TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistกลยุทธ์น่านน้ำหลากสี: Colorful Ocean Strategy

กลยุทธ์น่านน้ำหลากสี: Colorful Ocean Strategy

เมื่อว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์ ในแวดวงธุรกิจก็มีหลากหลายกลยุทธ์จากร้อยแปดสำนัก กลยุทธ์ที่มีอิทธิพลและได้รับการกล่าวขานกันอย่างแพร่หลายชุดหนึ่ง คือ กลยุทธ์จำพวกน่านน้ำหลากสี (colorful ocean strategy) ทั้ง red ocean, blue ocean, green ocean

กลยุทธ์น่านน้ำเหล่านี้มีทั้งความเหมือนและต่างกันในบริบทที่ตัวมันเองเป็นกลยุทธ์ประเภทหนึ่งในทางธุรกิจ ความเหมือนกัน ก็คือ ทั้งสามกลยุทธ์มุ่งให้ความสำคัญที่คุณค่า (value) ในการประกอบการ เพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร

การนิยามความสำเร็จเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างทางกลยุทธ์ บางกิจการ ความสำเร็จ คือการมีชัยชนะเหนือคู่แข่งในสนามการแข่งขัน บางกิจการวัดความสำเร็จจากการพัฒนาธุรกิจให้ล้ำหน้าการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาจนทำให้คู่แข่งหมดความหมาย ขณะที่กิจการอีกส่วนหนึ่งประเมินจากที่องค์กรมีความยั่งยืนด้วยการพัฒนาอย่างสมดุล

  • Red ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมุ่งพัฒนาและส่งมอบคุณค่าที่เหนือกว่า (Beating Value) คู่แข่งขัน
  • Blue ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและจับจองอุปสงค์ในตลาดใหม่ ด้วยการคิดค้นนวัตกรรมทางคุณค่า (Innovating Value) ที่ล้ำหน้าจากสภาพการแข่งขัน
  • Green ocean strategy คือ กลยุทธ์ที่ใช้สร้างและผนวกคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เน้นดำรงความยั่งยืนทางคุณค่า (Sustaining Value)

ในกลยุทธ์การแข่งขันแบบน่านน้ำสีแดง องค์กรต้องเลือกระหว่างกลยุทธ์ต้นทุนต่ำ การสร้างความแตกต่าง หรือการมุ่งเฉพาะส่วน เพราะพื้นที่ตลาดเดิมได้ถูกกำหนดไว้อย่างแจ้งชัด

สำหรับกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ที่ได้ทั้งความแตกต่างและต้นทุนต่ำ เนื่องจากพื้นที่ตลาดได้ถูกสร้างขึ้นใหม่และยังไร้ซึ่งการแข่งขัน

ส่วนกลยุทธ์สู่ความยั่งยืนแบบน่านน้ำสีเขียว องค์กรจะต้องทบทวนกิจกรรมในสายคุณค่าทั้งหมด เพื่อฝังเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) เข้าไว้ในทุกกระบวนการ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

เครื่องมือที่ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ใช้ในการวิเคราะห์สภาวการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรม ภายใต้ Red Ocean คือ Five Competitive Forces หรือ แรงที่กำหนดสภาพการแข่งขันจาก 5 ทิศทาง คือ แรงผลักดันจากผู้เล่นหน้าใหม่ (New Entrants) แรงบีบจากผู้ส่งมอบ (Suppliers) แรงผูกมัดจากผู้ซื้อ (Buyers) แรงกดดันจากผู้เข้าแทนที่ (Substitutes) และแรงห้ำหั่นจากคู่แข่งขัน (Competitors)

ชาน คิม ผู้ให้กำเนิดกลยุทธ์ Blue Ocean ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเชิงคุณค่า (Value Innovation) ระบุว่า เครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในการวิเคราะห์เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ในกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม คือ Four Action Frameworks ซึ่งใช้ทลายข้อจำกัดของการต้องเลือกระหว่างการสร้างความแตกต่างและต้นทุนต่ำในสมรภูมิการแข่งขันแบบเดิม ประกอบไปด้วย 4 คำถามหลักที่มุ่งท้าทายตรรกะเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมและแบบจำลองในธุรกิจ

  • มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมปฏิบัติสืบเนื่องจนเคยชินและควรค่าแก่การขจัดให้หมดไป
  • มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การลดไม่ให้เกินกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
  • มีปัจจัยใดบ้างที่ควรค่าแก่การยกระดับให้สูงกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรม
  • มีปัจจัยใดบ้างที่อุตสาหกรรมยังไม่เคยมีการนำเสนอและควรค่าแก่การสร้างให้เกิดขึ้น
    ส่วนกลยุทธ์ Green Ocean นอกเหนือจากการวิเคราะห์คุณค่าเชิงเศรษฐกิจที่ถูกสร้างขึ้นจากกิจกรรมหลัก (Primary Activities) และกิจกรรมสนับสนุน (Support Activities) ในสายแห่งคุณค่า (Value Chain) แล้ว ยังคำนึงถึงการดำรงคุณค่าเชิงสังคมและคุณค่าเชิงสิ่งแวดล้อมด้วย

ทั้งสามกลยุทธ์น่านน้ำ มุ่งให้ความสำคัญกับการปรับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่เป็นเป้าหมายรวมของกิจการ มากกว่าการปรับเปลี่ยนแค่กิจกรรมที่ดำเนินอยู่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในแต่ละแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ขององค์กร

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

อัปเดต ‘กองทุนยั่งยืน’ และ ‘หุ้น ESG’ ปี 66

คนรุ่นใหม่ เลือกทำงานกับบริษัทที่ใฝ่ ESG


STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ