TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyNIA พาส่องเส้นทางการเดินทางของนวัตกรรมไทย

NIA พาส่องเส้นทางการเดินทางของนวัตกรรมไทย

2 กันยายน 2552 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ ในการก้าวสู่ “สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ที่เป็นนิติบุคคลอย่างเต็มตัว นับเป็นรอยต่อสำคัญเชิงนโยบายต่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ สำหรับการเดินทางจากวันนั้นจนถึงวันนี้ NIA ครบรอบ 13 ปี และก้าวต่อไปก็ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมและผลักดันการสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” ที่ติดอันดับ 1 ใน 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลก (GII)

จุดเริ่มต้นการเดินทาง

NIA กำเนิดขึ้นจากหน่วยงานระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการวางยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการผลักดันให้ “นวัตกรรม” เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้เพิ่มสูงขึ้น โดยแต่เดิมมุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เห็นความสำคัญของการสร้างความแตกต่างและกล้าเสี่ยงลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม ผ่านเงินทุนอุดหนุนในรูปแบบต่างๆ ต่อมาได้ขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันต่อยอดและขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยโดย NIA เป็นเสมือน “เพื่อนของผู้ประกอบการ” และทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมประสานและสนับสนุนนวัตกรรมในทุกมิติ

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า “นวัตกรรมเปรียบเสมือนยาดำที่แทรกซึมไปทุกที่ ดังนั้น NIA จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาท ภารกิจ และยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยและกระแสของโลก โดยที่ผ่านมา NIA ทำหน้าที่เป็น “หน่วยงานบูรณากรเชิงระบบ (System Integrator)” เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนภายใต้ระบบนวัตกรรม และเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ซึ่งในช่วงแรก NIA เน้นการให้ทุนเอสเอ็มอีสำหรับสร้างธุรกิจนวัตกรรม ต่อมาจึงมุ่งสร้างให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้น และเมื่อประเทศไทยมีผู้เล่นใหม่ด้านสังคมที่เข้ามามีบทบาทในเรื่องนวัตกรรม NIA ก็ได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมบนฐานเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) เพื่อสร้างศักยภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้พร้อมปรับตัวและรับความเปลี่ยนแปลงประเด็นท้ายท้ายใหม่ในอนาคตได้”

สยายปีกโอกาสทางนวัตกรรมสู่ภูมิภาค

นวัตกรรมไม่ได้มีเพียงมิติของการสร้างสรรค์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น NIA จึงขยายการเข้าถึงโอกาสทางนวัตกรรมสู่ภูมิภาคมากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อดึงอัตลักษณ์และจุดเด่นของแต่ละภูมิภาคมาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

ดังตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือที่ติดอันดับ 1,000 เมืองที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากมีจุดเด่นหลากหลายด้านทั้งความเป็นเมืองสร้างสรรค์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เข้มแข็ง ความน่าอยู่อาศัยของเมือง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก ฯลฯ

ทั้งนี้ NIA ได้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานวัตกรรมในภูมิภาคทั้ง 11 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งได้ทำความร่วมมือกับเทศบาลนครเชียงใหม่ในการส่งเสริมให้พื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นพื้นที่ทดลองใช้นวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมชุมชนเมือง การพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกเพื่อให้เป็นพื้นที่การเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ และเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของภูมิภาค อีกทั้งยังมีย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม้โจ้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีความโดดเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมและอาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่ง NIA ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรมงานศิลปวัฒนธรรม และนวัตกรรมอาหารท้องถิ่นผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลขึ้น เพื่อยกระดับงานศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือในทางร่วมสมัย สอดรับกับสังคมยุคดิจิทัลและคนรุ่นใหม่ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ ในระดับมาตรฐานสากล ตลอดจนสนับสนุนการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นและศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่นร่วมสมัยให้เป็นที่จดจำ โดยมีจังหวัดอุบลราชธานีเป็นต้นแบบการใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมที่ผสมผสานกับศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้แก่พื้นที่ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ผ่านการสนับสนุนทั้งการให้ความรู้ เงินทุน และเครือข่าย โดยเน้นการพัฒนาและสร้างโอกาสในธุรกิจนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์สำหรับผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของพื้นที่

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา NIA ให้การสนับสนุนนวัตกรรมในกลุ่มจังหวัดชายแดนไปแล้ว 65 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนกว่า 69.6 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าโครงการกว่า 132.7 ล้านบาท รวมถึงยังได้ริเริ่มจัดนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “The Southern Blooming” ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ภาคใต้ชายแดน เพื่อขยายช่องทางการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งด้านพหุวัฒนธรรม วิถีชุมชน เศรษฐกิจ และสังคม ถือเป็นโอกาสในการการเปิดประตูสู่การเชื่อมโยงไปยัง AEC ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ศึกษาในประเทศจอร์แดนให้มีมุมมองการพัฒนาธุรกิจและมีความพร้อมที่จะกลับมาเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนสร้างโอกาสการขยายตลาดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในประเทศจอร์แดน และประเทศภูมิภาคตะวันออกกลางอีกด้วย

เสริมทัพระบบนิเวศนวัตกรรมร่วมกับองค์กรยักษ์ใหญ่

การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนนวัตกรรม ซึ่ง NIA ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ในหลากหลายมิติ เช่น การพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีผ่านหลักสูตร NIA-SCB Innovation – Based Enterprise (IBE) ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ การบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตของสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมอาหารระดับนานาชาติร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด 

การสร้างโอกาสการขยายผลนวัตกรรมด้านการเกษตรร่วมกับบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) การขยายตลาดผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด การขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมอารีย์ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS การส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้านปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์-เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงและไอโอทีผ่านโครงการต่าง ๆ  ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับ “เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย” ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา เอกชน และสมาคมกว่า 100 แห่งในการผลักดันไทยให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นสู่ประเทศแห่งนวัตกรรม

จาก “สะพานเชื่อม” สู่ “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม”

NIA ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทสู่การเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal Facilitator)” ผ่านกลยุทธ์การดำเนินงานของ NIA ใน 4 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ที่ 1 ทำให้ระบบนวัตกรรมไทยเป็นระบบที่เปิดกว้าง เพื่อเพิ่มจำนวนธุรกิจนวัตกรรมที่มีศักยภาพในระดับมวลวิกฤตที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อประเทศ ด้วยการพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและเวทีสากล กลยุทธ์ที่ 2 พลิกโฉมระบบการเงินนวัตกรรมไทย ผ่านการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนนวัตกรรม เพื่อให้เกิดระบบการเงินนวัตกรรมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนการเติบโต และเข้าถึงได้ และเป็นเครื่องมือสำคัญเชิงระบบที่ช่วยให้ธุรกิจนวัตกรรมสามารถสร้างการเติบโตและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ 

กลยุทธ์ที่ 3 สร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริมการใช้ข้อมูลนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์บนหลักฐานเชิงประจักษ์ของนักนโยบายและผู้ประกอบการในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม และกลยุทธ์ที่ 4 เป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลง และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการปรับเปลี่ยนสู่องค์กรดิจิทัล ปรับใช้มาตรฐานการบริหารจัดการ และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร

“ทั้งนี้ การเข้าสู่ปีที่ 13 ของ NIA พร้อมกับการเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566 – 2570) ที่เน้น “การพลิกโฉมประเทศไทย” NIA หวังว่า “ชานชาลานวัตกรรมที่ 13” จะเป็นเลขนำโชคของระบบนวัตกรรมไทยให้เราก้าวสู่ประเทศแห่งนวัตกรรมได้ดั่งที่ตั้งเป้าหมาย” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

นโยบายสาธารณะยุคบิ๊กดาต้า สู่การถอดรหัสการใช้ “MOBILITY DATA”

RÊVER AUTOMOTIVE เปิดตัว BYD ATTO 3 เคาะราคา 1.19 ล้านบาท ส่งมอบ 1 พ.ย.

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ