TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeอว.ตั้งกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา เดินหน้าพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ปรับหลักสูตรสร้าง "คน"

อว.ตั้งกองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา เดินหน้าพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ปรับหลักสูตรสร้าง “คน”

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ครั้งแรกในไทย เบื้องต้นมีงบตั้งต้นกว่า 1,000 ล้านบาท หวังใช้เป็นทุนต่อยอดสร้างรากฐานสำคัญในการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมอัปเดตการดำเนินโครงการ“พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” (Reinventing University) ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ 5 กลุ่ม ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สอดคล้องและเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยในปีที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไปแล้วกว่า 50 % และมีมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือก 17 มหาวิทยาลัย 15 โครงการ

ศาสตราจารย์พิเศษดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างพิธีเปิดตัวกองทุนเพื่อการพัฒนาการอุดมศึกษาว่า กองทุนนี้นับก้าวสำคัญของการปฏิรูปการเรียนระดับอุดมศึกษาของไทยที่จะเป็นแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยคิดหรือได้ทดลองหลักสูตรใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะหลักสูตรที่เน้นเรื่องการปฏิบัติตามความต้องการของตลาด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ประเทศได้มากขึ้น โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้มาร่วมทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์กับอว. เพื่อสร้างวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ตามความต้องการของบริษัทที่มาขอรับการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EECi) เพื่อตอบสนองความต้องการของโลกยุคใหม่ เช่น Cyber Security นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data scientist) นักบูรณาการระบบในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้ในอนาคต

สำหรับแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษานี้่จะมุ่งเน้นที่การผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจรองรับการดิสทรัปชั่นอย่างรวดเร็ว (Disruptive change) และพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบสนองความต้องการของคนทุกช่วงวัยให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนได้ 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนฯ จะเข้ามาขับเคลื่อนและช่วยสนับสนุนภารกิจเฉพาะด้านในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อาทิ ผลิตบัณฑิตและกำลังคนที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูงเพียงพอต่อความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสาขาใหม่ ๆ และพัฒนาสังคมและชุมชนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก 

“ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษามีการคิดพัฒนาหลักสูตรในเชิงของซัพพลาย โดยไม่ได้มองในมุมของดีมานต์หรือความต้องการที่แท้จริงของตลาดมาก่อน ซึ่งการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษานี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างเครือข่ายให้มหาวิทยาลัยมีช่องทางในการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการหลักสูตรและสถาบันให้สามารถสร้างบุคลากรที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับโลกยุคใหม่” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าว

ทั้งนี้การดำเนินงานการจัดตั้งของกองทุนฯ อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการให้ทุนกับภาคอุดมศึกษา ซึ่งจะใช้แหล่งงบประมาณตามมาตรา 45(3) งบพัฒนาความเป็นเลิศและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และงบประมาณตามมาตรา 45 (4) งบเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งแตกต่างจากงบประมาณที่จัดสรรจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนหรือในพื้นที่เป้าหมาย

ด้าน ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวว่า กองทุนฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ 5 กลุ่ม ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนประกอบด้วย 1) กลุ่มมุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา การวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research), 2) กลุ่มมุ่งยุทธศาตร์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology & Innovation), 3) กลุ่มมุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community), 4) กลุ่มมุ่งยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักทางศาสนา (Moral & Intellectual Cultivation) และ 5) กลุ่มมุ่งยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะทาง (Specialized & Professional) โดยมีทุนตั้งต้นอยู่ที่ประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติงบประมาณประจำปี 2565 สำหรับกองทุนดังกล่าว ทำให้โดยรวมน่าจะได้งบเพิ่มขึ้นกว่า 7,000 ล้านบาท 

“การปฏิรูประบบอุดมศึกษาถือเป็นพื้นฐานเริ่มต้นสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้กำลังดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษาในด้านต่าง ๆ โดยในปีที่ผ่านมาการดำเนินโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแล้วเสร็จไปกว่า 50% และมีมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือก 17 มหาวิทยาลัย 15 โครงการ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง” ดร.ศุภชัย กล่าว 

สำหรับการยกระดับคุณภาพในด้านการศึกษานี้ ประกอบด้วย 

1. การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบแวดล้อมเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนสมัยใหม่และเน้นประสิทธิภาพการเรียนรู้ในสถานการณ์โรคระบาดของ COVID-19 การพัฒนาหลักสูตรตามทิศทางของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เช่น หลักสูตรที่มีมาตรฐานระดับนานาชาติ หลักสูตรการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม หรือหลักสูตรพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น  

2.การพัฒนาบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ การพัฒนาทักษะอาจารย์ เพื่อให้สามารถตอบสนอง ต่อการเรียนในศตวรรษที่ 21 การจ้างผู้เชี่ยวชาญการวิจัยระดับโลก ทั้งแบบเต็มเวลา (Full-time) และไม่เต็มเวลา (Adjunct & Visiting Scholar) 

3.การยกระดับความเป็นนานาชาติ ได้แก่ เกิดการสร้างเครือข่ายกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลก ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องที่เป็นรูปธรรมในลักษณะ strategic partner และความร่วมมือที่สอดคล้องกับทิศทางและจุดเน้น ของสถาบันอุดมศึกษาและประเทศ เช่น การวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนบุคลากร นักศึกษา หลักสูตรร่วม 

4.การสนับสนุนการบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ การส่งเสริมระบบการบริหารและจัดการ ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขับเคลื่อนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ การส่งเสริมให้แสวงหาทุนวิจัยระดับนานาชาติ และกิจกรรมความร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก

และ 5.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงาน/เอกชน/ชุมชนตามกลุ่มยุทธศาสตร์และจุดเน้น สถาบันอุดมศึกษา ในลักษณะจตุรภาคี การรวมกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายหรือทิศทางของประเทศ ทั้งการสร้างความเป็นเลิศและกำลังคนร่วมกัน

ขณะที่ ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยกล่าวเสริมว่า ก่อนที่จะมีกองทุน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศก็จะต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างไป แต่พอมีการจัดวางนโยบายแบ่งกลุ่ม มีการกำหนดทิศทาง จากส่วนกลาง การขับเคลื่อนให้ได้ตามทิศทางนั้น ในเรื่องของการสร้างคนตามความต้องการของประเทศ และเรื่องของการสร้างความเป็นเลิศ ก็จำเป็นต้องมีงบประมาณในการมาผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถขับเคลื่อนไปตามนโยบายเป้าหมายที่วางไว้ได้ ดังนั้น การจัดตั้งกองทุน ช่วยให้แนวทางการทำงานของกระทรวงอว. เพื่อปฏิรูปมหาวิทยาลัยบรรลุผลตามความตั้งใจได้อย่างราบรื่นมากขึ้น 

ด้าน ศ.ดร.ศันสนีย์ไชยโรจน์อนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย อธิบายเพิ่มเติมว่า การมีกองทุนทำให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ชุมชน และหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบูรณาการหลักสูตร ทำให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหันมาร่วมมือเพื่อขัดเกลาความเป็นเลิศของตนด้วยการช่วยสนับสนุนกันและกัน แทนที่จะแข่งกันแล้วไปคนละทิศละทาง เรียกได้ว่า พอมีกองทุน ก็ทำให้มหาวิยาลัยแต่ละแห่งต้องคิดและมองหาจุดแข็งของตนเองเพื่อยกระดับปรับปรุงพัฒนาจุดเด่นของตนเอง โดยมีเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ทำให้เกิดขึ้นได้จริง 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

กสิกรไทยจัดงาน KBTG Inspire หาคนไอที เข้าร่วมทำงานกว่า 700 คน

แม็คโคร ผนึก กรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่งต่ออาหารส่วนเกินที่ยังทานได้ (Food Waste) ต่อชีวิตสัตว์ป่า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ