับ WeChat ทำให้คนทั้งประเทศ 1.5 พันล้านคน ไม่ใช้เงินสด ประเทศไทย มี 69 ล้านคน อัตราการมีมือถือ 144% อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 80% อัตราการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย 70% ดังนั้น น่าจะไม่ถึง 10 ปี โซเชียล แบงกิ้ง จะกลายเป็นบริการหลัก

“เมื่อก่อนอาจมองว่าบริษัทเทคโนโลยีกับธนาคารเป็นคู่แข่งกัน ตอนแรกบริษัทเทคโนโลยีไม่ได้สนใจวงการการเงิน แต่เมื่อบริษัทเทคโนโลยีมีฐานผู้ใช้จำนวนมาก เป็นสิ่งจำเป็นที่ธนาคารและบริษัทเทคฯ ต้องเป็นพันธมิตรกัน ใครเก่งฝั่งไหนก็ทำฝั่งนั้น แต่กฎของโลกใบนี้คือ ใครมีลูกค้าอยู่ในมือ มีอำนาจต่อรองมากกว่า”

ธนาคารดิจิทัล

จิรายุส กล่าวว่า รูปแบบการเป็นพันธมิตรนี้จะเป็นเพียงรูปแบบที่เหมาะสมในระยะสั้นเท่านั้น (Short-term Quick Win) แต่ในอนาคตเมื่อมีใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารดิจิทัล (Digital Bank License​) เกิดขึ้นแพร่หลาย อาทิ ที่สิงคโปร์เริ่มให้ใบอนุญาตแล้ว ซึ่ง Grab และ TikTok อยู่ระหว่างขอใบอนุญาต ในขณะที่ประเทศไทยกำลังทบทวนอยู่ว่าใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารดิจิทัลควรจะออกมาหรือไม่

ธนาคารสร้างธุรกิจบนความเชื่อว่าเงิน คือ กระดาษ ต้องมีสาขา ต้องมีคน มีที่เก็บเงิน มีกระบวนการบริหารจัดการบนความเชื่อที่ว่า เงิน คือ กระดาษ​

แต่ถ้าเปลี่ยนความเชื่อว่า เงิน ไม่ใช่กระดาษ จะทำให้สมมติฐานทางธุริจเปลี่ยน การดำเนินธุรกิจเปลี่ยน จะต้องมี ธนาคารดิจิทัล เกิดขึ้น เพราะเงิน คือ ดิจิทัล ใบอนุญาตก็ต้องเป็นใบอนุญาตสำหรับธนาคารดิจิทัล นี่คือ​ โลกอนาคต

โลกอนาคต เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า เงิน ไม่ใช่กระดาษ เหมือนวงการเพลง ในยุคแรกเริ่มจากเทปและซีดี เพลง คือ สินค้าที่ต้องจับต้องได้ แต่เมื่อมาเป็นเพลงออนไลน์ เพลงไม่ต้องจับต้องได้ ฟังสะดวก (Programable Music) วงการหนังสือพิมพ์ ถ้ายังทำธุรกิจบนความเชื่อที่ว่า จะต้องจับต้องเป็นกระดาษจะเหมือนหลายสื่อที่โดนกระทบ ปิดตัวลง เพราะคนไปอ่านข่าวออนไลน์ เพราะอ่านข่าวได้เหมือนกัน แก่นของข่าว คือ คอนเทนต์ไม่ใช่กระดาษ

“เงินก็เช่นกัน คือ มูลค่า ไม่ใช่กระดาษ ธนาคารต้องสร้างธุรกิจบนความเชื่อที่ว่าเงินจะไม่ใช่กระดาษแล้ว”

ใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารดิจิทัลไม่ได้จำกัดแต่สถาบันการเงินหรือธนาคารเท่านั้นที่สมัครได้

ความจำเป็นในการเข้าถึงบริการทางการเงินมีความจำเป็นและมีความจำเป็นต่อไปในโลกอนาคต แต่สถาบันการเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การเงินจะเปลี่ยนรูปแบบ สถาบันการเงินต้องเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น ธนาคารจะต้องเป็นธนาคารดิจิทัล

“ธนาคารต้องรีบปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่มีใครหยุดการเปลี่ยนแปลงของโลกนี้ได้ อะไรที่เร็วขึ้น ดีขึ้น ถูกลง ลูกค้าเลือกตลอด ชนะตลอดในระยะยาว การที่เทคโนโลยีเดินไปข้างหน้า การที่มีการแข่งขันเกิดขึ้น คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ ลูกค้า”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ