TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyเทเลนอร์ ประกาศปรับแผนธุรกิจ รับมือ Growth 2.0

เทเลนอร์ ประกาศปรับแผนธุรกิจ รับมือ Growth 2.0

โครงสร้างพื้นฐานด้านเทเลคอม คือรากฐานสำคัญของทุกบริการด้านดิจิทัลทั้งสำหรับองค์กรและผู้บริโภคทั่วไป การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสร้างโอกาสให้กับผู้เล่นในตลาดในทุกช่วงจังหวะ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมก็เช่นกัน ได้รับโอกาสจากการเริ่มต้นของตลาดสื่อสารโทรคมนาคมที่ผู้คนต้องการการติดต่อสื่อสารกันได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเติบโตตามการขยายพื้นที่การให้บริการจนสุดท้ายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 

ธรรมชาติของธุรกิจ ผู้ให้บริการโครงข่ายก็มาถึงจุดตัดที่รายได้และช่องว่างของกำไรเริ่มลดลงจากการให้บริการรูปแบบเดิม ผู้ให้บริการต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างกำไร การสร้างบริการใหม่สำหรับผู้บริโภคและการวิ่งเข้าหาตลาดลูกค้าองค์กรอย่างจริงจัง 

การเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ คือ การเกิด 3G ทำให้บริการ on-top เกิดขึ้นมากมาย บวกกับสมาร์ทโฟนที่กลายเป็นอุปกรณ์แรกและหลักในการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม ทำให้เกิดการปลดล็อกดีมานด์จำนวนมหาศาลของผู้บริโภคที่มีต่อบริการต่าง ๆ บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทุกเวลา สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะผู้ให้บริการที่สร้างรายได้และผลกำไรบนโครงสร้างพื้นฐานที่เขาไม่ต้องลงทุน ซึ่งกลายมาเป็นภัยคุกคามของผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย 

แน่นอนว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งทั้งรูปแบบธุรกิจ เงินลงทุน เข้าใจตลาด และปรับเกมได้ทันกาลย่อมได้เปรียบ 

เทเลนอร์ เข้ามาในประเทศไทย 20 ปีที่ผ่านเข้ามาให้บริการโทรคมนาคมภายใต้แบรนด์ “ดีแทค” ก็ได้อาศัยโอกาสการเติบโตของตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงจุดที่เริ่มจะไปต่อไม่ได้ เพราะไม่ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องและหนักหน่วง ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดลดลง จากผู้ท้าชิงกลายเป็นผู้รั้งท้าย จนนำมาซึ่งการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรูกับดีแทค” ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเบอร์ 2 และเบอร์ 3 เพื่อท้าชิงผู้นำตลาดอย่างเอไอเอส และเพื่อไปต่อได้ในเฟสถัดไปที่เทเลนอร์เรียกว่ายุค Growth 2.0 

ซิคเว่ เบรคเก้, President and Chief Executive Officer (CEO) เทเลนอร์ กรุ๊ป ให้นิยาม Growth 2.0 ว่า คือยุคแห่งโอกาสและการเติบโตที่ผู้ให้บริการในตลาดโทรคมนาคมไปต่อในรูปแบบธุรกิจและบริการแบบเดิมไม่ได้ เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (perfect storm) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), IoT และ 5G มารวมกัน ทำให้ไม่ใช่การเชื่อมต่อแค่ผู้คนเข้าด้วยกันอีกต่อไป แต่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ กับอินเทอร์เน็ต จะมีการใช้ข้อมูล (data) มหาศาล และจะต้องใช้ AI เพื่อให้เข้าใจถึงดาต้าจำนวนมหาศาลที่สร้างขึ้น จะต้องใช้ความเร็ว 5G เพื่อเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ นับล้าน ๆ 

การแข่งขันสำหรับโทรคมนาคมจะเปลี่ยนไป คู่แข่งจะไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม แต่เป็นบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น AWS, Google Cloud และ Microsoft บริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเหล่านี้จะเป็นทั้งพันธมิตรของบริษัทโทรคมนาคมและจะเป็นคู่แข่งด้วย ซึ่งเทเลอนอร์ได้ลงนามความร่วมมือระดับโลกเป็นพันธมิตรร่วมกับ AWS, Google และ Microsoft

คู่แข่งเทเลคอมไม่ใช่เทเลคอมด้วยกันเองอีกต่อไป แต่คือ global tech giant สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องแกร่งพอที่จะเป็นทั้ง ‘คู่แข่ง’ และ ‘พันธมิตร’ กับพวกเขา เทเลนอร์ไม่ได้จะออกไปจากเมืองไทยและตลาดเอเชีย ตรงกันข้าม จะยิ่งบุกหนักมากขึ้น และ VC fund เพื่อสตาร์ตอัพจะกลับมา

“สิ่งที่เทเลนอร์พยายามสร้างขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคม เรากำลังพยายามสร้างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทย เราจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเราได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทระดับโลกเหล่านี้ ซึ่งบริษัทโทรคมนาคมขนาดเล็กในประเทศ อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทระดับโลก”

ซิคเว่ กล่าวว่า เทเลนอร์เข้าสู่ตลาดไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว วิสัยทัศน์ของบริษัทคือคนไทยทุกคนควรเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและสามารถซื้อได้ เทเลนอร์รุกที่เปลี่ยนแปลงตลาดต่าง ๆ เช่น การคิดค่าบริการเป็นวินาที และการตลาดและการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ เพื่อให้คนทั่วไปสามารถหาซื้อใช้จ่ายได้ ทุกวันนี้การเข้าถึงของโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยอยู่ที่ 86% และมีการเชื่อมต่อมือถือ 98.5 ล้านอุปกรณ์ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า การเติบโต 1.0 หรือ Growth 1.0 ในประเทศไทย 

“เราเชื่อว่าการควบรวมกิจการระหว่างดีแทคและทรู จะสร้างบริษัทที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถลงทุนและมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่อนาคต นี่เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเติบโต 2.0 (Growth 2.0) และทำให้ประเทศอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาค ประเทศไทยต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียวที่แข็งแกร่งแต่อีก 2 ไม่แข็งแกร่ง”

บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีในประเทศไทยนี้จะดีสำหรับผู้บริโภค ธุรกิจ สตาร์ตอัพ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา เทเลนอร์จะนำเทคโนโลยีขั้นสูงและความเชี่ยวชาญของเทเลนอร์ทั้งในกลุ่มภูมิภาคนอร์ดิกและเอเชียสู่บริษัทใหม่นี้ พร้อมกับรักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ สนับสนุนการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล และสร้างสถานที่ทำงานสำหรับอนาคต

“ก้าวต่อไปของเทเลนอร์ คือ การสร้างบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีที่แข็งแกร่งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย”  

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เทเลนอร์และเอเซียต้า ได้รับแจ้งถึงความชัดเจนจากหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบให้เดินหน้าควบรวมกิจการ เซลคอม-ดิจิ (Celcom-Digi) ในประเทศมาเลเซีย

ทั้งนี้ ยังคงมีคำถาม ว่า scenario นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อได้ merge กันระหว่างทรูกับดีแทค ภายใต้รูปแบบการตั้งบริษัทใหม่ที่เป็น telecom-tech แต่ถ้าดีลควบรวมไม่สำเร็จจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งทางเทเลนอร์เองไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใหักับนักข่าวเช่นกัน ….. บอกเพียงแต่ว่า เชื่อมั่นว่ารูปแบบที่นำเสนอนี้คือดีที่สุดสำหรับประเทศไทยและคนไทย ในการแข่งขันในตลาดที่เรียกว่า Growth 2.0 และไม่อยากให้พลาดโอกาสนี้

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ETDA ร่วมกับ NIA เผยผล Foresight Research ฉายภาพอนาคตดิจิทัลในทศวรรษหน้า

LINE จับมือ TDGA ขับเคลื่อนการยกระดับหน่วยงานภาครัฐด้วยดิจิทัล

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ