TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“รางวัล” มีไว้ให้ต่อยอด

“รางวัล” มีไว้ให้ต่อยอด

ทุกเวทีการประกวด รางวัล คือสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท ความพยายามในการพัฒนาผลงานของผู้เข้าประกวดจากรอบแรกถึงรอบตัดสินเพื่อหาทีมชนะเลิศ แม้ว่าในที่สุด จะมีทีมที่ทำได้ดีที่สุดและทีมที่ยังต้องพัฒนาต่อไปเพื่อเป้าหมายที่วางไว้

โล่รางวัล ใบประกาศนียบัตร ทริปดูงานต่างประเทศ ฯลฯ คือสิ่งที่ผู้ชนะได้รับจากการทำเต็มที่ในเวทีประกวด แต่ในความเป็นจริง ทุกทีมต่างได้รางวัลกลับไปเช่นกัน นั่นคือ  ความรู้ คำแนะนำ ประสบการณ์ในการประกวดและมิตรภาพ ความเป็นเพื่อนที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่ได้รับล้วนมีคุณค่าและมูลค่า ถ้าทีมใดมองเห็นประโยชน์ก็จะสามารถต่อยอดในการทำงานและทำธุรกิจ จากความสำเร็จในการแข่งขันนำไปสู่การต่อยอดความสำเร็จทางธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต 

การประกวด : โอกาสทางการตลาด

บริษัท อีคาร์ทสตูดิโอ จำกัด เป็นหนึ่งในทีมที่คว้า 2 รางวัลจากโครงการประกวดผลงานซอฟต์แวร์ดีเด่นแห่งชาติ TICTA 2013 หรือ Thailand ICT Awards 2013 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ทั้ง 2 ประเภทได้แก่ 

1.ระบบ ECART MAP Engine ได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเภท Tools and Infrastructure Application 

2. ระบบ Fire Block Intelligence System (FBIS) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเภท Financial Industry Applications

และยังได้รับสิทธิ์เข้าร่วมประกวดต่อในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards ที่ประเทศบูรไน ด้วยผลงาน LBIS  ทำให้คว้ารางวัลชนะเลิศ ในประเภท Tools and Infrastructure มาอีกหนึ่งรางวัล 

วุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ ประธานกรรมการบริหารอีคาร์ทสตูดิโอ เล่าถึงความสำเร็จของบริษัทที่เข้าประกวด TICTA และ APICTA เมื่อปี 2013 ให้ฟังว่า

“อีคาร์ทสตูดิโอ เป็นบริษัทแรก ๆ ที่เข้าประกวด TICTA กว่า 3 – 4 รอบและได้ไปประกวด APICTA ด้วย สิ่งที่ได้นอกจากรางวัลต่าง ๆ แล้ว คือ ประสบการณ์และเพื่อน ซึ่งกลายเป็นพันธมิตรธุรกิจในปัจจุบัน และได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีค่านำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่นตอนไปประกวดที่ต่างประเทศ ก็หาเวลาไปสังเกตการณ์ทีมจากประเทศต่างๆว่าเขาคิดอย่างไร ทำไมถึงคิดอย่างนั้น ที่มาที่ไปของความคิดนั้นๆ มาจากอะไร แล้วคุยกับผู้ประกวดอื่นๆ เพื่อหาข้อมูล  อย่างทีมที่ทำเกมส์ พอได้พูดคุยก็ได้รู้ว่ามีแนวคิดอย่างไร เพราะอะไรถึงจะพัฒนาเกมส์ขายในตลาด แล้วเกมส์ที่ทำนั้นแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ทำให้เราได้เรียนรู้หลักคิด วิธีทำของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างประเทศซึ่งเขาใช้โจทย์ต่างจากเรา หลักๆ คือการเข้าประกวดเพื่อหาคำตอบว่าผลงานอยู่ในระดับใด สามารถเปิดตลาดที่วางไว้ได้หรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่แค่ประกวดแล้วจบ”

นำเสนออย่างไรให้ได้รางวัล

วุฒิกร หรือโจ้ ได้แนะนำเคล็ดลับที่ทำให้ทีมอีคาร์ทสตูดิโอ ชนะในการประกวดทั้งในและต่างประเทศว่า “บางคนไอเดียดี แต่มีปัญหาการนำเสนอไม่ตรงประเด็น ต้องปรับวิธีคิดใหม่ให้มองกรรมการเป็นลูกค้าต้องมีเทคนิคในการขายของให้ลูกค้า เช่น อะไรที่เราทำได้เหนือคู่แข่ง ทำไมต้องมีฟังก์ชันนี้ ชี้ให้เห็นประโยชน์และข้อได้เปรียบที่เรามี เล่าให้ฟังแบบเปิดใจลูกค้า (กรรมการ) แล้วทำให้พวกเขาสนใจในผลงานที่นำเสนอให้ได้ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย อย่าลืมนำเสนอวิธีการลดต้นทุน ตอบโจทย์การนำไปใช้ ถ้าเป็นไปได้ ให้เปิดระบบใช้งานจริงให้ดู ว่าการทำงานเป็นอย่างไร สร้างความสนใจให้กรรมการ ทำให้มีโอกาสชนะ ย้ำว่าการนำเสนอต้องสื่อสารให้เป็น ไม่ผิดประเด็น ไม่จำเป็นต้องออกแนวเทคนิค แต่ทำให้เข้าใจว่าดี มีประโยชน์อย่างไร สร้างความประทับใจให้ได้ ถ้าจะให้ดีควรเรียนรู้การนำเสนอของผู้เข้าประกวดจากต่างประเทศซึ่งแตกต่างจากเมืองไทยมากเลยทีเดียว”

ต่อยอดธุรกิจด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง

การปรับตัวอย่างถูกต้อง รวดเร็ว คือ คำตอบและทางออกที่ทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีปัญหาที่ควบคุมไม่ได้อย่าง Disruption Technology หรืออย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม ด้วยประสบการณ์และการพัฒนาแนวความคิดใหม่อยู่เสมอ ทำให้อีคาร์ทสตูดิโอในวันนี้ ได้ขยายธุรกิจออกไปสู่หมวดต่างๆ เช่น เปิดบริษัทลูกทำธุรกิจ Shopping Mall แบบ Virtual Shopping  ธุรกิจแผนที่สามมิติ 3D MAP และแอพพลิเคชั่นให้บริการครบวงจรอย่างแอพบ๋อยและแอพแท็กซี่บีมอีกด้วย

“สองปีที่ผ่านมา เมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างดุเดือดมาก ทั้งการเมืองและการระบาดของโควิด ดีมานด์และซัพพลายไม่เชื่อมกัน  ธุรกิจเลยต้องเน้นวิธีลดต้นทุนให้มากกว่า ใครปรับได้เร็วที่สุดก็รอด เราก็หันมาทำธุรกิจแบบ Business to Consumer มากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่มาเปลี่ยนสถาปัตยกรรมธุรกิจใหม่เลย จาก Project Base เป็น Transaction Base ด้วยแนวคิด KnowHow ต้องไปกับ Platform เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่จะไม่ย้ายแพลตฟอร์ม ถ้ามีบริการที่รองรับความต้องการได้ดี สะดวก รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายถูก ก็จะทำให้มีลูกค้าจำนวนมาก ธุรกิจที่ให้บริการก็จะเดินหน้าต่อไปได้” คุณโจ้เล่าถึงวิสัยทัศน์ที่ทำให้ฝ่ามรสุมทางธุรกิจมาได้จนถึงทุกวันนี้

เรื่องราวที่ โจ้ วุฒิกร มาแบ่งปันนี้เห็นได้ว่า ถ้าผู้เข้าประกวดสามารถต่อยอดจากความสำเร็จที่ได้ในรูปแบบของ “รางวัล” จากการประกวด ย่อมได้รับทั้งโอกาสและความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดหรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม

อีกหนึ่งบริษัทที่ส่งทีมเข้าประกวด TICTA เมื่อปี 2015 คือ สตาร์ตอัพรุ่นบุกเบิกอย่าง Priceza และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศ ในหมวด Retail & Supply Chain Management จากทีมที่ส่งเข้าประกวดมากกว่า 400 ทีมในทุกหมวด (มีทั้งหมด 18 หมวด) และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในระดับ Asia Pacific ในงาน The Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA Awards) ที่ประเทศศรีลังกาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 และในที่สุดสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในหมวด Retail มาครองได้สำเร็จ  สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในเวทีระดับภูมิภาคได้อีกครั้ง

แรงบันดาลใจ : พิสูจน์ตัวเองสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา หรือคุณไว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ตัดสินใจเข้าประกวด TICTA ให้ฟังว่า

“จุดเริ่มต้น คือ ก่อนประกวดก็ทำสตาร์ตอัพ ไม่ได้เน้นต้องไปประกวดอะไรก่อนเลย แต่ก็รู้สึกว่าเราไม่เคยเข้าประกวดในเวทีใดเลย พอได้ข่าวการประกวด TICTA เลยอยากทดลองดูว่า  Service StartUp จะเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและตลาดโลกหรือเปล่า เลยตัดสินใจเข้าประกวดเมื่อปี 2015 จริงๆ แล้วตัวเองสนใจจะประกวดตั้งแต่สองปีก่อนแล้ว แต่ก็สมัครไม่ทันสักที  เลยติดตามการประกาศรับสมัครอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดก็ไม่พลาด ยังจำได้ว่า ในปีนั้น ขั้นตอนการประกวดไม่ซับซ้อน เริ่มจากส่งสไลด์พรีเซนเทชั่นก่อน พอผ่านเข้ารอบก็ได้เข้านำเสนอกับคณะกรรมการ แล้วไปสู่การประกาศรางวัลทันที  และได้ตีตั๋วต่อไปแข่งขันต่อในเวที APICTA ปีเดียวกัน และก็ทำได้สำเร็จคว้ารางวัลที่ภาคภูมิใจกลับมาให้ประเทศไทย”

“แต่ถ้าถามว่าคาดหวังอะไรจากการประกวด  หลัก ๆ คือต้องการเป็นทีมตัวแทนประเทศไทย สร้างชื่อเสียง ได้รับการยอมรับว่าคนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก”

รางวัลระดับภูมิภาคคือการยอมรับความสามารถของคนไทย

“ตนมองการประกวด TICTA ว่า จะเน้นมองตลาดไทย เน้นตัวผลิตภัณฑ์ในระดับประเทศ แต่ APICTA จะมองตลาดที่ใหญ่ขึ้น มีผลกระทบกับสังคมในระดับโลก ดังนั้น ตอนไปแข่งก็ต้องเล่าเรื่องผลงานที่ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมากให้ได้  จะทำอย่างไรให้กรรมการที่มีมุมมองแตกต่างกัน หันมาสนใจในสิ่งที่เราทำ ซึ่งไม่ง่ายเลยแต่เราทำได้ จำได้ว่าการแข่งขันต้องเตรียมตัวหนักแค่ไหน ถึงจะชนะได้ ถ้าจะบรรลุเป้าหมายใหญ่ระดับโลก ต้องทำขนาดไหน หลายทีมไปกันหลายคน แต่เราไปคนเดียว ลุยเดี่ยว เตรียมทุกอย่างด้วยตัวเอง ซ้อมหนัก ซ้อมบ่อยมาก หลายสิบครั้ง จนถึงนาทีสุดท้ายก่อนขึ้นเวที ทุกอย่างต้องเป๊ะ เพราะคู่แข่งเป็นต่างชาติ ประสบการณ์จาก TICTA ช่วยได้จริง ๆ พี่ ๆ จากสมาคม ATCI ก็มาช่วยเล่ามุมมองและให้คำแนะนำในการแข่งขันเลยนำมาปรับใช้ ในที่สุดก็คว้างรางวัลชนะเลิศมาได้” คุณไวเล่าความสำเร็จและเคล็ดลับแห่งชัยชนะอย่างน่าสนใจ”

สิ่งที่ได้รับจากการประกวด มากกว่าที่คิด

“อย่างแรกที่ได้รับคือประสบการณ์เดินทางประกวด คือได้เพื่อนเยอะมากที่ไปแข่งด้วยกัน เจอรุ่นพี่ในวงการ ทั้งสมาคม ATCI และพันธมิตรธุรกิจที่ได้คุยกัน หลังจบงานสามารถขยายเครือข่ายได้เยอะมาก ขยายงานขยายธุรกิจได้เยอะ ทำธุรกิจได้ใหญ่ขึ้น มาถึงทุกวันนี้ ส่วนตัวก่อนหน้านี้ ก็พอใจกับการมุ่งมั่นทำธุรกิจให้สำเร็จ อยากช่วยลูกค้า แต่พอประกวดแล้วได้รางวัลก็ทำให้รู้สึกบรรลุ Milestone บางอย่างว่า สิ่งที่ทำสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้าง เห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ” 

ธนาวัฒน์ เล่าต่อถึงสิ่งที่ได้รับจากการประกวด TICTA และ APICTA ว่า “ถ้าถามว่าได้อะไรจากการประกวดนอกเหนือจากรางวัลก็แบ่งออกได้เป็นประโยชน์ 3 ด้าน ด้านแรกเป็นมุมส่วนตัว คือ Personal Achievement  พอได้ไปแข่งแล้วชนะก็ภูมิใจที่บรรลุด้านนี้ได้ ด้านที่สองคือ ระดับทีม  ทีมงานก็รู้สึกตื่นเต้น ดีใจ และภูมิใจกับความสำเร็จที่ได้ เพราะบริษัทได้รับการยอมรับในระดับประเทศและภูมิภาค ส่วนด้านที่สามคือ ระดับลูกค้าซึ่งการคว้ารางวัลต่าง ๆ มามีผลต่อความเชื่อถือมากขึ้น ลูกค้ายอมรับมากขึ้น”

ธนาวัฒน์ ยังได้ให้ข้อคิดสำหรับผู้สนใจเข้าประกวด TICTA และ APICTA ว่า “ความสำเร็จในวันนี้เป็นผลจากอดีตเพราะถ้าอดีตไม่พยายาม ไม่ทุ่มเทกำลัง ไม่ใช้ความตั้งใจ ผลลัพธ์ก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการ ส่วนตัวมีมุมมองว่ารางวัลคือ Milestone  เป็นผลพลอยได้ของการเดินทางที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค การทำธุรกิจก็เหมือนการเดินทาง ถ้ามาถึงจุดหนึ่งแล้วอยากบรรลุบางอย่างที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน แต่เป็นการพิสูจน์ตัวเอง สร้างการยอมรับก็ต้องเข้าประกวด ต้องแข่งขัน ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะชนะหรือแพ้ ยังไงก็ได้สิ่งที่ดี ๆ กลับมา ไม่ว่าความสัมพันธ์ในแวดวงธุรกิจ ได้เพื่อน ได้การตอบรับจากคนในวงการไอทีเป็นต้น”

ถ้าเราได้อ่านความคิดและเห็นถึงความมุ่งมัน ทุ่มเท ของสองทีมรุ่นพี่ที่พิสูจน์ตัวเองผ่านการประกวด TICTA และยังไปคว้าความสำเร็จบนเวที APICTA แล้ว เชื่อว่าผู้สนใจเข้าประกวด จะได้เห็นเส้นทางอนาคตและสิ่งที่จะได้รับว่าผลลัพธ์ไม่ใช่แค่รางวัล แต่มีหลายอย่างที่มากกว่านั้นอย่างแน่นอน !!

บทความอื่น ๆ ของ TICTA ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ