TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBangkok Storyกรุงเทพมหานคร จับมือ GIZ เดินหน้าลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

กรุงเทพมหานคร จับมือ GIZ เดินหน้าลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

กรุงเทพมหานคร ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ส่งเสริมความร่วมมือในการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบการทำงานของโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ซึ่งจะช่วยให้กรุงเทพมหานครมีสภาพแวดล้อมที่ดี เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ดียิ่งขึ้น  

โครงการ CAP SEA (แคป ซี) มีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ โดยโครงการฯ ได้สนับสนุนประเทศไทยในการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แผนปฏิบัติการ และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อป้องกันและลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวรวมถึงขยะบรรจุภัณฑ์ สำหรับการร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในครั้งนี้จะเน้นไปที่การรับมือกับมลพิษที่เกิดจากขยะพลาสติก รวมถึงการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และสร้างความตระหนักรู้ในการจัดการขยะพลาสติก ผ่านการแบ่งปันความรู้ ทรัพยากร และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566 – 2570)  

ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ กรุงเทพมหานคร และ GIZ ร่วมดำเนินงานใน 4 แนวทางต่อไปนี้  

  1. การพัฒนาแนวปฏิบัติในการลดและป้องกันพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในระดับเมือง ตามหลักการการเรียกเก็บค่ามัดจำจากผู้ซื้อ และจะคืนเงินเมื่อนำผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์นั้นมาคืน ณ จุดที่กำหนด (Deposit Return Scheme – DRS) โดยจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในงานอีเวนต์หรืองานเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดในกรุงเทพมหานคร  
  2. การศึกษาประเด็นการเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม (Preconditions) สำหรับการจัดตั้งระบบ DRS ในระดับเมือง โดยเฉพาะการคืนขวด PET ผ่านเครื่องรับคืนบรรจุภัณฑ์แบบอัตโนมัติ  
  3. การพัฒนาข้อเสนอแนะสำหรับการใช้และบำรุงรักษาระบบเติมน้ำดื่มสาธารณะเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในด้านสุขอนามัย  
  4. การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดและป้องกันการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร  

ความสำเร็จของการดำเนินงานจะถูกวัดและประเมินผลผ่านการมีส่วนร่วมของสมาชิกของโครงการฯ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในไทยและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในกรุงเทพมหานครอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพต่อไป 

ฮันส์-อูลริช ซืดเบค อุปทูตและหัวหน้าแผนกเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมนีอันยาวนานและประสบผลสำเร็จว่า “ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เราได้ร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเยอรมันในวาระครบรอบ 160 ปี ภายใต้แนวความคิด “พันธมิตรเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน” โดยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนีประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนานในหลากหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว สาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การบริโภคที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนครบวงจร”  

วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรลุยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจาก GIZ “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการการทำงานร่วมกันเพื่อการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวภายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CAP SEA) ถือเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติกและขยายต่อยอดการดำเนินการของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของเมือง เพื่อมุ่งให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน” 

ไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยประสบการณ์กว่า 60 ปีในประเทศไทย GIZ มีสถานะที่แข็งแกร่งในประเทศ การลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในความพยายามของ GIZ ที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมในระดับเมือง ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวทาง นโยบาย โมเดลธุรกิจ และแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด กรุงเทพมหานครจะได้รับข้อมูลเชิงลึกและเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วยการเพิ่มพูนความรู้ข้อมูล ทักษะการปฏิบัติ และประสบการณ์”  

โครงการ CAP SEA (แคป ซี) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก “Export Initiative Environmental Protection” ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ในประเทศพันธมิตร และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ ความปลอดภัยนิวเคลียร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 โดยจะสานต่อความพยายามในการลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยมุ่งเน้นที่กลยุทธ์การป้องกันและเตรียมความพร้อมสำหรับการนำกลับมาใช้ใหม่ในระดับเมือง โดยโครงการฯ จะดำเนินการจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

บางจาก เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณา “จิตวิญญาณที่ไม่หยุดนิ่ง Regenerative Soul” ยกระดับการสื่อสารด้านความยั่งยืนสู่สังคม

เปิดพันธกิจด้านการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศของ Sea (ประเทศไทย)

เอมิเรตส์ เปิดเที่ยวบินแรกจากดูไบที่ใช้เชื้อเพลิง SAF เต็มรูปแบบ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ