TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessความท้าทายครั้งใหญ่ของไทย สู่ ฮับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี)

ความท้าทายครั้งใหญ่ของไทย สู่ ฮับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี)

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงแต่เป็นเมกะเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในแผนการสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่โลกยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการเชิงรุกทำให้การยอมรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ผลการศึกษาพบว่า ไทยยังมีจุดอ่อนในเรื่องของวัตถุดิบ กำลังคน และเทคโนโลยี ที่เพียงพอที่จะดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์อีวีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบซัพพลายเชนของตลาดอีวีโลก

สุปรีดา จิรวงศ์ศรี ผู้บริหารระดับสูงและหัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษาด้าน Digital Competency Group เอบีมคอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีผลิตและจำหน่ายมาหลายปีแล้ว เพียงแต่เพิ่งจะได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 เห็นได้ชัดในตลาดจีนและตลาดยุโรป ซึ่งถือเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมอีวีโลกในขณะนี้ ที่มีอัตราการใช้งานรถอีวี (adoption rate) เพิ่มขึ้นเกือบ 25% ในช่วงปี 2019-2021 

เหตุผลเพราะตลาดยุโรปมีเพิ่มค่ามาตรฐานจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หลายค่ายรถสร้างโมเดลอีวีใหม่ ๆ และมีมาตรการจูงใจจากรัฐ ขณะที่รัฐบาลจีนก็ประกาศมาตรการส่งเสริมทั้งในแง่ของการอุดหนุนราคาผู้ซื้อ และใช้มาตรการทางภาษีสนับสนุนผู้ผลิต ทำให้สามารถผลิตรถอีวีได้หลายหลายโมเดล

อย่างไรก็ตาม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลาดอีวีดูจะยังไม่คึกคักเท่าไรนักเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ แต่หากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยค่อนข้างสดใส และมีแนวโน้มเติบโตไทยทิศทางบวกได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ โดยได้อานิสงค์จากมาตรการสนับสนุนเชิงรุกของภาครัฐที่เดินหน้าผลักดันการผลิตและการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่

สุปรีดา กล่าวว่า รัฐบาลไทยเริ่มต้นได้ถูกทางแล้ว เพราะการเพิ่มมาตรการช่วยเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าทำให้คนไทยหันมาสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นจากเดิมที่มียอดขายเพียง 660 คันในปี 2020 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,955 คันในปี 2021 อีกทั้งการเดินหน้าออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน ดึงดูดให้ค่ายรถต่างชาติเข้ามาลงทุน ก็เป็นแรงหนุนให้ตลาดอีวีไทยโตต่อไปได้ในระยะยาว โดยยังไม่นับรวมกับการที่มีผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่เข้ามาในตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกสำหรับรถอีวีมากขึ้น  

“ปัจจัยทั้งหมดได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการยอมรับของตลาดในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทย แต่แนวโน้มการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรวมของไทยก็ยังมีปัจจัยท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากไทยต้องการที่จะก้าวเข้าสู่เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของตลาดอีวีในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป” 

3 ความท้าทายใหญ่

ปัจจัยท้าทายประกาศแรก คือ การที่ไทยไม่ได้มีแร่วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอย่าง พัลลาเดียม นิกเกิล หรือลิเธียม ทำให้ไทยไม่มีอำนาจในการกำหนดราคารถยนต์ไฟฟ้าในฐานะประเทศที่มีโรงงานผลิตรถยนต์อีวีได้ ยิ่งไปกว่านั้น กรณีสงครามยูเครน ยังทำให้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจนราคาแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะเป็นปัจจัยเพียงชั่วคราว แต่ไทยก็จะจำเป็นต้องวางมาตรการแก้ปัญหาในส่วนนี้ให้ได้

สำหรับปัจจัยท้าทายประกาศต่อมา คือ การขาดแคลนเทคโนโลยีและกำลังคน ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเข้าไปลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น กระตุ้นให้มีการแบ่งปันถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมให้ผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอีวีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำสามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล (digital transformation) เพื่อที่เอกชนเหล่านี้จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานที่จะเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศอีวีของไทยโดยรวมต่อไป

ในมุมมองของ เอบีม คอมซัลติ้ง สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับไทยในเวลานี้ คือ ไทยยังไม่มีเทคโนโลยีผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งหากมองในระยะยาว หากต้องการให้ไทยเข้มแข็ง ก็จำเป็นต้องมีการลงทุนในอุตสากรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน องค์ความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และสถานีหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาและเพิ่มจำนวนให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาด

ขณะเดียวกัน หากไทยต้องการจะแข่งขัน ไทยก็ควรจับตามองคู่แข่ง อย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม โดยเวียดนามได้เปรียบในเรื่องที่มีการพัฒนาอีวีมาอย่างเข้มข้นและมีความได้เปรียบในเรื่องแรงงานราคาถูก ขณะที่อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแร่นิกเกิลที่ใช้สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก และเป็นตลาดที่มีกำลังบริโภคสูงด้วยจำนวนประชากรที่มากกว่าไทยถึง 3 เท่า 

ในส่วนของคำแนะนำในเรื่องของการปรับกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตและรองรับโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามาในอุตสาหกรรมอีวีไทย เอบีม คอนซัลติ้ง ได้ให้คำแนะนำโดยแบ่งเป็นในส่วนของฝ่ายการผลิต การจัดจำหน่าย และการให้บริการ

โดยในส่วนของการผลิต กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนควรร่วมกันสร้างระบบ Supply Chain อัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง IoT, Big Data,  AI และ Blockchain เพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้องหรือสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสามารถคาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต 

ด้านกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่ยังคงทำการผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ Internal Combustion Engine (ICE) เป็นหลัก ก็สามารถใช้ระบบการผลิตที่ยืดหยุ่นโดยการปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้สามารถปรับเปลี่ยนไปเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งต้องคำนึงถึงต้นทุนที่เป็นปัจจัยร่วม โดยการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรและเครื่องมือที่มีอยู่ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนไปเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่มีความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ยังใช้เครื่องจักรและเครื่องมือในกระบวนการผลิตรถยนต์แบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน จำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนในการเตรียมกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการนำเสนอสินค้า บริการ และพันธมิตรใหม่ๆ ให้รองรับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปโดยเร็ว

ขณะที่ในส่วนของผู้จำหน่ายรถยนต์ ควรปรับบทบาทเป็นผู้ให้ความรู้เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจถึงประโยชน์ของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมไขข้อกังวลใจต่างๆ รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการมอบประสบการณ์ในแบบ Omnichannel ที่เชื่อมโยงช่องทางต่างๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว โดยผสมผสานช่องทางการสื่อสารทั้งออนไลน์ (Online) และการขายผ่านโชว์รูมและพนักงานขาย (Offline) และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการขายและการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุน

และสำหรับผู้ให้บริการสถานีหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ควรมองหาโอกาสความร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ให้บริการขนส่ง หรือผู้ผลิตที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายอื่นๆ ที่จะสามารถร่วมกันพัฒนาออกมาได้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ขับขี่ที่ต้องใช้บริการสถานีชาร์จ นอกจากนั้นผู้ให้บริการสถานีหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังมีโอกาสสร้างแหล่งรายได้หลักช่องทางใหม่เพิ่มเติม เช่น การขายป้ายโฆษณาบนจุดชาร์จ หรือการรวบรวมค่าคอมมิชชั่นจากการขายผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในขณะที่รอทำการชาร์จรถ เป็นต้น

เป้าหมายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย

ทั้งนี้ เป้าหมายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยขณะนี้ มุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ การผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Zero-Emission จากการใช้รถยนต์ในประเทศให้ได้ 100% ภายในปี 2035 และลด Zero-Emission จากการผลิตรถยนต์ลงให้ถึง 50%  ภายในปี ค.ศ.2030

สำหรับประเทศไทยที่มียอดการจำหน่ายรถยนต์เฉลี่ยปีละ 1 ล้านคัน และความสามารถในการผลิตต่อปีอยู่ที่ปีละ 2 ล้านคันในช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 นโยบายดังกล่าวถือเป็นงานที่ท้าทาย แต่ด้วยจุดยืนเชิงรุกของรัฐบาลไทย อนาคตอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยย่อมมีโอกาสที่จะเป็นก้าวได้ทัดเทียมกับตลาดอีวีโลกได้ไม่ยาก

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“หัวเว่ย” จับมือ “กสิกรไทย” ร่วมสร้างระบบนิเวศสีเขียว ลุยติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 30,000 หลังในปี 2565

DESTINY TOKEN … ปฐมบทการลงทุนในโทเคนดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Invest Earn Experience

WEDO Young Talent Hell Day 2022 ด่านทดสอบ “ทักษะ ความคิด ทัศนคติ และความอดทน” คุณสมบัติที่ Talent แห่งโลกอนาคตต้องมี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ