TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBangkok Storyกทม. หารือ Google เตรียมจัดทำ “ห้องเรียนต้นแบบ” ใช้ดิจิทัลเพื่อการศึกษา

กทม. หารือ Google เตรียมจัดทำ “ห้องเรียนต้นแบบ” ใช้ดิจิทัลเพื่อการศึกษา

กรุงเทพมหานคร โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อหารือความร่วมมือและการสนับสนุนด้านการศึกษา

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้กทม.ได้ต้อนรับกลุ่ม Google Education จาก Google ซึ่งได้มีการทำวิจัยกับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ทำการวิจัย การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ในห้องเรียน

โดยทางกทม. มีความสนใจนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียน ซึ่งถือเป็นนโยบายอยู่แล้ว โดยมุ่งพัฒนาใน 3 มิติ คือ 1) นักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากขึ้น โดยผ่านระบบออนไลน์หรือการเชื่อมโยงต่าง ๆ 2) ลดภาระของครู หากทุกอย่างเป็นดิจิทัล ครูก็จะสามารถทำงานเอกสารต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น และ 3) สามารถประมวลผลโรงเรียนได้ดีขึ้น

หากทุกอย่างอยู่บนดิจิทัล แพลตฟอร์ม เราจะสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของโรงเรียนได้ดีขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของโรงเรียนกทม.ได้

การหารือในวันนี้ ได้พูดถึงโครงการที่จะทำร่วมกัน คือ “ห้องเรียนต้นแบบ” ที่ใช้ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ เช่น อาจจะมีการให้แท็บเล็ตแก่นักเรียน มีระบบการเรียนออนไลน์ มีการใช้ Cloud ในการแชร์ข้อมูล ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยจะมีการเก็บข้อมูลร่วมกับนักวิจัยจากทางมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสามารถนำไปสเกลได้

หัวใจคือ เริ่มห้องเรียนต้นแบบก่อน 1 ห้องเรียน โดยเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษา เพราะกทม. มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาเป็นหลัก เบื้องต้นวางแผนไว้ว่าจะเลือกระดับ ป.2 – ป.4 เพื่อให้สามารถเห็นพัฒนาการในระยะยาวได้ เมื่อเลือกแล้วก็จะเริ่มทำ จะต้องมีการสอนครูในการดูเด็ก ในการดำเนินการและประสิทธิภาพต่าง ๆ ถ้าได้ผลก็จะขยายผลต่อไปที่ห้องเรียนอื่น ๆ ได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไร แต่เป็นความร่วมมือที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ ซึ่งคงต้องมีการวางแผนกันก่อน โดยให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดการเตรียมตัว ส่วนในแง่อื่น ๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ทางบริษัทฯ ก็ยินดีให้การสนับสนุนนักเรียนในกทม. เพื่อให้เข้าถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงความช่วยเหลือทางเทคนิคด้วย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า นี่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ เบื้องต้นได้คุยกับ Google ไว้ว่า อนาคตหัวใจจะไม่ใช่การศึกษา (Education) เพียงอย่างเดียว การเรียนรู้ (Learning) ก็จะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการศึกษาคือหลักสูตรที่เราเตรียมให้เด็ก แต่สุดท้ายเด็กต้องรู้ที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย

ฉะนั้น โรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่แค่เตรียมหลักสูตร แต่จะต้องเตรียมระบบนิเวศที่เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ซึ่งจะต้องมีการปรับเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงความรู้ ปรับวิธีคิด วิธีสอนของครู เตรียมบรรยากาศให้ดี

“เราจะปรับปรุงโรงเรียนกทม.ให้มีคุณภาพมากขึ้น สิ่งสำคัญที่เราต้องมีคือโรงเรียนคุณภาพดีอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งเป็นข้อดีทั้งในเรื่องการเดินทางและความเท่าเทียมกัน เพราะว่าอาวุธที่ดีที่สุดสำหรับต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำคือการศึกษา ถ้ารุ่นลูกสามารถมีชีวิต มีความรู้ มีงานการที่ดีขึ้นได้ สุดท้าย 1 ชีวิต ก็จะสามารถหลุดพ้น หรือลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ลงทุนน้อยแต่ได้เยอะ เราอาจลงทุนไม่มากกับการศึกษา แต่ว่าผลที่ได้มันมหาศาล เราจึงต้องทุ่มเทกับเรื่องนี้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้าน รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริม “ตอนนี้เราทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอยู่ เช่น เรื่อง Wi-Fi โรงเรียน โดยเรื่อง Wi-Fi ก็เป็นส่วนหนึ่ง เราอยากให้มีเรื่องดิจิทัลเข้ามา เราจึงต้องเตรียมระบบนิเวศ อาทิ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของคุณครู ซึ่งเรามุ่งเน้นการลดภาระครู หากมีดิจิทัลเข้ามาก็จะช่วยได้เยอะ ทั้งงานด้านธุรการ การเก็บเอกสารหลักสูตรต่าง ๆ และการ training ของคุณครูด้วย เพราะการจะนำระบบมาใช้ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนต้องเรียนรู้ แต่คุณครูจะต้องเรียนรู้พร้อมกันด้วย ต้องทำไปควบคู่กัน”

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม.มีนโยบายที่จะเปิดโรงเรียนในช่วงวันหยุด เพื่อให้เด็กได้เรียนนอกเหนือจากหลักสูตร ได้มีกิจกรรม เช่น มีอาสาสมัครจากเอกชนมาช่วยสอนเด็กวันเสาร์-อาทิตย์ ให้มุมมอง แลกเปลี่ยนประสบการณ์อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากหลักสูตรที่เรียน อาจจะเป็นเรื่องวิชาชีพ เรื่องงานศิลปะต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากรของโรงเรียนให้มีประโยชน์เต็มที่ และเป็นการขยายโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ใช่เฉพาะแค่ในหลักสูตร ทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น อาจจะได้รู้ว่าตัวเองชอบแบบนี้ ชอบงานศิลปะ หรือว่าชอบทำอย่างอื่น นี่คือสิ่งที่เราจะขยายประโยชน์ของโรงเรียน ไม่ใช่เพียงเพื่อการศึกษา แต่เพื่อการเรียนรู้เรื่องอื่นด้วย

“สำหรับการคัดเลือกห้องเรียนต้นแบบจะเลือกจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่อยู่ในเกณฑ์ธรรมดา มีผลคะแนนปานกลาง ไม่ได้เลือกโรงเรียนที่มีเกณฑ์คะแนนดี เพื่อจะได้เห็นผลที่แท้จริงว่าเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง โดยไม่ต้องกังวล เพราะเครื่องมือไม่ใช่หัวใจ จริง ๆ แล้ว เครื่องมือไม่สามารถหาคำตอบให้เราได้ ผู้ที่หาคำตอบคือ ‘คน’ ฉะนั้น ‘แท็บเล็ต’ ไม่ใช่คำตอบของทางศึกษา แต่เป็นตัวช่วย โดยมีคนเป็นหัวใจที่จะหาคำตอบให้ ท่านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ จึงบอกว่าเราต้องมีการฝึกครู สร้างระบบนิเวศ มีเนื้อหาที่เหมาะสม อาจจะมีคนนอกมาช่วยสอนด้วย”

“ไม่ใช่แค่ว่ามีแท็บเล็ตแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่ใช่เลย เราต้องมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาช่วยด้วย เพื่อให้มันได้ผลจริง ๆ ซึ่งถ้าทำสำเร็จแค่ 1 ห้องเรียน มันขยายผลได้อย่างรวดเร็ว เหมือนที่เราทำ Traffy Fondue เราเริ่มเล็ก ๆ แต่ขยายผลได้ทั่วกรุงเทพฯ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างการพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ”

ในส่วนของการเริ่มต้นคงต้องทำโดยเร็วที่สุด แต่ต้องไปด้วยความพร้อม มีนักวิชาการมาช่วยกำกับ มีนักวิจัยซึ่งเคยทำมาแล้วที่โรงเรียนอื่นมาร่วมด้วย ซึ่งกทม.พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเชื่อว่านี่คือทางออกที่จะแก้ปัญหาในระยะยาวของเมือง ด้านการวัดผล คิดว่าจะต้องมีการเรียนเป็นปี ส่วนการเตรียมตัวคาดว่าประมาณ 6 เดือนน่าจะเริ่มได้ โดยเราอาจจะเริ่มต้น 3 ห้องเรียน (ป.2 ป.3 ป.4) แล้วค่อยขยายผลต่อไป” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ม.ราชภัฏราชนครินทร์ ยกระดับชุมชน เดินหน้า ขับเคลื่อนเมืองด้วย City Data Platform

กทม. จับมือเครือข่าย จัด ‘บางกอกวิทยา’ เปลี่ยนกรุงเทพฯให้เป็น ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ตลอดเดือนสิงหาคม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ