TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyสวทช. - เครือข่ายรถโดยสารไฟฟ้าไทย เปิดตัว 4 ต้นแบบ EV BUS ต่อยอดสู่การผลิตและออกแบบการบริการ

สวทช. – เครือข่ายรถโดยสารไฟฟ้าไทย เปิดตัว 4 ต้นแบบ EV BUS ต่อยอดสู่การผลิตและออกแบบการบริการ

เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยกับ 4 ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าคนไทยทำดัดแปลงจากรถเมล์ขสมก. ที่ใช้แล้ว 20 ปีภายหลังวิ่งบนเส้นทางให้บริการจริงของขสมก. นานกว่า 3 เดือน

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทยพร้อมส่งมอบต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าภายใต้โครงการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วขสมก. (City transit E-buses)” หรือ EV BUS จำนวน 4 คันให้กับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ขสมก. กฟผ. กฟน. และกฟภ. นำไปทดลองขับใช้งานเต็มประสิทธิภาพเพื่อการออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาวสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการและภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศเผยทั้ง 4 รุ่นใช้วัสดุในประเทศช่วยประหยัดต้นทุนรถบัสนำเข้า 30 % หรือลดต้นทุนได้ 7 ล้านบาทต่อคัน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปียานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากประโยชน์ในการลดต้นทุนด้านพลังงาน และที่สำคัญที่สุดคือการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถโดยสารสาธารณะถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าลงทุนและน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง

ต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าระดับอุตสาหกรรม จึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือ (Consortium) ภาคีเครือข่ายพัฒนาอุตสาหกรรมรถโดยสารไฟฟ้าไทย ที่ดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ประกอบไปด้วยสมาชิกจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร กรมการขนส่งทางบก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) บริษัทเอกชนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 

ทั้งนี้ สวทช. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โครงการการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย ระหว่าง สวทช. กฟผ. กฟภ. กฟน. และ ขสมก.  ซึ่งภายใต้โครงการฯ ดังกล่าวใช้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยในการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าที่มีคุณภาพ สามารถใช้งานได้ดี มีมาตรฐานและต้นทุนต่ำ

ซึ่งต้นแบบรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่น ถูกพัฒนาจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ถูกแจ้งปลดระวางไปแล้ว นำมาปรับปรุงและพัฒนาเป็นรถโดยสารไฟฟ้า ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ลดต้นทุนการนำเข้าหรือผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใหม่ ด้วยมูลค่าสัดส่วนการผลิตชิ้นส่วนจากในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 และมีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตและนำเข้ารถโดยสารไฟฟ้าใหม่มากกว่าร้อยละ 30 หรือประมาณ 7 ล้านบาทต่อคัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เพิ่มขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถโดยสารไฟฟ้าได้มีคุณภาพภายใต้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเชิงวิศวกรรมจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยของ สวทช.และพันธมิตร

สวทช. โดยทีมวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาการใช้งานรถโดยสารไฟฟ้าพัฒนาต้นแบบสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถโดยสารไฟฟ้าต้นทุนต่ำออกแบบวิธีการประเมินวิเคราะห์คุณลักษณะทดสอบประสิทธิภาพสมรรถนะรวมถึงพัฒนาสนามทดสอบน้ำท่วมขังร่วมกับมจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรีและรับการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกอย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การใช้งานและได้ประเมินประสิทธิภาพการให้บริการความเหมาะสมผ่านการทดลองให้บริการบนเส้นทางให้บริการจริงของขสมก. เป็นระยะเวลา 3 เดือนนอกจากนั้นยังมีความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการพัฒนารถโดยสารไฟฟ้าจากรถโดยสารประจำทางใช้แล้วขสมก.”  

ทั้งนี้ มีภาคเอกชนร่วมพัฒนารถโดยสารใช้แล้วของ ขสมก. เป็นรถโดยสารไฟฟ้า ก่อนส่งมอบให้กับหน่วยงานผู้สนับสนุน กฟน. กฟภ. กฟผ. และ ขสมก. นำไปใช้งานจริง ประกอบด้วย

1. บริษัทโชคนำชัย-ไฮเทคเพลสซิ่งจำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (CNC EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตัวถังจากวัสดุน้ำหนักเบา ด้วยตัวถังอลูมิเนียม ลดน้ำหนักตัวถังเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ เพื่อส่งมอบให้กับ กฟน.

2. บริษัทพานทองกลการจำกัด พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (PTM EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 60% โดยมีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไออนภายในประเทศเพื่อส่งมอบให้กับ กฟผ.

3. บริษัทรถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (EVT EV BUS) สัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ 40% มีจุดเด่นที่ใช้ชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตชั้นนำจากต่างประเทศโดยตรง ทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้งานและรับประกัน เพื่อส่งมอบให้กับกฟภ.

4. บริษัทสบายมอเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัดพัฒนารถโดยสารไฟฟ้า (SMT EV BUS) ที่มีจุดเด่นในความเชี่ยวชาญด้านวิศกรรมการออกแบบระบบขับเคลื่อน จากประสบการณ์พัฒนารถโดยสารไฟฟ้าและทดสอบใช้งานบนสภาวะการขับขี่จริง บนระยะทางกว่า 25,000 กิโลเมตร เพื่อส่งมอบให้กับ ขสมก. 

โดยทั้ง ขสมก. กฟผ. กฟน.และ กฟภ. ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาจะนำรถโดยสารไฟฟ้าทั้ง 4 รุ่นไปทดลองขับใช้งานเต็มประสิทธิภาพ เพื่อการออกแบบรูปแบบการให้บริการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะในระยะยาว สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ ที่สำคัญทำงานร่วมกับของหน่วยงานต่างๆ แบบจตุภาคี ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำตามแนวนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่สามารถผลิตรถโดยสารไฟฟ้าใช้เองในประเทศ ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับคนไทย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ