TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเปิดตัว สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย พร้อมถก "อนาคตเว็บไซต์และสื่อออนไลน์"

เปิดตัว สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย พร้อมถก “อนาคตเว็บไซต์และสื่อออนไลน์”

คนสื่อออนไลน์เชื่อมั่น “เว็บคือบ้าน” ท่ามกลางกระแสโซเชียลมีเดียเชี่ยวกราก สื่อออนไลน์ยากและเหนื่อย แต่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย

ดิจิทัลดิสรัปชันได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายหลากหลายมิติ รวมถึงการปรับขยายบทบาทของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (Thai Webmaster Association) จากการเป็นสมาคมของคนทำเว็บ สู่สมาคมของทั้งระบบนิเวศของคนทำเว็บและสื่อออนไลน์อื่น ๆ ทำให้เมื่อวาน (24 กันยายน 2565) ในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย (Thai Webmaster Association) มีการประกาศปรับเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็น “สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย” เปิดรับสมาชิกที่กว้างมากขึ้น ตั้งแต่เจ้าของเว็บไซต์ เจ้าของสื่อออนไลน์ ไปจนถึง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์ 

โดยที่ประชุมมีมติเลือก เมธปริยา คำนวนวุฒิ เป็นนายกคนแรกของสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย 

เมธปริยา คำนวนวุฒิ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย

เมธปริยา คำนวนวุฒิ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ไทย กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนด้วยการเพิ่มคำว่า “สื่อออนไลน์ไทย” เข้ามาด้วยเนื่องเพราะแนวโน้มของการทำสื่อเปลี่ยนไปมาก คนทำเว็บเองมีสื่อออนไลน์ผ่าน Social Media และมีกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำเว็บแต่ก็มีบทบาทในโลกออนไลน์ เช่น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์ สมาคมฯ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ไทย ขยายบทบาทรับสมาชิกเพิ่ม

แนวทางการเปลี่ยนแปลงของสมาคมฯ คือ 

  • เปลี่ยนแปลงชื่อสมาคมจาก “สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย” เป็น “สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ไทย” 
  • เพิ่มการรับสมัครสมาชิกจากเจ้าของเว็บไซต์ มาเป็น เจ้าของเว็บไซต์ และเจ้าของสื่อออนไลน์ต่าง ๆ 
  • ยังคงเป็นสมาคมวิชาชีพที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุน ส่งเสริมเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็นระหว่างสมาชิก 

นอกจากการแถลงทิศทางใหม่ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยแล้ว ยังมีงานเสวนาในหัวข้อ “The Future of Website and Online Publisher” ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมอง ในการทำเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มการเคลื่อนตัวในอนาคต

ผู้ร่วมเสวนาเป็นผู้ก่อตั้งและรันเว็บไซต์สื่อออนไลน์ชื่อดัง ได้แก่ พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ จาก Beartai วิไลลักษณ์ โพธิ์ตระกูล จาก The Standard และณธิดา รัฐธนาวุฒิ จาก Marketing Oops ดำเนินการเสวนาโดย สุธีรพันธุ์ สักรวัตร จาก SCBX 

เปิดฉากเสวนาด้วยการรีวิวที่มาและความเชื่อในการทำเว็บสื่อออนไลน์ โดยณธิดา รัฐธนาวุฒิ จาก Marketing Oops กล่าวว่า เชื่อในเว็บอย่างหนักแน่น ท่ามกลางการบูมหนักมากของ social media เพราะเชื่อว่ายังไงเว็บไซต์ก็คือ “บ้าน” ช่วงแรกของการทำ Marketing Oops! ทำคนเดียวตั้งแต่แรก ทั้งทำเว็บและคอนเทนต์ และขายงาน ซึ่งสปอนเซอร์คนแรกคือ AIS และที่ชื่อ Marketing Oops! เพราะคิดชื่ออื่นไม่ออก ซึ่งจริง ๆ คือ ต้องการให้ชื่อเป็นการตลาดแบบไม่ทางการ เพื่อฉีกแนวออกจากเว็บการตลาดอื่น ๆ ที่ตอนนั้นมีอยู่จำนวนไม่น้อย และต้องการสะท้อนเนื้อหาของเว็บว่าเป็นเรื่องการตลาดที่แบบว่า “อุ๊บ” 

ในขณะที่ วิไลลักษณ์ โพธิ์ตระกูล จาก The Standard กล่าวว่า ก่อนมาเป็น The Standard ทำ The Momentum จุดเริ่มต้นของการทำ web content เต็มตัวจากเดิมที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งช่วงที่ทำ The Momentum ได้ประสบการณ์การทำงานออนไลน์มาก จนมาเป็น The Standard เพราะต้องการให้เกิด pure online news agency เป็นคนตั้งมาตรฐานข่าวออนไลน์

ทีมงานมาจากสายแมกกาซีนเยอะกว่าคนจากสายข่าว ทำให้มีความโดดเด่นของวิธีการเล่าเรื่องที่มี creativity รื้อวิธีการนำเสนอจาก news reporting model พร้อมใส่ minutes-read เพื่อช่วยผู้อ่านตัดสินใจว่าจะอ่านไหม ซึ่งกว่าจะมาเป็น The Standard ในวันนี้ ในวันแรก ๆ ก็ต้องฟันฝ่าความน่าเชื่อถือในสำนักข่าวออนไลน์เกิดใหม่เช่นกัน ซึ่งจุดแจ้งเกิด คือ การจัด debate ตอนเลือกตั้ง 2562

เมื่อผู้ดำเนินการเสวนาชวน fast forward กลับมาที่ปัจจุบัน ว่าสื่อออนไลน์จะอยู่รอดและไปต่อด้วยท่วงท่าไหนอย่างไร ได้ข้อสรุปคร่าว ๆ ว่า สื่อออนไลน์ ต้องมี event ของตัวเอง เพราะการจัดงานเป็นการประกาศว่าสื่อออนไลน์นั้นเอาจริง ไม่ได้ทำเล่น ๆ ทำเป็นงานอดิเรก แต่ทำเป็นธุรกิจที่จะเติบโตยั่งยืนต่อไป ในขณะที่ สุธีรพันธ์ เสริมว่า แบรนด์สื่อออนไลน์ ต้องมีแบรนด์บนสื่อออฟไลน์ด้วย เพราะการมีแบรนด์บนสื่อออฟไลน์จะมี creditability สูงกว่า

การปรับตัวของสื่อ

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ จาก Beartai กล่าวว่า ท่วงท่าของ แบไต๋ คือ 80:20 คือ ad vs original content แต่บนเว็บ original content จะมากกว่า กลยุทธ์ของแบไต๋ คือ การเพิ่มสัดส่วนของ original content กลุ่ม audience เด็กลง ภาษาสื่อสารต้องปรับ เพราะคำว่า mass ไม่มีอยู่จริง มีแต่ big fan + temporary mass ที่มากับ real-time content แค่ชั่วขณะ

“พยายามทำ original content ให้ปัง แล้วโทรศัพท์จะดัง เมื่อเขาเป็นคนมาติดต่อเรา เราตั้งเงื่อนไขได้ (ขอวิจารณ์ ตั้งข้อสังเกตตามจริง) ผมมองว่า paid content คือ การเอาโฆษณามาเป็นข้อมูลให้ผู้อ่าน/ผู้ชม”

พงศ์สุข กล่าวต่อว่า เมื่อเขาตัดสินใจทำอาชีพสื่อตลอดชีวิต เขาต้องปรับตัวตลอดเวลา และเขาเต็มที่กับทุกงาน เขาบอกว่าเขาเปิดเบอร์ 10 ทุกงานที่ทำ โดยไม่คำนึงว่างานนั้นราคาเท่าใด 

“ทุกเช้าไปทำงานผมไม่รู้ราคาของแต่ละงาน ผมแค่ทำหน้าที่ของผมให้ที่ที่สุด ผมเป็นวัตถุดิบของบริษัท ผมเป็นไข่ทองคำ ที่ผลิตไข่ให้คน 90 คนในบริษัท”

ณธิดา กล่าวเสริมว่า ลูกค้าเข้าใจ content marketing มากขึ้น จะไม่ push ความเป็นแบรนด์เข้ามาก แต่ให้เขียนตามสไตล์ของสื่อ ซึ่ง Marketing Oops! ไม่มอง advertorial คือ advertorial แต่คือแหล่งข้อมูลที่ทำให้เขียน article ที่ดีให้ผู้อ่าน สำหรับการสร้างรายได้ เว็บจะสวมบทบาทเป็นเอเจนซี่ ช่วยวางกลยุทธ์ให้ทั้งปีตาม objective มีการทำ year-plan นอกเหนือจากการขาย ad และ advertorial

“social media ผู้รับสารเห็นคอนเทนต์ แต่ไม่ engage ส่วนในเว็บนั้น Marketing Oops! เป็นสื่อที่ติดจำนวน view บนเว็บ เพื่อให้นักเขียนซื่อสัตย์กับงานเขียนตัวเอง” 

ลูกค้า มีความเข้าใจสื่อมากว่าอยากทำงานกับสื่อนี้ รูปแบบนี้ ไม่ได้แค่อยาก “ซื้อ” แต่เป็นการ co-create ร่วมกันเพื่อให้ได้ “ผลงาน” ที่ดี ต่อทุกฝ่าย ทั้งแบรนด์ สื่อ และที่สำคัญ คือ ผู้บริโภค ซึ่ง asset ของ oops network คือ content business ที่ต้องสร้าง business ที่มี revenue model ต้องแตกไลน์ธุรกิจ อาทิ event หรือ education และอื่น ๆ

“อนาคตคนทำสื่อ “ยาก” และ “เหนื่อย” เพราะทุกคนเป็นสื่อหมด ทั้ง audience brand และทุกคน ในขณะที่ audience มีทางเลือกในการเสพสื่อมากขึ้นอย่างมาก”

Subscription model ยาก แต่เป็นไปได้

สำหรับรูปแบบการสร้างรายได้จากธุรกิจสื่อออนไลน์ ที่มากกว่าการขาย ad และ advertorial หรือการจัดสัมมนา คืออะไร รูปแบบที่พูดถึงกันมากอย่าง subscription model มีความเป็นไปได้หรือไม่ subscription model คอนเทนต์ต้องเป็น niche และ timeless เท่านั้นใช่หรือไม่

วิไลลักษณ์  กล่าวว่า ในมุมสื่อต้องปรับตัว The Standard จะขยับไป education แต่ด้วยรูปแบบอย่างไรอยู่ในแผนงาน ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมาสำหรับการเป็นสื่อ The Standard ได้พิสูจน์ความแข็งแกร่งได้ระดับหนึ่งสำเร็จแล้ว 

สำหรับการสร้างรายได้จาก subscription model วิไลลักษณ์ มองว่า เป็นโอกาสที่เป็นไปได้ เพราะคนไทยเริ่มเปิดรับและคุ้นชิน subscription model มากขึ้นจาก content อื่น ๆ และจากกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยลองจัดมา 

“ตัวอ่อนของ original content and model เป็นตัวอ่อนของการสร้างรายได้จาก subscription ได้ในอนาคต การมุ่งไป education ก็เป็นท่าหนึ่ง”

ในขณะที่พงศ์สุข มองว่าการสร้างรายได้จาก subscription ด้วยคอนเทนต์นั้นยากและแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะ content ต้องพรีเมียมมาก ใช้เวลา ได้คนวงแคบ และการทำคอนเทนต์ mass กับ niche คนทำต้องเปลี่ยน mindset และกระบวนการทำงานใหม่หมด

“ถ้าจะหาเงินจาก subscription model ต้องเปลี่ยนจาก content เป็น product” พงศ์สุข กล่าว

ณธิดา มองว่า subscription model เป็นไปได้ แต่ต้องนำเสนอในรูปแบบอื่น สื่อต้องและสร้างรายได้เป็น community based ไม่ใช่จาก content อาจเป็น education เป็นต้น

ไม่มีคำตอบและสูตรสำเร็จจากเวทีเสวนา แต่มีทิศทางและแนวโน้มที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้ให้สื่อออนไลน์ในไทยนำไปตกผลึกและกลั่นออกมาเป็นกลยุทธ์ของธุรกิจตามแต่ความถนัดและความพร้อมของแต่ละราย แต่ที่แน่ ๆ จากนี้ไปวงการสื่อออนไลน์จะมีความคึกคักมากขึ้นอย่างแน่นอน หนึ่งในปัจจัยเร่งก็คือ การแสดงบทบาทของ สมาคมผู้ดูแลเว็บไซต์ และสื่อออนไลน์ไทย นั่นเอง 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ