TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyยุค “มนุษย์อยู่ร่วมกับ AI” กำลังจะเกิดขึ้นจริง

ยุค “มนุษย์อยู่ร่วมกับ AI” กำลังจะเกิดขึ้นจริง

แม้ว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) จะไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ แต่เพิ่งจะมีเพียงช่วงไม่กี่ปีให้หลังเท่านั้นที่ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่คนส่วนใหญ่ของสังคมในวงกว้างเริ่มรู้สึก “เอื้อมถึง” กระทั่งตระหนักถึงศักยภาพที่เป็นไปได้ไม่สิ้นสุดของ AI ว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายภาคส่วนของชีวิตของคนอย่างไม่อาจหลีกหนีได้

โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่กำลังเป็นที่โจษจันอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้คนกลับมาคิดอย่างจริงจังแล้วว่า ความฉลาดที่เรียนรู้ได้ของ AI จะทำให้ AI เข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ได้ทุกอย่าง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความเชื่อที่เป็นไปได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ผู้ที่ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตรทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีและ AI อย่าง MIT Media Lab, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่างเห็นตรงกันว่า AI ไม่ได้จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่ AI จะผสานและหลอมรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์

เพียงแต่กุญแจสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ กับ AI ยืนอยู่เคียงข้างกันในสังคมโลกใบนี้ได้อย่างทัดเทียม ก็คือการที่มนุษย์ต้องมีความรู้เท่าทัน AI (AI Literacy) รู้ว่า AI คืออะไร และจะใช้งานอย่างไร

ขณะเดียวกัน การนำ AI มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืนที่สุด คือการที่มนุษย์ทำงานร่วมกับ AI ภายใต้แนวคิด  Augmented Intelligence ซึ่งหมายถึง การใช้ AI ยกระดับการทำงานและขีดความสามารถของมนุษย์ ผ่านการสร้างโมเดล Machine Learning ที่วางคนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centric)

ดังนั้น AI จะมีบทบาทในการรับฟัง คิด วิเคราะห์ และโต้ตอบ ตามแต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากมนุษย์ ก่อนพัฒนาชุดข้อมูลออกมาเป็นแนวทางที่กลับมาช่วยให้มนุษย์สามารถทำการตัดสินใจและกระทำบางอย่างได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

“กระทิง” ​เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม KBTG กล่าวว่า ในที่สุดแล้ว ปลายทางของ AI ก็จะเหมือนกับไฟฟ้า หรือคอมพิวเตอร์ ที่จะกลายเป็นสิ่งปกติที่อยู่ร่วมกับมนุษย์ในสังคม โดยจะเป็นสิ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถของมนุษย์ให้แหลมคม หรือสุดยอดมากขึ้น

KBTG ผนึกพันธมิตรไทยดึง MIT Media Lab โชว์งานวิจัย Moonshot สร้างแรงบันดาลใจและความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนประเทศไทย

“พัทน์” ภัทร สุธาพร นักเทคโนโลยีชาวไทยแห่ง MIT Media Lab เสริมว่า การสร้างสังคมที่มนุษย์อยู่ร่วมกับ AI ได้ จะต้องไม่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของ AI เพียงอย่างเดียว แต่ต้องสอนให้มนุษย์มีศักยภาพในการใช้งาน AI ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในการสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ สร้างความรู้ใหม่ ๆ หรือทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ขณะที่ ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director, KBTG Labs มองว่า AI ต่อให้เก่งและคิดวิเคราะห์ซับซ้อนแค่ไหนก็ไม่สามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ หากมนุษย์ไม่ยินยอม และเป็นมนุษย์เองที่ต้องปรับ “ความคิด” (mindset) ของตนเอง ในหาแนวทางที่จะ AI มาใช้ช่วยสร้าง “ผลงาน” ที่ดีกว่าและเร็วกว่าเดิม ทำให้คนมีเวลาในการสร้างผลงานได้มากขึ้น และคิดทำงานได้หลากหลายมากขึ้น

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของการปรับตัวของมนุษย์ ดังนั้น ในท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์จะสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับ AI ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้สร้าง หรือในฐานะผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี และด้วยความที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับข้องกับ AI โดยตรง

ดร.ชัย เน้นย้ำถึงการให้ความรู้คนในสังคมเกี่ยวกับ AI อย่างน้อยที่สุดก็คือความรู้พื้นฐานเพื่อให้การใช้งาน AI เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนย้ำว่า การใช้งาน AI อย่างรู้เท่าทันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในทุกวันนี้ได้

KBTG Kampus กับบทบาท “รากฐานระบบนิเวศ เพิ่มอัตราเร่งสร้าง tech talent” สร้าง 100,000 คน ในปี 2030

ขณะที่ ผศ.ดร. รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างราบรื่น ไม่ได้หมายเพียงแค่ว่ามนุษย์ต้องรู้เท่าทัน AI เท่านั้น แต่ยังต้องมีการปลูกฝังแนวทางการใช้งาน AI อย่างถูกต้องและมีจริยธรรม (AI Ethics) ซึ่งทาง ผศ.ดร. รัชฎาเชื่อว่า AI จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการใช้งานของคน และ AI จะมีประโยชน์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ AI เพื่อนำไปใช้งานได้อย่างไร

ทั้งนี้ ตัวแทนทั้ง 5 จาก 4 หน่วยงานได้ร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อหาหนทางที่เป็นไปได้ในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำ AI ไปใช้งาน หรือ AI Literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างทั่วประเทศไทย โดยทั้งหมดกำลังร่วมกันเขียน Whitepaper เพื่อเป็นแนวทาง (Guideline) เผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีทักษะในการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน  การดำเนินการในการวิจัยและพัฒนา AI ในประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างมาก แต่ คนไทย ที่จะสามารถทำงานร่วมกับ AI ยังคงเป็นสิ่งที่ ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาให้ทัน ซึ่งภัทร ในฐานะนักประดิษฐ์ มองว่า การรู้เท่าทันและตระหนักในความสามารถของ AI จะทำให้คนมองเห็น AI เป็นเครื่องมือที่สามารถทำให้ผู้ใช้งานค้นหาเส้นทางอาชีพของตนเอง สตาร์ตอัพของตนเอง หรือขีดความสามารถของตนเองได้ดีขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การมีอยู่ของ AI จะสามารถสร้างปรากฎการณ์แบบ ChatGPT ได้ในระดับหนึ่ง โดย AI จะกลายเป็นเครื่องมือให้เด็กอยากเรียนรู้ต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด

แน่นอนว่า การศึกษาและการเรียนรู้เป็นเสมือนโซลูชันที่จะสร้างคนไทยที่สามารถอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างราบรื่น โดย กระทิง เรืองโรจน์ ได้หยิบยกถึงการทำงานของ KBTG ในช่วงกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นให้เกิดการสร้างบทเรียน ปรับหลักสูตร อบรมครูผู้สอน และสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อทำให้องค์ความรู้ด้าน AI เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ขณะเดียวกัน กระทิงยังเน้นย้ำถึงการผลักดันให้ภาครัฐเขียนนโยบายการศึกษาฉบับใหม่ และลงมือผลักดันให้เกิดการปฎิบัติตามนโยบายอย่างจริงจังเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง

สำหรับก้าวต่อไป KBTG ตั้งเป้าจับมือกับเนคเทค และหน่วยงานต่าง ๆ ให้การทำงานของ KBTG ขยายวงกว้างเข้าถึงผู้คนหมู่มากได้มากขึ้น 

กระทิงยอมรับว่าสิ่งที่ KBTG ทำด้วยตนเองนี้ สามารถเข้าถึงและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กลุ่มคนในจำนวนที่จำกัดอย่างมากก็ประมาณ 1-2 ล้านคน แต่ถ้า KBTG อยากจะเข้าถึงคน 10 ล้านคน KBTG ต้องมีพาร์ตเนอร์ในการช่วยกันขยายขอบเขตกรอบการทำงานในขั้นต่อไป

“AI คือรถไฟด่วน ที่ถ้าคุณขึ้นทัน คุณก้าวกระโดดได้ทันที ใน 10 ปีนี้ คุณสามารถเปลี่ยนประเทศได้ ประเทศไทยเราสามารถทำให้  10 ปีข้างหน้าเป็นทศวรรษแห่งการเติบโต ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง และทศวรรษแห่งแรงบันดาลใจ ที่ประเทศไทยสามารถทำได้ทันทีและใช้ AI เป็นสปริงบอรด์ เป็นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนประเทศทั้งประเทศและพลิกโฉมเด็กไทยทั้งรุ่นได้” กระทิงกล่าว 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เนคเทค กางโรดแมป สร้างหลักสูตรปั้นบุคลากร AI

วิสัยทัศน์ KBTG “มนุษย์ x AI” โชว์ “คู่คิด by K-GPT” Generative AI ภาษาไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ