TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability‘ฮอนด้าเคียงข้างไทย’ ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างต้นธารชีวิต ชุมชนอยู่ได้ยั่งยืน

‘ฮอนด้าเคียงข้างไทย’ ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างต้นธารชีวิต ชุมชนอยู่ได้ยั่งยืน

มหาอุทกภัย ปี 2554 เป็นเหตุให้รถยนต์ในโรงงานฮอนด้าจมน้ำจนต้องทำลายทิ้งกว่า 1,000 คัน เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นต้นกำเนิด ‘กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย’ ในปีถัดมา โดยการระดมทุนจากการขายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ คันละ 1,000 บาท 100 บาท และ 10 บาทตามลำดับ รวมเป็นเงินทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อตอบแทนประเทศไทย ซึ่งมีเรือธงเป็นเรื่อง “น้ำ”

กองทุนเข้าสนับสนุนมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมป์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ซึ่งดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแนวพระราชดำริ ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ประชาชนสามารถพัฒนาหรือบริหารจัดการน้ำได้เอง พร้อมส่งต่อสู่ชุมชนใกล้เคียงเพื่อพัฒนาต่อไป

เกิดจากน้ำ ร่วมพัฒนาแหล่งน้ำ

พิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ใช้โอกาสในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สร้างฝายภูมิปัญญาและปลูกต้นไม้พันธุ์พื้นเมือง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ณ ชุมชนบ้านดงผาปูน ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เล่าว่า กองทุนดำเนินงานหลายอย่าง แต่แฟล็กชิปของกองทุนเป็นเรื่องน้ำ เพราะที่มาที่ไปของกองทุนมาจากน้ำ 

“น้ำมีทั้งโทษและประโยชน์ น้ำมาเกิดน้ำท่วม น้ำไปเกิดภัยแล้ง จะต้องบริหารจัดการน้ำเป็นประโยชน์แก่คนทุกช่วงเวลา โดยหน่วยงานที่ทำเรื่องน้ำได้ดีที่สุดคือ มูลนิธิอุทกพัฒน์”

การดำเนินงานคือ มูลนิธิจะคัดชุมชนที่มีความตั้งใจจริงในการพัฒนาแหล่งน้ำให้กองทุนประเมินความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เพื่อการสนับสนุนเงินทุนจะทำให้เกิดประโยชน์แท้จริงในชุมชน หากทุ่มงบประมาณใส่ไปในชุมชนที่ไม่เข้าใจ หลังทำโครงการเสร็จก็หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งไม่ได้ให้เฉพาะงบประมาณเท่านั้น แต่ยังมีอาสาสมัครเข้าร่วมกับชุมชนด้วย

การทำเพื่อสังคมเกี่ยวกับน้ำมีหลายด้าน เช่น บริจาคช่วยน้ำท่วม และเลือกทำโครงการน้ำที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน โดยพยายามเลือกทำที่เป็นต้นน้ำ เมื่อลองทำหลายๆ จุดทำให้รู้ว่า ถ้ารักษาต้นทาง หลังจากนั้นทุกคนได้ประโยชน์หมด ดังนั้น หลัก ๆ กองทุนจะทำงานกับแหล่งที่เป็นต้นน้ำมาก ๆ และมีที่เป็นกลางน้ำบ้าง

ส่วนที่บ้านดงผาปูนเป็นป่าต้นน้ำ ทางกองทุนเข้าร่วมดำเนินการและให้เงินสนับสนุนตั้งแต่ปี 2559 รวมประมาณ 9.2 ล้านบาท ซึ่งได้ประโยชน์ตั้งแต่ชาวบ้านในพื้นที่ ไล่ไปจนถึงคนกรุงเทพฯ จากภูเขาหัวโล้นเมื่อ 7 ปีก่อน เกิดเป็นป่า มีน้ำตลอดปี เกิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน

เมื่อโครงการเข้ามาด้วยคอนเซ็ปต์ทำให้ชุมชนอยู่กับป่าได้ ช่วยทำให้ธรรมชาติเกิดขึ้นมาใหม่ ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้ ได้รับผลประโยชน์จากป่า หยุดการรุกป่าได้ ใน 6-7 ปี ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง สุดท้ายอยู่ไม่ได้ สุขภาพไม่ดี และต้องเป็นหนี้ไปเรื่อย ๆ

หวงแหนป่า สร้างความยั่งยืน

“โมเมนตัมเปลี่ยนจากการบุกรุกป่าไปเรื่อย ๆ กลายเป็นหยุด และเข้าใจ อยู่กับป่า ปกป้องป่า การดำเนินโครงการทำให้เกิดความยั่งยืนจากชุมชนที่รู้จักหวงแหนป่า แม้ระหว่างทางเริ่มแรกจะมีอุปสรรค จากที่ไม่มีน้ำตลอดปี ต้องแก้ปัญหามากมาย เช่นการดึงท่อขึ้นมาเพื่อประคองความชุ่มชื้น กระทั่งอยู่ตัวในวันนี้ มีรายได้เพิ่ม ไม่ต้องเป็นหนี้ กินอยู่กับป่าโดยไม่ต้องบุกรุกพื้นที่เพิ่ม สุขภาพดีขึ้น จากความตั้งใจของชุมชนและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และเมื่อเห็นผลแล้วชุมชนใกล้เคียงต้องการทำตาม กลายเป็นห้องปฏิบัติการต้นแบบที่มีชีวิต”

อย่างไรก็ตาม การทำงานของกองทุนเป็นการตอบแทนสังคมไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน แต่ที่ได้รับกลับคืนมาจากพนักงานฮอนด้าที่เข้าร่วมมีความสุข ชาวบ้านได้ประโยชน์ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าอื่น ๆ 

“เป็นความยั่งยืนจากการที่ชุมชนมีความเป็นเจ้าของ พยายามทำให้ดีขึ้น เห็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทำให้ช่วยกันรักษาธรรมชาติไว้ได้โดยไม่ต้องฝืน ซึ่งวงจรที่เกิดขึ้นเป็นไปในทางบวก และเป็นจุดเล็ก ๆ ให้เห็นความสำเร็จ และชุมชนอื่นต้องการทำเหมือนกัน” กรรมการผู้จัดการกองทุน เน้น

โครงการลักษณะเดียวกันนี้ ทางกองทุนดำเนินการใน 10 พื้นที่ เฉพาะจังหวัดน่านมี 4 ชุมชน ให้เงินสนับสนุนรวมประมาณ 20 ล้านบาท จังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ พะเยา พิษณุโลก แพร่ และปราจีนบุรี แต่ละพื้นที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างกันตามความจำเป็น บางแห่งมีที่ดินบริจาค 50 ไร่ เป็นบ่อน้ำรกร้าง เก็บน้ำไม่ได้ ก็เข้าไปช่วยทำเขื่อนให้เก็บน้ำได้

ล่าสุด กองทุนได้ทำกิจกรรมสร้างฝายภูมิปัญญา (คอกหมู) 3 ฝาย และปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมือง เช่น ต๋าว หวาย เมี้ยง มะแข่น พะยูง ยางนา กฤษณา รวม 1,000 ต้นเพื่อช่วยชะลอน้ำและเสริมความชุ่มชื้นเพื่อให้พื้นที่คงความอุดมสมบูรณ์ ประชากรมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค และทำการเกษตรตลอดทั้งปีอย่างยั่งยืน

ฝายภูมิปัญญา (คอกหมู) 3 ฝาย

มีน้ำใช้ 12 เดือน-ขายออนไลน์รายได้เพิ่ม 10 เท่า 

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมป์ เล่าด้วยว่า ชุมชนบ้านดงผาปูน และบ้านนาบงพื้นที่ติดต่อกัน เดิมเป็นภูเขาหัวโล้น จากการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 8,000 ไร่ เริ่มทดลองปลูกป่าบนพื้นที่ 2,000 ไร่ก่อน โดยการหาน้ำมาให้พอใช้ตลอดปีจากเดิมมีเพียง 5 เดือน และปลูกกล้วย ก่อนขยายสู่ไม้ผลอื่น ๆ ถั่วดาวอินคา มะนาว และไม้ยืนต้นในที่สุด ตามด้วยกองทุน USO จาก กสทช. มาติดตั้งเสาสัญญาณ ชาวบ้านได้ขายผลิตภัณฑ์ออนไลน์ ทำให้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจากเดิม 2,000 บาท เป็น 20,000 บาท

จากการที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ พัฒนา และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ มีความมั่นคงน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร บ้านดงผาปูน ได้รับการคัดเลือกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ แห่งที่ 27 

นอกจากนี้ ชาวบ้านยังจัดตั้งกองทุนของชุมชน และกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น กลุ่มแปรรูปต๋าว กลุ่มจักสาน กลุ่มเพาะกล้าไม้ กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนกข.คจ. กองทุนหมู่บ้าน โดยรายได้ทั้งหมดหักเข้ากลุ่ม 10% เพื่อเป็นค่าดำเนินงาน และเป็นเงินต้นทุน

“กองทุนฮอนด้าไม่ได้ให้เฉพาะเงิน และมาร่วมทำงานด้วยตั้งแต่ปี 2559 และสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังจุดประกายให้พื้นที่จังหวัดน่านลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลงอย่างมาก และเห็นได้จากอุณหภูมิที่ลดลงอย่างชัดเจน” ดร.รอยล ชี้ประเด็น

ทั้งยังให้ข้อมูลว่า จากปี 2558 มีปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งมาโดยตลอด แต่ปรากฏว่าชุมชนของโครงการรวมกว่า 1,800 หมู่บ้าน มีเพียง 5% ที่พบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งดังกล่าว

เสียงจากชุมชน

ศุภกิจ พิศจาร ประธานการจัดการน้ำชุมชนบ้านดงผาปูน เล่าว่า จากโครงการนี้ได้ต่อท่อส่งน้ำมาจากลำห้วย 2 ลำห้วย ระยะทางประมาณ 2,000 เมตร เส้นทางหนึ่งเพื่อใช้ในการเกษตรบนภูเขา และอีกเส้นทางใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน ทำให้มีน้ำใช้สอยตลอดปี เปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นให้เขียวชะอุ่ม ด้านล่างเป็นพืชผลกินได้ ด้านบนปลูกไม้ยืนต้นจำพวกไม้เศรษฐกิจ

แม่หลวงอัมพวา ใจปิง ผู้ใหญ่บ้านดงผาปูน เล่าว่า เดิมชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด เพื่อการดำรงชีวิต มีรายได้เป็นรายปี กระทั่งปี 2558 โครงการเข้ามาช่วยทำให้ทราบวิธีการจัดการ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านมีรายได้ทุกวัน ง่ายต่อการจับจ่ายใช้สอย เช่น ผักกูดที่เกิดเองตามธรรมชาติหลังมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ขายได้กิโลกรัมละ 15-20 บาท หรือพืชอื่นๆ กล้วย หวาย ต๋าว กาแฟ ลิ้นจี่ ไม้ไผ่ และจำหน่ายผลิตผลผ่านเพจ ‘ของลำ-กำกิ๋น บ้านดงผาปูน อ.บ่อเกลือ’

พ่อหลวงเพียร พิศจาร ผู้ใหญ่บ้านนาบง เล่าว่า ทางหมู่บ้านมีปัญหาเช่นเดียวกับบ้านดงผาปูน เมื่อเห็นตัวอย่างการจัดการน้ำและฟื้นฟูป่าจากบ้านดงผาปูน จึงขอเข้าร่วมโครงการด้วย และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทยเช่นกัน 

สัดส่วนการจัดการพื้นที่เขาหัวโล้น

ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมป์

การจัดการพื้นที่เขาหัวโล้นตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ แบ่งจากบนลงล่าง ดังนี้ พื้นที่ 20% บนสุด สงวนเป็นที่ปลูกป่าถาวร สำหรับปลูกไม้ยืนต้น เพื่อให้เป็นแหล่งต้นน้ำที่มีความชุ่มชื้น รากของไม้ยืนต้นมีขนาดใหญ่และสามารถรักษาดินไว้ได้ อีก 20% ถัดมาเป็นพื้นที่ป่าใช้สอย ชาวบ้านสามารถปลูกไม้ยืนต้นที่สร้างรายได้ หรือนำผลผลิตที่ได้ไปขายได้ 

พื้นที่ 30% ต่อมา เพื่อการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชน สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ หม่อน ต๋าว หวาย มะขมได้ และ 30% บนพื้นที่ราบจัดให้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ หรือพืชหมุนเวียน

เสริมความมั่นคงพนักงาน

อีกโครงการที่น่าสนใจของฮอนด้าคือ เมื่อย้ายโรงงานผลิตไปอยู่จังหวัดปราจีนบุรี ได้ปรับเปลี่ยนเรื่องที่อยู่อาศัย จากเดิมจะสร้างที่พักให้พนักงาน เป็นการให้เงินค่าที่พักแทน ซึ่งพนักงานจะบริหารจัดการเงินนี้เอง โดยนำไปซื้อที่ดินใกล้ ๆ โรงงานระยะเดินทางประมาณ 20 นาที มีพื้นที่ปลูกบ้าน และทำการเกษตร สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการดำรงชีวิตหลังเกษียณ

ข่าวอื่น

เอปสัน เปิดตัว Epson Demo Car ให้ลูกค้าองค์กรทดลองพิมพ์ฟรีถึงที่

GULF จับมือ AIS ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เชื่อมต่อเสาสัญญาณให้ชุมชนห่างไกล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ