TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistน้ำมัน-น้ำท่วม-โควิด ...วิกฤติของ "คนตัวเล็ก"

น้ำมัน-น้ำท่วม-โควิด …วิกฤติของ “คนตัวเล็ก”

สถานการบ้านเราเวลานี้ต้องบอกว่าอยู่ในอาการโคม่าจริง ๆ เพราะต้องกับเผชิญวิกฤติซ้อนวิกฤติ ถึง 3 วิกฤติใหญ่ ๆ เริ่มจากวิกฤติโควิด-19 ระบาด มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว กระทั่งปัจจุบันสถานการณ์ยังหนักขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเดือนที่แล้วยังต้องเจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่จากพายุ “เตี้ยนหมู่” ล่าสุดต้องเผชิญวิกฤติราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบราคาน้ำมันบ้านเราต้องขยับตาม

ทั้งสามวิกฤติใหญ่ ๆ ส่งผลกระทบทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และธุรกิจ โดยตรงเฉพาะอย่างยิ่ง “คนตัวเล็ก” ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงคนชั้นกลางและคนชั้นล่างต้อง “บอบช้ำ” มากที่สุด

เมื่อคราวโควิด-19 ระบาดต้นปีที่แล้ว รัฐบาลสั่ง “ล็อกดาวน์” นานหลายเดือน ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งแต่สายการบิน ทัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร ต้องปิดตัวลง คนทำงานในวงจรธุรกิจนี้กว่า 10 ล้านคนไม่มีงานทำ

รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่อยู่ในวงจรธุรกิจท่องเที่ยวต่างก็ได้รับแรงกระแทกถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิงต่าง ๆ เช่น โรงหนัง ผับ สปา ฟิตเนส ร้านค้าต่าง ๆ ที่อยู่ในห้างและนอกห้าง ต่างได้รับผลกระทบกันหมด คนงานต้องตกงานกันเป็นแถว รัฐบาลต้องออกพรบ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทมาเยียวยาคนที่เดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม ในปี 64 สถานการณ์โควิดก็ยังหนักรัฐบาลต้อง “ล็อกดาวน์” อีกครั้ง แต่การแพร่ระบาดโควิดกลับมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นตรงข้ามกับเศรษฐกิจกลับทรุดลงเรื่อย ๆ กิจกรรมทางธุรกิจชะงัก คนที่บอบช้ำมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ พวกเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3 ล้านรายเริ่มทยอยปิดกิจการ

แม้รัฐบาลประกาศปิดห้าง แต่เจ้าของห้างไม่ได้เดือดร้อน คนที่เดือดร้อนคือ “คนตัวเล็ก” ผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เช่าพื้นที่ในห้างขายของ เพราะยังต้องจ่ายค่าเช่า จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างเหมือนเดิม แม้จะขายของไม่ได้ก็ตาม

แม้จะหันมาขายผ่านออนไลน์ แต่ยังต้องจ่ายค่าบริการให้กับ “ฟู้ดส์เดลิเวรี่” สูงพอ ๆ กับค่าเช่าในห้าง วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา เกือบ ๆ จะสองปี ทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร ธุรกิจเอสเอ็มอี ต้องทยอยปิดกิจการ เพราะแบกรับการขาดทุนไม่ไหว พนักงานต้องตกงาน ต้องขาดรายได้ ขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เจอโควิดระบาด ต้องปิดโรงงานชั่วคราว หรือต้องลดกำลังการผลิต คนงานไม่น้อยถูกเลิกจ้าง

จากการสำรวจของนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง พบว่า คนจนเมืองเจอผลกระทบช่วงวิกฤติโควิดกว่า 60% รายได้ลดลง คนจนกว่า 50%ไม่มีเงินส่งหนี้ แรงงานส่วนหนึ่งต้องกลับไปตั้งหลักต่างจังหวัดไปเป็นเกษตรกรทำนาทำไร่

แต่อย่าลืมว่าภาคเกษตรวันนี้ไม่ได้เป็นที่รองรับคนตกงานเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 40 หลายคนกลับไป ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มิหนำซ้ำ ไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเจอพายุ “เตี้ยนหมู่” เกิดน้ำท่วมใหญ่ นาข้าวเสียหายกว่า 2 ล้านไร่ ที่ผ่านมาเกษตรกรจะมีปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แถมปีนี้ผลผลิตลดลงจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่

เป็นที่น่าสังเกตว่าเวลามีน้ำท่วมใหญ่เกษตรกรมักจะต้องเสียสละนาข้าวเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ทางราชการระบาย เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ในเมือง ซึ่งเป็น “พื้นที่เศรษฐกิจ”​ ทั้งที่นาข้าวพืชไร่ก็เป็นพืชเศรษฐกิจเหมือนกัน แต่เกษตรกรซึ่งเป็น “คนตัวเล็ก” เสียงจึงไม่ดังเท่าคนในเมืองที่ทำธุรกิจค้าขาย

สองวิกฤติข้างต้นนับว่าหนักหน่วงแล้ว ล่าสุดยังต้องเจอกับ “วิกฤติราคาน้ำมันแพง” เฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำมันดีเซล” ที่สูงทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตร หลายครั้งจนรัฐบาลต้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของคนตัวเล็ก

การที่ราคาน้ำมันขายปลีกที่ขึ้นพรวด ๆ นั้น ไม่เพียงกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ แต่ยังกระทบไปถึงค่าโดยสาร ค่าขนส่งต่าง ๆ รวมถึงส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าให้ปรับราคาขึ้นได้ ล่าสุดการไฟฟ้าก็ส่งสัญญาณมาว่าต้นปีหน้าอาจจะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้า เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น ดันต้นทุนก๊าซเพิ่มสูงขึ้นตาม

ตัดกลับไปที่วิกฤติโควิดในปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบกับ “คนตัวเล็ก” อย่างมาก ขณะที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับ “คนรวย” แม้แต่น้อย สะท้อนจากการจัดอันดับ 50 เศรษฐีของไทยในปีนี้ โดยนิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย สินทรัพย์ของคนรวยในกลุ่มนี้กลับเพิ่มขึ้นกว่าเกือบ 900,000 ล้านบาท

ขณะที่ธนาคารโลกระบุว่า ปีที่แล้วประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 ล้านคน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ต่าง ๆ ส่งผลต่อกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อย

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา กลุ่มคนที่รายได้สูงมีโอกาสฟื้นตัวได้ก่อนจะเห็นได้จาก ตัวเลขกำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ที่เป็นตัวแทนระดับหนึ่งของคนที่ร่ำรวยก็โตขึ้นมากว่า 220% จากปีก่อน

นั่นเท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า การฟื้นตัวจากวิกฤติของคนรวยฟื้นได้เร็วกว่าคนชั้นกลางและคนจนอย่างมิอาจปฏิเสธได้ น่าสนใจว่า นับจากนี้หลังจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ และวิกฤติน้ำมันถล่มซ้ำ …. ชะตากรรมของ “คนตัวเล็ก”จะเป็นเช่นไร

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน …. นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ธุรกิจยักษ์ใหญ่ ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อหนังสือพิมพ์ธุรกิจมากว่า 30 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ