TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessThailand Taxonomy มาตรฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สู่สังคมสีเขียวยั่งยืน

Thailand Taxonomy มาตรฐานกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สู่สังคมสีเขียวยั่งยืน

ท่ามกลางการเดินหน้าสู่การสร้างเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ซึ่งประกาศเป้าหมายสู่การเป็นประเทศเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (a net zero greenhouse gas emissions target) ภายในปี 2065 หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ได้รับการจับตามองจากภาคองค์กรต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็คือ กติกาที่เรียกว่า Thailand Taxonomy ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน นำโดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Thailand Taxnomy คืออะไร?

อ้างอิงจากคำอธิบายของธปท. Thailand Taxnomy ก็คือ มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมสำหรับประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับสถาบันการเงินหรือนักลงทุนในการใช้อ้างอิงสำหรับการพิจารณาให้บริการและเครื่องมือทางการเงินในการสนับสนุนให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวทางความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องเหมาะสมกับระเบียบสากลโลก 

โดย Thailand Taxonomy ถูกออกแบบให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม 6 ด้าน  ได้แก่ 1) ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน 4) การคุ้มครองและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ 5) การป้องกันและควบคุมมลพิษ และ 6) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ  โดยปัจจุบันร่างมาตรฐานฯ ฉบับแรกจะครอบคลุมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับวัตถุประสงค์ด้านการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ในอนาคตจะมีการขยาย Taxonomy ให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ประการต่อไป 

เรียกได้ว่า Thailand Taxnomy คือระบบการจำแนกประเภท และการจัดทำรายการกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยให้น้ำหนักด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อทำความเข้าใจแต่ละประเภทธุรกิจว่ามีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว 

โดยกรอบของ Thailand Taxnomyสอดคล้องกับหลักการของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ  ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกและจำกัดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกไม่ให้ขยับขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

สิ่งที่ Thailand Taxnomy ให้ความสำคัญหลักก็คือการกำหนดกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพื่อให้บรรลุการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมายสากล  

ขณะเดียวกัน ด้วยความเป็น Thailand Taxonomy ดังนั้น วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อยู่ในกรอบการพิจารณาจึงต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยด้วย 

ปัจจุบัน มาตรฐานฉบับแรกของ Thailand Taxonomy มีผลใช้งานแล้วโดยอยู่ในระยะที่ 1 (phase 1) โดยมุ่งเน้นการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 2 ภาคเศรษฐกิจแรก นั่นคือ ภาคพลังงาน และภาคขนส่ง ซึ่งถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเข้มข้นที่สุด โดยมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 70% ของประมาณทั้งหมดของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยในแต่ละปี และกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการสู่ระยะที่ 2 (phase 2) ที่จะขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร ภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้งา และภาคการบริหารจัดการขยะ ต่อไป 

แม้จะเป็นมาตรฐานกลางในการอ้างอิงสำหรับการกำหนดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว แต่ Thailand Taxonomy ก็เป็นการขอความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับหน่วยธุรกิจของตัวเอง

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การมี Thailand Taxonomy เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยในการป้องกันข้อครหาในเรื่อง Green washing ของธุรกิจในด้านการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ภาคการเงินนำกรอบ Thailand Taxonomy ไปปรับใช้เพื่อจัดสรรทุนให้แก่ธุรกิจสีเขียว รวมถึงต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน เช่น สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Loans) หรือ ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bonds) เป็นต้น 

ระบบการจำแนกและจัดหมวดหมู่กิจกรรมแบ่งอย่างไร?

Thailand Taxonomyใช้วิธีการจำแนกและจัดหมวดหมู่กิจกรรมแบบระบบไฟจราจร (Traffic Light System) ซึ่งประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละกิจกรรมไว้ 3 ระดับตามสีไฟจราจรคือ แดง เหลือง (อำพัน) เขียว ทำให้องค์กรต่าง ๆ ได้รับการกระตุ้นเตือนให้เริ่มปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือกระบวนการดำเนินงานเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหมายถึงกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่บริษัทหรือองค์กรนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการออกมาสู่สังคม โดยครอบคลุมถึงกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นที่ให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการนั้น ๆ ออกมา

โดยกิจกรรมสีเขียว คือ กิจกรรมที่แทบไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่าศูนย์ในปัจจุบัน ดังนั้น กิจกรรมสีเขียวจัดได้ว่าช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมาก เช่น การใช้พลังงานจาก Solar Rooftop, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และการขนส่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 

กิจกรรมสีเหลือง (อำพัน) คือ กิจกรรมที่ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ แต่กำลังปรับปรุงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ดียิ่งขึ้น  

กิจกรรมสีแดง คือ กิจกรรมที่อยู่นอกเหนือจากเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับกิจกรรมในระดับสีเขียวหรือสีเหลือง อีกทั้งยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้ ตลอดจนยังเป็นกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปัจจุบัน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เป็นต้น 

เกณฑ์และมาตรฐานแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากไหน? 

ทั้งนี้ เกณฑ์และหลักการทั้งหมดใน Thailand Taxonomy นี้อิงตาม Climate Bonds Initiative (CBI) และเกณฑ์มาตรฐานและภาคส่วนของพันธมิตร ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างอิสระด้วยข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก และปฏิบัติตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ด้วยตระหนักว่าการรวมเอาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ คณะกรรมการ Thailand Taxonomy และ CBI จึงได้นำ สถานการณ์ส่วนบุคคลของภาคธุรกิจและนโยบายการลดคาร์บอนของประเทศไทย เข้ามาร่วมพิจารณาในการพัฒนา taxonomy นี้ด้วย 

นอกจากนี้ ภารกิจหลักของ CBI คือการสร้างเกณฑ์การลดคาร์บอนที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์สำหรับภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจ โดยไม่ขึ้นอยู่กับการขยายสาขาทางการเมืองและการเงิน โดยใช้เอกสารและหลักเกณฑ์ที่ CBI พัฒนาขึ้นในระดับที่แตกต่างกันภายใต้ระบบการเงินสีเขียว (green finance systems) ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด รวมถึงสหภาพยุโรป จีน รัสเซีย แอฟริกาใต้ โคลอมเบีย ฯลฯ

Deloitte แนะนำว่า ภายใต้กระบวนการพิจารณากิจกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อนนี้ ภาคธุรกิจสามารถใช้ 3 ขั้นตอน อไปนี้ เป็นแนวทางในการใช้ Thailand Taxonomy สำหรับการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ

  1. แบ่งการดำเนินงานในภาคเศรษฐกิจที่พิจารณาออกเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
  2. ประเมินรายละเอียดกิจกรรมตามหลักเกณฑ์การคัดกรองทางเทคนิค
  3. ตรวจสอบกิจกรรมว่าไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) ต่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่น และการประเมินผลกระทบด้านสังคม และจัดทำรายงาน

Taxonomy จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยหรือไม่?

ธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการ Thailand Taxonomy ยืนยันว่า เกณฑ์ของ Thailand Taxonomy ที่สร้างขึ้นมานี้ไม่ได้มีเจตนาทำลายภาคเศรษฐกิจ ดังนั้น ข้อกำหนดที่เกิดขึ้นจึงเน้นย้ำให้ภาคธุรกิจดำเนินการตามความสมัครใจ ดังนั้นจึงไม่บังคับให้นักลงทุนต้องลงทุนในกิจกรรมสีเขียวหรือบังคับบริษัทในการกำหนดประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ Taxonomy เป็นเพียงระบบการติดฉลากเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจและการเงินว่ากิจกรรมใดเป็นสีเขียวและกิจกรรมใดไม่ใช่เท่านั้น โดย Taxonomy อาจนำไปสู่การที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายดำเนินมาตรการเพิ่มเติมบางอย่างเพื่อสนับสนุนกิจกรรมสีเขียวและขัดขวางการพัฒนากิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกัน และเนื่องจากไม่มีมาตรฐานการลงทุนบังคับทั่วโลก นักลงทุนจึงมีอิสระในการกำหนดวิธีการลงทุนและลำดับความสำคัญ

ความคาดหวังของ Thailand Taxonomy?

ภาคธุรกิจสามารถวางแผนการปรับตัว โดยสามารถใช้ Thailand Taxonomy อ้างอิงในการประเมินความเสี่ยง สถานะ และความพร้อมของตนเองในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อวางแผนการปรับตัวทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะเครื่องมือการเงินเพื่อความยั่งยืนต่าง ๆ

ขณะที่ ภาคการเงินสามารถจัดสรรเงินทุนได้ตรงจุดตอบโจทย์เป้าหมาย Green ของตนเองให้ดียิ่งขึ้นได้ เพราะลสถาบันการเงินสามารถอ้างอิง Thailand Taxonomy ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์การปรับตัวของธุรกิจไทย รวมถึงประเมินความเสี่ยงในพอร์ตสินเชื่อได้เป็นระบบยิ่งขึ้น

ด้าน ภาครัฐสามารถออกแบบมาตรการและนโยบายในทิศทางที่สอดคล้องกัน ด้วยการนำ ThailandTaxonomy มากำหนดนโยบายหรือสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

แม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายอย่างจริงจัง แต่การเกิดขึ้นและมีอยู่ของ Thailand Taxonomy ก็ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะ “เศรษฐกิจสีเขียว” มีความหนักแน่น น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนและธุรกิจทั่วโลกซึ่งกำลังขับเคลื่อนและให้ความสำคัญกับ เศรษฐกิจสีเขียวเป็นอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ก็คือการที่ทุกภาคส่วน เร่งทำความเข้าใจรายละเอียดเงื่อนไขของ Thailand Taxonomy แล้วเริ่มลงมือดำเนินการปรับเปลี่ยน เพราะถ้าไม่ยอมปรับท่ามกลางกระแสโลกที่กำลังเปลี่ยน ไทย ก็จะไม่สามารถแข่งขันหรือเป็นส่วนหนึ่งของเวทีการค้าโลกในอนาคตที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่งยวดได้ 

อ้างอิง 

ธนาคารแห่งประเทศไทย Thailand Taxonomy

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

มาตรวัดความยั่งยืน: จาก ESG Rating สู่ ESG Premium

สำรวจพยากรณ์เศรษฐกิจล่าสุด ฟื้นตัวตามสภาพ…

โหยหา soft skill (ที่ไม่ใช่ soft power)

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ