TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistถอดรหัส เบื้องหลังความสำเร็จ

ถอดรหัส เบื้องหลังความสำเร็จ

ทุกการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความสำเร็จ “ครู” คือ คนเบื้องหลังที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะครู คือ ผู้ให้ ที่ต้องการเห็นศิษย์มีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การส่งเสริม แนะนำ และสร้างแรงบันดาลใจให้ศิษย์สามารถฝ่าฟันอุปสรรค ได้พัฒนาผลงานจนคว้ารางวัลมาครอง เวที TICTA  คือ อีกหนึ่งบทพิสูจน์ความเป็นครูที่ทุ่มเท เอาใจใส่ในความฝัน ความมุ่งมั่นตั้งใจของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคม 

พัฒนาคนดูที่ความสนใจ

เอ่ยถึงโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ โรงเรียนสตรีล้วนที่มีประวัติมายาวนานเกือบร้อยปีจวบจนวันนี้ ที่สาว ๆ เซนต์ฟรังฯ ได้สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง 

อาจารย์เดชา ดรินทพงศ์ หรืออาจารย์แบงค์ ผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ และผู้ดูแลทีมจากเซ็นต์ฟรังฯ เข้าประกวดเวที TICTA เล่าให้ฟังถึงการส่งเสริม ชี้แนะ น้อง ๆ จนสามารถคว้ารางวัลได้สำเร็จว่า มีแนวทางอย่างไร ?

“ก่อนอื่นต้องขอแนะนำโรงเรียนคร่าว ๆ ก่อนว่าเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เปิดสอนตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เราเน้นฝึกเด็กให้เรียนรู้คู่กิจกรรม เติมเต็มคุณธรรม ด้วยอัตลักษณ์ในความเป็นกุลสตรี แต่เน้นเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย ในฐานะที่เราเป็น 1 ใน 5 โรงเรียนแรกของประเทศไทยที่มีอีเมล เราได้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีมาตลอด มีการปรับหลักสูตรด้านคอมพิวเตอร์ algorithm ให้ทันสมัย แล้วในเวลาเรียน อาจารย์จะสังเกตดูว่านักเรียนคนไหนสนใจเรียนรู้เทคโนโลยีเป็นพิเศษ ก็จะจัดติวเสริมให้ในช่วงเช้า ที่ผ่านมา เรียกได้ว่าส่งเสริมกันเต็มที่ แต่พอติดช่วงโควิดก็ต้องปรับให้เหมาะกับสถานการณ์อาจฝึกได้น้อยลงบ้าง”

เรียน Coding  ฝึกคิดและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ 

“การ coding คือ การฝึกเด็ก ๆ ให้คิดและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ คือ แนวทางที่เราเอามาพัฒนาน้อง ๆ ต้องเริ่มที่การคิด และทำแบบมี logic ก่อน การเรียนเขียนโปรแกรมค่อยมาทีหลัง เน้นให้คิดก่อน ในชั้นเรียนก็สอนให้เด็กเข้าใจเนื้อหา ถ้าเด็กคนไหนสนใจมากก็จะเน้นเป็นพิเศษ ไม่ใช่แค่การติวเพิ่มในชั้นเรียน แต่โรงเรียนมีการทำ MoU กับคณะวิศวคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. ในการมาคอยช่วยดูแลให้ความรู้เพิ่มเติมกับน้อง ๆ รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากมจธ.มาเป็นอาจารย์พิเศษสอนน้อง ๆ ที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย” อาจารย์แบงค์ เผยเคล็ดลับในการพัฒนาคนเก่ง

สูตรเด็ด SMC

“ในการเรียนการสอนนักเรียนจะได้ใช้คอมพิวเตอร์เรียนตามหลักสูตรอยู่แล้ว แต่ก็มีการสอนเพิ่มเติมในกลุ่ม Science – Mathematics – Computer หรือ SMC ที่จะเน้นวิชาด้านคอมพิวเตอร์ให้เด็กระดับมัธยมมากขึ้น ถ้าเป็นมัธยมปลายจะสอน coding เช่น ม.4 สอนออกแบบเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม ม.5 สอนทำ ChatBot  เพราะผู้บริหารต้องการให้นักเรียนมองเห็นว่าโลกเราทุกวันนี้ไปไกลมากแล้ว ต้องก้าวให้ทันด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้เด็ก ๆ หลายคนรู้จักโปรแกรมและนวัตกรรม ที่ทั้งครูและนักเรียนช่วยกันสืบค้น ครูก็แนะนำเด็ก ๆ ไปลองค้นลองทำ เด็ก ๆ ก็จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม ครูทำหน้าที่เป็นคนไกด์ เน้นแนว coaching ให้เด็ก ๆ ทำเป็นชิ้นงาน บางทีมีใบงาน แล้วให้เด็ก ๆ ไปต่อยอด สร้างบรรยากาศการเรียนให้สนุก ด้วยการทำกิจกรรมในชั่วโมง คลายความเครียด เช่น มีการเชิญรุ่นพี่ที่ไปแข่ง TICTA มาเล่าว่าเป็นอย่างไร รุ่นพี่ก็เตรียมตัวมาดีด้วยการออกแบบเกมเพื่อให้รุ่นน้องได้เรียนรู้” อาจารย์แบงค์ เล่าถึงบรรยากาศในการเรียนซึ่งน่าสนุกเลยทีเดียว

มีครูเป็นคู่คิด

“ในการประกวด TICTA  ครูจะเน้นให้เด็กต้องไปค้นปัญหาแล้วหาวิธีแก้ ถ้ามีอะไรติดขัดครูจะชี้แนะให้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอะไร ถ้าเป็นนวัตกรรมก็จะช่วยดูว่าซ้ำไหม จะทำอย่างไรให้ดีกว่าคู่แข่ง บางทีก็ชวนให้คิดอะไรใหม่ ๆ ถ้าต้องการความรู้เฉพาะด้านก็ช่วยหามาให้ หรือจำเป็นต้องลงทุนเครื่องมือ ทางโรงเรียนก็จะช่วยลงทุนให้ส่วนหนึ่ง หรือไปหายืมจากพันธมิตร” อาจารย์แบงค์ ลงรายละเอียดให้เห็นว่า

การสนับสนุนเด็ก ๆ ครูทำอย่างเต็มที่จริง ๆ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณผู้จัด ผู้สนับสนุนกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กที่มีของได้นำเสนอผลงานกับสาธารณะ ได้เรียนรู้ เข้าใจในการพัฒนาผลงาน สร้างประสบการณ์ ได้ฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้เด็ก ๆ ได้พัฒนามากขึ้น อย่างไปแข่งขันต่างประเทศ ก็จะได้อะไรใหม่ ๆ มา ได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิด นั้น อาจจะมีแง่คิดมุมมองอื่น ๆ ไม่เหมือนที่เราคิด ไม่ใช่มีแต่ความสนุกอย่างเดียว จะได้คุณค่าและได้ไอเดียแปลก ๆ ใหม่ ๆ กลับมาพัฒนาผลงานต่อไป

อีกหนึ่งโรงเรียนสตรี ถึงจะอยู่ต่างจังหวัดแต่ก็สามารถทำผลงานได้ดี สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนตลอดมา นั่นคือโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก ที่มีครู-อาจารย์ทุ่มเท ส่งเสริมผลักดันให้นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ 

เปลี่ยนวิธีคิด ลงมือทำมากกว่าท่องจำ

อาจารย์อานนท์ มากมี ครูชำนาญการพิเศษ กลุ่มบุคลากรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีเล่าให้ฟังถึงที่มาของโรงเรียนและการเปลี่ยนแปลงความคิด พัฒนานักเรียนรุ่นใหม่ ให้ก้าวสู่ความสำเร็จ ว่า โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี เป็นโรงเรียนสตรี เปิดมา 98 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ใกล้วัดใหญ่ เปิดรับกว้างสำหรับผู้สนใจ มีแนวทางการสอนให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 เน้นความสามารถหลากหลายด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์

“เรามีวิชาการสืบค้นอิสระด้วยตนเอง (Independent Study) ตั้งแต่ ม.2 – ม.5 และยังส่งเสริมการเรียนในกลุ่ม STEM เน้นการลงมือทำมากกว่าการท่องจำ ทำให้เด็ก ๆ มีโครงงานต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ในแต่ละปี เด็ก ๆ มีแนวคิดที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์มากขึ้น” 

พี่ช่วยน้อง เราไม่ทิ้งกัน

“การส่งเสริมให้เด็ก ๆ ก้าวสู่เส้นทางสายเทคโนโลยี คนที่มีอิทธิพลทางความคิดสำหรับพวกเขาก็คือ รุ่นพี่และคุณครู ถ้าเราต้องการเปลี่ยน mindset เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่า ทำไมการเปิดโลกทัศน์ และหาประสบการณ์ถึงเป็นสิ่งสำคัญ เด็ก ๆ ที่สนใจจะได้พบและฟังรุ่นพี่ที่เคยไปประกวดมาเล่าให้ฟังว่า ไปแข่งเวทีไหนมาบ้าง แล้วได้อะไร พร้อมให้กำลังใจกับรุ่นน้อง และย้ำอยู่เสมอว่า”พี่ไม่ทิ้งน้อง” จะติดต่อมาเสมอ ไม่ว่าวันเวลาใด ส่วนครูจะเติมเรื่องแรงบันดาลใจ เอางานวิจัยต่างๆมาให้ดู เอาข้อมูลให้ศึกษา ยกต้นแบบโรงเรียนชื่อดังว่าเขาคิดอย่างไร รวมถึงให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่มีจริงในปัจจุบันและในอนาคตว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะบอกรุ่นน้องว่าถ้าเขาทำ แล้วจะได้อะไร เมื่อทุกคนเข้าใจแล้ว อาจารย์จะประยุกต์มาเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป”  

“ที่สำคัญ คือ เรายังหาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ (mentor) มาให้คำปรึกษา เช่น พี่ ๆ จากคณะวิศวะ, เภสัช และคณะอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี” อาจารย์อานนท์เผยให้เห็นเส้นทางพัฒนาน้อง ๆ ที่สนใจเทคโนโลยีจากรุ่นสู่รุ่น

ไม่ใช่แค่ช่วย แต่ยังชี้อนาคตให้ด้วย

อาจารย์อานนท์ พูดถึงการสร้างแรงจูงใจกับเด็ก ๆ ที่สนใจเข้าประกวดในโครงการ TICTA ว่า TICTA  เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ทำโครงการที่ดี ตนจะย้ำอยู่เสมอว่าการแข่งขัน ไม่ใช่เพื่อชนะ แต่ต้องการเพื่อนคู่คิด สามารถเรียนรู้การทำธุรกิจเบื้องต้น ได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ และมีโอกาสต่อยอดได้ เช่นไปแข่งต่างประเทศแล้วมีคนสนใจชวนไปร่วมธุรกิจทำให้เกิดอาชีพได้ มากกว่าแค่การประกวดอย่างเดียว สำหรับตนแล้ว มีแนวคิดเดียวในการสนับสนุนให้เด็กเข้าประกวด คือ “ทำแล้วเด็กได้อะไร มากกว่าครูได้อะไร ?”

มาถึงการถอดอีกหนึ่งรหัสความสำเร็จของทีมเยาวชนที่ทำผลงานได้ดี เพราะมีครูที่ทั้งเก่งและทุ่มเทให้กับลูกศิษย์ด้วยแนวคิดและวิธีทำที่ล้ำและน่าสนใจ 

Hard Skill ต้องดี Soft Skill ต้องมี

อาจารย์รุ่งกานต์ วังบุญ ครูคอมพิวเตอร์และหัวหน้างานส่งเสริมอัจฉริยภาพผู้เรียนด้านเทคโนโลยี แห่งปรินส์รอยแยลส์​วิทยาลัย หรือ “ครูรุ่ง” ของเด็ก ๆ ได้แบ่งปันมุมมองในการผลักดันน้องๆสู่ความสำเร็จให้ฟังว่า ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อตั้งมา 120 กว่าปี เป็นโรงเรียนคริสเตียนเปิดสอนตั้งชั้นอนุบาล 3 – ม.6 ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

“เราให้สำคัญกับเด็ก ๆ ทุกคน คอยสังเกตว่าเขามีความสนใจด้านไหน โรงเรียนก็ส่งเสริมอย่างเต็มที่ เรามีหลักสูตร Gifted, ComPlus ให้กับเด็กที่สนใจเทคโนโลยีกมาเรียนเพิ่มได้ ตั้งแต่ ม.4 – ม.6 ที่สำคัญ คือ ในแต่ละชั้นมีการออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียน”

“ด้วยปรัชญา การศึกษาคือการพัฒนาอุปนิสัย  เด็กๆจะได้ความรู้วิชาการคู่คุณธรรม มี Hard Skill และ Soft Skill เปิดกว้างในการเรียนรู้ ส่งเสริมความกล้าแสดงออก เคารพในการความคิดของเด็กๆ บทบาทของครูคือจะดูแลแบบห่างๆอย่างห่วงๆ เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางด้วยการช่วยดูแลและคอยตักเตือนให้คำแนะนำ ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก ถ้าติดปัญหาก็จะมาช่วยหาทางออก เช่นหาแหล่งความรู้ ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ” 

เป้าหมายต้องใหญ่ target ต้องใช่ !

ครูรุ่ง ยังเผยเคล็ดลับในการสร้างทีมคุณภาพ ที่ต้องเน้นการปรับจูนวิธีคิดของน้อง ๆ ในทีมให้ตรงกัน ทำได้อย่างไร ต้องลองฟังดู

“วิธีการสร้างทีมของครู คือ ปรับจูนเด็ก ๆ ให้มีเป้าหมายความสำเร็จ (goal) และกลุ่มเป้าหมาย (target) เดียวกัน  เท่ากัน ครูจะแนะนำการตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าที่เราจะทำได้ เช่น ถ้าต้องการให้เป็นที่ 1 ของ TICTA ก็ต้องตั้งเป้าเป็นผู้ชนะของ APICTA  แล้ววางแนวการแก้ปัญหา (PainPoint) ถ้าไม่ตอบโจทย์ก็ต้องปรับ ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ครูจะคอยผลักดัน ต่อมา คือ ให้ทุกคนเจอปัญหาร่วมกัน เวลาลำบาก ครูก็ร่วมลำบากด้วยแล้วให้คำแนะนำ ถ้าใครในทีมทำงานผิดพลาด ก็ให้ทุกคนทำความเข้าใจกัน ก็จะเกิดความรักกัน”

การแข่งขัน ไม่ใช่สงคราม

วิสัยทัศน์ของครูรุ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ มองการณ์ไกล มีทัศนคติที่ดีทั้งการเรียน การทำงาน และการปรับตัวในอนาคต คือ “ครูจะบอกว่าอยากเก่ง ต้องมีคู่ต่อสู้ที่เก่งกว่า ให้มองคู่ต่อสู้เหมือนเพื่อนร่วมทาง ไม่ใช่ศัตรู เพราะจะกัดกร่อนความรู้สึก ให้มองการแข่งขันให้เป็นความท้าทาย เป็นความสนุก ถ้าเจอก็แสดงว่ามาถูกทางแล้ว ให้ดูและถอดรหัสว่าเขาทำได้อย่างไร อย่ากลัว การแข่ง คือ การสร้างมิตร ต่อไปจะเก่งขึ้น การแข่งขันไม่ใช่การเข้าสงคราม แต่เป็นการเจอเพื่อนที่เก่ง เราจะได้นำมาพัฒนาตัวเองต่อไป”

“สิ่งที่มีความสุข คือ เวลาเห็นเด็กที่ได้รับรางวัล จะเห็นภาพจากความรู้สึกที่ผ่านความยากลำบากมา แล้วจะย้ำกับพวกเขาว่า ถ้าอยากเก่งให้เอาตัวเราไปอยู่กับปัญหาถึงจะเก่ง” เป็นมุมมองของครูยุคใหม่ที่พัฒนาคนอย่างได้ผลและน่าชื่นชมอย่างมาก

เชื่อได้ว่าน้อง ๆ ทุกทีม ที่เข้าประกวด TICTA จะได้อะไรมากกว่าการประกวด เพราะในช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่มีครูอยู่ข้าง ๆ ถือได้ว่าเป็นช่วงสำคัญของชีวิต ที่จะเปลี่ยนทั้งมุมมอง ความคิด และอนาคตที่ดีกว่า เพราะยังเชื่อมั่นได้ว่า “ศิษย์ดี เพราะมีครู” นั่นเอง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ